'ปทุมวันโมเดล'แก้PM2.5 ต้นแบบพื้นที่มลพิษต่ำ

เวลาที่นึกถึงเขตปทุมวันในกรุงเทพฯ ทีไร ภาพของย่านเศรษฐกิจในกลางเมืองจะปรากฏขึ้นมา ศูนย์การค้าชั้นนำมากมายให้เดินช้อปกันเพลิดเพลิน ตั้งแต่เอ็มบีเคเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ สยามเซ็นเตอร์ สยามพารากอน เซ็นทรัลเวิลด์ เกษรพลาซ่า อัมรินทร์พลาซ่า เซ็นทรัลชิดลม ยังไม่นับรวมร้านค้าอีกหลายพันร้านในสยามสแควร์ เป็นเดสติเนชั่นที่ไม่ว่าคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติต้องแวะเวียนมาไม่ขาดสาย การจราจรในพื้นที่หนาแน่นทุกวัน โดยเฉพาะวันหยุดสุดสัปดาห์รถเข้า-ออกห้างขวักไขว่

แต่อีกมุมหนึ่งเขตปทุมวันเผชิญปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบรุนแรงยิ่งขึ้น เนื่องจากสภาพพื้นที่เต็มไปด้วยตึกสูงเบียดเสียดกันและไอเสียจากรถยนต์ที่เข้ามาในพื้นที่  อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ปัญหาฝุ่นใน กทม. ยังหนักหน่วงท่ามกลางวิกฤตโควิด ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ(คพ.) ยืนยันว่า การคมนาคมขนส่งเป็นตัวการใหญ่ทำให้เกิดฝุ่นพิษ PM2.5

ที่น่ากังวลแม้แต่ในช่วงโควิดที่ภาครัฐออกมาตรการให้ทำงานที่บ้าน ลดการเดินทาง  เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ฝุ่นพิษก็ไม่ได้น้อยลงอย่างที่คิด เพราะจากการรวบรวมข้อมูลค่าฝุ่น เฉพาะในกรุงเทพฯ ประจำปี 2563 ของRocket Media Lab ก็พบว่า ตลอดทั้งปีมีวันที่คนกรุงเทพฯ จะได้อยู่กับวันที่มีคุณภาพอากาศดี ค่าฝุ่นจิ๋วเฉลี่ยทั้งวันต่ำกว่า 50ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เพียง 71 วันเท่านั้น ไม่ถึง 20% หรือเพียง1ใน 5 ของทั้งปี ส่วนช่วงเวลาที่เหลือ ค่าฝุ่นที่สูดดมเข้าไปมีทั้งคุณภาพอากาศปานกลางไปจนถึงคุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบ/มีผลกระทบต่อสุขภาพ  

ส่วนสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 จากการสรุปผลและถอดบทเรียน(After Action Review: AAR ) การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ประจำปี 2564 ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุ กทม.มีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐาน 45 วัน มีข้อจำกัดในการแก้ปัญหาฝุ่นจากสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ ขาดเครื่องมืออุปกรณ์และงบประมาณ ซึ่งฝุ่นที่สูงเกินมาตรฐานเป็นมลพิษอากาศส่งผลให้ผู้คนเจ็บป่วย ทั้งหัวใจ หลอดเลือด ระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง มะเร็ง จากสารพิษที่เกาะมากับฝุ่น

ภายใต้สถานการณ์สุขภาพคนกรุงที่น่าวิตก จึงมีความพยายามขับเคลื่อนสร้างต้นแบบการจัดการมลพิษในเมืองของกรมควบคุมมลพิษ  สำนักงานเขตปทุมวัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และผู้ประกอบการศูนย์การค้าย่านปทุมวันที่สมัครใจกอบกู้วิกฤต ร่วมกันพัฒนาโครงการ”อากาศสะอาดเขตปทุมวัน” หรือ “ปทุมวันโมเดล” เพื่อเป็นแซนด์บ๊อกซ์(Sandbox) ออกแบบการลดมลพิษอากาศสำหรับทดลองทำพื้นที่มลพิษต่ำ (Low Emission Zone –LEZ) ในพื้นที่สยาม เขตปทุมวัน โดยได้แรงบันดาลใจจากแนวคิดที่เคยนำไปใช้ในบางพื้นที่ของกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อปี 2551 แม้ช่วงแรกจะเผชิญอุปวรรค แต่ประสบผลสำเร็จก่อนขยายใช้ทั่วเมืองในทุกวันนี้  

เบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่างถึงปทุมวันโมเดลที่ทดลองดำเนินการว่า โครงการทดลองนี้จะทำตั้งแต่ถนนพระราม 1 จากแยกปทุมวันต่อเนื่องมาบรรจบแยกราชประสงค์ เพื่อสร้างถนนอากาศสะอาด โดยไม่มีการปิดถนน แต่เน้นจำกัดรถยนต์มลพิษสูงให้หลีกเลี่ยงเข้าพื้นที่ โดยทุกฝ่าย ต้องร่วมมือกันจำกัดแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง PM2.5 เช่น ห้างสรรพสินค้ามีมาตรการลดมลพิษจากยานพาหนะที่เข้าห้าง ส่วนเขตปทุมวันมีมาตรการคุมมลพิษทางอากาศในพื้นที่สยาม เพิ่มความถี่ในการล้างและดุดฝุ่นถนน  กรมควบคุมมลพิษตรวจวัดควันดำรถยนต์ดีเซลในพื้นที่สยาม ด้านองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพตรวจวัดควันดำรถยนต์ที่ออกจากอู่ นอกจากนี้ จะช่วยกันขอความร่วมมือให้รถเท่าที่จำเป็นเพื่อลดฝุ่นในพื้นที่ ให้ช่วยกันบำรุงรักษาเครื่องยนต์  และเร่งให้ความรู้ แนะนำวิธีป้องกันสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก ลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน  

“ ตั้งแต่เดือนธันวาคมเข้าฤดูหนาวจนถึงขณะนี้ ปัญหาฝุ่น PM 2.5 กลับมา มีหลายวันที่คนกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าไป แต่คนส่วนหนึ่งไม่สนใจ เพราะกังวลกับสถานการณ์ระบาดโควิด แม้จะสวมหน้ากากอนามัย แต่ก็ไม่ใช่อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพป้องกันฝุ่นPM2.5 เพราะขนาดของฝุ่นเล็กมากรอดพ้นหน้ากากเข้าจมูกได้  เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนกรุงเทพฯ ไม่ใช่ปัญหาเล็ก และเป็น 1 ใน 10 ประเด็นทิศทางสุขภาพคนไทยที่น่าจับตาในปี 2565 นี้ จากรายงาน ThaiHealth Watch 2022 ซึ่งต้องกระตุ้นให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหา เพราะเป็นภัยที่ใกล้ตัวมาก “  เบญจมาภรณ์ 

ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. ระบุว่า เขตปทุมวันเป็นพื้นที่มีรายงานปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กสูง จราจรคับคั่ง  แม้จะไม่ได้ปริมาณสูงเท่าพระราม 2 หนองแขม คลองสามวา ลาดกระบัง และดินแดง ที่จัดอยู่ในโซนพื้นที่เฝ้าระวังและลดผลกระทบฝุ่น PM2.5 อย่างต่อเนื่องในพื้นที่กรุงเทพฯ  แต่ค่าฝุ่นไม่น้อยหน้า สสส.และภาคีเครือข่ายจึงผลักดันการป้องกันและแก้ปัญหาผ่าน”ปทุมวันโมเดล” เน้นการลดมลพิษจากยานพาหนะต่างๆ เป็นหลัก เพื่อสร้างพื้นที่มลพิษต่ำอย่างเป็นรูปธรรม  เพราะแหล่งกำเนิด PM2.5 ในเมืองใหญ่ที่สำคัญคือรถยนต์  โครงการนี้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  อยู่ระหว่างทดลองโครงการ และจะเร่งสรุปผลการลดปลดปล่อยมลพิษในเขตปทุมวัน เพื่อจะได้พิจารณาว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร

เธอยืนยันเรื่องฝุ่นพิษเป็นประเด็นสำคัญทุกภาคส่วน ภาครัฐ และ กทม. จะต้องทำงานอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ใครจะเป็นผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ทิ้งปัญหานี้ไม่ได้  ถ้ามีนโยบายเรื่องลดฝุ่นพิษชัดเจน เชื่อว่า คนกรุงจะให้ความสนใจ นอกจากนี้ ภาคีเครือข่ายอากาศสะอาด จะผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด  ให้สำเร็จเป็นอีกกลไกแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการ

ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 อยู่กับเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ มาหลายปี มีคนเจ็บป่วยเสียชีวิตสังเวยอากาศพิษทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการสะสมสารพิษของฝุ่นจิ๋วในร่างก่าย  เป็นโจทย์ใหญ่ที่ทุกพื้นที่ต้องช่วยกันหาทางแก้ไข ไม่เฉพาะเขตปทุมวัน เพื่อให้คนกรุงฯ สูดอากาศได้เต็มปอด ไม่จมกับฝุ่นพิษซ้ำซากทุกปี

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โรดแมฟ’ย่านปทุมวัน’ เข้มงวดปล่อยก๊าซ

เมื่อนึกถึง “ย่านปทุมวัน” คนกรุงคุ้นเคยกันดี เพราะเป็นศูนย์กลางธุรกิจของกรุงเทพฯ เป็นย่านกิน เที่ยว ช้อปปิ้งยอดฮิต มีศูนย์การค้าชั้นนำ  โรงแรม สถาบันการศึกษาครบครัน พร้อมระบบขนส่งสาธารณะรองรับแสนสะดวกสบาย ย่านนี้คึกคักด้วยผู้คนทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

แซนด์บ็อกซ์..ปทุมวันโมเดล กระตุ้นคนกรุงใส่ใจลดมลพิษ

เป็นปัญหาประจักษ์ชัดว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองเกินมาตรฐานในช่วงต้นปีของทุกปีในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งในพื้นที่จังหวัดต่างๆ