‘หมอชลน่าน’ ควง ‘สันติ’ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์กระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหาร-แพทย์ชนบท ตบเท้าต้อนรับ ประกาศฟื้นบอร์ดสุขภาพแห่งชาติ ย้ำกัญชายังเป็นยาเสพติด
11 ก.ย. 2566 – ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข ถือฤกษ์วันจันทร์ที่ 11 ก.ย. 2566 เข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย พระพุทธนิรามัย ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พระพรหม พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระอนุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทร พระอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระพุทธมหานวนาคปฏิมากร
จากนั้น นพ.ชลน่าน และนายสันติ เข้าห้องทำงานบริเวณชั้น 4 เพื่อลงนามในหนังสือเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้นพ.ชลน่าน ได้อุ้มพระสิวลี มาขึ้นโต๊ะหมู่บูชาโดยมีบรรยากาศเป็นไปอย่างชื่นมื่น มีนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหารกระทรวง กรมต่างๆ ผู้บริหารหน่วยงานต่างๆ รวมถึงกลุ่มแพทยชนบท อาทิ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผอ.รพ.ขอนแก่น นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.รพ.ประจวบคีรีขันธ์ ทั้งนี้ พญ.นวลสกุล บำรุงพงษ์ ภรรยา นพ.ชลน่าน เข้าร่วมด้วย
นพ.ชลน่าน ให้สัมภาษณ์ว่า เคยมีโอกาสได้ทำงานที่กระทรวงสาธารณสุขเมื่อ 10 ที่ผ่านมา และครั้งนี้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น รมว.สาธารณสุข เข้ากระทรวง พร้อมนายสันติ รมช.สาธารณสุข จริงๆ เข้ามาทำงานตั้งแต่วันที่ 7 -8 ก.ย.แล้ว แต่วันนี้เข้ามาอย่างเป็นทางการ สำหรับการทำงานที่นี่ ตนตั้งใจ ทุกอย่างจะเป็นไปตามนโยบายที่แถลงต่อสภา แปลงเป็นนโยบายกระทรวงสาธารณสุข นำสู่แผนการปฏิบัติ หลังวันที่ 12 ก.ย. ตนจะแถลงอย่างเป็นทางการ เบื้องต้น เรื่องการยกระดับ 30 บาท รักษาทุกโรคนั้น จะมีความชัดเจนในวันที่ 30 ก.ย. นี้แน่นอน เพราะเรื่องนี้มีอยู่ในถ้อยคำที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภาอยู่แล้ว
ทั้งนี้ขอย้ำว่า “การยกระดับบัตร 30 บาทรักษาทุกโรค” นั้น เป็นชื่อโครงการ ชื่อยี่ห้อ แต่หลายคนเข้าใจว่าเราจะกลับมาเก็บเงินค่ารักษา แต่อันที่จริงจะเป็นการยกระดับเพิ่มประสิทธิภาพทุกมิติของงานด้านสาธารณสุข เป็นเรื่องการส่งเสริมป้องกันโรค ฟื้นฟูโรค และเรื่องสุขภาวะที่ดีพร้อมทั้งร่างกาย จิตใจ จิตวิญญาณ สติปัญญา และมิติทางสังคม ซึ่งขณะนี้ต้องยอมรับว่าสุขภาพเชิงสังคมนั้นมีปัญหามากในบ้านเมืองเรา ดังนั้นเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายที่ต้องตอบโจทย์เรื่องนี้
เมื่อถามว่า จะมีการดูแลครอบคลุมไปถึงระบบสุขภาพอื่นๆ ด้วยหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เราจะดูให้ครอบคลุมเชิงระบบสุขภาพทุกภาคส่วน เพราะภาระงานของเราจริงครอบคลุมประมาณ 60-70% แต่ใน 100% ของสุขภาพทั้งเราเป็นผู้ดูแลเชิงรวม เราตั้งใจถึงขนาดตั้งเป็นคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หรือ National Health Board ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้ เพื่อวางแนวทางระบบสุขภาพ ซึ่งรวมถึงการลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน (กองทุนบัตรทอง-สวัสดิการข้าราชการ-ประกันสังคม) ซึ่งมีความคาบเกี่ยวกันอยู่ จึงต้องมีแกนกลางมารองรับ รวมถึงทุกกระทรวงที่รับผิดชอบมิติสุขภาพก็จะเข้ามาอยู่ในนี้ด้วย
ส่วนกังวลหรือไม่ เนื่องจากเรื่องนี้เคยถูกต่อต้านในสมัย นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ เป็น รมว.สาธารณสุข นั้น นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ไม่กังวล เพราะเราใช้เนื้องาน ลักษณะการขับเคลื่อนงานเป็นหลัก ขณะนี้เราต้องยอมรับว่า การร่วมมือ ประสานงานด้านสุขภาพนั้นเป็นการทำงานแยกส่วน มีความสูญเสีย การตอบสนองคามต้องการด้านสุขภาพ ประสิทธิภาพไม่ถึงที่เราต้องการ หากเข้ามาร่วมกันก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยืนยันว่าภาระงานไม่ทับซ้อนกัน กฎหมายแต่ละฉบับที่รองรับอยู่แล้ว ส่วนตรงนี้ที่จะเข้ามาเป็นบอร์ดกลางเพื่อดูแลทั้งหมดนั้นยังไม่มีกฎหมายเฉพาะขอย้ำว่า หน่วยงานนี้จะเป็นผู้ออกนโยบาย แต่ไม่เกี่ยวกับการบริหารเพื่อนำสู่การปฏิบัติ เพราะตรงนั้นจะมีกระทรวงรองรับอยู่แล้ว ตนในฐานะรัฐมนตรีก็รับนโยบายจากคณะรัฐมนตรีมา
เมื่อถามว่า เท่ากับเป็นการลดบทบาทกระทรวงหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ไม่ได้ทำให้บทบาทกระทรวงลดลง แต่กลับจะเข้มแข็งขึ้น เป็นจุดเชื่อมกัน National Health Board จะไม่มายุ่งเกี่ยวกับการบริหารงานกระทรวง แค่กำหนดนโยบายเท่านั้นเอง
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีการจับตาเรื่องความสัมพันธ์ภายในกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะความไม่พอใจของกลุ่มแพทย์ชนบท ซึ่งวันนี้มีการมาต้อนรับจำนวนมาก จะทำให้เกิดการทำงานร่วมกันโดยปราศจากความขัดแย้งได้อย่างไร นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เบื้องต้นขอเน้นคำว่าไม่พอใจก่อน คาดว่าน่าจะเป็นความรู้สึกมากกว่า ทิศทางการทำงานของรัฐมนตี คณะผู้บริหารแต่ละชุดก็มีแนวทางตามนโยบายของแต่ละท่านไป ส่วนตนที่เข้ามาทำงานที่กระทรวงสาธารณสุข ตนที่เข้ามารับผิดชอบตรงนี้ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เพราะกลไกการขับเคลื่อนงานด้านสาธารณสุข บุคลากรด่านสุขภาพสำคัญยิ่ง เราวางเข็มมุ่งมั่นว่ากระทรวงสาธารณสุขน่าจะมีโอกาสมาบริหารจัดการ มีคณะกรรมการบริหารงานบุคคลเอง มีกฎหมายมารองรับเป็นการเฉพาะซึ่งต้องปรึกษาหารือกันอยู่ ทุกภาคส่วนที่มีความปรารถนาดีต่อสภาวะ หรือมิติสุขภาพของประชาชนเราก็จะรวบรวมมาเป็นพลัง ความเห็นต่างมีแน่นอน แต่เราจะแปลงความเห็นต่างนั้นมาเป็นความเห็นร่วม ทุกคนบอกผมว่าทุกคนมีความสมัครสมานสามัคคีกัน เป็นพี่เป็นน้องกัน เราเป็นหมอในหัวใจประชาชน เพราะฉะนั้นจะต้องมีความรักสมัครสมานสามัคคีขับเคลื่อนงานสุขภาพร่วมกัน
เมื่อถามว่า ดังนั้นมั่นใจหรือไม่ว่าในยุคที่เป็นรัฐมนตรี จะไม่มีม็อบบุคลากรมาที่กระทรวง นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เราไม่ได้ปิดกั้น ยิ่งเขามีความต้องการ แต่เราตอบสนองความต้องการเขาไม่ได้ การชุมนุมเรียกร้องจึงเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข พี่น้องประชาชนย่อมมีข้อเสนอ มีข้อเรียกร้องได้
เมื่อถามย้ำว่า ยุคนี้เรียกว่าจะเป็นยุคที่มีความสมานฉันท์ ไม่ขัดแย้งภายในได้หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ผมมั่นใจว่าจะเป็นเช่นนั้น ผมเข้ามา ความเป็นพี่เป็นน้อง เคยทำงานร่วมกัน เข้าใจการขับเคลื่อนงานในมิติต่างๆ บริบทต่างๆ แต่ละท่าน แต่ละกลุ่ม แต่ละฝ่ายมีวัตถุประสงค์อะไรเราก็ทราบ แล้วเราทราบว่า การขับเคลื่อนตรงนั้นไม่ได้ทำไปเพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่อประชาชน ดังนั้นมั่นใจว่า ความสมานฉันท์ การเอาสมองที่เป็นเลิศมารวมกัน ผมมั่นใจว่า จะขับเคลื่อนมิติสุขภาพของประเทศได้
รมว.สาธารณสุข กล่าวด้วยว่า สำหรับนโยบายด้านกัญชานั้น ในนโยบายของรัฐบาล และนโยบายของกระทรวง เน้นการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ในทุกระบบ ครบวงจร ส่วนจะกลับไปเป็นยาเสพติดหรือไม่ก็ต้องไปดูกฎหมาย จริงๆ ตอนนี้กัญชาก็เป็นยาเสพติด เพราะประกาศกระทรวงกำหนดชัดว่า สารสกัด THC เกิน 0.2% ถือเป็นยาเสพติด.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'หมอเดชา ศิริภัทร' ทวงสัญญา 'แอ๊ด คาราบาว' อย่าทำแบบไม่แยแสเรื่องงานที่คุยกันไว้
นายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ เจ้าของสูตรน้ำมันกัญชา (ตำรับหมอเดชา) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ว่า ช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้ มีข่าว(ฉาว)เกี่ยวกับ คุณแอ๊ด คาราบาว (ภาพบน) ซึ่งยังไม่ตัดสินว่าร้านถูกดีฯ (
'หมอธีระวัฒน์' ยกตัวอย่างคนป่วยวัคซีนโควิด รายแล้วรายเล่า ถ้านิ่งเฉยไม่ควรเป็นแพทย์หรือมนุษย์
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า ตัวอย่างของคนป่วย รายแล้วรายเล่า ไม่จบไม่สิ้นนำมาแสดงบางราย ทั้งนี้เป็นที่หมอดูเองและร่วมดูทั้งสิ้น
'หมอยง' ชี้สถานการณ์โควิดเปลี่ยนตามกาลเวลา ปีนี้ยุติแล้ว แต่ไวรัสยังอยู่ต่อไป
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า 5 ปี โควิด 19 กาลเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน
รัฐบาลพร้อมรับ 4 คนไทยกลับบ้าน เช็กสุขภาพ-เยียวยาจิตใจทันที
นายกฯ รับรายงานพร้อมรับ 4 คนไทยกลับบ้าน ด้าน สธ. เตรียมทีมดูแลสุขภาพกาย-จิตใจ ทันทีที่เหยียบแผ่นดินไทย