บทเรียนน้ำท่วมเชียงราย กลไกเตือนภัยไร้ระบบ

เหตุการณ์น้ำท่วมจังหวัดเชียงรายรุนแรง มีผู้คนจมน้ำสังเวยชีวิต ดินสไลด์ทับตาย ถูกน้ำพัดสูญหาย   ส่วนผู้รักษาชีวิตรอดจากภัยพิบัติครั้งนี้ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก บ้านเรือนถูกน้ำเข้าท่วมมิด ทรัพย์สินเสียหายแบบเรียกคืนมาไม่ได้ ขณะที่อีกหลายพื้นที่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก กระแสน้ำไหลเชี่ยวรุนแรง อดข้าวอดน้ำ ผู้ประสบภัยต่างรอคอยความช่วยเหลือ และการอพยพกลุ่มเสี่ยงคนสูงอายุ คนพิการ คนป่วย เด็ก ที่ติดค้างให้ปลอดภัยยังดำเนินต่อไป 

จากรายงานสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมจากภาพดาวเทียม RADARSAT-2 ของวันที่ 12 ก.ย. 2567 เวลา 06.12 น. พบน้ำท่วมขังใน 7 อำเภอของ จ.ชียงราย ได้แก่ แม่สายหนักสุด 25,204 ไร่ เชียงแสน 15,214 ไร่ เมืองเชียงราย 14,408 ไร่ แม่จัน 12,726 ไร่ ดอยหลวง 6,205 ไร่ เวียงเชียงรุ้ง 3,342 ไร่ และเวียงชัย 927 ไร่ ในขณะที่ จ.เชียงใหม่ พบพื้นที่น้ำท่วมขัง 1 อำเภอ คือ แม่อาย 8,412 ไร่ รวมพื้นที่น้ำท่วมขังทั้งหมด 86,438 ไร่  

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภุมิอากาศ(IPCC) และรองประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า ภัยพิบัติเชียงรายเกิดจากฝนตกหนักในพื้นที่ 220  มิลลิเมตรต่อวัน รวมถึงปริมาณน้ำที่เกิดจากฝนตก 400 มิลลิเมตรต่อวันในเมียนมา นี่คือ ต้นน้ำแม่กก  โดยเส้นทางน้ำ จ.เชีบงราย มาจากแม่น้ำสายไหลมาจากเมียนมา เข้าท่วม อ.แม่สาย เพราะเกินศักยภาพพื้นที่รองรับได้ ก่อนมวลน้ำไหลสู่แม่น้ำกกเข้าอำเภอเมือง การจะป้องกันภัยพิบัติต้องทำงานร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านและพัฒนาระบบเตือนภัยไทย ก่อนหน้านี้ ตนได้เตือนระวังฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลากจากฝนตกหนักมากจากพายุที่พัฒนาเป็นพายุไต้ฝุ่นยางิ แม้จะเป็นหางพายุ แต่จะทำให้เกิดฝนตกหนักในปริมาณที่พื้นที่รองรับไม่ได้ เพราะจากแบบจำลองเห็นชัดเลยว่า น้ำจะท่วมรุนแรง เป็นภาพที่เห็นน้ำล้อมสนามบินเชียงราย ข้อมูลเตือนภัยนี้เราส่งต่อเครือข่ายภาคประชาชนผ่านวิทยุชุมชน แต่ยังไม่ครอบคลุมเข้าถึงทุกที่ เพราะทำในรูปแบบภาคประชาชน    

ผู้เชี่ยวชาญ IPCC กล่าวต่อว่า การสร้างฉากทัศน์เหล่านี้หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากตนและทีมที่มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ นำฉากทัศน์ไปนำเสนอกับจังหวัดถึงเหตุการณ์ภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น น้ำท่วมกี่เมตร จะอพยพหรือไม่ นอกจากวางแผนเตรียมการป้องกัน ยังมีแนวทางรับมือระหว่างเผชิญเหตุ มีการประเมินแนวทางจัดการในอนาคต ไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ เมื่อภาพเหล่านี้ไม่เกิดจะมีความโกลาหลเหมือนน้ำท่วมหนักเชียงรายครั้งนี้ ฝากถึงรัฐบาลเหตุการณ์ภัยพิบัติผลกระทบรุนแรงเกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล แสดงถึงระบบเตือนภัยมีช่องว่าง ต้องยอมรับตรงจุดนี้เสียก่อน ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วมดินถล่ม 30 คนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค.ถึง 10 ก.ย.67 ที่ผ่านมา ทั้งจมน้ำ ถูกน้ำพัด ดินสไลด์ทับตาย

“ แม้มีประกาศเตือนจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนฝนหนักจากกรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทานเตือนการระบายน้ำ กรมทรัพยากรธรณีเตือนดินถล่มจากน้ำป่าไหลหลาก สำนักงานเลขาธิการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช.แถลงการณ์เฝ้าระวังฝนตกหนัก น้ำท่วม  มาทีละวัน ชาวบ้านจะฟังใคร เสนอให้รัฐบาลบูรณาการให้เด็ดขาด จะให้หน่วยงานใดประกาศแจ้งเตือน ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นใช้ระบบ J-Alert เพื่อแจ้งเตือนประชาชนถึงเหตุฉุกเฉินและภัยพิบัติ เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ พายุ น้ำท่วม ภูเขาไฟระเบิด สภาพอากาศที่รุนแรง ประเทศอาจถูกคุกคาม แจ้งข่าวฉุกเฉิน ในทุกช่องทาง โดยเตือน 3 ระดับตามความรุนแรง ส่วนเส้นทางน้ำท่วมจากเชียงรายและเชียงใหม่จะไปไหนต่อ 

 รศ.ดร.เสรี กล่าวว่า จากการประเมินลุ่มน้ำกก 3,000 ตารางกิโลเมตร ฝนตกหนัก 3 วัน มีปริมาณน้ำกว่า 1,000 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 78,000 กว่าไร่ มีปริมาณน้ำ 300 ล้าน ลบ.ม. เหลืออีก 700 ล้าน ลบ.ม.  ต้องเร่งระบายน้ำใน อ.เมืองเชียงราย ลงแม่น้ำโขง ขณะนี้อยู่ในภาวะวิกฤต น่าจะใช้เวลาไม่เกิน 10 วัน จะกลับสู่ภาวะปกติ ส่วนแม่สายต้องระวังมวลน้ำจากเมียนมาที่มีพื้นที่น้ำท่วม และฝนตกในพื้นที่จะส่งผลให้น้ำสูงขึ้น ซึ่งน้ำจากแม่น้ำกกลงโขง น้ำจากลาว พม่า และไทย จะเคลื่อนตัวถึง อ.เชียงคาน จ.เลย จะเกิดน้ำล้นตลิ่ง  นอกจากนี้ มวลน้ำจะไหลเลียบไปตามพรมแดนอีสาน

“ พื้นที่เสี่ยงภัยอยู่ริมแม่น้ำโขง มีการคาดการณ์จาก MRC น้ำจะเพิ่มสูงสุดวันที่ 16 – 17 ก.ย.นี้ ผมได้สร้างแผนที่น้ำท่วม จ.หนองคาย ชาวบ้านใน ต.โพนพิสัย  ต.จุมพล ต.หนองหลวง อ.โพนพิสัย ต.รัตนวาปี  ต.โพนแพง  ต.บ้านต้อน  อ.รัตนวาปี ควรเตรียมความพร้อมรับมือด้วยความไม่ประมาท จากนั้นน้ำจะไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่เขตกัมพูชา  ซึ่งไม่กระทบภาคกลางและกรุงเทพฯ “ นักวิชาการด้านภัยพิบัติย้ำ 

อย่างไรก็ตาม จากการคาดการณ์จำนวนพายุปี 2567 รศ.ดร.เสรี ระบุพายุจะเกิดทั้งปี 24 ลูก ขณะนี้เกิดไปแล้ว 13 ลูก   ยังเหลืออีก 11 ลูก โดยคาดการณ์มีโอกาสเข้าประเทศไทย 10 % เพราะฉะนั้นจะมีอีก 1 ลูกเข้าไทยเต็มๆ มีโอกาสจะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่แบบปี 2554 10% แต่ก็ไม่ควรวางใจ มีตัวอย่างภัยพิบัติเชียงรายเกิดขึ้นแล้ว แม้มีโอกาสเกิดในรอบ 100 ปี หรือแค่ 1% เท่านั้น ฉะนั้น ต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ตลอดเดือนกันยายนถึงกลางตุลาคมนี้ว่า จะมีฝนตกหนักที่ จ.แพร่ หรือไม่ ถ้าน้ำท่วมแพร่ เส้นทางน้ำจะไปภาคกลางต่อ ภาคกลางเตรียมรับมือ บางคนบอกว่า พายุต้องเข้า 5 ลูก แบบปี 54 น้ำถึงจะท่วม ไม่อยากให้สร้างวาทกรรมแบบนั้น ถ้าหากเกิดพายุไต้ฝุ่นยางิเข้าลูกเดียว ปริมาณฝน 300 มิลลิเมตรต่อวัน ไม่รอด เพราะกรุงเทพฯ และภาคกลาง รับได้ 60 มิลลิเมตรต่อวันเท่านั้น

 “ ล่าสุด มีการคาดการณ์หลังวันที่ 15 ตุลาคมนี้ จะมีหย่อมความกดอากาศเกิดขึ้น ต้องเฝ้าระวังติดตามการพัฒนาตัวของหย่อมความกดอากาศนี้ ไม่รู้จะเข้าพื้นที่ไหน แต่จากทิศทางน่าจะเป็นภาคอีสานตอนบน หนองคาย มุกดาหาร นครพนม ถ้าแรงพอจะเข้าภาคกลางตอนบน พายุต้องติดตาม ฝนตกเที่ยวไม่ได้ตกเหนือเขื่อนอย่างเดียว ต้องรวมตกใต้เขื่อน ถ้าฝนตกใต้อ่าง ใต้เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ น้ำจะลงมาภาคกลาง “ รศ.ดร.เสรี เตือนระวังพายุเข้าไทย ย้ำจากนี้ภัยพิบัติจะรุนแรงเพิ่มขึ้น  

