
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ….ที่คาดว่า จะมีการประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณาในวันจันทร์ที่ 4 หรือวันอังคารที่ 5 มีนาคม 2568 นี้ วาระ 2 และ 3 สิ่งที่สังคมต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ มาตรา 69 พระราชกำหนดการประมง เรื่องการใช้ ‘อวนมุ้ง’ ประกอบแสงไฟล่อจับปลากะตัก ซึ่ง พ.ร.ก.กำหนดการประมง พ.ศ.2558 เดิม มาตรา 68 ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่าสองจุดห้าเซนติเมตรทำการประมงในเวลากลางคืน
เหตุนี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ภาคนักวิชาการ นักสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ จัดเสวนา ‘สภาปลาเล็ก’ ถ้าไม่มา…ก็ไม่มีปลากินแล้ว ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เปิดพื้นที่สะท้อนมุมคิดจากกลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์ และผู้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรทางทะเลที่มีต่อการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 69 ร่างพระราชบัญญัติประมงฯ ที่หลายฝ่ายได้แสดงความกังวล ในส่วนที่มีการเพิ่มข้อยกเว้นให้สามารถใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร ทำการประมงในเวลากลางคืน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และพื้นที่ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด วงเสวนาตั้งคำถามกับการแก้กฎหมายประมงครั้งสำคัญว่าสุดท้าย ‘ทะเลไทย’ จะรอดหรือร่วง

ดร.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะนายกสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย ให้มุมมองทางวิชาการเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล กล่าวว่า ปลายปีที่ผ่านมา ทราบว่าจะมีการแก้กฎหมายประมงมาตรา 69 ที่มีการปรับเปลี่ยนขนาดอวน และการอนุญาติให้ใช้อวนล้อมปั่นไฟ ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาควิชาการคัดค้านมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2526 และเมื่อปี 2540 เคยลงไปศึกษากรณีกรมประมงให้ชาวประมงใช้อวนครอบได้ แต่ยังไม่สามารถใช้อวนล้อมได้ เพราะจะทำให้ลูกปลาสัตว์น้ำเศรษฐกิจติดอวนไปด้วย ก็วางใจ จนสภาฯ โหวตแก้กฎหมาย เรื่องสำคัญจากการพยากรณ์สถานการณ์ประมงทั่วโลก หากยังมีการปล่อยให้ทำการประมงแบบที่ผ่านมา เราจะกินสัตว์น้ำเล็กลงเรื่อยๆ เรียกว่า Fishing Down สมัยก่อนเราเคยกินปลาใหญ่ แต่ด้วยวิธีการจับปลาทั้งการประมงเกินขนาด การจับปลาที่ทำให้ประชากรปลารุ่นใหม่เกิดไม่ทัน การจับลูกปลา ทำให้ปลาใหญ่ลดลง จนที่สุดจะเหลือน้อยลง ทำให้ตาอวนจะต้องปรับให้เล็กลงไปเรื่อยๆ ย้อนกลับไปทำลายลูกปลา วันนี้เรากินปลากะตักกันแล้ว
