'ดร.ธรณ์' รับกำจัด 'ปลาหมอคางดำ' ไม่หมด ต้องพยายามลดความเสียหายให้มากที่สุด


17ก.ค.2567- ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า

วันนี้ให้สัมภาษณ์เรื่องปลาหมอคางดำกับหลายสื่อ จึงมาเล่าให้เพื่อนธรณ์ฟัง
อย่างแรกคือเป้าหมาย คงต้องยอมรับว่า เมื่อเอเลี่ยนเข้าไปอยู่ในธรรมชาติถึงระดับหนึ่งแล้ว การจัดการให้หมดจนไม่มีเหลือ เป็นเรื่องที่เป็นไปแทบไม่ได้
ตัวอย่างง่ายๆ คือปลาซัคเกอร์ที่ยังมีอยู่ในบ้านเรา หรือปลาช่อนในอเมริกา
การจัดการปลาหมอคือการพยายามลดผลกระทบให้มากสุด
ผลกระทบแบ่งง่ายๆ เป็น 2 แบบ คือ ระบบนิเวศและการทำมาหากินของผู้คน
ปลาหมอคางดำเข้าไปในระบบนิเวศ กินสัตว์น้ำอื่น ส่งผลรุนแรงต่อความหลากหลายทางชีวภาพ
ปลาเข้าไปในบ่อบึง ส่งผลต่อกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
ปลาเข้าไปในแหล่งประมง ทำให้สัตว์น้ำเศรษฐกิจหายไป ชาวประมงพื้นบ้านจับได้แต่ปลาหมอราคาต่ำ
การจัดการด้านพื้นที่คือคุมการระบาดให้มากที่สุด
แบ่งพื้นที่ง่ายๆ เป็นเขตหลัก (อ่าวไทยตัวก.) เขตรองที่เป็นหย่อมๆ กระจายออกไปทั้งในแผ่นดินและในทะเล และเขตที่ปลายากไปถึง (เช่น เกาะต่างๆ แหล่งน้ำที่ไม่เชื่อมต่อกับแหล่งอื่น)
เขตหลักต้องเน้นการลดจำนวนปลาหมอ เขตรองต้องคุมไม่ให้ขยายออกไปข้างๆ เพิ่มขึ้น เขตไม่มีปลาไปถึงตามธรรมชาติ ต้องคุมไว้ให้ได้
การลดจำนวนแบบง่ายๆ คือจับเท่าที่ทำได้ นำมาใช้ประโยชน์ต่างๆ
คณะประมงพยายามทำ #เมนูกู้แหล่งน้ำ ทั้งทำสดและผลิตภัณฑ์ (น้ำปลา น้ำพริก ฯลฯ) ลองสอบถามข้อมูลที่คณะเพิ่มเติม
ยังรวมถึงการนำมาใช้ประโยชน์อื่นๆ ที่คงต้องหาทางกันไป
อีกแบบคือส่งผู้ล่าลงไปจัดการ
ผู้ล่าต้องมี 3 คุณสมบัติ ได้แก่ ปลาท้องถิ่น มีประโยชน์ หาได้ในจำนวนมาก
ท้องถิ่น หมายถึงมีอยู่แล้ว จะไม่ส่งเอเลี่ยนไปกินเอเลี่ยน ไม่งั้นอาจเกิดปัญหาหนักขึ้น ลองศึกษาเรื่องด้วงอ้อยและคางคกยักษ์ในออสเตรเลียคงเข้าใจ
มีประโยชน์ หมายถึงต่อให้ไม่กินปลาหมอหรือกินได้ไม่เยอะ คนก็ยังจับมากินมาขายได้
หาได้เยอะ หมายถึงเราต้องรวบรวมพันธุ์ปลาได้มากพอ ไม่งั้นก็คงได้แต่คิด
นั่นอาจเป็นที่มาของปล่อยปลากะพงกินปลาหมอ เพราะปลากะพงขาวมีคุณสมบัติครบ
อย่างไรก็ตาม เราต้องศึกษาอีกเยอะ เช่น จะกินปลาอื่นไหม กินปลาหมอได้แค่ไหน ไซส์ไหนถึงเหมาะ ถ้ามีปลาหมอแค่นี้ควรปล่อยแค่ไหน ฯลฯ
การปล่อยปลาจึงต้องระมัดระวังผลกระทบข้างเคียง และศึกษาพื้นที่ให้แน่ชัดว่าจะควบคุมได้
สุดท้ายคือการยกเครื่องระบบเพื่อล้อมคอกหลังวัวหาย ซึ่งคงต้องทำต่อไปอย่างจริงจัง
ยังมีอีกหลายวิธี มีหลายผู้เชี่ยวชาญมาช่วยกัน อย่างไรก็ตาม คงต้องยอมรับว่า มาถึงขั้นนี้แล้ว เราต้องหาทางอยู่ร่วมกับปลาหมอคางดำต่อไป และพยายามลดความเสียหายให้มากที่สุดครับ

