ภาพ www.prachachat.net
กรีนพีซ ประเทศไทย เรียกร้องสตาร์ปิโตรเลี่ยม มาบตาพุด รับผิดกับอุบัติภัยน้ำมันดิบรั่ว-ผลกระทบระบบนิเวศทะเล-ชายฝั่ง-ชุมชน จี้ต้องเปิดเผยข้อมูลทุกอย่างทันที เพราะสำคัญต่อการประเมินความเสียหาย-ฟื้นฟูการปนเปื้อนมลพิษ
26ม.ค.2565 – กรีนพีซ ประเทศไทย ออกแถลงการณ์ภายหลังเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลจำนวน 400,000 ลิตร จากท่อใต้ทะเลของทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเล ของบริษัทสตาร์ปิโตรเลี่ยม รีไฟน์นิ่ง จำกัด มหาชน (SPRC) ในบริเวณมาบตาพุด จังหวัดระยอง ในช่วงกลางคืนวันที่ 25 ม.ค. 2565 และจากการชี้แจงผ่านแถลงการณ์ของ SPRC ที่ระบุว่า สามารถหยุดการรั่วไหลและคุมสถานการณ์ได้
กรีนพีซ ประเทศไทย ในฐานะเป็นองค์กรอิสระรณรงค์เพื่อความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อม มีความเห็นและข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้
1.ทะเลไทยซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของไทย ถูกคุกคามมาโดยตลอดจากการรั่วไหลของน้ำมันตามเส้นทางขนส่งน้ำมันกลางทะเล ในบริเวณที่มีการขนถ่ายของเรือบรรทุกน้ำมัน หรือจากการดำเนินการขุดเจาะน้ำมัน เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นอุบัติภัยน้ำมันรั่วครั้งล่าสุดในทะเลไทยที่เกิดขึ้นมากกว่า 235 ครั้งในช่วง 45 ปีที่ผ่านมา และไม่ใช่ครั้งแรกของอุบัติภัยน้ำมันรั่วของบริษัทสตาร์ปิโตรเลี่ยม รีไฟน์นิ่ง จำกัด มหาชน (SPRC) ในปี 2540 เกิดเหตุน้ำมันรั่วระหว่างการขนถ่ายน้ำมันจากเรือ Once สู่สถานีน้ำมันดิบของบริษัททำให้น้ำมันดิบกว่า 160,000 ลิตรรั่วไหลลงทะเล
2.อุบัติภัยน้ำมันรั่วล่าสุดในวันที่ 25 มกราคมครั้งนี้ แม้ว่าทางบริษัท SPRC จะขออภัยในสิ่งที่เกิดขึ้น แจ้งเตือนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชนในพื้นที่ แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือความชัดเจนของข้อมูลที่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณชน การชี้แจงว่าสามารถหยุดการรั่วไหลและคุมสถานการณ์นั้นยังไม่เพียงพอ บริษัท SPRC ต้องมีภาระรับผิด (accountability) กับอุบัติภัยที่เกิดขึ้น และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศทางทะเล ชายฝั่งและชุมชนที่อาจจะเกิดขึ้น
3.บริษัทสตาร์ปิโตรเลี่ยม รีไฟน์นิ่ง จำกัด มหาชน (SPRC) ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการขจัดคราบน้ำมันและผลกระทบอื่น ๆ ที่อาจจะตามมาและควรต้องมีการดำเนินการตรวจสอบโดยคณะอนุกรรมการว่าด้วยการฟื้นฟูและการประเมินความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมซึ่งเกิดจากมลพิษจากน้ำมัน
4.ภาระรับผิด (accountability) ของบริษัท SPRC ไม่ใช่เพียงแค่ดำเนินการขจัดคราบน้ำมันรั่ว แต่ต้องเปิดเผยข้อมูลทุกอย่างโดยทันทีเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศทางทะเล ชุมชนชายฝั่งทะเลและการท่องเที่ยว ข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะจะต้องชัดเจนและโปร่งใส ซึ่งนอกจากใช้ในการจัดการปัญหาอย่างมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม และข้อมูลที่ชัดเจนจะมีความสำคัญยิ่งต่อการประเมินผลกระทบและความเสียหาย การฟื้นฟูการปนเปื้อนมลพิษที่จะเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศทางทะเลในระยะสั้นและระยะยาว การเยียวยาที่ถูกต้องและเป็นธรรมหากเกิดความเสียหายขึ้น รวมถึงมาตรการป้องกันอุบัติภัยในอนาคต
กรีนพีซ ประเทศไทย เรียกร้องให้ รัฐบาลไทยทบทวนแผนพลังงานชาติโดยเร่งด่วนเพื่อปลดแอกเชื้อเพลิงฟอสซิล และยุติแผนการขยายการขุดเจาะน้ำมันหรือก๊าซฟอสซิลซึ่งทำให้วิถีชีวิต สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและชุมชนต้องแบกภาระจากผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โค้งสุดท้ายสู่สนธิสัญญาพลาสติกโลก เป้าหมายที่ไทยควรกำหนดในเวทีโลก
ก่อนหน้าการเจรจาระหว่างรัฐบาลในการจัดทํามาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านมลพิษจากพลาสติก รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางทะเลที่จะมีการประชุมและเจรจาครั้งสุดท้าย (INC-5) เพื่อให้เกิดสนธิสัญญาพลาสติกโลก หรือ “Global Plastic Treaty” ณ เมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี
'สนธิสัญญาพลาสติกโลก' ไทยลงเหวมลพิษพลาสติก
ระหว่างที่ร่างสนธิสัญญาแก้ปัญหามลพิษจากพลาสติก ซึ่งสมาชิก 175 ประเทศลงนามร่วมกันให้จัดทำมาตรการทางกฎหมายเพื่อเป็นแนวทางการจัดการพลาสติกที่ครอบคลุมและตลอดวงจรชีวิตพลาสติก ลดการผลิตพลาสติก เลิกผลิต เลิกใช้ ควบคุม พลาสติกบางประเภท และการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR)
ปี 2566 ไทยมีคุณภาพอากาศแย่ติด 1 ใน 5 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
รายงานคุณภาพอากาศโลกปี 2566 ของ IQAir ระบุว่าประเทศไทยมีคุณภาพอากาศในระดับที่แย่เป็นอันดับที่ 5 จากทั้งหมด 9 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวัน