การใช้ไม้ฝังรากลึกอยู่ในวัฒนธรรมของชาวสวีเดน ไม่เพียงมีส่วนสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน เป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปิน นักเขียน และช่างฝีมือมากมายตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา เมื่อเร็วๆนี้ สถานเอกอัครราชทูตไทย-สวีเดน ร่วมกับเอสซีจีและพันธมิตร ร่วมผลักดันโมเดลจัดการป่ายั่งยืนระดับโลกจากสวีเดน ประเทศแห่งการส่งออกไม้เศรษฐกิจสูงเป็นอันดับ 3 ของโลกและยังครองตำแหน่งผู้นำด้านสิ่งแวดล้อม
โดยความร่วมมือนี้ เอสซีจีมุ่งหวังให้ภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม นำโมเดลนี้ไปศึกษา เพื่อต่อยอดสร้างความยั่งยืนในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “เวทีความร่วมมือด้านความยั่งยืนไทย-สวีเดน ปี 2566”
ทำไมการจัดการป่าไม้ของสวีเดน จึงกลายเป็นโมเดลระดับโลกในเรื่องการจัดการป่าไม้ คงต้องย้อนไปในอดีต ที่สวีเดนมีปัญหาการเสื่อมโทรมของทรัพยากรป่าไม้เช่นกัน จากการใช้ประโยชน์อย่างหนักทั้งด้านการเกษตร สร้างที่อยู่อาศัย แปรรูปเป็นไม้แผ่น ทำเฟอร์นิเจอร์ และรวมทั้งใช้ในการอุตสาหกรรม กระทั่ง พ.ศ.2446 มีการออกพระราชบัญญัติป่าไม้ ควบคุมและบริหารจัดการป่าอย่างเป็นระบบ ภายใต้หลักการสร้างสมดุลระหว่างคน สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ ส่งผลให้พื้นที่ป่าไม้ของสวีเดนมีขนาดเพิ่มขึ้นจาก 25% เป็น 75% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ครองตำแหน่งผู้ส่งออกไม้จากป่าอันดับ 3 ของโลก
ไม่เพียงความก้าวหน้าในเชิงวิศวกรรมที่สวีเดนเรียนรู้และพัฒนามาอย่างต่อเนื่องกับงานไม้ จากที่เคยติดข้อห้ามก่อสร้างอาคารไม้สูงเกิน 2 ชั้น เมื่อมีการปลดล็อคกฎหมาย เปิดกว้างให้กับการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ไม้เพื่อประโยชน์ในเชิงก่อสร้างและการออกแบบสถาปัตยกรรมอย่างไร้ขีดจำกัด ส่งผลให้มีอาคารขนาดใหญ่ที่สร้างจากไม้เพิ่มมากขึ้น เช่น Ekogen โครงการพัฒนาที่ประกอบด้วยแฟลตให้เช่า 75 ห้อง และยังกำลังพัฒนาเพิ่มอีกรวมกว่า 500 ห้อง นอกจากนี้ ยังมีศูนย์วัฒนธรรม Sara ที่สร้างขึ้นใจกลางกรุง Skelleftea ทางตอนเหนือของสวีเดน มีโรงละคร 2 แห่ง มีศูนย์ศิลปะ ห้องสมุด และพื้นที่สาธารณะเพื่อให้ผู้คนเข้ามาพบปะแลกเปลี่ยนความคิด
ที่เป็นปรากฏการณ์อันน่าทึ่งของงานไม้สวีเดนคือ กังหันลมไม้สูง 30 เมตรทางตอนเหนือนอกเมืองโกเทนเบอร์ก โดยใช้ไม้ลามิเนตติดกาว (CLT) มีความแข็งแรงกว่าเหล็กเมื่อเทียบในน้ำหนักเท่ากัน ในต้นทุนที่ต่ำกว่าเหล็กมาก เป็นต้นแบบของการสร้างกังหันลมในเชิงพาณิชย์ซึ่งจะสูงถึง 110-150 เมตร เนื่องจากไม้มีน้ำหนักเบาจึงสามารถสร้างแยกเป็นชิ้นส่วน ง่ายต่อการขนส่งและติดตั้ง
