'โลกร้อน-โลกเดือด'! กระทบ 'พะยูน' เข้าใกล้จุดสูญพันธุ์

เป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า พะยูนเป็นสัตว์ทะเลหายาก มีความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ แต่สถานการณ์ปัจจุบันยิ่งทำให้พะยูน ก้าวข้ามความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์มากยิ่งขึ้น อย่างไม่เคยมีมาก่อน ภัยคุกคามพะยูนมาจากภาวะโลกร้อน ที่เป็นตัวการสำคัญทำให้พะยูนขาดแคลนหญ้าทะเล ที่เแป็นแหล่งอาหารสำคัญ มีการสำรวจพบว่าปัจจุบันหญ้าทะเลร่อยหรอไปจำนวนมาก ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของพะยูน ทำให้พะยูนจำนวนหนึ่งต้องอพยพจากทะเลพื้นที่จังหวัดตรัง และกระบี่ ที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยหลักของพะยูน


หากไม่มีพะยูนแล้ว สถานการณ์ทะเลไทยอาจจะย่ำแย่ ทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลอาจจะลดลงอย่างฮวบฮาบ เนื่องจาก พะยูนมีบทบาทเป็นผู้รักษาสมดุลและความหลากหลายของแนวหญ้าทะเล พฤติกรรมการกินของพะยูนช่วยให้เกิดความหลากหลายของชนิดหญ้าทะเลมากขึ้น โดยแหล่งหญ้าจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน และเป็นแหล่งหากินของสัตว์ทะเลนานาชนิด สัตว์น้ำเศรษฐกิจ เช่นปลา กุ้ง ปู หอย ซึ่งส่งผลให้มีจำนวนสิ่งมีชีวิตในแนวหญ้าทะเลมากขึ้นตามไปด้วย

ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลฯ ซึ่งได้ทำการสำรวจการแพร่กระจายสัตว์ทะเลหายาก บริเวณจังหวัดตรัง ด้วยวิธีการบินสำรวจแบบ Line Transect และ Hot spot บริเวณเกาะลิบง เกาะมุก เกาะสุกร แหลมไทร และบริเวณแนวหน้าทะเลใกล้เคียง ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของจ.ตรีง พบว่าพะยูนมีแนวโน้มจำนวนประชากรลดลง และกระจายตัวในพื้นที่กว้างมากขึ้น โดยพบพะยูนประมาณ 86-121 ตัว เป็นพะยูนคู่แม่ลูกอย่างน้อยประมาณ 3คู่ เต่าตนุจำนวน107-152 ตัว โลมาจำนวน 13 ตัว ในจำนวนนี้เป็นโลมาคู่แม่-ลูก 4คู่ ซึ่งมีจำนวนลดลงเมื่อเทียบกับสำรวจในปี 2566

ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทช.

“มีข้อสันนิษฐานว่าการลดลง ของพะยูนในพื้นทีเกาะมุกและเกาะลิบง นั้นอาจเป็นไปได้ว่ามีการอพยพย้ายถิ่น ไปยังแหล่งหญ้่าทะเลแห่ง ใหม่ เพราะด้วยอิทธิพลของภาวะโลกร้อน ทำให้แหล่งหญ้าทะเลเดิมขาดแคลน สถานการณ์นี้ ส่งผลให้พะยูนไทยอยู่ในภาวะวิกฤตหนักและกำลังสูญพันธุ์ในที่สุด ที่ผ่านมาถ้าพะยูนเหลือ 300 ตัวถือว่าวิกฤตแล้ว เพราะหากพะยูนเสียชีวิต 1ตัว หมายถึงว่าลดลงไปถึง 0.3% แต่ในช่วง 2-3ปีที่ผ่านมา พบว่ามีพะยูนตาย เพราะสาเหตุจากขยะทะเล หรือโดนเรือชน แต่ตอนนี้พบว่าอพยพออกไปจากตรัง เหลือจำนวนไม่มาก ทางทช.ก็มองว่าเป็นเรื่องวิกฤติที่เราต้องทำอะไรแล้ว เพื่ออนุรักษ์พะยูน”

