'ชลน่าน' ปัดดีลลับทิ้งก้าวไกล เผย 'เศรษฐา-อนุทิน' พบกันเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่ภารกิจเพื่อไทย

“ชลน่าน” ยัน ไม่มีดีลลับทิ้ง “ก้าวไกล” แนะ อย่าหลงประเด็น ย้ำ ยังไม่แบ่งตำแหน่งอย่างเป็นทางการ เสียงข้างมากเด็ดขาดเท่านั้นที่เลือกตั้ง

29 พ.ค.2566 - เมื่อเวลา 13.15 น. ที่พรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณีปรากฎภาพนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรค พท. และนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย อยู่ในเฟรมเดียวกันที่สนามคิงพาวเวอร์ สเตเดียม รังเหย้าของทีมสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ ประเทศอังกฤษ ระหว่างเกมนัดสุดท้ายของเลสเตอร์ ซิตี้ พบกับทีมสโมสรเวสแฮม ยูไนเต็ด เมื่อคืนวันที่ 28 พ.ค. โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า การเจอกันของทั้งสองคนนี้ อาจมีการพูดคุยประเด็นทางการเมืองหรือไม่ ว่า ตนเพิ่งทราบจากสื่อ แต่นายเศรษฐาเคยพูดไว้ก่อนแล้วว่าจะไปดูฟุตบอล ถ้าตั้งสมมุติฐานเรื่องดีลลับตนไม่มีความเห็น เชื่อว่านายเศรษฐาไม่ใช่คนเช่นนั้น

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆนั้นถือเป็นเรื่องธรรมดา ส่วนจะจริงหรือไม่จริงต้องดูข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เมื่อถามว่าภาพดังกล่าวเกิดขึ้นจังหวะเดียวกับที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง ออกมาเปิดเผยเรื่องดีลลับ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ตนไม่มีความเห็นและนายเศรษฐา เป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรคเพื่อไทย ภารกิจที่เขาไปทำเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ได้เป็นภารกิจของพรรค ขอยืนยันว่าในมุมของพรรคไม่ว่าใครจะพูดอย่างไร เราขอปฏิเสธว่าไม่มีดีลลับอะไรต่างๆ แม้แต่เจ้าตัวที่ถูกพาดพิงก็แจ้งมาในสื่อโดยตรง ฉะนั้น ขอยืนยันอย่าเอาเหตุการณ์ในหลายๆเรื่องไปผูกให้เป็นเรื่องสอดรับสอดคล้องกัน ปรากฎการณ์อาจเกิดขึ้นในจังหวะที่สอดรับกันได้แต่ตนมั่นใจว่าไม่ใช่ และขอยืนยันว่าไม่ใช่ในนามเพื่อไทย

ถามว่า ปัญหาระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลมีการคุยภายในกันหรือยัง นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เรามีคณะเจรจาของแต่ละพรรคที่จะทำงานร่วมกัน เขาอาจพบปะกันทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการหากเป็นทางการ ยอมรับว่าหลังจากวันที่ร่วมเซ็นเอ็มโอยู ยังไม่ได้หารือกันอย่างเป็นทางการ ประเด็นต่างๆที่เกิดขึ้นเราต้องมองภาพมิติสังคมประชาธิปไตยเป็นหลัก การแสดงความเห็นของแต่ละฝ่ายเป็นสิทธิเสรีภาพ แต่ในมุมของพรรคเพื่อไทย ยึดหลักคณะเจรจา ความเห็นที่ออกมาจากบุคคลอื่นที่ไม่ใช่คณะเจรจาเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเจรจา ถือเป็นประเด็นภายนอก ไม่เช่นนั้นจะทำเราหลงประเด็น ยอมรับว่าในมุมของพรรคเพื่อไทยและก้าวไกลเราไม่มีข้อขัดแย้งกัน คณะเจรจาเขาดำเนินการไปด้วยดี เพียงแต่พวกเราไปยึดติดการนำเสนอผ่านสื่อมากเกินไปจึงเห็นว่าเป็นข้อขัดแย้ง ยืนยันไม่ใช่ข้อขัดแย้ง และพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยต้องหาความเห็นร่วมในความเห็นต่างให้ได้

ซักว่า ปัญหาต่างๆในสัปดาห์ที่ผ่านมา นพ.ชลน่าน ได้ประสานหรือพูดโดยตรงกับพรรคก้าวไกลหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า โดยตรงไม่มีเพราะมอบให้นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เป็นคนประสานงานหลัก

เมื่อถามว่าขณะนี้มีกระแสข่าวเกี่ยวกับการแบ่งเก้าอี้ในคณะรัฐมนตรี พรรคร่วมได้พูดคุยถึงเรื่องดังกล่าวแล้วหรือยัง นพ.ชลน่าน กล่าวว่า การพูดอย่างเป็นทางการไม่มี การทำงานร่วมกันนั้นปฏิเสธเรื่องการจัดสรรตำแหน่งไม่ได้ และเราก็ระมัดระวังว่าการจัดสรรตำแหน่งของเรา พยายามนำเสนอให้ประชาชนเห็นภาพว่าเราแบ่งงานกันทำตามวาระงาน ตามวาระหน้าที่ ที่เหมาะสมตามนโยบายของแต่ละพรรค พรรคแกนนำได้ให้แนวทางมาเช่นนั้น ฉะนั้น มุมมองที่เราจะสื่อออกไปต้องระมัดระวังในเรื่องนี้ ไม่อยากให้เกิดในลักษณะแย่งงานกันทำ