ข้อมูลปลาหมอคางดำ ThaiPBS
ปลาหมอคางดำ (Blackchin tilapia)
ลักษณะคล้ายปลาหมอเทศโดยเฉพาะในปลาระยะวัยอ่อน เมื่อโตเต็มวัยจะสังเกตได้ชัดขึ้น จัดอยู่ในครอบครัว Cichlidae เช่นเดียวกับปลาหมอเทศ ปลาชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา พบแพร่กระจายอยู่บริเวณชายฝั่งแอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนือ ปัจจุบันมีการนำเข้าพันธุ์ปลาหมอคางดำในหลายประเทศ ทั้งอเมริกา ยุโรป เอเชีย โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีรายงานเข้ามาตั้งแต่ปี 2553 ถือเป็นปลาจำพวกเอเลี่ยนสปีชีส์ที่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำท้องถิ่น

ปลาหมอคางดำส่วนใหญ่พบอาศัยอยู่บริเวณปากน้ำที่เป็นน้ำกร่อย ป่าชายเลน จนถึงบริเวณชายฝั่งทะเล สามารถทนความเค็มได้สูงและทนต่อการเปลี่ยนแปลงความเค็มในวงกว้าง นอกจากนี้ยังพบปลาชนิดนี้ในพื้นที่น้ำจืด แม่น้ำ และทะเลสาบน้ำจืด ในบริเวณที่มีกระแสน้ำไม่ไหลแรง กล่าวคือปลาชนิดนี้สามารถอยู่ได้ในน้ำเกือบทุกประเภท

ปลาชนิดนี้สามารถผสมพันธุ์วางไข่ได้ตลอดทั้งปี โดยกิจกรรมการผสมพันธุ์อาจจะลดลงในช่วงที่มีฝนตกหนัก มีกระแสน้ำแรง และมีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมรวดเร็ว ปลาหมอคางดำสมบูรณ์เพศและวางไข่ได้รวดเร็ว แม่ปลา 1 ตัว สามารถให้ไข่ได้ประมาณ 50 – 300 ฟอง หรือมากกว่าโดยขึ้นกับขนาดของแม่ปลา การฟักไข่ของปลาหมอคางดำใช้เวลาฟักประมาณ 4 – 6 วัน และพ่อปลาจะดูแลลูกปลาโดยการอมไว้ในปากนานประมาณ 2 – 3 สัปดาห์

ปลาหมอคางดำกินทั้งพืช สัตว์ แพลงก์ตอน ลูกปลา ลูกหอยสองฝา รวมถึงซากของสิ่งมีชีวิตเป็นอาหาร นอกจากนี้ปลาหมอคางดำยังชอบกินลูกกุ้งทะเล โดยเฉพาะกุ้งกุลาดำ กุ้งขาวแวนนาไม และกุ้งแชบ๊วย รวมถึงลูกปลาวัยอ่อน ปลาหมอคางดำมีลำไส้ที่ยาวกว่าลำตัวถึง 4 เท่า มีระบบย่อยอาหารที่ดี สามารถย่อยกุ้งได้ภายในระยะเวลาไม่ถึง 30 นาที เป็นสาเหตุว่าทำไมปลาหมอคางดำถึงมีความต้องการอาหารอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับนิสัยค่อนข้างดุร้ายถ้าเทียบกับปลาหมอเทศ

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลงัดเทคโนโลยีทำหมันปลา จัดการ 'หมอคางดำ'

เปิดมาตรการเชิงรุกขจัดปัญหา “ปลาหมอคางดำ” ระยะเร่งด่วน ตั้งเป้า 3 ล้าน กก. หนุนแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ดึงงานวิจัยและนวัตกรรม “ชุดโครโมโซม 4N” ทำหมันปลา

'เฉลิมชัย' เข้มสั่ง ทส. จัดการ 'ปลาหมอคางดำ' ต่อเนื่อง

“เฉลิมชัย” สั่งกำชับ ทส.แก้ปัญหา “ปลาหมอคางดำ”เข้มข้น ย้ำทำมาต่อเนื่อง ให้ประสานประมง-ท้องถิ่น เร่งแผนควบคุม-กำจัด พร้อมติดตามประเมินผลใกล้ชิด

โลกร้อนส่งผล ยอดฟูจิ ไม่มีหิมะ ดร.ธรณ์ ชี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล โพสต์ว่า  มาถึงวันนี้ ฟูจิซังก็ยังไม่มีหิมะ ไม่ใช่แค่ครั้งแรกในรอบ 130 ปี ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ด้วยซ้ำ

ดร.ธรณ์ แจ้งพายุ ‘จ่ามี’ อีสานล่างโดนแล้ว ‘อุบลฯ’ มาแต่เช้า เคลื่อนเข้า ‘โคราช-ขอนแก่น’

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม