ภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน โจทย์ใหญ่ปศุสัตว์ไทยลดปล่อยก๊าซ

ผู้เลี้ยงหมูในประเทศไทยเวลานี้ นอกจากจะต้องยกระดับการสร้างมาตรฐานฟาร์มให้มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสมในสุกร (GFM) เพื่อไม่ให้ประสบปัญหาโรคระบาดแอฟริกันในสุกร (ASF) ซ้ำอีกครั้ง ชั่วโมงนี้จะต้องนำกลไกการพัฒนาที่สะอาดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในฟาร์มสุกร ปรับประสิทธิภาพด้านต่างๆ รวมถึงผู้ประกอบการเลี้ยงสัตว์ชนิดอื่นๆ เกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ จะต้องทำธุรกิจรักษ์โลก ลดปล่อยก๊าซไม่ให้ตกขบวนกระแสโลก  ก็น่าจับตาปศุสัตว์ไทยจะไปทิศทางไหน

จากข้อมูลภาคเกษตรและอาหารมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกือบ 1 ใน 3 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ประมาณ 5.4 หมื่นล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เฉพาะภาคปศุสัตว์ปล่อยก๊าซประมาณ 7.2 พันล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือราว 13% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ถือเป็นภาคที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง โดยการผลิตอาหารสัตว์ปล่อยก๊าซมากที่สุด 45% รองลงมากระบวนการหมักในระบบย่อยอาหารปลดปล่อย 39% และอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ปล่อยก๊าซมากที่สุด โดยเฉพาะเนื้อวัวปล่อยก๊าซถึง 60 กิโลกรัมต่อผลิตภัณฑ์

ในไทยภาคเกษตรปล่อยก๊าซอันดับสองรองจากภาคพลังงาน  โดยการเพาะปลูกข้าวปล่อยก๊าซ 51% การปล่อย N2O จากดิน 21.99% และปศุสัตว์ 21.46%  เมื่อสำรวจการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไทย พบว่า สินค้าปศุสัตว์และอาหารสัตว์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดเมื่อเทียบกับสินค้าเกษตรอื่นๆ มีการส่งออกไปสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาจำนวนมาก มูลค่ากว่า 7 หมื่นล้านบาทต่อปี

ปัญหาในปัจจุบันผู้ประกอบการปศุสัตว์หรือกลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์ในไทยไม่มีข้อมูลว่า ในแต่ละกระบวนการมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาในปริมาณเท่าไหร่ชัดเจน  ขาดการเตรียมความพร้อมเพื่อปรับตัวรองรับกับมาตรการใหม่เกี่ยวข้องกับการลดคาร์บอนที่หลายประเทศเร่งผลักดัน ซึ่งจะกระทบต่อปศุสัตว์บ้านเรา ต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้น

ความตื่นตัวกับปัญหานี้นำมาสู่พิธีลงนามความร่วมมือโครงการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทย (Thai Livestock Technical Consortium for Climate Neutrality, LCCN) ระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กับกลุ่มภาคีปศุสัตว์และสัตว์น้ำไทย ทั้ง 9 สมาคมประกอบด้วย สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย, สมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย, สมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย, สมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสัตว์ปีก, สมาคมสัตวแพทย์สัตว์น้ำไทย, สมาคมสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มสัตว์เคี้ยวเอื้อง, สมาคมธุรกิจเวชภัณฑ์สัตว์, สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย และสมาคมผู้เลี้ยงโคนมไทยโฮลสไตน์ฟรีเชี่ยน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการ งานวิจัย และการพัฒนาบุคลากรร่วมกัน

ดร.พฤฒิกา โรจน์กิตติคุณ ผู้อำนวยการสำนักประเมินและรับรองโครงการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก  (องค์การมหาชน)  กล่าวว่า ในการประชุม COP 26 ที่ผ่านมาประเด็นสำคัญทุกประเทศเห็นร่วมกันจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เพื่มขึ้นเกิน 1.5 องศา และเรียกร้องให้ประเทศทบทวนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2030 และขอให้มีการส่งเป้าหมายภายในปีนี้  รวมถึงเชิญชวนให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซมีเทนด้วย นอกจากลดปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งเกี่ยวข้องกับไทยมาก