นายยอน ออสเตริม เกรินดาห์ล เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สวีเดนส่งออกไม้เป็นอันดับที่ 3 ของโลก มูลค่ารวมกว่า 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่ยังสามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่เคยเหลือเพียง 25% เมื่อ 100 ปีก่อน เป็น 75% คือการใช้พระราชบัญญัติป่าไม้ (Forestry Act) ที่ทำให้ตัดไม้แต่ได้ป่า ถ้าตัดต้นไม้หนึ่งต้น ต้องปลูกเพิ่มอย่างน้อยสามต้น นอกจากจะได้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น ระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ช่วยดูดซับคาร์บอน ลดผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ยังช่วยให้คนอยู่ร่วมกับป่า ใช้ประโยชน์จากป่า และมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูป่าไปพร้อมกัน โดยได้ป่าไม้ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชน เช่น ไม้สำหรับการก่อสร้างอาคารสมัยใหม่ ไม้แปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงเศษไม้เหลือใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวล รัฐบาลสวีเดนหวังว่าโมเดลและประสบการณ์ที่นำมาแบ่งปันในวันนี้ จะเกิดความร่วมมือระหว่างสองประเทศเพื่อขยายแนวคิดแห่งความยั่งยืนนี้ต่อไป
Mr. Aaron Kaplan ผู้อำนวยการ Eco-Innovation Foundation (EIF) ในฐานะที่เป็น Facilitator ในการพัฒนาเมืองสีเขียวให้กับเขตต่างๆ ในสวีเดน กล่าวว่า ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมาสวีเดนผ่านการลองผิดลองถูกมามาก และเคยถูกวิจารณ์ว่า สนใจแค่ต้นไม้ไม่กี่สายพันธุ์อย่างต้นสนเท่านั้น จึงเป็นเรื่องท้าทายมาก กับการจะเพิ่มความหลากหลายให้กับป่าในสวีเดน ซึ่งธรรมชาติเป็นป่าสน เพื่อเปลี่ยนเมืองให้เป็นสีเขียว เป็นเมืองนิเวศที่มีการจัดการป่าอย่างยั่งยืน เพื่อให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างสมดุล เพราะคนที่เป็นเจ้าของป่าคือชาวบ้าน ฉะนั้นการจะเปลี่ยนป่าต้องได้รับการยอมรับจากชาวบ้านด้วย
"สำหรับการอนุรักษ์ป่าในแบบสวีเดนโมเดลไม่ได้หมายถึงการห้ามตัด แต่การตัดไม้แต่ละต้นต้องสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด ป่าเป็นเหมือนทุนที่สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้คน เป็นแนวทางการดูแลสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งปัจจุบันรายได้จากป่าไม้ของสวีเดนเทียบเท่า 10% ของจีดีพีของประเทศ ไม่เพียงการแปรรูปไม้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เฟอร์นิเจอร์ เยื่อกระดาษ เชื้อเพลิงชีวภาพ ฯลฯ แม้กระทั่งส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว เช่น เป็นสถานที่ท่องเที่ยวฮันนีมูนกลางป่า การเดินป่า เป็นต้น"Mr.Aaron Kaplan กล่าว
ทางด้าน นิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า สนใจแนวทางการจัดระบบป่าสวีเดน ที่สวนทางกับความเชื่อเดิม ที่มองว่าการอนุรักษ์ป่าคือ ห้ามตัดไม้ เพราะถ้าจะรักษาป่าโดยห้ามตัดต้นไม้ จะทำให้ไม้มีราคาแพงขึ้น ยิ่งเป็นแรงจูงใจให้เกิดการลักลอบตัดไม้ในป่ามากขึ้น ส่วนการบริหารจัดการระบบป่าแบบสวีเดน นอกจากใช้วิธีการปลูกทดแทนแล้ว การตัดต้นไม้แต่ละต้น ต้องให้ใช้ประโยชน์สูงสุด เช่น เศษไม้ที่เหลือจะผสมกาวกลายเอาไปใช้ประโยชน์ได้อีก เรียกว่าใช้ประโยชน์ได้ทุกเม็ด