ดร.ศักดิ์อนันต์ ระบุในเชิงวิชาการ มีการจัดทำพีระมิด (Trophic Level) เพื่อจำแนกสัดส่วนสัตว์น้ำทางเศรษฐกิจและระบบนิเวศ ปลากะตักอยู่ในฐานพีระมิดต่ำ เป็นสัตว์น้ำในระดับ 3 ซึ่งฐานพิรามิดจำเป็นต้องการสัตว์น้ำมหาศาลเพื่อทำให้ประชากรฐานอื่นสามารถดำรงชีวิตได้ ปัจจุบันข้างบนลด ข้างล่างเยอะ ถ้าเราคิดสัดส่วนการปนเปื้อนจากการจับสัตว์น้ำ สมมุติติดปลาทู 1 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถเทียบตัวต่อตัวกับปลากะตักได้ เพราะปลาทูเป็นฐานพีรามิดที่สูงกว่า มันคือวิกฤตที่ต้องพิจารณาเป็นอย่างสูงในมิติการทำประมง ยกตัวอย่างข้อมูลการตรวจสอบผลผลิตจากเรือประมงในจังหวัดนราธิวาส ปี 2567 จากอวนครอบ พบว่า ผลผลิตทั้งหมดมีปลากะตัก 68 เปอร์เซ็นต์ ปลาอื่นๆ 21 เปอร์เซ็นต์ และปลาเป็ด 8 เปอร์เซ็นต์ ปลาที่คนไม่กิน ต้องเป็นอาหารสัตว์ หากเปรียบเทียบกับรายงานปี 2566 มีอัตราของลูกปลาติดอวนมามากขึ้น เห็นว่าปลาใหญ่มีจำนวนลดลง การที่ปลากะตักถูกจับโดยมากส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำผู้ล่าที่กินปลากะตักเป็นอาหารด้วย

สมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย มองว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังทำการประมง Trophic Level ต่ำ ภาครัฐจำเป็นต้องกำหนดขีดจำกัดการจับที่คำนึงถึงความสำคัญทางระบบนิเวศของทรัพยากรเหล่านี้ เทรนด์ของโลกกำหนดขีดจำกัดการจับที่ต่ำกว่าประเมินผลผลิตสูงสุดที่ยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำ หรือ MSY ไว้ที่ 20-40% แต่หากสำคัญต่อระบบนิเวศมาก มีระบบนิเวศที่มีการพึ่งพิงสูง เช่นผู้ล่าหลายชนิดอาศัยทรัพยากรนี้ ไม่ควรให้เกิน 20% อย่างอ่าวไทยมีวาฬบรูด้าต้องพึ่งพิงปลากะตัก ถ้าพึ่งพิงระบบนิเวศต่ำไม่ควรเกิน 40% กรมประมงจะคิด MSY แบบปลาใหญ่ไม่ได้ บ้านเรามีความหลากหลายทางชีวภาพสูงกว่ายุโรป ซึ่งปัจจุบันการประมงไทยทำเกินกว่าความสมดุลของระบบนิเวศไปแล้ว
“ ที่ผ่านมา ขาดข้อมูลการประมงปลากะตักจากเครื่องมือประมงอื่นๆ ที่ไม่ได้นำมาใช้การ MSY โดยคิดจากอวนล้อมกลางวัน อวนครอบ อวนช้อน อวนยก ซึ่งอวนล้อมปั่นไฟปลากะตักเป็นเครื่องมือประมงแบบใหม่ที่ผิดกฎหมายมาตลอด 40 ปี ถ้าจะเพิ่มค่า MSY ต้องเพิ่มจากเครื่องมือประมงเดิม ไม่ใช่เครื่องมือแบบใหม่ ซึ่งมีศักยภาพสูงกว่าเยอะ วงล้อมเยอะกว่า อวนครอบมันอยู่นี้ แม้ปั่นไฟ ปลาที่หลงแสงสีก็มีโอกาสหลุด แต่อวนล้อมนึกถึงสนามฟุตบอล วงมันใหญ่มากแทบจะไม่มีโอกาสหลุดออกเลย ลูกสัตว์น้ำวัยอ่อนไปเกิน 12 ไมค์ อย่างปลาวัยอ่อนหน้าจังหวัดสงขลาแพร่กระจายไปได้ไกลกว่า 37 กิโลเมตร ยิ่งออกทะเลไกลยิ่งพบความหลากหลายของชนิดพันธุ์สัตว์น้ำ ” ดร. ศักดิ์อนันต์ กล่าว

คำถามสำคัญ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลฯ กล่าวว่า หลักคิด MSY และ TAC ถูกหลักวิชาการหรือเปล่า สัตว์น้ำทางเศรษฐกิจแพร่กระจายแตกต่างตามสถานที่และฤดูกาล จะกำหนดกฎเกณฑ์มีข้อมูลพร้อมประกอบการตัดสินใจหรือยัง รวมถึงพื้นที่สำคัญทางนิเวศทางทะเลที่จะใช้กำหนดพื้นที่และช่วงเวลามีหรือยัง ขาดข้อมูลอวนล้อมปลากะตักเวลากลางคืน ที่ผ่านมามีแต่กลางวัน รวมถึงหลักเกณฑ์และวิธีการจับปลากะตักที่ลดการติดสิ่งมีชีวิตอื่นๆ การกำหนดอวน ความเข้ม ช่วงคลื่น ของไฟ ความยาวอวน ขนาดเรือ ทะเลไทยมีการจัดการประมงเป็นภาพรวมเพื่อลดความเสื่อมโทรม และมีแนวทางการฟื้นฟูทรัพยากรประมงอย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่
“ การตัดสินใจต้องอยู่บนองค์ความรู้ที่ถูกต้อง และหลักคิดการจัดการทำประมงที่คำนึงถึงระบบนิเวศที่ยั่งยืน เป็นเรื่องสำคัญต้องนำมาพิจารณาในการออกกฎหมาย ซึ่งพบว่าข้อมูลที่ใช้ในการตัดสินใจ ยังคลุมเคลือและไม่สอดคล้องกับหลักการประมงอย่างยั่งยืน ที่ผ่านมากรมประมงยืนยันมาตลอด 40 ปี อวนล้อมปั่นไฟปลากะตักส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสัตว์น้ำเศรษฐกิจอื่นๆ เพิ่งมาแก้ในกฎหมายนี้ “ ดร.ศักดิ์อนันต์ กล่าว

ถ้าแก้มาตรา 69ท้องทะเลไทยจะเหลืออะไรเป็นประเด็นที่ ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปลาไทย และกรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ส่งเสียงผ่านเวทีว่า ทะเลไทยมีปลาเกือบ 2,500 ชนิด อาจมีปลาที่อาศัยอยู่บนผิวน้ำ ที่อาจตกเป็นเหยื่อของการทำประมงอวนล้อมอย่างน้อย 200 ชนิด ปลากะตักก็ไม่ได้มีอยู่แค่ชนิดเดียว แต่สกุลปลากะตักเฉพาะน่านน้ำไทยพบอย่างน้อย 13 ชนิด ใช้ประโยชน์ไม่เหมือนกัน ขนาดและราคต่างกัน กระตักตัวกลมพบในอุตสาหกรรมน้ำปลามากที่สุด มีปลาชนิดที่คล้ายกะตัก ใช้ประโยชน์แบบเดียวกัน เป็นกะตักหัวแข็ง กะตักแก้ว ทำปลากรอบ สกุลปลากะตักที่ใช้ประโยชน์มีกว่า 20 ชนิด ปลากะตักที่มีขนาดเล็กอย่างปลากระตักข้าวสารปลากะตักสายไหม แพงที่สุด ชิ้งฉ้างรองลงมา กะตักใส้ตันถูกสุด ทำน้ำปลา
“ หลายประเทศมีการกินลูกปลา ผมไปถามญี่ปุ่นว่ากินแบบนี้ไม่สูญพันธุ์เหรอ เขาบอกว่าไม่ เพราะก่อนจะให้มีจับหรือบริโภค วิจัยมาแล้วว่าเขาจะมีคนจับกี่คน เครื่องมือประมงแบบไหน จับเวลากี่วัน เป็นตัวเลขที่จะไม่สูญพันธุ์แน่นอน ญี่ปุ่นประมงแบบสหกรณ์ ไม่มีเอารัดเอาเปรียบกันเชิงทรัพยากร อย่างไรก็ตาม จะบริโภคปลาแบบไหน ต้องมีงานวิจัยฟันธงที่ออกมารองรับอย่างชัดเจน ปลาทุกชนิดในท้องทะเลมีความสำคัญระบบนิเวศทะเล ปลากะตักที่เป็นอาหารของสัตว์น้ำหลายชนิดและปลาหน้าดิน รวมถึงนกทะเล