น้ำมันรั่วลงทะเลซ้ำซาก บทเรียนที่ไม่เคยแก้ไข

คืนวันที่ 25 มกราคม 2565 เกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่กับทะเลไทย เมื่อท่อน้ำมันดิบใต้ทะเลบริเวณมาบตาพุด จ.ระยอง เกิดการรั่วไหล บริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึกแบบทุ่นเดี่ยวกลางทะเลหรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเลของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร ส่งผลให้มีคราบน้ำมันกระจายกลางทะเล ก่อนที่ทางจังหวัดจะประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องเร่งจัดการคราบน้ำมันจนสามารถควบคุมสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติได้แล้ว

ช่วงแรกของเหตุการณ์ ข้อมูลที่ชี้แจงการประเมินปริมาณน้ำมันดิบรั่วไหลออกมา คือ 4 แสนลิตร ต่อมาการคำนวณปริมาณน้ำมันดิบรั่วไหลเปลี่ยนเป็น 160,000 ลิตร  และหลังส่งทีมนักประดาน้ำลงไปสำรวจการประเมินปริมาณน้ำมันรั่วไหลเหลือเป็น 50,000 ลิตร   ซึ่งประเด็นตัวเลขปริมาณน้ำมันรั่วยังสับสน และจำเป็นต้องมีการสอบสวนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน เพราะเกี่ยวข้องกับผลกระทบและความเสียหายที่จะตามมา  

เหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลครั้งนี้ แม้มีความแตกต่างจากปี 2556 ที่อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด ได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่ รศ.ดร.ธรณ์  ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  กลับมองว่า  น้ำมันรั่วไหลเกิดผลกระทบทั้งสิ้น บทเรียนในเรื่องนี้ไม่ใช่เหตุการณ์แรก เคยมีน้ำมันรั่วอ่าวพร้าวปี 2556 แม้จุดรั่วใกล้เคียงกัน อยู่นอกชายฝั่งมาบตาพุด แต่สถานการณ์แตกต่างกันกับเมื่อเหตุการณ์ 9 ปีที่แล้ว คลื่นสูง กระแสลมแรงมาก บูมไม่สามารถสกัดคราบน้ำมันได้ ภายใน 24 ชม.น้ำมันขึ้นที่อ่าวพร้าว รวมถึงมีแนวปะการังน้ำตื้นได้รับผลกระทบ  ทำให้ปะการังฟอกขาวตายทันที ขณะที่ปะการังเกิดโรคขอบชมพู สีซีดชัดเจน

หลังเหตุการณ์ผ่านไปหนึ่งเดือน ยังพบปะการังฟอกขาว ก่อนจะฟื้นตัวขึ้นมาภายใน 2 เดือน แต่ปี 2557 กลับไปสำรวจปะการังก้อนเดิมฟอกขาว บทเรียนจากครั้งก่อนหากจะติดตามผลกระทบต่อปะการังต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปี ขณะนี้จึงไม่สามารถประเมินผลกระทบจะยาวนานแค่ไหนและหมดเมื่อไหร่ ฉะนั้น ต้องติดตามต่อเนื่องไม่ใช่ไฟไหม้ฟาง

กรณีน้ำมันรั่วระยองครั้งนี้ยังไม่พบคราบน้ำมันจำนวนมากเข้าแนวปะการังเกาะเสม็ด แต่พบหาดหินที่มีคราบน้ำมันเข้าไป ตามหลักการวิทยาศาสตร์ทางทะเล สิ่งมีชีวิตที่จะได้รับผลกระทบอันดับแรก คือ  หอยเสียบ หอยแปดเกร็ด ปูลม ปูทหาร   สัตว์ที่เกาะติดตามโขดหิน เพราะเดินหรือว่ายน้ำหนีไม่ได้ น้ำมันเคลือบเหงือก ทำให้ขาดอากาศหายใจตาย  อันดับต่อไปสัตว์ที่อยู่ตามพื้นท้องทะเล เช่น ปลาบางชนิด ปูม้า ส่วนเต่า วาฬ โลมา เป็นกลุ่มสัตว์มีความเสี่ยงน้อยกว่า เพราะหายใจจากอากาศ 

“ ส่วนตัวเลขปริมาณการรั่วไหลมีตั้งแต่ 4 แสนลิตร 1.6 แสนลิตร และตัวเลขอื่นๆ อีกมาก ซึ่งจะต้องมีการสืบสวนข้อเท็จจริงต่อไป แต่สิ่งที่บอกได้ ระยะห่างจากฝั่ง 20 กิโลเมตร รอบนี้คราบน้ำมันลอยเข้าหาฝั่ง และลอยวนไปวนมา จากนั้นบางส่วนเข้าหาดแม่รำพึง ที่เหลือกระจายเป็นฟิลม์บางๆ ต้องเร่งกำจัด เพราะส่งผลกระทบอีกรูปแบบหนึ่ง “

หลังเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่เกาะเสม็ดปี 56 บริษัทน้ำมันลงขันเตรียมอุปกรณ์ป้องกันเหตุเพิ่มมากขึ้น มีเรือกำจัดน้ำมัน 1 ลำ ซึ่งการป้องกันไม่ให้เกิดการรั่วไหลขึ้นเป็นหน้าที่ของผู้ผลิต ส่วนการกำจัดคราบน้ำมันหน่วยงานรัฐยังไม่มีงบประมาณเพียงพอจัดซื้ออุปกรณ์   ขณะที่การดูแลผลกระทบและเฝ้าติดตามประเมินผลกระทบต่อระบบนิเวศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ (คพ.)  และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

จากภาพถ่ายดาวเทียมเมื่อวันที่ 27 ม.ค. เวลา 18.23 น. ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA พบคราบน้ำมันลอยแผ่เป็นบริเวณกว้างกินเนื้อที่ 47 ตารางกิโลเมตร หรือกว่า 9 เท่าของเกาะเสม็ด  เราไม่มีบูมเพียงพอปิดคราบน้ำมัน ส่วนมากบูมจะมีบริเวณท่าเรือเพื่อบริหารจัดการน้ำมันรั่ว การใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันขึ้นกับปริมาณมากหรือน้อย ใช้ผิดหรือใช้ถูก ล้วนมีผลต่อระบบนิเวศ

การประเมินผลกระทบ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลและสิ่งแวดล้อมคนเดิม บอกว่า จากประสบการณ์ปี 56 เราไม่มีข้อมูลอ่าวพร้าวก่อนน้ำมันมาถึง  เพราะน้ำมันเข้าเร็วมากตั้งตัวไม่ทัน  การประเมินผลกระทบจึงอ้างอิงกับพื้นที่ใกล้เคียงเท่านั้น น้ำมันรั่วครั้งนี้ คณะประมง ม.เกษตรฯ และ ทช. ได้ลงไปเก็บข้อมูลชายหาดทันทีเพื่อดูปริมาณสารตกค้างและสัตว์หน้าดิน   ประเมินจำนวนหอยต่อตารางเมตรในพื้นที่คาดว่าน้ำมันจะเข้า รวมถึงลงสำรวจในแนวปะการังอ่าวพร้าว เพื่อบันทึกภาพก่อนหน้านั้นไว้ หากเกิดเหตุจะได้มีข้อมูลประเมินผลกระทบ

นอกจากนี้ เก็บภาพมุมสูงชายฝั่งตลอด 10 กิโลเมตรด้วยโดรนก่อนและหลังน้ำมันเข้า เมื่อได้ข้อมูลภายหลังน้ำมันเข้ามาแล้วจะได้ประเมินผลกระทบ  ก่อนน้ำมันจะถึงฝั่งคือช่วงวิกฤต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำทันทีภายใน 24 -48 ชั่วโมง หากไม่ทำ จะไม่มีโอกาสอีกเลย เมื่อน้ำมันเข้าถึงฝั่ง ผ่านพื้นท้องทะเลที่อยู่สิ่งมีชีวิต เพื่อเป็นข้อมูลและหลักฐานในการเยียวยาต่อไป ซึ่งคณะประมงจะศึกษาผลกระทบต่อเนื่อง 15 วัน 30 วัน

“ เราร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งตั้งโครงการติดตามผลกระทบ 3 ปี  มันไม่จบภายใน 3 เดือน ภารกิจกำจัดน้ำมันจะจบลงในไม่ช้า แต่ที่ซึมและฝังลงบนพื้นหรืออื่นๆ ต้องศึกษาและติดตาม“

 เมื่อวันที่ 29 ม.ค.คราบน้ำมันซัดเข้าหาดแม่รำพึง ดร.ธรณ์ บอกว่า พบพื้นที่ปนเปื้อนคราบน้ำมันเป็นแนวยาวต่อเนื่อง เรากำจัดได้เฉพาะบางกลุ่ม แต่ยังมีพื้นที่พอสมควรที่ไม่มีคนกำจัด ตนแบ่งคราบน้ำมันบนหาดแม่รำพึงเป็น 4 ระดับ  ได้แก่  พื้นที่สีแดงเข้ม  สีแดง สีส้ม และสีเหลือง  อนาคตหากมีการทำงานต่อเนื่องจะสามารถแบ่งพื้นที่ผลกระทบได้ชัดเจน ช่วยให้เข้าใจพื้นที่และจัดส่งกำลังคนเข้าไปกำจัดด้วยวิธีที่ถูกต้อง ไม่ใช่แห่ไปทำจุดที่แรงที่สุด ทั้งที่น้ำมันกระจายทั้งหาด อย่างพื้นที่สีเหลือง อาสาสมัครเข้ามาช่วยได้ มีถุงมือ พลั่ว เก็บคราบน้ำมันใส่ถุง รวมไปกำจัดให้ถูกวิธี   