ดร.ปิ่นสักก์ กล่าวอีกว่า ถ้ากามว่าทำไมเราต้องอนุรักษ์พะยูนก็มีคำตอบว่า เพราะพะยูนเป็น Flagship Species ของทะเลมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการรักษาสมดุลและความหลากหลายของแนวหญ้าทะเล พฤติกรรมการกินของพะยูนช่วยให้เกิดความหลากหลายของชนิดหญ้าทะเลมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีจำนวนสิ่งมีชีวิตในแนวหญ้าทะเลมากขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งมูลของพะยูนยังช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์และช่วยหมุนเวียนแร่ธาตุสารอาหารในแนวหญ้าทะเล ดังนั้นการอนุรักษ์พะยูนจึงเป็นการช่วยรักษาสมดุลแก่ระบบนิเวศ การที่หญ้าทะเล ตรังกับกระบี่หายไป แต่ปัญหาโลกร้อน โลกเดือดขณะนี้ กระทบพะยูนอย่างจัง

“โลกเพิ่งเกิดมา 4,000 ล้านปี มนุษย์ก็เกิดมาแค่เมื่อประมาณแสนปี เราผ่านยุคต่างๆยุคโดโนเสาร์ยุคโน่นยุคนี่ เกือบพันล้านปี แต่มนุษย์ที่เกิดมาแค่แสนปีนี้ ในช่วงเวลาราว 150 ปี มนุษย์สร้างยุคใหม่ขึ้นมาเอง เป็นยุค แอนโทรโพซีน (Anthropocene) หรือยุคที่มนุษย์ได้ไปเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมบนโลก จนมันกลับมาไม่เหมือนเดิม ทำให้ไม่สมดุล เกิดภาวะโลกเดือด โลกรวน จนเราจะอยู่กันไมได้ รวมทั้งสิ่งมีชีวิตอื่นๆ “ดร.ปิ่นสักก์กล่าว

สถานการณ์ทะเลไทย เป็นเช่นไร ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า จำนวนประชากรพะยูนที่ลดลงไปอย่างมากในปัจจุบัน หรืออพยพย้ายถิ่นจากทะเลตรังที่เป็นบ้านของพะยูนไปแล้วประมาณ 40 %ถือเป็นเรื่องที่น่าตกใจ ซึ่งทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญเร่งด่วน ก่อนที่พะยูนจะสูญพันธ์และส่งผลกระทบมหาศาลกับชุมชนโดยรอบ ประชาชน และโลกใบนี้ เนื่องจากพะยูนถือเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

ดร.ธรณ์ ยอมรับอีกว่าปัญหาโลกร้อนที่มีผลกระทบกับพะยูน เป็นเรื่องน่าหนักใจและแก้ยากมาก ในฐานะที่ตนเป็นประธานคณะทำงานอนุรักษ์ทะเลแห่งชาติมานานแล้ว สถานการณ์ตอนนี้ถือว่ายากลำบากมากที่สุดตั้งแต่มาทำงานด้านทะเล ซึ่งที่ผ่านมาเราเคยมีแผนฟื้นฟูทะเล ตั้งแต่สมัยเกิดเหตุการณ์น้องมาเรียมจากไปการเกิดปัญหาขยะพลาสติก แก้ไขโดยช่วยกันรณรงค์จากหลายฝ่าย จนสถานการณ์ขยะพลาสติกในทะเลดีขึ้น แต่ตอนนี้ เรากลับเจอปัญหาที่ใหญ่กว่ามาก เป็นความท้าทายที่ใหญ่หลวง นั่นก็คือปัญหาโลกร้อน ที่ส่งผลกระทบรุนแรงโจมตีเมืองหลวงของพะยูน ทำให้หญ้าทะเลลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว เพราะหญ้าทะเลจะตายเมื่อเจอความร้อน และอุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น

“ตอนนี้ โลกร้อน หญ้าทะเลตาย พะยูน อพยพ ผมเกิดมาไม่เคยพบเคยเห็น และตั้งแต่เป็นนักวิทยาศาสตร์มา ผมเริ่มสำรวจหญ้าทะเลทั่วประเทศไทย เริ่มดำน้ำตั้งแต่ปี 2527 ไม่เคยคิดเลยว่าหญ้าทะเลจะหายไปหมด หญ้าพวกนี้มีอยู่ตั้งแต่รุ่นปู่ทวดเรา 2-3 หมื่นไร่ หายไปหมด เป็นการเกิดผลกระทบที่รุนแรงมาก”

ดร.ธรณ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ เราจึงอยู่ในสถานการณ์ชี้หน้าว่าใครทำผิดไม่ได้ และอยู่ในภาวะที่กฎหมายก็ทำอะไรไม่ได้ด้วยเช่นกัน เพราะสาเหตุไม่ได้เกิดจากการกระทำของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นการกระทำของคนจำนวนมาก หรือเราทุกคนบนโลก ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งที่ เราเพิ่งประกาศพ.ร.บ.คุ้มครองพะยูนเมื่อปีแล้ว แต่ก็มาเจอปัญหาหญ้าทะเลตาย เพราะโลกร้อน ปัญหานี้จึงใหญ่มาก อย่างไม่เคยพบไม่เจอ อย่างไรก็ตาม เป็นโอกาสที่เราจะหันมามีส่วนช่วยพะยูน ช่วยโลก

ที่ผ่านมามีการแก้ปํญหาเรื่องหญ้าทะเลขาดแคลน โดยมีหลายหน่วยงานร่วมกันปลูกหญ้่าทะเล แต่หญ้าคาทะเล กลับตายไปเมื่อเจออากาศร้อนจัด ดร.ธรณ์ กล่าวว่า จริงๆแล้ว หญ้าทะเลมีถึง 13 ชนิด เมื่อหญ้าคาทะเล ทนความร้อนไม่ไหว จึงกำลังมองไปที่หญ้าทะเลชนิดอื่น ที่ทนกับอากาศร้อนได้มากกว่าหญ้าคาทะเล โดยจะส่งเสริมให้ปลูกหญ้าชนิดนั้นทดแทน

“นี่คือ ปัญหาว่าเราจะต้องพยายามทำให้พะยูน ส่วนที่เหลืออยู่ถิ่นเดิม และต้องอยู่รอดให้ได้ แน่นอนว่า เรามีเป้าหมายว่า 1.ต้องหาว่าเหลืออยู่กี่ตัว 2.จะต้องทำให้เขาอยู่เท่าเดิมได้อย่างไร 3. หากมีพะยูนเกยตื้น ต้องมีหน่วยงานฉุกเฉิน เข้าถึงได้เร็วขึ้น สร้างเครือข่ายชาวบ้านที่พบแจ้งข่าวได้เร็วอย่างไร กรมทช.มีรถฉุกเฉินไปช่วยอย่างเร็ว และการขนส่งพะยูนไปโรงพยาบาล นอกจากนี้ ก็คือ การดูแลระยะยาว เพื่อให้เกิดความยั่งยืน “ดร.ธรณ์กล่าว

ชวนประชาชนร่วมโครงการ “พี่ปุ้มปุ้ย…พาน้องพะยูนกลับบ้าน”

ภาวะวิกฤตของพะยูน ล่าสุดได้มีบริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ บิ๊กซี เข้ามาช่วย โดยผนึกกำลังจัดโครงการ “พี่ปุ้มปุ้ย…พาน้องพะยูนกลับบ้าน” โดยประชาชนทั่วไปสามารถร่วมสนับสนุนโครงการ ด้วยการอุดหนุนผลิตภัณฑ์ปุ้มปุ้ยที่วางจำหน่ายในศูนย์การค้าบิ๊กซีได้ทุกสาขา ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 ตุลาคม 2567โดยรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ส่วนหนึ่งจะนำไปใช้ในโครงการ

ดร.ธรณ์ กล่าวว่า ปุ้มปุ้ย เป็นแบรนด์คนไทย และเป็นแบรนด์ ท้องถิ่นของคนตรัง การเกิดโครงการจึงเป็นการเกิดสำนึกในท้องถิ่น อยากช่วยเหลือ การระลึกอยู่เสมอว่าตนเองเป็นคนตรัง เมื่อท้องถิ่นเกิดปีญหาก็พร้อมกลับมาช่วยเหลือ จึงเป็นความพิเศษ เป็นการไม่ทิ้งกัน ไม่ทิ้งท้องถิ่น โดยเงินที่ได้จากโครงการการช่วยเหลือน้องพะยูนกลับบ้านในแต่ละบาท จะมีความชัดเจนว่าจะนำไปใช้อะไรบ้าง อย่างแรกที่กล่าวไปแล้ว การสำรวจว่ามีพะยูนเหลือกี่ตัว การช่วยเหลือพะยูนที่เกยตื้น การจัดการเรื่องหญ้่าทะเล เพื่อให้พะยูนได้อยู่รอดไม่ย้ายถิ่น อย่างยั่งยืน

“คาดหวังว่า 3เดือน นี้เราจะสามารถมอบของขวัญให้น้องพะยูนที่บ้านแตกสาแหรกขาด อย่างน้อยเป้าหมายของเราชัดเจน พะยูนตรังจะไม่สูญพันธุ์ “ดร.ธรณ์ กล่าว

