'วันนอร์' หย่าศึก 'ก้าวไกล-พท.' เคลียร์ภายในชิงประธานสภา

วัน

‘วันนอร์’ แนะศึกชิงบัลลังก์ประธานสภาฯ เคลียร์กันภายใน อย่าขัดแย้งข้างนอก ชี้ธรรมเนียมโควตาพรรคอันดับ 1 อายุไม่ใช่อุปสรรค แต่ต้องสง่างามเป็นตัวแทน 500 ส.ส.

26 พ.ค. 2566 – นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ อดีตประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงคุณสมบัติของประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่า ประธานสภาฯ ในฐานะประธานรัฐสภา ต้องทำหน้าที่ประสานงานกับสมาชิกทุกพรรคการเมือง ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม และเป็นตัวแทนของรัฐสภาทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงต้องมีความเหมาะสมในหลายประการ เพราะเป็นเบอร์หนึ่งของฝ่ายนิติบัญญัติ เรื่องประสบการณ์เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ความตั้งใจย่อมสำคัญกว่า ไปจนถึงความเหมาะสม บุคลิกภาพการวางตัวก็สำคัญ ส่วนเรื่องวัยอายุนั้นไม่น่าจะเป็นอุปสรรคสำหรับยุคสมัยนี้ เพราะปัจจุบันคนหนุ่มคนเก่งเยอะ อาจจะดีกว่าผู้สูงอายุด้วยซ้ำไป

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า อุปสรรคสำหรับเวลานี้คือพรรคเสียงข้างมากที่จะจัดตั้งเป็นรัฐบาลต้องตกลงทำความเข้าใจกันว่าจะเสนอบุคคลใดเป็นประธานสภาฯ เพราะไม่เช่นนั้นจะมีความขัดแย้งตั้งแต่ตอนต้นเมื่อเข้าไปโหวตในสภาก็จะมีปัญหา โดยทุกครั้งจะมีการตกลงชื่อบุคคลก่อนเข้าไปสู่การโหวต และตามธรรมเนียมส่วนมากประธานสภาฯจะเป็นของพรรคอันดับ 1 นอกจากในบางครั้งที่มีความจำเป็นเท่านั้น อาจจะไม่ใช่พรรคอันดับ 1 ซึ่งเกิดขึ้นได้น้อย ส่วนพรรคอันดับ 2 ที่ร่วมรัฐบาลและไม่ได้เป็นประธานสภาฯ จะได้โควตารองประธานสภาฯคนที่ 1 และพรรคอันดับ 3 จะถูกวางตัวเป็นรองประธานสภาฯ คนที่ 2 ตามลำดับ

เมื่อถามว่า การที่มีความพยายามต่อรองของพรรคอันดับ 2 จะทำอย่างไร นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า อยากให้คุยกัน ซึ่งยังมีเวลาจนกว่าจะมีการรับรอง ส.ส. ทั้ง 500 คน ควรจะคุยกันภายในให้ตกลงกันได้ระหว่างหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรคทั้งสองฝ่าย ไม่ควรจะเอาความขัดแย้งไปกระจายออกข้างนอก เพราะประชาชนมีความหวังว่ารัฐบาลใหม่จะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในประเทศและต่างประเทศได้ ถ้ามัวทะเลาะกันความเชื่อมั่นก็จะลดไป ดังนั้นไม่ควรเอาความขัดแย้งแสดงออกข้างนอก การสร้างความเข้าใจหาข้อตกลงที่ดี ควรทำเป็นการภายในจะดีกว่า

ส่วนพรรคเพื่อไทยควรจะยอมถอยหรือไม่นั้น นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ไม่ขอก้าวล่วงทั้งสองพรรค เพราะเป็นคนนอกพรรค พร้อมกับปฏิเสธที่จะให้ความเห็นกรณีความขัดแย้งระหว่าง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ นาวาอากาศตรี ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย มองว่าเป็นความเห็นแต่ละบุคคล ไม่ขอก้าวก่ายเช่นกัน

“ผมไม่ขอก้าวล่วงทั้ง 2 พรรค เพราะเราอยู่คนละพรรค มันไม่ดี แต่เชื่อว่าการนั่งในตำแหน่งนี้มีความเหมาะสมทั้งสองพรรค ขึ้นอยู่กับข้อตกลงและความจำเป็น ส่วนจะต้องให้เกียรติพรรคก้าวไกลเสียงข้างมากอันดับ 1 หรือไม่ ก็เป็นการตัดสินใจ เมื่อเขาเป็นพรรคใหญ่ควรจะตกลงกันได้ เขารู้ว่าอะไรควรจะทำ ผมคิดว่าทุกอย่างจะตกลงกันได้” อดีตประธานสภาฯ ระบุ

เมื่อถามถึงรายชื่อแคนดิเดตประธานสภาฯ ของพรรคก้าวไกล เช่น นายณัฐวุฒิ บัวประทุม และนายธีรัจชัย พันธุมาศ นั้น นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ทั้งสองคนเชื่อว่าเป็นไปได้ ทั้งคู่มีความสนใจในบทบาทการประชุม ได้ข้อบังคับศึกษาไว้พอสมควร เชื่อว่าปรับปรุงอีกเล็กน้อยก็สามารถทำได้หากมาทำหน้าที่ประธานสภาฯจริง ตนเชื่อว่าทุกอย่างสามารถศึกษาและเรียนรู้ได้ ส่วนตัวมองว่านายณัฐวุฒิเองก็ทำหน้าที่ได้ ประการแรกมีความตั้งใจสูงและสนใจงานของรัฐสภา จากที่ตนได้สังเกตตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา เขามีความสนใจงานสภาอย่างมาก ทั้งบทบาทในกรรมาธิการ รวมถึงการใช้ข้อบังคับให้เป็นไปอย่างมีประโยชน์ต่อการที่จะอภิปรายต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ฝากทั้งสองพรรคเลือกคนที่เหมาะสมและทำหน้าที่ได้ดี เพราะไม่ใช่ตัวแทนของพรรคเพียงอย่างเดียวแต่จะเป็นตัวแทนของสมาชิกทั้ง 500 คน และตัวแทนในประเทศต่างประเทศที่จะต้องไปปรากฏตัวพูดคุย จึงต้องมีความสง่างามและทำหน้าที่ในสภาฯ ได้ดีพร้อมกัน ซึ่งงานแรกที่จะได้เห็นสำหรับบทบาทประธานสภาฯ คนใหม่คือการทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมสำหรับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี หลังจากที่ตัวเองได้รับการโปรดเกล้าฯแล้ว ซึ่งจะต้องนำกฎหมาย ข้อบังคับมาใช้ การดำเนินตามระเบียบวาระ ไปจนถึงการประชุมตลอด 4 ปี ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เพราะถ้าทำหน้าที่ไม่คล่องตัวหรือไม่ได้รับความเชื่อถือ การประชุมก็จะขรุขระได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' อย่าสับสน! โพลวัดผลงาน ไม่ใช่เรตติ้งนายกฯ

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อย่าสับสน !!! ระหว่างผลงาน กับการเลือกนายกฯ คนต่อไป

'วิโรจน์' บอก 7 ส.ค. ผลออกมา ต้องมีคำอธิบายที่ปชช.เข้าใจได้

'วิโรจน์' บอกตามตรง 7 ส.ค. ก็แค่วันปกติ ยัน ไม่ตื่นตระหนก แต่ไม่ประมาท 'คดียุบก้าวไกล' หากผลเป็นลบ ก็ต้องตอบสังคมให้ได้ภายใต้กรอบนิติรัฐ-นิติธรรม