‘อุโมงค์มหาราช’จุดนัดพบใหม่ ตัวช่วยลดอุบัติเหตุ

กว่า 1 เดือนที่อุโมงค์ทางเดินลอดถนนมหาราชเปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าชมพื้นที่การจัดแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์การก่อตั้งเมือง งานตกแต่งสถาปัตยกรรมภายในที่สวยงาม  คนเมืองพากันไปใช้บริการ เพราะเป็นของใหม่ในกรุงเทพฯ   มีเช็กอินถ่ายรูปสวยๆ ตามจุดต่างๆ ทั้งภายในทางเดินลอด และพื้นที่ด้านบนวิวพระบรมมหาราชวังและสนามหลวงอัพลงโซเชียล 

อุโมงค์ทางเดินลอดเป็นโปรเจ็คที่กรุงเทพมหานครโดยสำนักการโยธา ดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ทางเดินลอดถนนหน้าพระลานและถนนมหาราช เพื่อลดผลกระทบด้านการจราจรบริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ให้มีความปลอดภัยและคล่องตัวในการสัญจรของประชาชน รวมถึงรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาเยี่ยมชมพระบรมมหาราชวังและพื้นที่ใกล้เคียง 

สำหรับเกาะรัตนโกสินทร์อยู่ในเขตพระนคร เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญ อย่างสนามหลวง หรือ”ทุ่งพระเมรุ”ในอดีต เพราะเป็นสถานที่จัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ ,พระบรมมหาราชวัง, วัดพระศรีรัตนศาสดารามฯ ,ศาลหลักเมือง , วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ ,ป้อมพระสุเมรุ  กำแพงเมืองกรุงเทพ ตลอดจนบางลำพูชุมชนดั้งเดิมที่ยังมีชีวิตชีวาจนถึงทุกวันนี้ ทำให้เกาะรัตนโกสินทร์เป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ

 หากไม่มีสถานการณ์โรคระบาดพื้นที่บริเวณนี้คลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยี่ยมชมความสวยงามของวัดและวังหนาแน่น รถราขวักไขว่  บริเวณทางข้ามทางแยกคนต้องใช้ถนนด้วยความเสี่ยง  บ่อยครั้งเกิดอุบัติเหตุขณะข้ามถนน เพราะผู้ขับขี่ไม่เคารพกฎจราจร ความรีบเร่งในการใช้ทาง การลักข้ามถนนของคนเดินเท้า ไม่รวมปัญหาจราจรเมื่อรถทัวร์เข้ามาจอดรับนักท่องเที่ยวใกล้วัดพระแก้วหรือรอบสนามหลวง

กทม.ทุ่มงบประมาณปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ ทั้งขยายทางเท้าและสร้างอุโมงค์ทางเดินลอดถนนหน้าพระลานและอุโมงค์ทางเดินลอดถนนมหาราช เน้นจัดระเบียบ ลดสถิติอุบัติเหตุ และสร้างจุดนัดพบ จุดพักคอยหลบแดดหลบฝน  จุดเรียนรู้เรื่องราวเมืองกรุงเทพฯ ในอดีต   อีกทั้งได้ใช้บริการห้องสุขาสาธารณะที่ถูกสุขลักษณะ ก่อนเที่ยวชมพระบรมมหาราชวังและสถานที่ท่องเที่ยวโดยรอบสนามหลวง จนถึงล่องเรือชมทิวทัศน์สองฝั่งเจ้าพระยา ยลวิถีคนกรุงเทพฯ

บริเวณอุโมงค์ทางเดินลอดด้านบนนอกจากการจราจรที่หนาแน่น ยังมีการก่อสร้างที่อาจจะทำให้การสัญจรยากยิ่งขึ้น การเดินลอดอุโมงค์จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง แบ่งเป็นฝั่งถนนมหาราชระยะทาง 90 เมตร  และถนนหน้าพระลาน ซึ่งแบ่งเป็น 2 เส้นทางหลัก คือ บริเวณจุดตัดถนนถนนหน้าพระธาตุ กับถนนหน้าพระลานระยะทาง 96 เมตร  และบริเวณหน้าที่ทำการไปรษณีไทยสาขาหน้าพระลานระยะทาง 37 เมตร จะทำให้ประชาชนที่สัญจร หรือนักท่องเที่ยวมีความปลอดภัยในการเดินข้ามฝั่งไปพระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้ว สนามหลวง ท่าเรือท่าช้าง และแหล่งท่องเที่ยวโดยรอบอีกด้วย

เรียกว่า เป็นการเตรียมพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 คลี่คลายในอนาคต ตามสถิติเดิมมีนักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมพระบรมมหาราชวังและบริเวณโดยรอบประมาณวันละ 38,000 – 42,000 คน ต่อวัน

ส่วนการสร้างอุโมงค์ทางเดินลอดมหาราชที่เปิดใช้บริการแล้ว ระยะทาง 90 เมตร ทางขึ้นลงบันไดเลื่อน 2 จุด  ภายในตกแต่งด้วยหินอ่อนสบายตา เปิดเพลงบรรเลงดนตรีไทย ช่วยสร้างความเพลิดเพลิน  มีที่นั่งพักผ่อนหย่อนใจ เดินมาถึงกลางอุโมงค์จะได้ชมโซนพิพิธภัณฑ์จัดแสดงนิทรรศการภาพในอดีต อาทิ แผนผังป้อมอินทรรังสรรค์และกำแพงเมืองที่สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 ,กำแพงเมืองจำลองที่ยึดหลักการสร้างตามข้อมูลทางโบราณคดี ,ภาพป้อมเผด็จดัสกร และอาคารห้องแถวโบราณ

 นอกจากนี้ เสนอเรื่องราวเหตุการณ์ฉลองพระนครครบ 100 ปี ภาพบรรยากาศตลาดท่าช้างและร้านค้าขายเครื่องไฟฟ้าของรัฐบาล ภาพเก่าถนนหน้าพระลาน เห็นกำแพงพระบรมมหาราชวังและกำแพงวังท่าพระ,ภาพถนนมหาราช ตรงด้านพระบรมมหาราชวัง เห็นป้อมทัศนานิกร เดินผ่านอุโมงค์นี้เสมือนได้ย้อนเวลากลับไปสู่อดีต เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น. 

“ อุโมงค์มหาราชที่เปิดให้บริการเป็นจุดตัดบริเวณถนนหน้าพระลานกับถนนมหาราช การจราจรคับคั่งตลอดเส้นทางจนถึงหลังพระบรมมหาราชวังและท่าพระจันทร์ นักท่องเที่ยวจะมาทางรถ เรือ หรือรถไฟฟ้าใต้ดิน ก็ต้องผ่านถนนเส้นนี้ อุโมงค์ช่วยให้ข้ามถนนปลอดภัย จากการเก็บข้อมูลมีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 2,000 คน แต่ออกแบบให้สามารถรองรับได้วันละ 10,000 คน  ส่วนอุโมงค์ทางลอดหน้าพระลานจะเร่งให้แล้วเสร็จในเดือน พ.ค.2565 หากเปิดใช้จะบรรเทาปัญหาจราจรได้มาก  เพราะมีผู้ใช้เส้นทางโดยรอบ 30,000-40,000 คนต่อวัน “  กิตติพงศ์ ผู้วิจารณ์ ผอ.ส่วนออกแบบ 1 สำนักงานออกแบบ  กล่าว

เสียงจากผู้ใช้บริการ  วราภรณ์ จันทรางกูร บอกว่า เคยอาศัยอยู่แถวนี้  ก่อนย้ายไปอยู่มีนบุรี รถจะเยอะมาก ข้ามถนนก็ยาก ปกตินักท่องเที่ยวจะมาเที่ยววัดเยอะ เมื่อรู้ว่าเปิดอุโมงค์แล้วถือโอกาสแวะมาเที่ยวชม ถือว่าสบายกว่าแต่ก่อนเดินแอร์เย็นๆ มีห้องน้ำหลายห้อง  และยังได้ชมภาพในอดีตของวัดในสนามหลวง ไม่เคยเห็นภาพเหล่านี้มาก่อน แม้ทางเดินลอดระยะสั้นๆ แต่ช่วยให้การเดินง่ายขึ้น ไม่ต้องข้ามถนน 

ด้าน สมลักษณ์ เกิดความเย็น กำลังถ่ายรูปกับกำแพงจำลอง บอกว่า ชอบมาก ช่วยอำนวยความสะดวกมากขึ้น ปกติเวลามา รพ.ศิริราช  พบหมอเสร็จ จะแวะไหว้ศาลหลักเมืองเป็นประจำ มีอุโมงค์ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องรถหรือการเข้าห้องน้ำ มีที่นั่งพักผ่อนสาธารณะ แล้วก็ชอบนิทรรศการภาพเก่าที่นำมาจัดแสดงให้ชมด้วย 

พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์มีร้านรวงมากมาย พงศ์พล เข็มทอง เจ้าของร้านอาหารซิ่วลั้ง ซึ่งตั้งอยู่ทางเดินไปท่าเรือมหาราช เล่าว่า ก่อนโควิดบริเวณนี้ตลอดทั้งวันจะคึกครื้นไปด้วยนักท่องเที่ยวต่างชาติ พ่อค้าแม่ขายที่แบกสินค้าที่ระลึกเดินเร่ขาย ร้านเราก็มีลูกค้า เพราะเป็นจุดแวะพักก่อนไปวัดพระแก้ว แต่พอตกดึกที่นี่จะมืดปกคลุมด้วยต้นไม้ ค่อนข้างเปลี่ยว เมื่อสร้างอุโมงค์มีการปรับภูมิทัศน์ ระบบไฟฟ้าแสงสว่างดีขึ้น แม้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะน้อยลง แต่ยังมีคนไทยมาเที่ยวพักผ่อน กินข้าวย่านเก่า อุโมงค์ทางลอดทำให้การเดินข้ามฝั่งสะดวก ร้านอาหารแถบนี้จะมีลูกค้าเพิ่มขึ้น

ข้ามมาฝั่งวัดพระแก้ว ดำรงค์ เฉลิมโยธิน มอเตอร์ไซด์รับจ้าง  เล่าว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไปตั้งแต่มีโควิด-19 ปกติมีทั้งนักท่องเที่ยวและคนไทยเรียกใช้บริการวิน ช่วงนี้น้อยลง รายได้ลด ดีที่มีอุโมงค์ เพราะคนข้ามถนนง่ายขึ้น ปกติกว่าจะได้ข้ามก็ยืนรอรถหยุดใช้เวลานาน

ขณะนี้อุโมงค์ทางเดินลอดถนนหน้าพระลานบริเวณจุดตัดถนนถนนหน้าพระธาตุ กับถนนหน้าพระลาน ระยะทาง 96 เมตร กับทางเดินลอดบริเวณหน้าที่ทำการไปรษณีไทยสาขาหน้าพระลาน ระยะทาง 37 เมตร  กำหนดแล้วเสร็จพฤษภาคมนี้  หากเปิดให้ใช้บริการครบจะช่วยอำนวยความสะดวกการสัญจรคนเดินเท้าที่มาธุระ มาร่วมทำกิจกรรมท้องสนามหลวง ตลอดจนนักท่องเที่ยวมากขึ้น  โดยที่ยังคงความสวยงามของสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในกรุงเทพฯ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คน กทม. เกินครึ่งไม่เห็นด้วยมาตรการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด

นย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจ ของประชาชน เรื่อง “สองมาตรการใหม่ คน กทม. จะเอาไง” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 27-29 พฤศจิกายน 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กระจายระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความคิดเห็นของคนกรุงเทพมหานคร หากมีการใช้มาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการเก็บขยะและค่าธรรมเนียมรถติด