ปลากะตักหล่อเลี้ยงปลาเศรษฐกิจที่ราคาสูงกว่าตัวมันอีกหลายเท่า ในกฎหมายควรกำหนดขนาดของปลาในการจับด้วย หากจับปลาตัวเล็ก ปลาที่เริ่มสืบพันธุ์ จะส่งผลต่อการสูญพันธุ์ของปลาบริโภคอีกหลายชนิด เมื่อก่อนปลาทูแม่กลองยาวกว่าฝ่ามือ ปัจจุบันขนาดไม่ถึงคืบ แต่ที่เห็นขนาดใหญ่ในตลาดปัจจุบันมาจากโอมาน อินเดีย ในโรงอบปลากะตักแห้งพบลูกปลาเศรษฐกิจอื่นๆ ที่พบในปลากะตักแปรรูป มีกรณีศึกษาจากโรงงานผลิตน้ำปลาแห่งหนึ่ง พบลูกปลาเศรษฐกิจในสายพาน ทั้งลูกปลาทู ปลาลัง ปลากุแล และปลาสีกุน ต้องคัดออก เพราะจะทำให้ผลิตภัณฑ์น้ำปลามีกลิ่นและรสที่ไม่ดี “ ดร.ชวลิต กล่าว

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญปลายกการวิจัยโดยกรมประมงปี 2551 เรื่องการประมงปลากะตักในอ่าวไทย ที่ระบุว่า ตามกฎหมายอนุญาติให้จับปลา 270 วันต่อปี ในอ่าวไทย ส่วนอันดามันให้ 250 วันต่อปี ตามรายงานระบุว่าอวนครอบมีค่าความสูญเสียจากปลาขนาดเล็กราว 1,000 – 1,300 บาทต่อวัน ขณะที่อวนล้อมปั่นไฟสูญเสีย 7,300 บาทต่อวัน ต่อลำ ส่วนอวนล้อมกลางวันอยู่ที่ 2,500 บาทต่อวัน คำนวนแล้ว พบว่าจะเกิดความสูญเสียปลาขนาดเล็กต่อปีประมาณ 323.11 ล้านบาทต่อปี งานวิจัยย้อนแย้งกับการแก้กฎหมาย
มีข้อมูลลูกปลาเศรษฐกิจที่ติดในอวนครอบปลากะตักจะถูกจับได้ก่อนวัยเจริญพันธุ์ครั้งแรก ซึ่งในการบริโภคต้องบริโภคหลังเจริญพันธุ์แล้วหนึ่งครั้ง ถึงจะเป็นขนาดปลาที่เหมาะสม รวมถึงได้พันธุกรรมของปลาที่โตเร็วโตล้า เช่นเดียวกับ ปู กุ้ง กฎหมายต้องกำหนดขนาดที่ชัดเจน การสูญพันธุ์ของปลา กรณีปลาทูสูญพันธ์ทางการประมงแล้ว ปัจจุบันโป๊ะตามก้นอ่าวไทยตอนในไม่มีทำประมงแล้ว เลิกรา เพราะปริมาณปลาทูไม่มากพอ ปลาทูแม่กลองหาบริโภคยากขึ้น อดีตไทยเคยส่งออกปลาทูใหญ่สุดในอาเซียน แต่ทุกวันนี้เราต้องนำเข้าปลาทูมากินราว 90%
“ ยิ่งลากยิ่งลด อนาคตปลาไทยหายไป ถ้ากฎหมายประมงนี้ถูกแก้ไขให้จับปลากลางคืนได้มากขึ้น และเกิดการสูญเสียปลาเศรษฐกิจ อาชีพที่จะได้รับผลกระทบ คือ การท่องเที่ยวดูปลาวาฬ ทัวร์ตกปลาและการดำน้ำชมธรรมชาติ จะซบเซาลง จะไม่ได้กระทบแก่นักท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่จะกระทบกับชุมชน หมู้บ้าน ชาวประมง ร้านอาหาร แรงงานในภาคการท่องเที่ยวด้วย ผลของการจับปลากะตักกลางวัน ใช้มาตรา 69 เดิม ได้ปลากะตัก ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีขึ้น ไม่มีการปนปลาอื่น ลดต้นทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปปลากะตัก และช่วยลดการสูญเสียปลาเศรษฐกิจอื่นๆ และอาชีพที่เกี่ยวข้อง ดีต่อระบบนิเวศท้องทะเลไทย “ ดร.ชวลิตชี้ความเสี่ยง
ทั้งเสนอแนะให้ทางกรมประมง มีกฎหมายที่เป็นบทเฉพาะกาล ให้อนุญาตในการเก็บข้อมูลหรือวิจัย เพื่อเป็นพื้นฐานในการปรับปรุงกฎหมายมาตราอื่นๆ ให้ยั่งยืนมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาเทคนิคประมง ในการคัดแยกปลาชนิดอื่นสามารถหนีออกไปจากอวนได้ให้เหลือแต่ปลากะตักอย่างเดียว

ทางรอดทะเลไทย ในทัศนะ ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มีทางรอดอยู่ 2 แนวทางที่จะทำให้คนกับปลาสามารถอยู่กันได้โดยไม่สูญพันธุ์ ทางรอดที่พอจะเป็นไปได้คือ การจับปลาจำเป็นต้องมีการควบคุม ทั้งเรื่องการกำหนดระยะเวลาในการปิดอ่าว และอีกทางรอดคือการกระจายอำนาจให้กับชุมชนพื้นบ้านอย่างเท่าเทียม รวมถึงต้องมีผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวรวมอยู่ด้วย ไม่ใช่แค่ประมงพื้นบ้านหรือประมงพาณิชย์ ทุกภาคส่วนต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกับการนโยบายของคณะประมงแห่งชาติ นี่คือทางรอดจริงๆ อย่างการกำหนดขนาดสัตว์น้ำในการจับ หากทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมกับแนวทางจริงๆ จะทำให้ปลาเศรษฐกิจไม่สูญพันธุ์
“ หากอนุญาตให้อวนตาถี่มาใช้ทำการประมง อาจเป็นการหยุดยั้งการเจริญพันธุ์ของลูกปลา ต้องเปิดโอกาสให้สัตว์น้ำวัยอ่อนได้เติบโต จะส่งผลถึงฐานรากเศรษฐกิจ ถ้าสามารถสร้างความเท่าเทียมกันได้จะเป็นการเปิดเศรษฐกิจชุมชนระดับฐานราก ทำให้ทุกภาคส่วนเติบโตไปด้วยกันได้ “ แกนนำประมงพื้นบ้านยืนยันค้าการแก้มาตร 69 เสนอให้ทบทวนให้ถี่ถ้วนเพื่อทางรอดทะเลไทย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ประมงพื้นบ้าน' ตบหน้าสภาไทย เปิดเตาปิ้งปลาล็อตสุดท้ายถามหาหัวขโมย
ประมงพื้นบ้านทั่วประเทศ 22 จังหวัด พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย จ่อยื่นหนังสือ ทบทวนรกฎหมายประมงฉบับใหม่ พร้อมทำกิจกรรมใครขโมยปลาปิ้งหน้าสภา
'ประมงพื้นบ้าน' ยกพลบี้สภา เปิดช่องทบทวนมาตรา 69 ยืดชะตาทะเลไทย
สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านฯ จ่อเคลื่อนไหวหลังปีใหม่ หนุนเปิดทางตั้งกมธ.ร่วมสองสภา ทบทวน มาตรา 69 ปลดล็อกทำลายล้างทะเลไทย
สถานการณ์ทางทะเลที่ต้องจับตา ขยับเศรษฐกิจสีน้ำเงินลดทำลาย
สถานการณ์ทางทะเลของประเทศไทยขณะนี้หลายปัญหามีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ทั้งสัตว์ทะเลหายากเสี่ยงสูญพันธุ์จากกิจกรรมมนุษย์และสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อน ล่าสุดกรณีพะยูนตายมากถึง 5 ตัวภายในเดือนพฤศจิกายนนี้เพียงเดือนเดียว
“PTTEP Ocean Data Platform” แพลตฟอร์มข้อมูลวิทยาศาสตร์เพื่อความยั่งยืนของทะเลไทย
ปัจจุบัน ข้อมูลวิทยาศาสตร์ทางทะเลที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลมีอยู่ไม่มากนัก และยากต่อการค้นหา เนื่องจากข้อจำกัดต่าง ๆ