อุทยานแห่งชาติฯพีพี เร่งปิดจุดดำน้ำตื้น-ดำน้ำลึกบางจุด หลังพบปะการังฟอกขาว

14 พ.ค.2567- นายยุทธพงค์ ดำศรีสุข หน.อช.หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี เปิดเผยว่า ตามข้อสั่งการ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช กำชับให้หน่วยงาน อุทยานแห่งชาติทางทะเล ติดตามสถานการณ์ปะการังฟอกขาวอย่างใกล้ชิด พร้อมให้นโยบายดูแลรักษาระบบนิเวศทางทะเลอย่างเข้มข้น สำหรับสาเหตุสำคัญของการเกิดปะการังฟอกขาวนั้น เกิดจากสภาพแวดล้อมน้ำทะเลผิดปกติ อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น เป็นผลกระทบมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ โดยปรากฏการณ์เอลนีโญ เกิดจากสภาวะโลกร้อน ซึ่งส่งผลให้อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น อีกทั้งยังมีปัจจัยจากการกระทำของมนุษย์เข้ามาส่งผลกระทบเพิ่มมากขึ้น เช่น คราบน้ำมันจากเรือโดยสาร สารบางชนิดในครีมกันแดดที่ส่งผลกระทบต่อปะการัง โดยอุณหูมิเฉพาะในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น อุณหภูมิ 30-32 องศา ทำให้ปะการังเริ่มมีสีซีดและเกิดการฟอกขาว ภาวะที่ปะการังมีสีซีดจางลง จนเห็นเป็นสีขาว เป็นผลมาจากการสูญเสียสาหร่ายที่ชื่อว่า ซูแซนเทลลี (Zooxanthellae) ที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อของปะการัง ซึ่งเมื่อใดที่สภาพแวดล้อมในทะเลมีการเปลี่ยนแปลง หรือเกิดสภาวะไม่เหมาะสม สาหร่ายดังกล่าวจะออกจากเนื้อเยื่อของปะการังเพื่อความอยู่รอด ส่งผลให้ปะการังเหลือเพียงเนื้อเยื่อใส เห็นสีขาวของโครงสร้างหินปูนที่อยู่ภายใน และทำให้ปะการังตายในที่สุด

โดยในวันที่ 12 พฤษภาคม เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ได้ดำเนินการลงพื้นที่สำรวจบริเวณที่ได้รับรายงานว่าพบเจอปะการังฟอกขาว ผลปรากฏ ดังนี้

1.บริเวณเกาะแดง อุณหภูมิน้ำทะเล 32 องศาเซลเซียส ที่ระดับความลึก 4 เมตร พบปะการังฟอกขาว 60% มีสีซีด 20 % ชนิดปะการังที่พบการฟอกขาว ได้แก่ 1.ปะการังโขด (Porites sp.) 2. ปะการังวงแหวน (Favia sp.) 3.ปะการังรังผึ้ง (Goniastrea sp.) 4.ปะการังเขากวาง (Acropora sp.)

2.บริเวณเกาะไก่ (อ่าวค้างคาว) อุณหภูมิน้ำทะเล 32 องศาเซลเซียส ที่ระดับความลึก 2 เมตร พบปะการังฟอกขาว 60 % ชนิดปะการังที่พบการฟอกขาว ได้แก่ 1. ปะการังเขากวาง (Acropora sp.)

3.บริเวณเกาะไก่ด้านทิศเหนือ อุณหภูมิน้ำทะเล 32 องศาเซลเซียส ที่ระดับความลึก 2 – 3 เมตร พบปะการังฟอกขาว 70 % ปะการังมีสีซีด 5 % ชนิดปะการังที่พบการฟอกขาว ได้แก่ 1. ปะการังโขด (Porites sp.) 2. ปะการังเขากวาง (Acropora sp.)

4.บริเวณเกาะปอดะด้านทิศเหนือ (หน้ามาตังหมิง) อุณหภูมิน้ำทะเล 32 องศาเซลเซียส ที่ระดับความลึก 2 เมตร พบปะการังฟอกขาว 70 % ปะการังมีสีซีด 10 % ชนิดปะการังที่พบการฟอกขาว ได้แก่ 1. ปะการังโขด (Porites sp.) 2. ปะการังเขากวาง (Acropora sp.)

5.บริเวณเกาะปอดะ (อ่าวปูหยา) อุณหภูมิน้ำทะเล 32 องศาเซลเซียส ที่ระดับความลึก 1 – 2 เมตร พบปะการังฟอกขาว 50 % ปะการังมีสีซีด 5 % ชนิดปะการังที่พบการฟอกขาว ได้แก่ 1. ปะการังโขด (Porites sp.) 2. ปะการังวงแหวน (Favia sp.) 3. ปะการังรังผึ้ง (Goniastrea sp.) 4. ปะการังเขากวาง (Acropora sp.)

ทั้งนี้อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี พิจารณาแล้ว เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อแนวปะการัง รวมถึงลดผลกระทบจากกิจกรรมประเภทต่างๆ ที่อาจเป็นการเร่งให้ปะการังเกิดการฟอกขาว กรณีจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนหรือมีเหตุฉุกเฉินที่จะต้องกระทำการหรืองดเว้นการกระทำใดๆ ในอุทยานแห่งชาติเพื่อรักษาสภาพธรรมชาติ ระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 25 และ 35 (4) แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ขอประกาศปิดแหล่งท่องเที่ยวสำหรับประกอบกิจกรรมดำน้ำตื้น (Snorkeling) และกิจกรรมดำน้ำลึก (Scuba diving) ดังนี้

  1. สำหรับประกอบกิจกรรมดำน้ำตื้น(Snorkeling) ได้แก่ บริเวณเกาะไก่ด้านทิศเหนือ เกาะไก่ ด้านทิศตะวันออก เกาะไก่ด้านทิศตะวันตก (อ่าวค้างคาว) เกาะปอดะทิศเหนือ (หน้ามาตังหมิง) เกาะปอดะ (อ่าวปูหยา) เกาะแดง อ่าวไร่เล (เกาะรังนกหรือเกาะแฮปปี้) เกาะยาวาซัม และแนวปะการังโดยรอบเป็นการชั่วคราว
  2. สำหรับกิจกรรมดำน้ำลึก (Scuba diving) ได้แก่ บริเวณเกาะยาวาซัม และแนวปะการังโดยรอบเป็นการชั่วคราว ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม เป็นต้นไป ไปจนกว่าสถานการณ์การฟอกขาวของปะการังจะคลี่คลายลง ทั้งนี้ยังเปิดให้บริการแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ รวมถึงปฏิบัติงานตามภารกิจของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 7565 6150 และทางเพจ Facebook หรือไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ [email protected] รายละเอียดปรากฎตามแผนที่แนบท้ายประกาศนี้ ตามประกาศอุทยานแห่งชาติฯ ฉบับลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2567

ทั้งนี้เพื่อลดผลกระทบจากการท่องเที่ยวหรือกิจกรรมต่างๆจากมนุษย์ ที่อาจเป็นการเร่งให้ปะการังเกิดการฟอกขาวในพื้นที่ไปมากกว่าเดิม ทั้งยังป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อแนวปะการังในขณะเกิดการฟอกขาว และเป็นการให้ปะการังได้พักฟื้นตัว จนกว่าสถานการณ์การฟอกขาวของปะการังจะคลี่คลายลง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปะการังฟอกขาวระดับหายนะ วิกฤตทะเลเดือด

เมื่อโลกร้อนทะเลเดือด  อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อแนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลไทย ภาพแนวปะการังขาวโพลนที่เกิดขึ้นตามจุดต่างๆ ในทะเล

อุทยานฯสิรินาถ ประกาศปิด 'เกาะปลิง' ภูเก็ต แนวปะการังฟอกขาววิกฤติ

นายวัชระ ส่งสีอ่อน นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการทำหน้าที่ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติสิรินาถลงนาม เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2567 ในประกาศอุทยานแห่งชาติสิรินาถ เรื่อง ปิดการท่องเที่ยวบริเวณเกาะปลิงและแนวปะการังโดยรอบเป็นการชั่วคราว

'ดร.ธรณ์' เฉลย ฝนตกลงมาแล้ว จะช่วย 'ปะการังฟอกขาว' ได้แค่ไหน

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า

'ดร.ธรณ์' เจอด้วยตัวเอง นักท่องเที่ยวเหยียบปะการังที่เกาะกูด แค่ฟอกขาวก็แย่มากแล้ว

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ภาพพร้อมข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กระบุว่า ทราบดีว่าไม่มีใครอยากเหยียบปะการัง แต่คงต้องฝากช่วยดูแลกันให้มาก

ทะเลเดือด! 'ดร.ธรณ์' เปิดภาพ 'ปะการังฟอกขาว' ในอัตราเร็วมาก เพียงแค่ 2 วัน

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat” ระบุว่า