สำหรับสถานการณ์ฝนในประเทศไทย  นายสมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการกองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า จากแบบจำลองศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) เป็นช่วงที่ภาคอีสาน ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งอันดามันต้องเพิ่มการติดตาม การเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ปริมาณฝน ส่วนภาคเหนือ แนวโน้มฝนเริ่มน้อยลงบ้าง โดยช่วง 13-17 ก.ย.นี้ ร่องมรสุมแรงขึ้นและจะเลื่อนลงมาพาดผ่านบริเวณภาคเหนือด้านตะวันออก ภาคอีสาน ภาคกลาง ประกอบมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังแรงขึ้นและพัดเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้น และมีตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือด้านตะวันออก ภาคอีสาน ภาคกลาง รวม กทม.และปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งอันดามัน ต้องกลับมาเฝ้าระวังฝนตกหนักอีกช่วง ซึ่งตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย.67 ชาว กทม.ต้องมาเตรียมรับมือฝนตกหนักอีกครั้ง และแม้สถานการณ์ฝนภาคเหนือเริ่มเบาลง ก็ต้องเฝ้าระวังฝนสะสมไหลตามลุ่มน้ำต่างๆ                

สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล นอกจากจะมีฝนหนักแล้ว   นายสมควรเตือนยังมีน้ำทะเลหนุนสูง ยังต้องระวังน้ำท่วมขัง น้ำรอการระบาย ช่วง 18-22 ก.ย.67 ร่องมรสุมเลื่อนต่ำลงมาปกคลุมภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน มรสุมยังมีกำลังแรง ฝนยังตกต่อเนื่องใกล้ร่องมรสุม ด้านรับมรสุม โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งอันดามันต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ในระยะนี้ยังไม่มีสัญญาณการก่อตัวของพายุที่จะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย ฝนที่ตกมาจากร่องมรสุมและหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนตัวเข้ามาปกคลุมบ้าง อย่างไรก็ตาม ข้อมูลนี้ใช้เป็นแนวทางในการติดตามสภาพอากาศ และส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมิน วางแผน เตรียมการรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามด้วยข้อมูลจากผลการตรวจอากาศอื่นๆ ร่วมด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สะท้านทรวง! หนาวที่สุดของปีนี้ 12-13 ม.ค. ความหนาวเย็นมาพร้อมลมแรง

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต และรองประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ โพสต์ภาพพร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า หนาวสุดท้ายหนาวสะท้านทรวง 12-13 มกราคม

'ภูมิธรรม' เตรียมเสนอแผนแก้น้ำท่วมดินโคลนถล่มภาคเหนือ เข้าครม.สัญจร 29 พ.ย.นี้

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ครั้งที่ 4/2567 โดยมีนางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

ศปช. ยันพายุหยินซิ่งไม่เข้าไทย แจงข่าวน้ำท่วมแม่สายอีกรอบเป็นเฟกนิวส์

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ในฐานะโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. เปิดเผยว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย

'อ.เสรี ศุภราทิตย์' จับตาพายุในมหาสมุทรแปซิฟิกจะเกิดขึ้นอีก 6 ลูก บางลูกกระทบภาคใต้

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต และรองประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ โพสต์ภาพกราฟิกพร้อมข้อความทางเฟซบุ๊กระบุว่า "พายุจ่ามี" ส่งอิทธิพลไม่มากต่อประเทศไทยแต่ควรไม่ประมาทเพราะความชื้นในทะเลมีสูง

ดิจิทัล วอร์รูม เตือนภัยฝ่าน้ำท่วม-ดินโคลนถล่ม

ภาคเหนือเผชิญอุทกภัยรุนแรง โดยเฉพาะที่ อ.แม่สาย น้ำท่วมตัวเมือง มีน้ำป่าไหลทะลักลงตามแม่น้ำสาย ทำให้บ้านเรือน ร้านค้า ตลาดสด พื้นที่เกษตรที่ติดลำน้ำสายได้รับความเสียหายอย่างหนัก ปัจจุบันแม้น้ำแห้งแล้วแต่ประชาชนยังจมโคลนจมฝุ่นต้องการการช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาจากปัญหาที่น้ำท่วมได้ทิ้งไว้ตามบ้านเรือนของประชาชนและสถานที่ต่างๆ  

ศปช.ส่วนหน้า เผยคืบหน้าฟื้นฟูแม่สาย ในพื้นที่รับผิดชอบ 'มหาดไทย-กลาโหม'

ในการประชุมศูนย์ปฎิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยวาตภัยและดินโคลนถล่ม (ศปช.ส่วนหน้า) วันที่ 8 ตุลาคม 2567 ซึ่งมี น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นหัวหน้าศูนย์ฯ และพลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์