"ด้วยวิถีความเป็นอยู่ที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติทำให้คนสวีเดนผูกพันกับธรรมชาติและป่าเขา ป่าทั้งหมดเป็นของสาธารณะ ทุกคนเข้าถึงป่าได้ ท่องเที่ยว สร้างบ้านในป่า เก็บผลผลิตจากป่าได้ แต่ต้องกระทำอย่างเหมาะสม"กรรมการผู็จัดการใหญ่ฯให้ความเห็น
นิธิ กล่าวอีกว่า การจัดการป่าแบบสวีเดนมีแง่คิด คือ 1. สวีเดนโมเดลสามารถสร้างความสำเร็จให้กับสวีเดน แต่ไทยต้องนำมาปรับใช้ให้เป็นแบบ"ไทยโมเดล" ตามบริบทของประเทศไทย สอง ต้องร่วมมือกันในทุกภาคส่วน ภาครัฐต้องเป็นผู้นำ แต่จะสำเร็จได้ต้องอาศัยภาคเอกชน ต้องมีความคิดริเริ่ม เรื่องการปลูกป่าอย่างเหมาะสม รวมทั้งภาคประชาสังคม และชาวบ้าน ทุกฝ่ายต้องมีความตระหนักและช่วยกันดูแล สาม ต้องใช้เทคโนโลยี อย่างธุรกิจบรรจุภัณฑ์หรือเอสซีจีพี ที่มีการใช้ไม้ยูคาลิปตัสเป็นวัตถุดิบหลัก ได้นำระบบการบริหารจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน ตามมาตรฐาน Forest Stewardship Council (FSC) มาใช้กับพื้นที่ปลูกป่าเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรมยูคาลิปตัสสายพันธุ์ใหม่ และใช้เทคโนโลยีต่างๆ เช่นโดรนและภาพถ่ายดาวเทียมมาช่วยเพิ่มคุณภาพการปลูก และสี่ ต้องทำอย่างเป็นระบบ ซึ่งเอสซีจีดำเนินโครงการรักษ์ภูผาสู่มหานที ตามแนวทาง ESG 4 Plus ทำตั้งแต่เพิ่มการปลูกป่า ตลอดจนสร้างฝายชะลอน้ำแล้ว 115,000 ฝาย โดยมีเป้าหมายสร้างถึง 150,000 ฝาย เพราะถ้ามีฝาย ก็จะมีแหล่งน้ำบำรุงป่าให้เติบโต โดยมีชาวบ้านช่วยดูแลด้วยทั้งป่าและฝายเพราะอยู่ในพื้นที่
และที่นอกเหนือจากโครงการรักษ์ภูผามหานที แล้ว เอสซีจีได้ดำเนินการที่สอดคล้องกับสวีเดนโมเดล ในส่วนของการดำเนินธุรกิจอย่างใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ บริษัทสยามฟอเรสทรี ซึ่งจัดหาไม้ยูคาลิปตัสเป็นวัตถุดิบผลิตเยื่อกระดาษให้ SCGP ไม้ปริมาณ 30% ซึ่งดำเนินการปลูกและจัดการเองได้ขอรับรองมาตรฐานการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน (FSC-FM) โดยให้ความสำคัญตั้งแต่การพัฒนาแหล่งต้นน้ำ การพัฒนาพันธุ์พืช การยกระดับผลผลิตและคุณภาพของแปลงปลูกอย่างต่อเนื่องโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และ IoT เช่น โดรนบินสำรวจสภาพพื้นที่เพื่อวางแผนและตรวจติดตามคุณภาพ ภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อแจ้งเตือนความผิดปกติของแปลงปลูก เทคโนโลยีการวัดผลผลิต รวมทั้งใช้กล้าไม้ที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ให้เหมาะสมกับพื้นที่ปลูก
นอกจากนี้ ไม้ปริมาณ 70% มีการรับซื้อจากเกษตรกรทั่วประเทศ ซึ่งช่วยทั้งการไปสู่เป้า Net Zero และลดความเหลื่อมล้ำ เพราะชาวบ้านมีรายได้จากการปลูก ตลอดจนมีการ ดูแลป่าไม้ในพื้นที่ทำเหมือง และเอสซีจีมีแผนฟื้นฟูสภาพป่าไม้โดยใช้หลักการคัดเลือกพันธุ์ไม้ท้องถิ่น และพรรณไม้โครงสร้าง ผสมผสานกับเทคโนโลยีวิศวกรรมเหมืองแร่ และจัดทำแผนงานด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อพลิกฟื้นคืนสภาพป่าไม้เสื่อมโทรมให้กลับมาเป็นป่าไม้ที่สมบูรณ์อีกครั้ง และกำลังอยู่ในขั้นตอนศึกษาเพื่อดำเนินโครงการอื่นๆ ในอนาคต