การชดเชยเยียวยา รศ.ดร.ธรณ์ ระบุแบ่งผลกระทบเป็น 2 ส่วน ทช.เป็นหน่วยงานหลัก เพราะมีหน้าที่ดูแลรักษาสิ่งมีชีวิตทรัพยากรของชาติ รวมถึงหาดแม่รำพึงก็เป็นส่วนหนึ่งของเขตอุทยานฯ   กระทรวงทรัพย์ฯ อาจจะเป็นแม่งานในการฟ้องร้องหรือไม่ เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายในการจัดการและฟื้นฟูเท่าที่ทำได้ เช่น ทำปะการังเทียมที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ 

ส่วนที่สองเยียวยากิจการร้านอาหาร โรงแรม ประมง  สามารถใช้ข้อมูลของรัฐในการประเมินความเสียหาย น้ำมันรั่ว ไม่มีคนมาท่องเที่ยว ชาวประมงขายปลาไม่ได้ เพราะคนไม่กล้าซื้ออาหารทะเล ส่วนเยียวยาเท่าไหร่ว่ากันยาว ไม่จบใน 6 เดือน อย่างเหตุการณ์เมื่อ 9 ปีก่อน บางส่วนการเยียวยาจบปี 63 เพราะผลกระทบในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน  

“ มีบทเรียนมาแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ควรเกิดเหตุซ้ำสองในพื้นที่เดิมในระยะเวลาเพียงแค่ 9 ปี ฉะนั้น ต้องยกระดับ การลงทุนป้องกันเรื่องสิ่งแวดล้อม เมื่อบริษัทน้ำมันประหยัดงบประมาณ  ฉะนั้น เป็นหน้าที่ภาครัฐติดตาม ตรวจสอบท่อน้ำมัน  โครงข่าย ทบทวนมาตรฐานความปลอดภัย  และเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบให้เข้มข้นขึ้น รวมถึงเพิ่มการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและประชาชน “

กรณีนี้เป็นบทเรียนสำคัญต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลงกระบวนการติดตามตรวจสอบของภาครัฐ ด้วยกระบวนการที่ดีกว่าปัจจุบัน เพราะกระบวนการที่มีอยู่มันพิสูจน์แล้วไม่สามารถปกป้องทะเลและคนหากินจากทะเลให้รอดพ้นจากภัยพิบัติ มีความหวังให้ทุกคนช่วยกัน ยิ่งทะเลโดนทำร้ายมากเท่าไหร่ ต้องลดการทำร้ายทะเล ช่วยทะเลด้วยการลดขยะ รีไซเคิล ขวดพลาสติกมีคราบน้ำมันติด ยิ่งพาน้ำมันไปไกล ทำให้ผลกระทบกระจายวงกว้างมากขึ้น

ขณะที่ภาคเอกชนต้องทุ่มเท อาจลงทุนแล้ว ไม่เห็นผลกำไรทันที แต่เกิดเหตุแล้วผลกระทบมันรุนแรงมากกว่า  กระแสโลกและรัฐบาลไทยต้องการมุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียวและสังคมคาร์บอนต่ำ    เราไม่ได้ขัดขวางอุตสาหกรรมปิโตรเคมี แต่ถ้าจะดำเนินการต้องลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ

อีกประเด็นพื้นที่เกิดน้ำมันรั่วซ้ำซากมีการเผยแพร่ข่าวออกไปทั่วโลก ไม่มีใครอยากลงทุนในพื้นที่เกิดเหตุซ้ำๆ การลงทุนภาคเอกชนไม่ใช้เงินที่สูญเปล่า แต่เป็นสิ่งจำเป็นและช่วยดึงดูดการลงทุนต่างประเทศ ต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ดร.ธรณ์' ชี้อากาศแปรปรวนหนัก ภาคใต้ไม่มีพายุ แต่ปริมาณน้ำฝนเทียบเท่า 'ไต้ฝุ่น'

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม โ

'ดร.ธรณ์' ชี้มหาพายุเฮอริเคน 'มินตัน' สภาพอากาศสุดขั้ว คนอเมริกานับล้านต้องอพยพหนี

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า

ดร.ธรณ์ เผยเหตุพายุธรรมดา กลายเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่น 'ยางิ' ในเวลาไม่ถึง 2 วัน

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ระบุข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า

'ดร.ธรณ์' เจอด้วยตัวเอง นักท่องเที่ยวเหยียบปะการังที่เกาะกูด แค่ฟอกขาวก็แย่มากแล้ว

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ภาพพร้อมข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กระบุว่า ทราบดีว่าไม่มีใครอยากเหยียบปะการัง แต่คงต้องฝากช่วยดูแลกันให้มาก

ดร.ธรณ์ เปิดภาพปะการังไทยยุคทะเลเดือด บอกทำงานในทะเลเกือบ 40 ปี ไม่เคยเห็น

นี่คือปะการังไทยในยุคทะเลเดือด เป็นปะการังหน้าตาประหลาด ทำงานในทะเลมาเกือบ 40 ปี ผมไม่เคยเห็นแบบนี้มาก่อน จนมาถึงยุคนี้แหละ

‘ดร.ธรณ์’ ชี้ธรรมชาติรับไม่ไหวแล้ว แจ้งเตือนรับมือฝนโลกร้อน

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ระบุข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก "Thon Thamrongnawasawat"