กินเมนู'ฝุ่นตลบ' ปลุกกระแสแก้ PM2.5

ฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น กลับเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก เพราะสิ่งเล็กๆ ที่เรามองไม่เห็นทุกครั้งที่สูดเข้าไปทำร้ายปอด หัวใจ และอวัยวะภายในอื่นๆ กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นซ้ำๆ ทุกปี วันที่ 8 ก.พ.2565 ที่ผ่านมา กรุงเทพฯ มีค่ามลพิษทางอากาศ (AQI) สูงติดอันดับ 9 ของโลก จากข้อมูล AirVisual เว็บไซต์สำรวจคุณภาพอากาศทั่วโลกแบบเรียลไทม์ รายงานว่า ความเข้มข้นของฝุ่นพิษ PM 2.5 ในอากาศของ กทม.วันดังกล่าว มีมากกว่าค่าแนวทางคุณภาพอากาศประจำปีขององค์การอนามัยโลกถึง 14.6 เท่า

ประเด็นฝุ่นอันตรายถูกพูดถึงบนโลกออนไลน์อย่างมากและมีกิจกรรมรณรงค์สร้างการรับรู้วิกฤตมลพิษอากาศมาอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งมีแคมเปญที่น่าสนใจ ชื่อว่า “AIR YOU CAN EAT”    เป็นประสบการณ์ใหม่ของคนเมืองเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องฝุ่น PM2.5 โดยมีไอเดียตั้งต้นจากการทำให้ฝุ่นเล็กๆ เป็นเรื่องที่มองเห็นและจับต้องได้ในรูปแบบของการรับประทานอาหาร ซึ่งแต่ละเมนูเกิดจากการตีความปัจจัยบการเกิดฝุ่นทั้งการเผาในที่โล่ง การคมนาคมขนส่งที่มีการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยมลพิษเกินค่ามาตรฐาน ภาคก่อสร้างเมื่อเครื่องจักรทำงาน การขนส่งวัสดุก่อสร้าง จนกระทั่งหมอกควันข้ามแดนที่ไทยเผชิญปัญหาฝุ่นมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งการเลือกใช้วัตถุดิบกระบวนการปรุง  การจัดวาง วิธีทาน เล่าปัญหาฝุ่นที่แตกต่างกัน  แคมเปญนี้ขับเคลื่อนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

สถานการณ์ฝุ่นในปัจจุบัน ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า จากข้อมูล ThaiHealth Watch 2022จับตาทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2565 พบฝุ่น PM 2.5 ที่มีขนาดเล็กกว่าเส้นผม 20-28 เท่า ส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนไทยทั่วประเทศมากว่า 10 ปี ในแต่ละภูมิภาคมีสาเหตุเกิดฝุ่นต่างกัน ทั้งจากไฟป่า หมอกควันข้ามแดน การเผาเพื่อการเกษตร การจราจร การก่อสร้าง และโรงงานอุตสาหกรรม สสส. บูรณาการกับศูนย์เรียนรู้สุขภาวะมุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้สังคมตระหนักถึงปัญหาฝุ่นผ่านการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นรูปธรรม เข้าใจง่าย สร้างประสบการณ์ร่วมในรูปแบบสื่อออนไลน์ที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่

“ เช้าวันที่ 8 ก.พ.ค่าฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานใน 43 พื้นที่ของกรุงเทพฯ  ส่งผลให้ติดท็อปเท็นเมืองมลพิษอากาศสูงของโลก เราทำงานสร้างการเรียนรู้เพื่อต่อสู้กับปัญหาฝุ่นในหลายมิติ ส่วนแคมเปญใหม่”AIR YOU CAN EATใช้อาหารถ่ายทอดภัยฝุ่นที่บั่นทอนสุขภาพทั้งระยะสั้นและระยะยาว ชวนให้ฉุกคิดและร่วมแก้ปัญหานี้”

 ชาติวุฒิ บอกด้วยว่า จากข้อมูลคนกรุงเทพสูดฝุ่นพิษเท่ากับการสูบบุหรี่ 5 มวนต่อวัน  ทั้งที่ไม่ได้สูบ ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ นอกจากงานรณรงค์ เราร่วมกับเครือข่ายอากาศสะอาดผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด เพื่อให้คนไทยมีกฎหมายปกป้องสิทธิในชีวิตและสุขภาพ  แล้วยังมีโครงการปทุมวันโมเดลร่วมมือกับสำนักงานเขตปทุมวัน กรมควบคุมมลพิษ ผู้ประกอบการในพื้นที่ สถาบันการศึกษา สร้างพื้นที่ต้นแบบลดมลพิษทางอากาศจากการจราจร เขตนี้รถสัญจรหนาแน่น  ขณะที่ห้องเรียนสู้ฝุ่นจากภาคเหนือจะขยายสู่เขตเมืองเพื่อให้เยาวชนเรียนรู้และป้องกัน

ผู้อยู่เบื้องหลังเมนูครีเอท เชฟชาลี กาเดอร์ เชฟผู้เชี่ยวชาญและหลงใหลในวัฒนธรรมอาหารไทยอีสานสร้างสรรค์ 4 เมนูอาหาร สะท้อนปัญหาฝุ่น ทำให้มองเห็นปัญหาฝุ่นชัดเจนขึ้น  ทั้งมองเห็นและจับต้องได้ในรูปแบบของประสาทสัมผัส รูป รส กลิ่น เสียง  

เชฟชาลี กาเดอร์ บอกว่า เป็นโจทย์ที่ยากมากในการนำเรื่องฝุ่นPM 2.5 ที่ไม่ควรเอาเข้าปาก มาคิดเมนูอาหาร แต่ละเมนูออกแบบมาเพื่อให้รู้สึกถึงอันตรายของ PM2.5 เมื่อเข้าสู่ร่างกาย และเมื่อตักเข้าปากแล้วให้รสสัมผัสของขนาดที่วัตถุดิบที่แตกต่างกัน สร้างความเข้าใจขนาดของฝุ่นพิษแต่ละชนิด  ซึ่งฝุ่นพิษเจอได้ทุกภาคของไทย หรือเมนูที่เสริฟ์พร้อมควัน สื่อถึงสาเหตุเกิดฝุ่นPM2.5  นอกจากนี้ มีเมนูที่ให้ความรู้เรื่องค่าดัชนีคุณภาพอากาศ หรือ  AQI ไม่ว่าค่าระดับใดก็กระทบต่อสุขภาพ ภาพรวมต้องการสื่อสารฝุ่นมาจากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ทุกคนช่วยลดปัญหาได้ ลดการใช้รถยนต์ ลดการเผาขยะ ปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียว

จานแรก เมนูฝุ่นตลบ ส่วนผสมที่คัดเลือกมาจากทุกภาคของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นงาขี้ม่อน ผงแกงไตปลา หลน ปลาร้า น้ำตาล และใบชะมวง ทานพร้อมเนื้อกุ้งและปู สะท้อนไปถึงสถานการณ์ฝุ่นพิษที่เกิดขึ้นทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย จานนี้กลิ่นฉุนที่แสบจมูกและหน้าตาที่เผ็ดร้อนทำให้รู้สึกถึงอันตรายฝุ่น เมื่อเข้าสู่ร่างกายผ่านการหายใจ  รวมถึงรสสัมผัสขนาดวัตถุดิบเล็กใหญ่ต่างกัน แทนฝุ่นพิษPM2.5 หรือ PM10

ถัดมา ปลาลุยควัน เมนูนี้เชฟเสิร์ฟพร้อมกับควันและการทุบก่อนทาน แสดงถึงสาเหตุสำคัญเกิด PM 2.5 คือ การเผาไหม้เครื่องยนต์ ควันโรงงาน รวมถึงฝุ่นจากการก่อสร้าง เมื่อทุบเกลือจนแตกละเอียด จะพบกับปลาที่ซ่อนอยู่ด้านใน ความเค็มจากเกลือจะแทรกซึมเข้าไปในเนื้อปลาเหมือนฝุ่นที่เข้าไปอยู่ในกระแสเลือด

ส่วนเมนู ห้าคำ ห้าระดับ เมนูนี้ประกอบด้วย พายกรอบ มูสตับบด มัลเบอรี ชีสมัลชโก้ เทอร์รีนหมูบด ทั้ง 5 combination นี้ถูกเสิร์ฟพร้อมกัน วัตถุดิบแต่ละอย่างให้ความรู้สึกกลืนง่ายยากแตกต่างกัน เชฟชาลีบอกจะชิมแต่ละคำเรียงตามค่า AQI เหมือนค่าฝุ่นที่แบ่งเป็น 5 ระดับ หรือจะผสมผสานทั้ง 5 คำทีเดียวก็สร้างประสบการณ์การกินที่น่าสนใจและได้ความรู้ไม่แตกต่างกัน

ปิดท้ายด้วยจานของหวาน  สโมคสวีท ภาพที่เห็นเหมือนแผ่นโฟมหรือพลาสติกหักอยู่เต็มจาน คือ เมอแรงกาบมะพร้าวรมควันที่มีชั้นของเปียกปูนซ้อนอยู่ด้านล่าง เหมือนต้นตอปัญหาฝุ่นที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันของเรา เช่น ควันดำจากการใช้ยานพาหนะเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ การเผาขยะในที่โล่งแจ้ง เป็นต้น เชฟหวังว่าภาพเหล่านี้จะสร้างความตระหนักรู้เรื่องฝุ่นในวงกว้าง เพื่อร่วมกันบอกต่อ ช่วยลดปัญหา และสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับที่ใหญ่ขึ้น

ครบทุกเมนูได้สัมผัสประสบการณ์และได้ความรู้ที่จุดประกายให้ฉุกคิดถึงความร้ายแรงของฝุ่นพิษที่ทุกคนเผชิญทุกวันนี้ ซึ่งเราช่วยได้แค่ดับเครื่องเมื่อจอดรถ ก็ลดปริมาณฝุ่นและสารมลพิษอื่นๆ ที่ปล่อยจากรถยนต์ ดูแลสุขภาพรถอย่างสม่ำเสมอ  เลือกใช้รถสาธารณะในวันที่ค่าฝุ่นสูง หรือหันมาใช้พลังงานสะอาด  ใครมองหาไอเดียลดฝุ่นสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ และ https://resourcecenter.thaihealth.or.th/

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทอ. ส่งเครื่องบินบีที-67 ทิ้งน้ำ 3 พันลิตร แนวไฟไหม้วิกฤตภาคเหนือ

กองทัพอากาศ ได้เผยแพร่ข้อมูล สนับสนุนภารกิจการแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ (SEE & STRIKE ) โดยส่งอากาศยาน AU-23 PEACE MAKER (Sensor)

รัฐบาลซัดกลับ 'พิธา' ไม่รู้กาลเทศะ จ้องด้อยค่านายกฯ

'รองโฆษกรัฐบาล' ย้ำชัดรัฐบาลมีแผนป้องกันภัยชัดเจน ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติต้องรอบคอบ โต้กลับ 'พิธา' ไม่รู้กาลเทศะ จ้องด้อยค่านายกฯ ดิสเครดิต รบ.

การันตี 'ทักษิณ' โรดโชว์เชียงใหม่ ทำตามระเบียบพักโทษเป๊ะ!

'สมศักดิ์' ชี้ 'ทักษิณ' ไปเชียงใหม่ทำตามระเบียบราชทัณฑ์ อ้างปกติกรณีพักโทษ ไม่มีคิวรวมก๊วน สส. พบนายใหญ่ ขอแล้วยังไร้สัญญาณตอบรับ

5 พื้นที่จมฝุ่นเดินหน้า'เขตมลพิษต่ำ'

สัปดาห์ที่ผ่านมาค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในกรุงเทพฯ ถือว่าเกินค่ามาตรฐานส่งผลกระทบต่อสุขภาพสูงสุดในรอบปี หลายเขตค่าฝุ่นถึงระดับวิกฤตทะลุ 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ภาพรวมทุกเขตใน กทม. อ่วมจากฝุ่นปกคลุม  แม้ตอนนี้ชาว กทม. พอหายใจหายคอให้สะดวกขึ้น

'พัชรวาท' เกาะติดสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 พบ 5 จว.จุดความร้อนพุ่ง แนะ คพ. เร่งประสานทุกหน่วยเข้าควบคุมแหล่งกำเนิด

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงาน ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) โดยมีนางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ รายงานการดำเนินงานของ ศกพ. และนำเสนอสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5