หารือโหวตนายกฯ รอบ 2 'ก้าวไกล' เสนอชื่อพิธา 'เพื่อไทย' ขอไปทำการบ้านก่อน

“ชัยธวัช” เผย “พท.” ไม่ขัดข้อง ยื่นแก้ ม.272 ยัน เดินหน้าขอเสียงเพิ่ม เสนอชื่อ “พิธา” ซ้ำ เมินส.ว.ตีความข้อบังคับ ชี้ “เพื่อไทย-ก้าวไกล” ต้องจับมือให้แน่น

15 ก.ค.2566 - เมื่อเวลา 11.50 น. ที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า วันนี้มีการประชุม ส.ส.ผ่านระบบออนไลน์ เป็นการหารือในหลายเรื่องที่ได้พูดคุยกับพรรคเพื่อไทย (พท.) และแนวทางในการผลักดันเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ก.ก. และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี รวมถึงพูดคุยถึงสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน

ผู้สื่อข่าวถามถึงผลการหารือร่วมกับพรรค พท.เมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา นายชัยธวัช กล่าวว่า ทางพรรค ก.ก.ได้ยืนยันว่า จะเสนอชื่อนายพิธา อีกครั้งหนึ่งในการประชุมสภา วันที่ 19 ก.ค. นี้ ซึ่งทางพรรค พท.จะนำไปหารือกัน ซึ่งจริงๆ มีการพูดคุยกันในหลายเรื่อง ทั้งกระแสข่าวที่ว่าจะมีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ แข่งจากเสียงข้างน้อย และหาวิธีป้องกันกรณีที่ ส.ว.บางคน พยายามเสนอให้มีการตีความข้อบังคับการประชุมของรัฐสภา ว่าการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ จะสามารถทำซ้ำได้หรือไม่ ซึ่งเราเห็นตรงกันว่าไม่สามารถตีความข้อบังคับแบบนั้นได้ เพราะข้อบังคับนั้นมีไว้ใช้สำหรับญัตติทั่วไป แต่การเลือกนายกฯ เป็นกรณีเฉพาะซึ่งกำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญ หากไม่สามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ซ้ำได้ ก็อาจทำให้เกิดปัญหาในอนาคต ฉะนั้นเหตุผลที่จะตีความแบบนั้นคงไม่ถูก ทั้งนี้ มีการหารือกันหลายเรื่องถึงวิธีการที่จะทำให้ได้เสียงสนับสนุนมากขึ้นในการประชุมสภาครั้งต่อไป

เมื่อถามถึงกระแสข่าวว่าจะมีการเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เพื่อแข่งกับนายพิธา ในวันที่ 19 ก.ค. นี้ นายชัยธวัช กล่าวว่า ก็มีการพูดคุยกัน เป็นภารกิจของ 8 พรรค โดยเฉพาะพรรค ก.ก. และพรรค พท. ที่จะจับมือกันให้แน่นเพื่อไม่ให้เกิดรัฐบาลเสียงข้างน้อย อย่างไรก็ตาม ได้มีการตกลงกันว่าจะมีการนัดประชุมพรรคร่วม 8 พรรค ในเช้าวันอังคารที่ 18 ก.ค. ซึ่งตอนนี้กำลังประสานงานกัน

ถามว่า พรรค พท.เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ด้วยหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า พรรค พท.ไม่ได้ขัดข้อง เพราะเราเคยผลักดันเรื่องนี้กันมาหลายครั้งในสภา เมื่อถามอีกว่า กระบวนการจะทันภายใน 1 เดือนหรือไม่ เพราะมีการมองว่าอาจใช้เวลาถึง 4 เดือน นายชัยธวัช กล่าวว่า ไม่ขนาดนั้น ต้องเข้าใจว่าเป็นข้อเสนอทางเลือกที่คู่ขนานกันไปกับกระบวนการเลือกนายกฯ เพราะเราไม่รู้ว่าต้องเลือกนายกฯ อีกกี่ครั้ง หาก ส.ว.ไม่ประสงค์ใช้สิทธิ์ งดออกเสียง หรือไม่เข้าร่วมประชุม แบบนี้จะนำมาสู่ทางตันทางการเมือง ดังนั้น เราจึงเสนอทางออกให้ด้วยการปิดสวิตซ์ ส.ว.ไปเลย เพื่อคืนอำนาจในการเลือกนายกฯ ให้กับประชาชน เพราะจะไม่นำมาสู่ทางตัน ยืนยันว่าเรื่องนี้ทำคู่ขนานกันได้ หากสามารถนัดประชุมสภาได้เร็ว ซึ่งเป็นอำนาจของประธานสภาฯ ผ่านวาระ 1 แล้วรีบดำเนินการ ก็ใช้เวลาเพียง 3-4 สัปดาห์ก็เสร็จ