  นอกจากนี้ ประเทศที่พัฒนาแล้วต้องสนับสนุนเงินทุนให้กับประเทศกำลังพัฒนาในการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ จะเห็นได้ว่า จากข้อตกลงปารีสถึงกลาสโกว์เน้นการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่ง 81 ประเทศประกาศเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero emissions) และอีกกว่า 60 ประเทศอยู่ระหว่างพิจารณาเป้าหมายดังกล่าว ในส่วนไทยมี 2 เป้าหมาย คือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน (คาร์บอนนิวทรัล)  ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ในปี 2065  

“ ทิศทางโลกมุ่งสู่พลังงานสะอาดและกระบวนการผลิตอาหารที่ยั่งยืน  สหรัฐจะจัดเก็บค่าธรรมเนียมปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน (carbon  border tax) สำหรับสินค้านำเข้าที่ปล่อยคาร์บอนในปริมาณสูง เพื่อป้องกันการรั่วไหลของคาร์บอน โดยจะจัดเก็บเมื่อผู้ประกอบการนำเข้าสินค้าจากประเทศที่มีนโยบายสิ่งแวดล้อมต่ำกว่าสหรัฐ คาดว่าจะเริ่มใช้ปี2024 ส่วนอียูมีแผนปฏิรูปสีเขียว มาตรการสำคัญที่อาจกระทบผู้ประกอบการไทย คือ การเก็บค่าธรรมเนียม หรือภาษีคาร์บอน (CBAM)ของสินค้าที่นำเข้า เริ่มรายงานปี 2023 และบังคับใช้เต็มรูปแบบปี 2026  มาตรการเหล่านี้มีโอกาสจะขยายรายการสินค้าที่ครอบคลุมภาคเกษตรในอนาคต  ไทยต้องติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ” ดร.พฤฒิกา เน้นย้ำ

เหตุที่ภาคเกษตรและปศุสัตว์ต้องสนใจเรื่องก๊าซเรือนกระจก ผอ.สำนักประเมินฯ บอกว่า ไทยมีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ มันสำปะหลัง อ้อย ข้าว ถ้าอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงจะกระทบต่อเกษตรกร ผลผลิตจะลดลง รายได้ก็ลดลง เราต้องปรับตัวและร่วมลดก๊าซ

อีกส่วนเป็นการตอบสนองความต้องการตลาดผู้บริโภคสีเขียว  อียูทำวิจัยพบ 57% ของผู้บริโภคใส่ใจสิ่งแวดล้อม 2ใน3 ของผู้บริโภคให้ความสำคัญโลกร้อนเลือกผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ หากปศุสัตว์มีการทำข้อมูลการปล่อยก๊าซ องค์กรสามารถนำข้อมูลไปบริหารจัดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้  ทั้งยังแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม

การเตรียมพร้อมรับมือกับโลกร้อน ดร.พฤฒิกา กล่าวว่า ขณะนี้เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าสามารถปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีและจัดการเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก FAO พูดถึงการพัฒนาวิธีให้อาหารสัตว์ การจัดการมูลสัตว์ บางบริษัทผลิตอาหารที่เหมาะกับช่วงวัยของสัตว์ เช่น อาหารไก่ไข่รักษ์โลก อาหารสุกรรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดปริมาณไนโตรเจนในสิ่งขับถ่าย หรือนำมูลสัตว์ไปทำความร้อน ผลิตกระแสไฟฟ้า การเพาะปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง  ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ๆ  รวมถึงทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร 

“ ทางเลือกที่น่าสนใจเป็นคาร์บอนเครดิตจากโครงการT-Ver หรือกลไกลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทย จะส่งเสริมการลดก๊าซ รับรองคาร์บอนเครดิต องค์กรนำไปใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ ภาคปศุสัตว์สามารถจัดการมูลสัตว์ นำน้ำเสียไปผลิตไฟฟ้า พัฒนาเป็นโครงการคาร์บอนเครดิตได้ ตัวอย่าง อบต.ท่ามะนาว ทำโครงการรวบรวมและจัดเก็บก๊าซชีวภาพจากระบบบำบัดน้ำเสียแบบไร้อากาศฟาร์มหมู มีฟาร์มร่วม 8 โรงเรือน นำก๊าซไปใช้สำหรับ230 ครัวเรือน ก่อนขยายผลเพิ่มอีก4ฟาร์ม ส่งก๊าซสำหรับ 206 ครัวเรือน ลดก๊าซเรือนกระจกได้ 4พันตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า  ขายคาร์บอนเครดิตแล้ว 8 ยูโรต่อตัน  ”  ดร.พฤฒิกาให้ภาพชัดๆ

