UNEP จับมือจุฬาฯ เสนอทางออก ลดมลพิษพลาสติก

ทุกๆ ปี พลาสติกมากกว่า 400 ล้านตันผลิตขึ้นมาใช้บนโลก ครึ่งหนึ่งของพลาสติกออกแบบให้ใช้ครั้งเดียวทิ้ง จากข้อมูลมีเพียง 10 เปอร์เซ็นเท่านั้นถูกนําไปรีไซเคิลจริง ขยะพลาสติกจำนวนมหาศาลหลุดลอดปนเปื้อนในลําคลองและไหลลงสู่ทะเล  ไม่พูดถึงพลาสติกทับถมในหลุมฝังกลบปลดปล่อยสารพิษเมื่อถูกเผา

มลพิษพลาสติกเป็นภัยคุกคามที่อันตรายที่สุด และยังมีภัยซ่อนเร้นจากไมโครพลาสติกที่ยากจะมองเห็นได้คืบคลานกลับเข้ามาสู่วงจรอาหารของมนุษย์ ปนเปื้อนในสัตว์น้ำที่เรากินหรือแม้แต่นํ้าที่ดื่ม ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การแก้ปัญหาต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

ปีนี้โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาขาติ (UNEP )  ขีดเส้นใต้ความสําคัญกับการแก้ปัญหามลพิษจากพลาสติก ภายใต้แนวคิด “Beat Plastic Pollution” เป็นประเด็นเดียวกับปี 2561 ชี้ให้เห็นว่า มลพิษสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากพลาสติกเป็นปัญหาที่ใหญ่หลวงมาก สอดคล้องกับ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 ของประเทศไทย ล่าสุด มีวงเสวนาแลกเปลี่ยนการแก้ปัญหามลพิษพลาสติกในเชิงระบบผ่านงาน # Beat Plastic Pollution in Thailand  ณ เรือนจุฬานฤมิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโดยโครงการ Chula Zero Waste และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เมื่อวันก่อน

จากรายงาน Turning off The Tap   ระบุโลกจะสามารถชนะมลพิษพลาสติกได้ จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบเพื่อจัดการแก้ไขปัญหาสาเหตุของมลพิษพลาสติก ประกอบด้วยลดการใช้พลาสติกที่มีปัญหามากที่สุดและไม่จำเป็นที่สุดด้วยการใช้การเปลี่ยนแปลงทางการตลาด 3 ประการ คือ นำพลาสติกมาใช้ซ้ำ (รียูส) , แปรใช้ใหม่ (รีไซเคิล) และปรับทิศทางและกระจายทางเลือก และลงมือกระทำ เพื่อจัดการกับทรัพย์สมบัติที่เป็นมลพิษพลาสติก

มาเรีย ฮิวส์  ผู้ช่วย ผจก.โครงการ UNEP ภูมิภาคเอเชีย -แปซิฟิก กล่าวว่า จากรายงานชี้ชัดทางออกการแก้ปัญหามลพิษพลาสติกที่มีในปัจุบันเพียงพอแก้ปัญหา แต่จะต้องขยายการใช้งานมากขึ้น หากปล่อยให้ปัญหามลพิษพลาสติกสะสม ผลกระทบจะต่อเนื่องยาวนาน ส่งผลต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

ด้าน  ทวีชัย เจียรนัยขจร  ผอ.ส่วนลดและใช้ประโยชน์ของเสีย   กรมควบคุมมลพิษ  กล่าวว่า  Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561– 2573 ของไทย มีพลาสติก 7 ประเภทที่พยายามแบนผ่านแผนปฏิบัติการระยะที่ 1 เน้นการแบนและใช้ประโยชน์จากขยะพลาสติก แต่เมื่อเจอโควิด ส่งผลการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้งเพิ่มขึ้น แผนขยะพลาสติกระยะ 2 ได้ถอดบทเรียน พยายามจับกลุ่มการจัดการขยะพลาสติก นำมาสู่ 4 มาตรการ ได้แก่ 1.การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บรรจุภัณฑ์รีไซเคิลได้  พลาสติกแข็งแรงศักยภาพสูงนำไปรีไซเคิล ส่วนพลาสติกอ่อนแอ เช่น พลาสติกปนเปื้อนอาหาร ต้องหาทางออกต่อไป ส่วนพลาสติกที่มีหลายชั้น ร้านรีไซเคิลไม่รับซื้อ ต้องส่งเสริมงานดีไซน์  รวมถึงการร่างกม. PPR   2.มาตรการลดใช้พลาสติก ร่วมกับ สผ. ทำแซนบอกในห้างสรรพสินค้า ร้านกาแฟ ห้ามแจกถุงพลาสติก แต่ยังมีปัญหาในส่วนตลาดนัด  3.พลาสติก ปี 68 จะห้ามนำเข้าเศษพลาสติก ต้องพัฒนาแอปผู้ซื้อ ผู้ขาย และหารือกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจัดระบบการคัดแยกขยะ 4. การจัดการขยะทะเล ทำให้ไทยไม่ติดท้อปเท็นโลกเรื่องขยะทะเล การบ้าน คือ ชุมชนริมชายฝั่งทะเลที่รถเก็บขนเข้าไม่ถึง ต้องหาพาหนะอื่น จุดทิ้ง ลดชุมชนทิ้งขยะลงทะเล รวมถึงหากลไกจัดการเศษอวนนำเข้าสู่ระบบจัดการ  เป้าหมายใหญ่ภายใน 2570 จะลดขยะทะเล 50% 

บทเรียนลดขยะจากรั้วมหาวิทยาลัย ได้นำมาต่อยอดสู่การจัดการขยะพลาสติกในเมืองกรุงเทพฯ และแผนชาติ

ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี  นักวิจัยชำนาญการ สถาบันสภาวะแวดล้อมจุฬา และผู้ริเริ่มโครงการ Chula Zero Waste กล่าวว่า ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามลดขยะพลาสติกในพื้นที่มหาวิทยาลัย เริ่มงดแจกถุง เก็บเงินค่าถุง ที่ร้านสะดวกซื้อ ตั้งแต่ ก.พ.2560  ก่อนขยายไปยังร้านค้าในโรงอาหารและตลาดนัดปี 2562  ส่วนพื้นที่พาณิชย์เป็นการขอความร่วมมือที่ร้านค้า ปิดท้ายรณรงค์งดรับถุงพลาสติก จากการวิจัยพบนิสิตเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การเก็บเงินค่าถุง ช่วยให้นิสิตหันมาใช้ถุงใช้ซ้ำมากขึ้น ควบคู่รณรงค์สร้างความตระหนัก เมื่อเทียบกับช่วงแรก หลังๆ เริ่มคุ้นชิน ทำได้ไม่ยาก และเห็นว่าระดับประเทศก็สามารถผลักดันได้ 

“ เมื่อไม่มีกฎหมายระดับประเทศ หน่วยงานหรือองค์กรต้องออกกฎกติดาเอง กรณีงดแจกถุง เปลี่ยนเป็นเก็บเงิน1-2 บาท ถ้าต้องการ ปัญหาร้านค้านอกมหาวิทยาลัยยังคงแจกฟรีอยู่ การปรับพฤติกรรมไม่สอดคล้องกัน มีการร้องเรียน การบังคับใช้กฎกติกาในมหาวิทยาลัยไม่มีบทลงโทษ  มีแต่ว่ากล่าวตักเตือน   พื้นที่พาณิชย์ของมหาวิทยาลัยเกรงใจผู้เช่าและลูกค้าภายนอกที่ไม่ได้รับการสื่อสารสร้างความตระหนักเท่านิสิตบุคลากร ไม่กล้าออกกฎงดแจกถุง ทำแคมเปญร้านค้าก็ไม่สนใจ     กรณีพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งอื่นๆ เช่น หลอด ช้อนพลาสติก  ขอความร่วมมือไม่ได้ผล  ต้องออกกฎฝั่งร้านค้า  งดแจกหรือขอก่อน ค่อยให้อย่างจริงจัง  ถึงเวลาที่ภาครัฐต้องออกกฎหมายเพื่อลดการผลิตและการใช้ เก็บเงินค่าใช้ดีกว่าแบนห้ามใช้เลย  “ ดร.สุจิตรา สรุปบทเรียน

เวทีนี้นักวิจัยชำนาญการหยิบยกมาตรการในต่างประเทศเป็นกรณีศึกษาว่า ในวันที่ 3 ก.ค.2566 ซุปเปอร์มาร์เก็ตในสิงคโปรต้องคิดเงินค่าถุงพลาสติกหูหิ้วอย่างน้อย 5 เซ็นต์ ประมาณ 1.5 บาท ตามกฎหมาย RSA ฉบับแก้ไข 2023 ซึ่งมี 10 มาตรการ หนึ่งในนั้น คือ  มาตรการงดแจกถุง พัฒนามาจากข้อเสนอของภาคประชาชนและภาคเอกชนที่มาระดมความเห็นในการแก้ปัญหาขยะพลาสติกกับรัฐบาล ส่วนเกาหลีใต้เมื่อรณรงค์เชิงสมัครใจไม่ได้ผล ก็แก้กฎหมายเข้มงวดขึ้น  ห้าง ซุปเปอร์มาร์เก็ต งดใช้ถุงพลาสติก   ร้านกาแฟงดใช้แก้วพลาสติก หากทานในร้าน ฝ่าฝืนโทษปรับสูงสุด 3 ล้านวอน หรือ 5 หมื่นบาท ซึ่งจาก กม.นี้จะเกิดนิวนอร์มัล ไทยเรียนรู้จากเกาหลีใต้ได้ 

“  ถ้ามองมลพิษพลาสติกวิกฤตแล้ว มาตรการเชิงสมัครใจอาจไม่ได้ผล แม้แต่ UNEP ก็เสนอต้องเปลี่ยนแปลงเชิงระบบเพื่อแก้ปัญหาขยะพลาสติกนี้ “ ดร.สุจิตรา ย้ำ

ทุกวันนี้มหาวิทยาลัยมีบทบาทต่อกรกับมลพิษพลาสติก  กอปร ลิ้มสุวรรณ   ผู้จัดการโครงการ chula zero waste กล่าวว่า   จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยกลางใจเมือง มีนักศึกษาและบุคลากร 4 หมื่นคน มี 200 อาคาร  ถือเป็นชุมชนเล็กๆ สร้าง foot print โครงการนี้เน้นลดปริมาณขยะ ใช้ซ้ำก่อนจะไปถึงการคัดแยก รีไซเคิล และสู่บ่อฝังกลบ  ปัจจุบันถุงพลาสติกลดไป 90%    เราส่งเสริมพฤติกรรมการแยก มีระบบจัดเก็บที่ดี มีเครื่องอัดขยะเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อ มีเครื่องหมักขยะอาหาร ใช้กับขยะในโรงอาหารจุฬาและตลาดสามย่าน ส่วนขยะรีไซเคิล มีทั้งขายและใช้เป็นเชื้อเพลิงส่งโรงงาน ตั้งเป้าปี 66 ขยะใช้ประโยชน์ได้มากกว่า 75%  สอดรับกับเมืองยั่งยืน และมีเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ ทำด้วยกัน ไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ ผ่านโครงการ Sunthailand sustainable university network 