ถามถึงตำแหน่งประธานสภาฯ ยังยืนยันว่าควรเป็นของพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ตอนนี้คณะเจรจากำลังคุยกัน ตนในฐานะหัวหน้าพรรคและมีชื่อตัวเองไปเกี่ยวข้อง ไม่อยากแสดงความเห็นในเรื่องนี้ เป็นหน้าที่ของคณะเจรจา เป้าหมายสำคัญที่สุดของการทำงานร่วมกันของพรรคก้าวไกลและเพื่อไทย เราต้องให้ความสำคัญของอาณัติประชาชนจำนวน 25 ล้านเสียงที่ประชาชนมอบให้เรามา เสมือนเป็นการมัดให้เราทำงานร่วมกัน ต้องเอาตรงนั้นเป็นหลัก เขาต้องการรัฐบาลประชาธิปไตย ที่จะไปปิดกั้นยุติการสืบทอดอำนาจ และการจัดตั้งรัฐบาลรวมถึงการเลือกนายกฯที่เราประกาศชัดเจนว่าเสนอนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกฯ นั้นคือเป้าหมายหลัก ควรยึดตรงนั้นและหาทางออกร่วมกัน ทำงานร่วมกัน เพื่อไปถึงเป้าหมายเชื่อว่าคุยกันได้

ถามย้ำว่า มีชื่อนพ.ชลน่านไปเกี่ยวข้องกับประธานสภาฯ ถ้าพรรคร่วมเลือก พร้อมหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ยังไม่ตอบ ต้องดูผลเจรจาว่ามีทางออกอย่างไร เมื่อถามว่า ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย มองว่าการตั้งรัฐบาล ตำแหน่งประธานสภาฯ ต้องนำไปรวมกับเก้าอี้บริหารด้วยหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ตามหลักเสียงข้างมากเด็ดขาด เรายอมรับในมุมนั้นเพราะเขามีสิทธิกำหนดตำแหน่งต่างๆทั้งบริหารและนิติบัญญัติ ให้สอดรับการทำงานของแต่ละฝ่าย แต่กรณีที่เป็นลักษณะพรรคร่วม มีวิธีคิดหลายเรื่องที่จะหาโอกาสทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะพรรคร่วมที่มีเสียงใกล้เคียงกันอาจมีทิศทางหรือแนวทางในการทำงานร่วมกันภายใต้การยอมรับซึ่งกันและกัน แต่ข้อยุติบางอย่าง ยุติด้วยตัวมันเอง เช่น เสียงข้างมากเด็ดขาด แต่กรณีความเห็นต่างที่มีเสียงก้ำกึ่งกัน ต้องอาศัยเสียงข้างมากในการตัดสิน การทำงานร่วมกันถ้าทุกฝ่ายให้เกียรติซึ่งกันและกันเราก็ไปด้วยกันได้

ซักว่าความเห็นต่างที่เกิดขึ้นจะทำให้อาณัติประชาชนที่มัดเราด้วยกันคลายออกได้หรือไม่ นพ.ชลน่าน ตอบว่า ตนมั่นใจว่าคลายไม่ได้ เพราะเรายึด 25 ล้านเสียงเป็นหลัก เรายึดเป้าหมายรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยเป็นหลัก ตรงนี้ยากที่จะคลายออกจากกันได้ ถ้าฝ่ายไหนฝ่ายหนึ่งแยกออกไปย่อมทำให้ความหวังของประชาชนเสียหาย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ชัยเกษม' ลั่นใครไม่หวังดีต่อประเทศชาติ ต้องมีอันเป็นไป

นายชัยเกษม นิติสิริ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองในปี 2568 ว่า หากมีเรื่องร้อนเข้ามาถ้าเราไม่ร้อนกลับไปมันก็ไม่แรง

ศึกบ้านใหญ่เชียงราย! 5 ม.ค. 'ทักษิณ' ยกทัพช่วย 'เมียยงยุทธ' ชน 'วันไชยธนวงศ์' ชิงนายก อบจ.

มีรายงานจากทีมงานเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ของพรรคเพื่อไทยว่า ช่วงสุดสัปดาห์นี้ วันอาทิตย์ที่ 5 ม.ค. นายทักษิณ ชินวัตร

'อนุทิน' ควง 'เนวิน' ทำพิธียกยอดฉัตร วงเวียนรัชกาลที่ 1 เสริมมงคลรับปีใหม่

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย เป็นประธานในพิธียกยอดฉัตรตามโครงการปิดทองเบิกฟ้า สักการบูชา มหาราช รัชกาลที่ 1 ที่บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช(รัชกาลที่ 1)

ปี67‘อดีตสว.’ขยับสะเทือนถึงรัฐบาล ถอดถอน‘เศรษฐา’ที่มาของหลายเรื่อง

การเมืองรอบปี 2567 เหตุการณ์ที่ใหญ่ที่สุดต้องยกให้กับศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้ “แพทองธาร ชินวัตร” กลายเป็นนายกฯ หญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย และทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นตามมา วันนี้จึงขอบันทึกเรื่องราวนี้ไว้ ยกให้เป็นเหตุการณ์แห่งปี

ส่อง 'พรรคปฏิบัติการ' ปี 68 'ภูมิใจไทย' ถูกขวางยิ่งโต

“พรรคภูมิใจไทย” ภายใต้การนำของ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ถือเป็นองค์กระกอบตัวแปรสำคัญทางการเมือง ที่ทำให้เกิดรัฐบาลไฟต์บังคับนี้ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย