'ประเสริฐ' รับยังไม่ได้คุยก้าวไกล ชิงประธานสภาฯ นัดล่มหลายครั้ง รอสรุป 28 มิ.ย.

“ประเสริฐ” เผยประชุมพรรคพรุ่งนี้ ยังไม่เคาะรายชื่อประธานสภาฯ เชื่อส.ส.เพื่อไทย ไม่มีใครแตกแถว ย้ำ 141 เสียง ห้ามลา ห้ามขาด เชื่อ 28 มิ.ย. มีคำตอบชัดเจน

26 มิ.ย.2566 - ที่พรรคเพื่อไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสชื่อนายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ชิงตำแหน่งประธานสภาฯว่า จริงๆแล้วบุคคลที่จะลงไม่ว่าตำแหน่งอะไรในสภา พรรคเพื่อไทยยังไม่ได้มีการพิจารณา แม้กระทั่งที่มีกระแสข่าวว่านายสุชาติ ตนคิดว่าหลังจากที่พรรคเพื่อไทยได้คุยกับพรรคก้าวไกลแล้ว เราจึงจะเริ่มพิจารณารายชื่อ ซึ่งเพื่อไทยได้มีการนัดหมายพูดคุยถึงเรื่องดังกล่าวในวันพรุ่งนี้ (27 มิ.ย.) โดยจะยังไม่มีการนำรายชื่อเข้าแต่อย่างใด

ถามว่า มีกระแสข่าวว่าทางพรรคก้าวไกลจะถอยเรื่องตำแหน่งประธานสภาฯแล้ว จริงหรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่า “ไม่ทราบครับ ไม่ได้รับแจ้งเช่นนั้น”

ซักว่า ทางพรรคได้คุยกับนายสุชาติ แล้วหรือยัง นายประเสริฐ กล่าวว่า ยังไม่ได้คุย ส่วนจำเป็นที่จะต้องคุยกับนายสุชาติหรือไม่นั้น ตนคิดว่าไม่ เพราะพรุ่งนี้(27 มิ.ย.) ในที่ประชุมพรรค คงมีความชัดเจนในเรื่องนี้มากขึ้น และคงมีการพูดคุยในเรื่องนี้ โดยจะเป็นการรับฟังความคิดเห็นต่อเนื่องจากวันที่ 21 มิ.ย. ที่ผ่านมา ส่วนการตัดสินใจจะเป็นช่วงหลังจากวันที่ได้ไปคุยกับพรรคก้าวไกลในวันที่ 28 มิ.ย. ก่อน

ถามอีกว่า แสดงว่าที่ผ่านมาท่าทีของพรรคก้าวไกลก็ยังไม่ได้มีการคุยกับพรรคเพื่อไทยใช่หรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่า “ยังไม่เคยครับ ผมขอเรียนเช่นนี้ว่า ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยมีจุดยืน 2 เรื่องตามที่ปรากฎเป็นข่าว ซึ่งทางพรรคก้าวไกลก็ยังไม่มีการพูดคุยตั้งแต่นั้น เพียงแต่เรามีการนัดกันมาเรื่อยๆ แต่ก็มีการคลาดเคลื่อนกันเรื่อยๆ จนเราคิดว่าวันที่ 28 มิ.ย. ซึ่งเป็นช่วงที่ใกล้แล้ว และน่าจะเป็นวันที่มีคำตอบที่ชัดเจนแล้ว และจากวันที่ 28 มิ.ย. - 4 ก.ค. ก็เป็นเวลาที่สั้น ”

ถามต่อว่า แสดงว่าวันที่ 28 มิ.ย. จะมีรายชื่อเปิดเผยออกมาเลยใช่หรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่า อาจจะสรุปร่วมกันได้ว่าทิศทางประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ จะเป็นอย่างไร แล้วหลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการสรรหาของแต่ละพรรค ทั้งนี้ ต้องมีการตกลงกันก่อนว่าใครจะอยู่ตรงไหน ฉะนั้น การที่จะเสนอรายชื่อเพื่อมาพูดคุยในที่ประชุมนั้น ยังสรุปไม่ได้ ซึ่งจริงๆแล้วตำแหน่งประธานสภาฯมีคนเดียว และตำแหน่งรองประธานสภาฯมี 2 คน ซึ่งตนคิดว่าในวันที่ 28 มิ.ย. หากสามารถพูดคุยกันได้ พรรคเพื่อไทยก็จะดำเนินการในเรื่องของรายชื่อโดยเร็ว

เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยจะมีการเตรียมพร้อมหากจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้อย่างไร นายประเสริฐ กล่าวว่า ในวันที่ 29 มิ.ย. ที่เป็นวันประชุมพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด 8 พรรค ตนคิดว่าน่าจะมีการพูดคุยถึงเรื่องนี้ด้วยว่าสถานการณ์ทางการเมือง หลังจากที่มีการเลือกประธานสภาฯแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการเลือกนายกฯ อาจจะต้องมีการมาพูดคุยอย่างรอบคอบ ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องจำนวนสมาชิกที่สนับสนุน

เมื่อถามถึงกระแสข่าวที่มีการซื้อเสียงส.ส. เป็นเงินหลักร้อยล้าน นายประเสริฐ กล่าวว่า ก็ปรากฏเป็นข่าว แต่ครั้งนี้ตนคิดว่าเป็นเรื่องไม่ง่ายเท่าไหร่ เพราะวันนี้ประชาธิปไตยพัฒนาไปไกลแล้ว ฉะนั้นการที่เราจะกลับมาเหมือนที่เขาบอกว่าตั้งรัฐบาลงูเห่านั้น ตนคิดว่าเป็นการถอยหลัง ส่วนกรณีที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ระบุว่า คนขายเป็นงูเห่า คนซื้อเป็นควาย นั้นก็เป็นความคิดของนายอนุทิน ซึ่งเรามั่นใจว่าพรรคเพื่อไทยนั้น ที่ผ่านมาไม่เคยมีเรื่องพวกนี้ ฉะนั้น เราไม่ได้คิดเรื่องพวกนี้เลย เพียงแค่เราขอให้ส.ส. ซึ่งเราได้กำชับว่าในวันโหวตประธานสภาฯ หรือในอนาคตที่จะมีการโหวตเลือกนายกฯ ขอให้สมาชิกพร้อมเพรียงกัน และห้ามลา ห้ามขาด เพราะถือว่าเป็นวาระสำคัญ 141 เสียงต้องอยู่ครบ

“การเลือกตั้งปี 66 เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า ส.ส.งูเห่าไม่ได้กลับเข้าสภาทุกคนเลย ดังนั้นขอให้เป็นข้อพึงระวังว่าอย่าทำ และไม่ควรทำอีก เพราะเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย”นายประเสริฐ กล่าว

ซักว่าการฟรีโหวตจะต้องมีการคุยอีกครั้งใช่หรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่า ในเรื่องที่มีความสำคัญนั้น ในการโหวตเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นญัตติหรือวาระที่สำคัญ ปกติพรรคจะกำหนดแนวทางในการโหวต ซึ่งก่อนหน้านี้หลายคนอาจจะมีความคิดเห็นแตกต่างกัน แต่เมื่อมีการประชุมพรรคในวันพรุ่งนี้(27 มิ.ย.) ตนคิดว่าจะมีความชัดเจนเพิ่มขึ้น และการโหวตในวาระประธานสภาฯ ก็จะไม่ใช่การฟรีโหวต ทั้งนี้ แม้จะเป็นการลงคะแนนลับที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าใครจะลงคะแนนอย่างไร แต่เราก็ต้องเชื่อใจกัน และมั่นใจว่าจะไม่มีใครสวนมติ

ถามอีกว่า หากมีการโหวตสวนมติจะกระทบกับความสัมพันธ์กับพรรคก้าวไกลหรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่า ขอให้ดูคะแนนออกมาก่อน ตนคิดว่าเรื่องยังไม่เกิดขึ้น และคิดว่าครั้งนี้เป็นวาระแรกของการประชุมสภาฯ ฉะนั้น พรรคจะกำชับสมาชิกทุกคนให้เดินทางเข้าประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน ไม่ให้ขาดสักคน จึงไม่กังวลเรื่องที่สมาชิกจะขาด ลา หรืออ้างว่ามีธุระ

เมื่อถามถึงกรณีที่พรรคก้าวไกล พยายามที่จะนำเสนอเรื่องวันที่ 24 มิ.ย. เป็นวันชาติ นายประเสริฐ กล่าวว่า ตนเข้าใจว่าวันชาติไทยมีอยู่แล้ว ฉะนั้น เรื่องการจะกำหนดว่าวันไหนเป็นวันสำคัญของชาติ ต้องมีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ฉะนั้นการที่มีอยู่แล้ว และจะเปลี่ยนแปลงอะไรต้องคิดให้รอบคอบก่อน และเรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนทั้งชาติต้องเห็นร่วมกัน ไม่ใช่แค่พรรคการเมือง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สามารถ' ย้อนเกล็ด 'เด็จพี่' ขยันร้องบิ๊กป้อม แต่ไม่ตามตัว สส.เพื่อไทย คดีตากใบ

นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีต สส.เพื่อไทย ติดตามการขาดประชุมของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

'ไพบูลย์' ปูดข่าวยุบพรรคเพื่อไทย ให้จับตาดูหลัง 10 ต.ค.

นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรค พปชร. เปิดเผยว่า ตนทราบข่าวว่าจะเกิดปัญหากับพรรคการเมือง ที่นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ เป็นสมาชิกพรรค หรือที่รับใบสั่งกับแกนนำมาร้องเรียนจนมั่วไปหมด ซึ่งตนเองทราบจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อได้

'ไพบูลย์' แจ้งความแล้ว ลุยเอาผิด 'เด็จพี่' ฝ่าฝืนประกาศ คปค. ห้ามดักฟัง

นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรค พปชร. กล่าวถึงกรณีนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ร้องตรวจสอบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. รวมถึงขอข้อมูลส่วนตัวว่า ตนเกรงว่านายพร้อมพงศ์ จะไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย

'เพื่อไทย' ดิ้นแก้รธน.ทั้งฉบับ เรียกหัวหน้าพรรครัฐบาลหาทางออก ปัดกดดัน สว.บ้านใหญ่

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงกรณีที่วุฒิสภามีแนวโน้มที่จะแก้ไขร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ โดยให้ฟื้นใช้เกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้น (double majority)

เจาะแพ็กเกจ แก้รธน. พริษฐ์ พรรคประชาชน กับด่านสำคัญที่รออยู่

การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภาในเดือนตุลาคม ดูเหมือนจะคลายความร้อนแรงทางการเมืองไปพอสมควร หลัง"พรรคเพื่อไทย"

เกมยื้อแก้ 'รัฐธรรมนูญ' ' อิ๊งค์' หนักคอพาดเขียง

ประเด็นการเมืองร้อนแทรกขึ้นมาท่ามกลางปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ อีสาน และเศรษฐกิจ หลังพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน ใจตรงกันยื่นแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยมีเป้าหมายคือลดอำนาจการตรวจสอบนักการเมืองผ่านองค์กรอิสระ อาทิ ศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. และ กกต.