 เธอมองว่า ไทยยังต้องการเวทีแลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการใหม่ๆ ที่สนับสนุนให้อุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทยมีเป้าหมายลดก๊าซที่ชัดเจน ทั้งสิทธิประโยชน์ทางภาษี มาตรการสนับสนุนเพื่อมีส่วนร่วมพิชิตสองเป้าหมายของไทย

ด้าน ศ.ดร.นวดล เหล่าศิริพจน์ ผู้อำนวยการบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม หรือ JGSEE กล่าวว่า อุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทยเป็นภาคส่วนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะมีเทนในอัตราที่สูงมาก ทั้งจากกระบวนการผลิตอาหารสัตว์ และระหว่างการผลิตปศุสัตว์ ส่งผลต่อภาวะโลกร้อนอย่างมีนัยสำคัญ ปัจจุบันผู้ประกอบการปศุสัตว์หรือกลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์ในไทยไม่มีข้อมูลว่าแต่ละกระบวนการปล่อยก๊าซปริมาณเท่าไหร่ มีเพียงรายงานผลการศึกษาในต่างประเทศเท่านั้น 

ประเด็นที่ทาง มจธ. สามารถช่วยกลุ่มภาคีปศุสัตว์  ศ.ดร.นวดล ระบุจะศึกษาหาข้อมูลพื้นฐาน ณ ปัจจุบัน Baseline ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประเภทต่างๆ จากห่วงโซ่อุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทย โดยการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ และการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ในแต่ละกระบวนการของอุตสาหกรรมปศุสัตว์

 “ การพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งเน้นก๊าซมีเทน เช่น การพัฒนาสูตรอาหารสัตว์โดยการเติมจุลินทรีย์ลงไปอาจทำให้ระบบการย่อยของสัตว์ดีขึ้น การวิเคราะห์จุลชีพในระบบทางเดินอาหารของสัตว์เพื่อออกแบบวิธีการให้อาหารสัตว์ที่เหมาะสม การพัฒนาอาหารเสริมสำหรับสัตว์ การพัฒนาปุ๋ยชีวภาพเพื่อใช้ปลูกพืชที่นำมาใช้ผลิตอาหารสัตว์ให้สามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกระหว่างเพาะปลูก “

รวมถึงอาจเริ่มที่อาหารสัตว์ด้วยการพัฒนาการผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าว และมันสำปะหลังในประเทศให้เข้าสู่ระบบวัตถุดิบสีเขียว ซึ่ง มจธ.มีศักยภาพสนับสนุนทางวิชาการ

นอกจากนี้ มจธ.จะวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตก๊าซชีวภาพที่มีประสิทธิภาพสูงจากมูลสัตว์ การหมุนเวียนของเสียในฟาร์มมาใช้ประโยชน์ตามโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน การเพิ่มประสิทธิภาพและนำเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในการผลิตอาหารสัตว์และการผลิตปศุสัตว์ การปรับปรุงระบบโลจิสติกส์และขนส่ง  นำกลไกซื้อขายคาร์บอนมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมปศุสัตว์  และการพัฒนาทักษะให้กับบุคลากรอุตสาหกรรมนี้ เช่น ไบโอแก๊สเพื่อให้เข้าใจเรื่องแนวทางลดปริมาณการปล่อยก๊าซ

 ความร่วมมือกันครั้งนี้ส่งสัญญาณที่ดี ธุรกิจปศุสัตว์ตระหนักถึงปัญหาการปล่อยก๊าซโลกร้อนในปัจจุบันและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ถ้าไม่ลุกขึ้นมาจัดการตั้งแต่ตอนนี้ดูเหมือนจะสายเกินแก้!!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์ฯ สิรินาถราชินี สถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. รับประกาศเกียรติคุณโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก

เมื่อเร็ว ๆ นี้ - ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี สถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. ได้รับประกาศเกียรติคุณ “โครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก

คนไทยกำลังจะต้องเสียภาษีคาร์บอนเพิ่มขึ้นอีกรายการ เพื่อช่วยกันลดโลกร้อน

ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หัวข้อ คนไทยกำลังจะต้องเสียภาษีคาร์บอนเพิ่มขึ้นอีกรายการ...เพื่อช่วยกันลดโลกร้อน มีเนื้อหาดังนี้

“สมาคมเพื่อนชุมชน” ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวทางลดก๊าซเรือนกระจก

สมาคมเพื่อนชุมชน ร่วมมือกับจังหวัดระยอง ภายใต้คณะทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับจังหวัด จัดอบรม “แนวทางการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ” ดึงผู้เชี่ยวชาญจาก