ด้านดร.ปิ่นสักก์ กล่าวว่า การที่มนุษย์สร้างปัญหาต่างๆมากมาย อยากให้โลกกลับมาสวยงาม เราจึงต้องเชื่อในพลังคน และเป็นสิ่งสำคัญทำให้โครงการ“พี่ปุ้มปุ้ย…พาน้องพะยูนกลับบ้าน”ประสบความสำเร็จ มองว่าโครงการมีศักยภาพ ทำให้โครงการถูกต้องตามหลักวิชาการ 100% ทำให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริงของโครงการ เพราะมีพี่เลี้ยงในการทำงาน เชื่อว่าเงินทุกบาททุกสตางต์ จะทำให้เกิดความยั่งยืน

“ที่สำคัญอย่างยิ่งถือว่าโครงการนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้คนทุกคนรักในธรรมชาติ ไม่มีเวลาว่างที่จะช่วย ก็ช่วยด้วยการแค่ซื้อสินค้า ก็มีส่วนช่วยสิ่งแวดล้อม และช่วยพะยูน โดยที่เราไม่ต้องทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ เพียงแค่ช่วยกันทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เชื่อว่าโครงการนี้จะทำให้พะยูนกลับบ้านได้จริงๆ เพราะโครงการนี้เกิดถูกที่ถูกเวลาจริงๆ เพราะให้ความสำคัญกับตรัง กับกระบี่ที่ถือว่าเป็นเมืองหลวงของพะยูน ดังนั้น ความร่วมมือในการจัดโครงการ “พี่ปุ้มปุ้ย … พาน้องพะยูนกลับบ้าน” จึงเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญในการจุดประกาย แรงบันดาลใจ ความหวัง การสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนทุกคนช่วยกันดูและทะเลไทย และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นของพวกเราทุกคน ให้มีความอุดมสมบูรณ์เพื่อลูกหลานต่อไป “ดร.ปิ่้นสักก์ กล่าว

นางปวิตา โตทับเที่ยง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความยั่งยืน และสื่อสารองค์กร บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการ “พี่ปุ้มปุ้ย…พาน้องพะยูนกลับบ้าน” ขึ้น ภายใต้คอนเซ็ปต์ ปุ้มปุ้ย ทุกรอยยิ้มคือความภูมิใจ ร่วมรักษ์ทะเลไทยอย่างยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในการอนุรักษ์ทะเล สัตว์ทะเลหายาก และพะยูนไทย ซึ่งถือเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล ไม่ให้สูญพันธุ์ ตลอดจนการสร้างเครือข่ายนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล และเป็นสะพานในการเชื่อมต่อลูกค้าให้มีโอกาสร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกแก่ท้องทะเลไทยไปด้วยกัน ทั้งยังเป็นการตอกย้ำและแสดงเจตนารมย์ความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์และพันธกิจของปุ้มปุ้ยได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

ส่วนบิ๊กซีที่ร่วมโครงการนางฐาปณี เตชะเจริญวิกุล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของระบบนิเวศทางทะเล บิ๊กซีได้เข้าร่วมโครงการและกิจกรรมต่างๆ ที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายาก โดยเฉพาะพะยูนซึ่งเป็นหนึ่งในสัตว์ทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์มากที่สุดในประเทศไทย สำหรับโครงการนี้ บิ๊กซีพร้อมสนับสนุนในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนพื้นที่สำหรับให้ข้อมูลโครงการฯ ณ บริเวณชั้นวางสินค้าของปุ้มปุ้ย เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทะเลไทย พะยูน และสัตว์ทะเลหายากอื่นๆ ทั้งนี้ บิ๊กซียังคงมุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศทางทะเลไทย เพื่อให้สัตว์ทะเลสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างยั่งยืน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พบพะยูนตายกลางทะเล มีร่องรอยโดนทำร้าย ถอดเขี้ยวออก

เจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ตรัง)  และชาวบ้านช่วยกันนำซากพะยูนขึ้นฝั่ง ที่บริเวณ

พะยูนยังเหลืออยู่ที่ไหน? อีกเท่าไหร่ในปัจจุบัน

ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์พะยูนเมืองไทย  กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ขอความร่วมมือช่วยกันส่งจุดที่พบในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาในฝั่งอันดามัน   

โลกร้อนส่งผล ยอดฟูจิ ไม่มีหิมะ ดร.ธรณ์ ชี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล โพสต์ว่า  มาถึงวันนี้ ฟูจิซังก็ยังไม่มีหิมะ ไม่ใช่แค่ครั้งแรกในรอบ 130 ปี ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ด้วยซ้ำ

ดร.ธรณ์ แจ้งพายุ ‘จ่ามี’ อีสานล่างโดนแล้ว ‘อุบลฯ’ มาแต่เช้า เคลื่อนเข้า ‘โคราช-ขอนแก่น’

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม