กสม.พร้อมหนุน มท.แก้ไขปัญหาคนไทยพลัดถิ่น

คณะกรรมการสิทธิฯ แจงผลหารือร่วมกรมการปกครอง เร่งแก้ไขปัญหากลุ่มคนไทยพลัดถิ่น และคุ้มครองสิทธิผู้หนีภัยการสู้รบชาวเมียนมาในไทย

10 มี.ค.2565 - คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางปรีดา คงแป้น แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 9/2565 ว่าตามที่ กสม.ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์กรณีปัญหาสถานะบุคคลของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และ จังหวัดระนอง เมื่อเดือนมกราคม 2565 และได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีขอให้คุ้มครองสิทธิมนุษยชนและแก้ปัญหาของผู้หนีภัยการสู้รบชาวเมียนมาในพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ จังหวัดตาก และพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศไทย เมื่อเดือนธันวาคม 2564 นั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาดำเนินไปอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 กสม. โดยนางปรีดา และ น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช กสม.ได้เข้าหารือร่วมกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย นำโดยนายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง และนายสมยศ พุ่มน้อย รองอธิบดีกรมการปกครอง ถึงปัญหา อุปสรรค และแนวทางในการทำงานร่วมกันระหว่าง กสม. และ กรมการปกครอง ณ สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย โดยในการประชุมหารือดังกล่าวมีข้อสรุปร่วมกัน ดังนี้

1.การเร่งรัดกระบวนการพิสูจน์สิทธิและรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น (คนเชื้อสายไทย) ซึ่งกรมการปกครองได้ขึ้นทะเบียนไว้ราว 18,000 คน และได้รับการรับรองไปแล้ว ราว 10,000 คน นั้น ในโอกาสครบ 10 ปีของการออกกฎหมายสัญชาติฉบับที่ 5 และเพื่อเป็นการเร่งรัดกระบวนการนี้ให้เร็วขึ้น กรมการปกครองอาจเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ทะเบียนแต่ละอำเภอ หรือ จัดทีมจากส่วนกลางไปร่วมรับคำขอพิสูจน์ความเป็นคนไทยพลัดถิ่น รวมทั้งข้อมูลที่เครือข่ายแก้ไขปัญหาคืนสัญชาติคนไทยได้เสนอว่ามีคนไทยพลัดถิ่นตกสำรวจอีกราว 1,300 คน โดยสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ยินดีรับไปดำเนินการเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาและประสานความร่วมมือกับ กสม. ต่อไป

2.กรณีที่มีเรื่องร้องเรียนมายัง กสม. เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาสิทธิสถานะกลุ่มอื่นๆ นั้น ระยะที่ผ่านมา กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียน 24 เรื่อง โดยรวมเป็นกรณีการพิจารณาคำขอลงรายการสัญชาติล่าช้า กรณีเจ้าหน้าที่ไม่รับจดทะเบียน หรือไม่ออกเอกสารรับคำขอให้แก่ผู้ยื่นคำขอ เป็นต้น ที่ประชุมหารือแก้ไขปัญหาโดยให้ กสม. ส่งเอกสารร้องเรียน ไปยังสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง อีกทางหนึ่งด้วย เพื่อให้เกิดการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ลดขั้นตอนในกระบวนการตรวจสอบและทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

3.สำหรับค่ายพักพิงชั่วคราว กรมการปกครองให้ข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2565 ว่า มีผู้หนีภัยการสู้รบชาวเมียนมาที่อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่ง ใน 4 จังหวัดของประเทศไทย ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี และ ราชบุรี จำนวน 77,384 คน ส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยงและกะเหรี่ยงแดง (กะยาห์) ซึ่งประเทศไทยโดยความร่วมมือขององค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ ได้ให้การดูแลผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมาในพื้นที่พักพิงชั่วคราวมาเป็นเวลา 37 ปี ในส่วนของกรมการปกครองได้ดำเนินการดูแลรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยในพื้นที่พักพิงชั่วคราว การจัดทำทะเบียนผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา บริหารจัดการภายในพื้นที่พักพิงชั่วคราว เช่น การออกหนังสือรับรองการเกิด มรณบัตร ทะเบียนประวัติครอบครัว ตาม พ.ร.บ. การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 และการจัดทำแผนและมาตรการเพื่อป้องกันภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นภายในพื้นที่พักพิง เป็นต้น ซึ่งกรมการปกครองพร้อมขับเคลื่อนนโยบายในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้หนีภัยฯ ร่วมกับ กสม. ต่อไป

“เป็นที่ทราบกันว่าทั้งปัญหาสถานะบุคคล และปัญหาผู้หนีภัยจากการสู้รบในค่ายพักพิงชั่วคราว เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่อาจแก้ไขให้แล้วเสร็จได้โดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น ต้องใช้ความร่วมมือหลายฝ่าย อย่างไรก็ดี กสม. เห็นว่าความล่าช้าคือความไม่ยุติธรรมที่ทำให้กลุ่มคนไทยพลัดถิ่น คนไร้รัฐไร้สัญชาติทุกกลุ่ม รวมทั้งผู้หนีภัยจากการสู้รบในเมียนมาที่อยู่มายาวนาน เข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนสมควรได้รับ กสม. จึงขอขอบคุณกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่ยินดีรับปัญหาเหล่านี้ไปเร่งดำเนินการแก้ไข โดย กสม. พร้อมให้การสนับสนุนในทุกขั้นตอน” นางปรีดากล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ขรก.ระดับสูง กระทรวงมหาดไทย จำนวน 33 ราย

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ ระบุว่า มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ข้าราชการพลเรือนสามัญสังกัดกระทรวงมหาดไทย พ้นจากตำแหน่ง จำนวน 1 ราย และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 33 ราย ดังนี้

เปิดข้อมูลใหม่ปม 'ปมกระโดง' พิรุธแผนที่การรถไฟฯรุกสิทธิชาวบ้าน

ปมพิพาทพื้นที่บริเวณเขากระโดง กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งเมื่อ “ทรงศักดิ์ ทองศรี” รมช.มหาดไทย (มท.2) และ “กรมที่ดิน” ลงพื้นรับฟังปัญหาความเดือดร้อนพี่น้องประชาชน และหน่วยราชการ ในพื้นที่เขากระโดงใน จังหวัดบุรีรัมย์

"อนุทิน" ขอบคุณ "เพื่อนเลิฟ" เป็นสะพานบุญ ปฏิบัติภารกิจ "หัวใจติดปีก" หลังบินด่วนร้อยเอ็ด ส่งทีมแพทย์ผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ

หลังจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย พร้อมด้วย ทีมแพทย์ นำโดย นพ.พัชร อ่องจริต อาจารย์ศัลยแพทย์ หัวหน้าสาขาศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

'มท.2' ควงอธิบดีที่ดิน ลงพื้นที่เขากระโดง พิสูจน์ปมพิพาทกับ รฟท.

'มท.2' ควงอธิบดีกรมที่ดิน ลงพื้นที่เขากระโดง พิสูจน์ปมพิพาทที่ดิน รฟท. ชาวบ้าน 2 ตำบล โชว์เอกสารสิทธินส.3 หลักฐานยันอาศัยอยู่ตั้งแต่ปู่ย่าตายาย เรียกร้องความยุติธรรม

ครม.อนุมัติร่างประกาศ มท. กำหนดจำนวนคนต่างด้าวขอมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดจำนวนคนต่างด้าวซึ่งจะมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ประจำปี พ.ศ.