ซักว่า ในที่ประชุมเจรจา มีการพูดคุยกันหรือไม่ว่าหากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรณีถือครองหุ้นไอทีวีของนายพิธาในสัปดาห์หน้า จะกระทบการโหวตนายกฯ หรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ไม่ได้คุยเรื่องดังกล่าว เราเข้าใจดีอยู่แล้วว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกัน อย่างเมื่อตอนปี 2562 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ก็ยังสามารถเสนอชื่อและโหวตในสภาได้ตามปกติ ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกัน ไม่ว่าใครก็ตามที่มีข้อกล่าวหา เราก็ต้องถือหลักสันนิษฐานไปก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยถึงที่สุด

เมื่อถามถึงกรณีที่นางทัศนา ยุวานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ระบุว่า สาเหตุที่งดออกเสียงให้นายพิธา เพราะไม่อยากส่งคนมีตำหนิไปถึงกระบวนการลงพระปรมาภิไธย นายชัยธวัช กล่าวว่า ตนคิดว่าเรื่องนี้มีความพยายามเชื่อมโยงที่ไม่เหมาะสม คิดว่าการกระทำใดๆ ในทางการเมือง มีผู้รับผิดชอบหรือมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการอยู่แล้ว เรื่องนี้จึงไม่เกี่ยว เพราะในอดีตที่ผ่านมามีผู้ที่มีตำหนิ หรือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้วถูกตรวจสอบในภายหลังว่าไม่มีความเหมาะสม บกพร่อง ทุจริต คอร์รัปชั่น หรือขาดคุณสมบัติ ซึ่งเป็นเรื่องกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลย์ในระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว พระมหากษัตริย์ไม่ได้เกี่ยวในเรื่องนี้ แต่ทรงใช้อำนาจโปรดเกล้าในฐานะประมุขของรัฐ ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ควรไปผูกโยงเรื่องดังกล่าว เพราะไม่เหมาะสมที่จะพูด

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ได้ออกระบุว่าพร้อมร่วมงานกับทุกพรรค ขอแค่ไม่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถือเป็นสัญญาณการแตกแถวของพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า อย่าเพิ่งไปตีความขนาดนั้น ตนคิดว่าใน 8 พรรค คงต้องพูดคุยกันเรื่อยๆ ประเมินสถานการณ์เป็นระยะ ก็อาจจะมีข้อเสนอใหม่ๆ เข้ามา เพื่อให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลได้จริง ทุกข้อเสนอและทุกความคิดเห็น สามารถนำมาถกเถียงแลกเปลี่ยนกันได้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เด็กก้าวไกล' ถาม 'ชาดา' ตอบปมต่างชาติเช่าอสังหาฯ 99 ปี

'สส.ก้าวไกล' ข้องใจ รบ.เตรียมเปิดช่องให้ต่างชาติถือครองอสังหาฯ 99 ปี ซัดนายกฯ หวังช่วยกลุ่มทุน ด้าน 'ชาดา' ยอมรับ 'เศรษฐา' สั่งให้เร่งดำเนินการ แก้ กม.แจงต้องแก้เพื่อดึงเงินลงทุนต่างชาติ

ทันควัน! ก้าวไกลยื่นญัตติด่วนให้ทบทวนคำถามประชามติใหม่

ก้าวไกลยื่นญัตติด่วน หวังรัฐสภามีมติให้ ครม.ทบทวนคำถามประชามติ เรื่องรัฐธรรมนูญก่อนรัฐสภาแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติเสร็จ 'พริษฐ์' ย้ำคำถามที่เปิดกว้างจะเพิ่มโอกาสที่การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่จะสำเร็จ

'ปิยบุตร' ดักคอพรรคจ้องดูด สส.งูเห่า เอาไปก็ไม่เกิดประโยชน์ต่อเสถียรภาพรัฐบาล

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ สัดส่วนพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมนัดแรก