'บิ๊กตู่'ห่วงวิกฤตพลังงาน พร้อมบรรเทาผลกระทบปชช.ให้มากที่สุด เชิญชวนคนไทยร่วมมือประหยัดเพื่อชาติ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำมันและไฟฟ้าในทุกรูปแบบ
18 มี.ค.2565 - ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากผลกระทบสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งส่งผลต่อวิกฤตราคาพลังงานโลกเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ รวมถึงยังส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตราคาพลังงานดังกล่าว จึงได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งออกมาตรการบรรเทาผลกระทบประชาชนให้มากที่สุด โดยในเบื้องต้น กระทรวงพลังงานได้แนะนำวิธีประหยัดพลังงานน้ำมันและไฟฟ้า ให้ประชาชนสามารถนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้ตัวเองและครอบครัว
นายธนกร กล่าวอีกว่า ข้อแนะนำของกระทรวงพลังงานในการประหยัดน้ำมันจากการเดินทางด้วยรถยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ขอให้มีการเตรียมพร้อมก่อนการเดินทาง วางแผนการเดินทาง ตรวจสอบสภาพรถ ตรวจสอบเครื่องยนต์ให้ปลอดภัย เช็คน้ำมันเครื่องก่อนการเดินทาง อุปกรณ์ประจำรถต้องพร้อมใช้งาน ใช้ความเร็วตามกฎหมายกำหนด พักเครื่องยนต์ระหว่างเดินทาง รวมทั้งควรเช็กให้ชัวร์อย่างมั่นใจก่อนออกเดินทาง ด้วย 6 เช็คลิสต์ ได้แก่ 1.แบตเตอรี่และสายไฟ ตรวจระดับน้ำกลั่น ขั้วต่อและสายไฟให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน 2.ตรวจสภาพยางล้อรถยนต์ ลมยางต้องอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ดอกยางต้องไม่มีรอยฉีดขาด เนื้อยางไม่แข็งกระด้าง หรือบวม และยางอะไหล่ต้องพร้อมใช้งาน 3.ระบบเบรก ตรวจสอบระดับน้ำมันเบรกและผ้าเบรกให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม 4.ระบบไฟส่องสว่างทั้งคันรถต้องพร้อมใช้งาน 5.ไม่บรรทุกน้ำหนักเกินจำเป็น เพราะจะทำให้รถใช้เชื้อเพลิงมากขึ้น และ 6. วางแผนก่อนออกเดินทางเพื่อช่วยประหยัดน้ำมันและย่นระยะเวลาถึงที่หมาย
นายธนกร กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงพลังงานยังมีข้อแนะนำการประหยัดพลังงานในส่วนของ Work From Home ให้ประหยัดพลังงาน โดยให้ปิดสวิทช์หรือถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกครั้งหลังใช้งานเสร็จ ตั้งค่าคอมพิวเตอร์ในโหมด Sleep ปิดหน้าจอคอมพิวเตอร์เมื่อไม่มีการใช้งานนานกว่า 15 นาที ไม่เปิดโทรทัศน์ทิ้งไว้ เปิดใช้ตู้เย็นเท่าที่จำเป็น ปิดตู้เย็นให้สนิททุกครั้ง ละลายน้ำแข็งอย่างสม่ำเสมอ ขณะที่การใช้เครื่องปรับอากาศ หรือแอร์ ควรเปิดแอร์ที่อุณหภูมิ 27 องศา พร้อมกับเปิดพัดลมตั้งพื้นควบคู่กัน ช่วยเพิ่มการเคลื่อนที่ของอากาศในห้อง และช่วยลดอุณหภูมิลงได้ประมาณ 2 องศา โดยจะช่วยให้ประหยัดไฟมากกว่าการเปิดแอร์ที่ 23-24 องศาอย่างเดียว รวมทั้งควรทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศทุกเดือนและล้างแอร์ทุก 6 เดือน จะช่วยทำให้อากาศบริสุทธิ์และประหยัดไฟ ซึ่งวิธีใช้แอร์ดังกล่าวจะช่วยประหยัดค่าไฟลงได้ 10-30% ทั้งนี้ ไม่ควรใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน เช่น ไดร์เป่าผม เตารีด ภายในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศด้วย
“นายกฯ กำชับกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินมาตรการบรรเทาผลกระทบประชาชนให้มากที่สุด พร้อมกับขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมกันประหยัดการใช้พลังงาน ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำมันและไฟฟ้าในทุกรูปแบบ ซึ่งจะเป็นการลดภาระค่าครองชีพให้ตัวเองและครอบครัว อีกทั้งยังเป็นการร่วมแรงร่วมใจกันลดภาระโดยรวมให้กับประเทศชาติ เพื่อให้สามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤตการณ์พลังงานไปได้ด้วยกัน” โฆษกประจำสำนักนายกฯกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กสม.แนะแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินปชช. ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขยายเหมืองแม่เมาะ
กสม. แนะกระทรวงพลังงานเร่งเสนอ ครม. แก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขยายเหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง
โบว์แดง 'รทสช.' ผสานกำลัง 2 กระทรวงปลดล็อก 'โซลาร์รูฟท็อป'
ไทยเดินหน้าพลังงานสะอาด “หิมาลัย” เผย “พีระพันธุ์-เอกนัฏ” ผสานกำลังปลดล็อก “โซลาร์รูฟท็อป” สำเร็จ เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงพรรค
ธนกรเผยคนเมืองคอนปลื้ม 'อิ๊งค์-อนุทิน' ลงพื้นที่น้ำท่วม
'ธนกร' เผยประสานทีมท้องถิ่นนครศรีธรรมราช ลงช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมไม่หยุด บอกชาวบ้านปลื้ม 'นายกฯ-อนุทิน' รุดเยี่ยมชาวเมืองคอน-สุราษฎร์ ขณะ 'พีระพันธุ์-เอกนัฏ' นำ สส.ลงตามสมทบ
กบง. สั่งตรึงราคา LPG ถึงสิ้นเดือน มี.ค. 2568
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงพลังงาน ได้เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)
'ธนกร' ดีดปาก 'ปิยบุตร' เลิกเสี้ยมปม กม.จัดระเบียบกลาโหม
'ธนกร' สวน 'ปิยบุตร' หยุดเสี้ยมปม กม.จัดระเบียบกลาโหม ยัน สส.ฟังเสียงประชาชน ปัดมีใบสั่งจากชนชั้นนำ ย้ำชัด กองทัพเป็นความมั่นคงของชาติทุกมิติ ชี้หากทำผิดก็อยู่ยาก ป้องกันรัฐประหารไม่ได้
'ธนกร' กระทุ้งรัฐบาลคิดให้รอบคอบขยับโครงสร้างภาษี
'ธนกร' ขอ คลัง-รัฐบาล ศึกษาปรับโครงสร้างภาษีรอบคอบ ชี้ VAT15% สูงไปไม่สอดคล้องสภาวะเศรษฐกิจ คาด กระเทือนคนรายได้น้อย-ปานกลางแน่ หวั่น ปชช.ไม่กล้าใช้จ่าย ส่อกระทบ ศก.ชะงักได้