ด้าน ผศ.ดร.ประทีป  หลือประเสริฐ รอง ผอ.รร.สาธิต นานาชาติ  สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า การจัดการของเสียใน สจล. เริ่มปี 2563  โดยใช้แนวทางของ chula zero waste เป็นต้นแบบจัดการขยะ ปัจจุบันขยายความร่วมมือกับ N15   ปี 2565  แยกขยะ3 สี เปียก แห้ง ทั่วไป  เริ่มจากงานลอยกระทง จากนั้นเพิ่มจุดทิ้งขยะ แยกขยะ 5 ประเภท และปรับปรุงจุดพักขยะให้เหมาะสม ส่งเสริมการจัดการขยะให้ดีขึ้น รวมทั้งรณรงค์ให้ จนท. นศ. พกแก้วน้ำส่วนตัว ภายในแคมเปญ แก้วเดียว แก้วใจ ลดการใช้แก้วพลาสติก  100 แก้วต่อวัน เริ่มมา 6 เดือน ลดแก้วพลาสติกกว่า 2,000 แก้ว ขยายผลสู่การประชุมไม่บริการขวดน้ำพลาสติก ผู้บริหารต้องพกแก้ว ปี 2566 มีโครงการขยะแลกไข่ ขณะที่ร้านค้าในโรงอาหาร สจล. ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติก เปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ เริ่มเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา 

ผศ.ดร.ประเสิรฐ คันธมานนท์  รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหาร  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีกลยุทธ์ขับเคลื่อนสร้างการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ดึงคนเข้ามามีส่วนร่วม สร้างความตระหนักในหัวใจคน หรือ Green Heart เพื่อเป็นพลังเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน  บ่มเพาะตั้งแต่เข้ารั้วมหาวิทยาลัย และนักศึกษาบุคลากร กลายเป็นผู้นำสร้างสรรค์โครงการสีเขียว ทำกิจกรรมร่วมกับสภานักศึกษา สโมสรนักศึกษา  ปี 2561 เริ่มโครงการ KMUTT one less  ปฏิเสธการใช้ถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ลดใช้ถุงพลาสติกด้วยตัวคุณเอง รณรงค์ในมหาวิทยาลัย ร้านค้า โรงอาหาร ลดใช้พลาสติก มีรางวัลดึงดูดใจ และขยายผลชุมชนรอบมหาวิทยาลัย  ตอนนี้บรรลุเป้าหมาย 96.7% ลดพลาสติก  จากนั้นระดม 20 โรงเรียน 46 ชุมชน ร่วมลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง นักศึกษาและบุคลากร 1.4 หมื่นคน ร่วมกิจกรรม 

พฤติกรรมของทุกคนก่อปัญหามลพิษพลาสติก ถึงเวลาที่ต้องทบทวนกันอีกครั้งว่า  จะใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายหรือจะรับผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมที่ยากจะฟื้นคืนกลับมา

ขอขอบคุณภาพจาก https://www.ecolife.zone/reducing-single-use-plastics

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จุฬาฯ จับมือกรม Climate Change และเครือข่ายพันธมิตรภาคเอกชน เปิดตัวหลักสูตร “TOP Green” หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้าน Sustainability

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หอการค้าไทย และสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ UN Global Compact Network Thailand

โค้งสุดท้ายสู่สนธิสัญญาพลาสติกโลก เป้าหมายที่ไทยควรกำหนดในเวทีโลก

ก่อนหน้าการเจรจาระหว่างรัฐบาลในการจัดทํามาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านมลพิษจากพลาสติก รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางทะเลที่จะมีการประชุมและเจรจาครั้งสุดท้าย (INC-5) เพื่อให้เกิดสนธิสัญญาพลาสติกโลก หรือ “Global Plastic Treaty” ณ เมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี

จุฬาฯ “เปิดแพลตฟอร์ม ฝ่าพิบัติ: Digital War Room” นวัตกรรมเตือนพื้นที่น้ำท่วมและแนวดินถล่มจากอุทกภัย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงานเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 25 เรื่อง “แพลตฟอร์มจุฬาฯ ฝ่าพิบัติ: Digital War Room” เพื่อนำเสนอนวัตกรรมจากคณาจารย์นักวิจัยจุฬาฯ

จุฬาฯ อันดับ 1 มหาวิทยาลัยไทย Top ของประเทศ 3 ด้าน จากการจัดอันดับโดย THE WUR 2025

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของไทย จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกโดย The Times Higher Education World University Rankings 2025 (THE WUR 2025) จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วโลกที่ได้รับการจัดอันดับกว่า 2,000 แห่ง กว่า 115 ประเทศ