'วันนอร์' เปิดใจรับตำแหน่งประธานสภาฯ เพราะความจำเป็นทางการเมือง

“วันนอร์”เปิดใจรับตำแหน่งประธานสภาฯเพราะความจำเป็นทางการเมือง พร้อมแบ่งงานให้ “ปดิพัทธ์”คุมงานกฎหมายทั้งหมด ขณะที่ “พิเชษฐ์” รับผิดชอบ กระทู้-ญัตติ -รักษาความปลอดภัย โวเตรียมพร้อมรับมือม็อบโหวตนายกฯแล้ว

10 ก.ค.2566 - เมื่อเวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่ 1 และนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ได้พบปะข้าราชการของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ในการเข้าร่วมรับฟังการรายงานผลการดำเนินงานของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งการแบ่งงานให้กับรองประธานสภาฯทั้งสองคน

ทั้งนี้มีรายงานข่าว นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวกับข้าราชการว่า ขอให้ข้าราชการรัฐสภา ตั้งใจทำงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อนำมาซึ่งประโยชน์ของรัฐสภาและประชาชน การทำดีพระเจ้ามองเห็น ทำดีต้องได้ดี ขอให้ทำงานด้วยความโปร่งใสยึดระบบคุณธรรมและรับฟังความเห็นของทุกกฝ่ายและประชาชน

นายวันมูหะมัดนอร์ ยังได้กล่าวความในใจตอนหนึ่งด้วยว่า ตั้งใจเข้ามาเป็น ส.ส. โดยไม่หวังตำแหน่งใดๆ เพราะตนเคยเป็นประธานสภาฯ มาแล้ว แต่เว้นวรรคไป 27 ปี อย่างไรก็ดีการเข้ารับตำแหน่งประธานสภาฯ เพราะเป็นความจำเป็นทางการเมือง เพื่อให้ตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชนให้ได้ ทั้งนี้ตนและรองประธานสภาฯ ทั้ง2คนมีความตั้งใจในการทำงาน เบื้องต้นในการประชุมสภาฯ อาจจะเพิ่มวันประชุมจากเดิมสัปดาห์ละ 2 วัน คือวันพุธ และวันพฤหัสบดี จะเพิ่มเป็น 3 วัน อาจจะเพิ่มวัน อังคาร หรือ วันศุกร์ เพื่อเป็นการประชุมสภาฯ ส่วนอีก 2 วัน จะเป็นงานของคณะกรรมาธิการฯ

ขณะที่นายปดิพัทธ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังร่วมกับหารือกับ ประธานสภาฯ ถึงการแบ่งงาน ว่า ตนได้รับมอบหมายให้ดูด้านการพิจารณากฎหมายทั้งหมด และระเบียบวาระการประชุม รวมทั้งงานด้านการต่างประเทศ งานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการประชมสัมพันธ์

เมื่อถามว่า เมื่อได้รับมอบหมายให้ดูด้านกฎหมาย จะทำให้ผลักดันกฎหมายที่พรรคก้าวไกล จะเสนอสะดวกขึ้นหรือไม่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ทุกอย่างต้องเป็นไประเบียบ ไม่ใช่จะต้องมาทำให้พรรคไหนสะดวกขึ้น และถ้าเวลาการพิจารณากฎหมายมีมากเพียงพอก็จะไม่เสียเวลา อย่างคราวที่แล้ว สภาฯ เสียเวลาไปกับการพิจารณาหลายเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ตนจะมาตัดตอนให้มันดี ในส่วนที่เกี่ยวกับระบบ และการเสนอกฎหมายของสมาชิก ไม่ใช่จะมาอำนวยความสะดวกให้เฉพาะพรรคก้าวไกลเท่านั้น

เมื่อถามว่า เมื่อเป็นเช่นนี้แสดงว่า พรรคก้าวไกลจะได้รับความเป็นธรรมมากขึ้นหรือไม่ เพราะบางเรื่องน่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ได้ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ใช่ บางเรื่องก็นำไปวินิจฉัยในสภาฯ ไม่ต้องมาอยู่ที่ประธานสภาฯ อย่างเดียว

ด้านนายพิเชษฐ์ กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องการกลั่นกรองกระทู้ถาม และญัตติ เรื่องที่ประธานสภาฯแจ้งต่อที่ประชุมสภาฯ การรับรองรายงานการประชุม และเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ไช่เรื่องเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หรือพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) รวมทั้งการพิจารณาการลาการประชุมของสมาชิก การพิจารณาส่งข้อหารือของสภาชิกให้รัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้องรับทราบ นอกจากนี้ ตนยังได้ดูเรื่องกำกับงานบริหารของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ เกี่ยวกับงานด้านงบประมาณ ด้านวิชาการ ด้านกฎหมาย ด้านกรรมาธิการ และด้านความปลอดภัย

เมื่อถามว่า เมื่อได้ดูเรื่องความปลอดภัย หมายความว่าต้องเตรียมรับมือการชุมนุมวันที่ 13 ก.ค. ซึ่งเป็นวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยใช่หรือไม่ นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า ก็ต้องช่วยดูด้วย โดยได้ประสานกับตำรวจไว้พร้อมแล้ว ซึ่งตนไม่ได้หนักใจอะไร ก็จะดูให้เป็นไปตามสถานการณ์ ส่วนเรื่องการอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการกางเต๊นท์ให้กับผู้ชุมนุนนั้น จะเริ่มดำเนินการในวันที่ 12 ก.ค.โดยทางกทม. จะเข้ามาดำเนินการ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ก้าวไกลแพ้! ศาลยกฟ้อง 'ณฐพร โตประยูร' แจ้งเท็จ-หมิ่น ล้มล้างการปกครอง

ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีดำ อ.308/2564 ที่พรรคก้าวไกล เป็นโจทก์ฟ้องนายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นจำเลยในความผิดฐานแจ้งความเท็จ,หมิ่นประมาทฯพร้อมเรียกค่าเสียหาย 20,062,475บาท   

รู้ไว้ซะ 'ปิยบุตร' เผย 'ทักษิณ' ได้กลับบ้าน เพราะก้าวไกลชนะเลือกตั้ง!

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงกันอีกครั้ง

'วันนอร์' ยกเครื่อง ออกระเบียบตั้งที่ปรึกษา กมธ. สภาฯ หลังปมฉาวใช้ตำแหน่งตบทรัพย์

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ระเบียบสภาผู้แทนราษฎร ว่าด้วยการแต่งตั้งที่ปรึกษาทรงคุณวุฒิประจำคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2567 ลงวันที่ 15 ต.ค. 2567 มีเนื้อหาระบุว่า

'อิ๊งค์-อ้วน' ยัน MOU44 สำคัญ ไทยต้องคุยกัมพูชาชัดเรื่องเขตแดนภายใต้ JTC แล้วนำเข้ารัฐสภา

นายกฯ ยัน MOU44 สำคัญ ย้ำไม่ยกเลิกฝ่ายเดียวจะเกิดปัญหาระหว่างประเทศ ไทยต้องคุยกับกัมพูชาชัดเรื่องเขตแดน ภายใต้คกก. JTC เพื่อเป็นหลักฐานการคุย คาดตั้งเสร็จกลาง พ.ย.นี้ ลั่นผลประโยชน์ใต้ทะเลยังไม่คุยจนกว่าจะชัดเจนและนำเข้ารัฐสภา ยอมรับกัมพูชาถามคืบหน้า