13 มี.ค.วันช้างไทย รัฐบาลยกมาตรฐานดูแลช้างเลี้ยง ให้เป็นที่ยอมรับของสากล

รัฐบาลย้ำนโยบายให้ความสำคัญทั้งการอนุรักษ์ช้างป่าลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างช้างกับชุมชน  ยกมาตรฐานดูแลช้างเลี้ยงให้การใช้งานในภาคท่องเที่ยว เป็นที่ยอมรับในระดับสากล  

13 มี.ค.2565 –  น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เนื่องในโอกาสวันที่ 13 มี.ค. ของทุกปีเป็นวันช้างไทย รัฐบาลมีนโยบายโดยต่อเนื่องในการให้ความสำคัญกับการดูแลช้างสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทยมาแต่โบราณ  ทั้งในส่วนการอนุรักษ์ช้างป่าและการยกระดับมาตรฐานดูแลช้างเลี้ยงให้เป็นที่ยอมรับของสากล 

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับส่วนของช้างป่า จากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้มีนโยบายเกี่ยวกับการอนุรักษ์ช้างมาโดยต่อเนื่อง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ร่วมกับหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนมีโครงการอนุรักษ์ช้างทำให้แนวโน้มประชากรช้างมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยข้อมูลปัจจุบันมีช้างป่าอาศัยอยู่ตามธรรมชาติประมาณ 3,168-3,440 ตัว ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ 69 แห่ง มีผืนป่าที่เป็นแหล่งอาศัยของช้างป่าราว 52,000 ตร.กม 

“อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัญหาช้างขาดแหล่งอาหารและน้ำ เนื่องจากป่าซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของช้างถูกบุกรุกเพื่อเป็นที่ทำกิน ตลอดจนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทำให้มีปัญหาช้างออกมาทำลายพืชผลเกษตรในชุมชน ซึ่งในกรณีนี้นายกรัฐมนตรีได้กำชับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการวางแนวทางทั้งการป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่า ตลอดจนการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมให้สามารถเป็นแหล่งอาหารของช้าง ลดความขัดแย้งระหว่างช้างกับชุมชน” น.ส.ไตรศุลี ระบุ   

 น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ทางด้านช้างเลี้ยงหรือช้างบ้าน นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายกับหลายหน่วยงาน อาทิ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ในการวางแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสมในการดูแลรักษาด้านต่างๆ เกี่ยวกับช้าง รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับช้าง เช่น ควาญช้าง เจ้าของปางช้าง  

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า โดยล่าสุด คณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2565 ก็ได้อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับการปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้างเป็นมาตรฐานบังคับ พ.ศ….. ซึ่งเป็นการกำหนดให้หลักเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับการดูแลช้างเป็นมาตรฐานบังคับ เช่น สถานที่ตั้งของปางช้างจะต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เสี่ยงจากการปนเปื้อนของอันตราย มีคู่มือการจัดการปางช้าง มีสัตวแพทย์ผู้ควบคุมปางช้างกำกับดูแลด้านสุขภาพช้าง มีการตรวจสุขภาพของช้างประจำปี เป็นต้น 

“การเลี้ยงและการดูแลรักษาช้างทั้งช้างบ้านและช้างป่าของไทยได้ถ่ายทอดสืบต่อกันมาในลักษณะเฉพาะตัว แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีช้างจำนวนมากถูกใช้ในภาคการท่องเที่ยว ที่ต้องมีการดูแลให้ได้มาตรฐานการดูแลสัตว์ที่เป็นสากล นายกรัฐมนตรีจึงได้มอบหมายหน่วยงานเกี่ยวข้องร่วมกันวางแนวทางปฏิบัติที่ดี ป้องกันปัญหาการทารุณกรรมช้าง ให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีเกี่ยวกับการเลี้ยงช้างให้เป็นที่ยอมรับของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ”น.ส.ไตรศุลี กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ภูมิธรรม’ มั่นใจนายกฯกลับมาประชุมตั้ง ‘เจทีซี’ เสร็จ ชงเข้าครม.19 พ.ย.ทันที

‘ภูมิธรรม’ ระบุ หากนายกฯกลับมา เรียกถก ตั้ง เจทีซี วันนี้ก็ เข้าครม.ทันพรุ่งนี้ โยน กต.เคาะรายชื่อ ลั่น เกาะกูดไม่จบซํ้ารอยเขาพระวิหารแน่ ยัน ไม่มีเหตุผลต้องยกเลิกเอ็มโอยู 44

'ภูมิใจไทย' นัดหลังปีใหม่ ดินเนอร์พรรคร่วมรัฐบาล

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงการเป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงพรรคร่วมรัฐบาลครั้งต่อไป ว่า

ครม. ไฟเขียวร่างพ.ร.ฎ. 2 ฉบับ แก้ปัญหาที่ดินทำกินในเขตป่าอนุรักษ์ ยันไม่ได้จำกัดสิทธิเสรีภาพ

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบทบทวนร่างพระราชกฤษฎีกา โครงการอนุรักษ์ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ มาตรา 64