นิธิ ตบท้ายว่า ที่สำคัญคือ การปลูกฝังให้คนรักป่า โดยเฉพาะเด็กๆ ในฐานะที่ เอสซีจีปลูกป่ามานานกว่า 10 ปี ปลูกต้นไม้มามากกว่าหนึ่งล้านต้น ทุกวันนี้เริ่มเห็นแสงสว่าง มีคนไม่น้อยที่ชอบแคมปิ้ง เริ่มมีการเดินเทรลเช่นที่เขาใหญ่ เป็นเรื่องของปลูกฝังให้คนรักป่า เพราะการจะทำให้คนรักป่าได้ ต้องใกล้ชิดป่า แต่ด้านความเข้าใจเราต้องช่วยกัน เพราะในความเป็นจริงป่าอยู่อย่างยั่งยืนได้ และเรามีโอกาสที่จะนำป่ากลับคืนมา มีโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากป่าได้ อย่างสวีเดนใช้ประโยชน์จากป่าปีละหลายพันล้านเหรียญ ขณะที่ป่าก็เติบโตไปด้วย เพียงแต่ทุกคนต้องร่วมมือกัน ไม่ดูดาย
ในโอกาสความร่วมมือนี้ นางอรุณรุ่ง โพธิ์ทอง ฮัมฟรีย์ส เอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม กล่าวว่า ภารกิจสำคัญของสถานเอกอัครราชทูตฯ คือการสานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่ความยั่งยืน โดยเชื่อมโยงความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อหาแนวคิดที่จะช่วยแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนแก่ประเทศไทย ซึ่งการบริหารจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนของสวีเดนที่นำมาเผยแพร่ในวันนี้ เป็นการเชื่อมโยงระหว่างป่าไม้ ชุมชน และเศรษฐกิจ ให้เติบโตไปพร้อมกัน เป็นการสร้างความผูกพันระหว่างป่ากับคน สอดคล้องกับพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เรื่อง “ปลูกต้นไม้ในใจคน” ที่ต้องทำให้คนเข้าใจว่าเราปลูกต้นไม้ทำไม ประโยชน์คืออะไร ถ้าเราสามารถสร้างระบบอุตสาหกรรมและธุรกิจป่าไม้ที่ทำให้คนในชุมชนมีรายได้จากป่า เห็นคุณค่าจากป่า ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะร่วมกันบริหารจัดการป่าอย่างเหมาะสมและยั่งยืน ซึ่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องแนวคิดการบริหารจัดการป่าในวันนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง และเป็นส่วนหนึ่งของสัปดาห์แห่งความยั่งยืนของไทย สวีเดน ปี 2566
ขณะที่ Mr. Aaron กล่าวทิ้งท้ายให้คิดว่า สำหรับคนเมืองต้องไม่ลืมว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับป่าไม้มาจากคนเมืองอย่างเราๆ ยิ่งมีความต้องการมากเท่าไร ยิ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมากเท่านั้น ถ้าต้องการการเปลี่ยนแปลงที่ดีเราต้องมี Mindset ที่ดีเช่นกัน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เอสซีจี โชว์ผลประกอบการ 66 กำไร 2.5 หมื่นล้าน จ่อปันผลอีก 3.5 บาท
เอสซีจี แถลงผลประกอบการปี 2566 ธุรกิจมั่นคง แม้ยอดขายลดลงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เผยแผนเร่งเครื่องธุรกิจปี 2567 สู้ทุกความท้าทาย รุกธุรกิจกรีน มุ่งสร้างการเติบโตพร้อมสังคม Net Zero งบลงทุน 40,000 ล้านบาท ดันนวัตกรรมรักษ์โลก-ลุยพลังงานสะอาด-ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งออกปูนคาร์บอนต่ำสู่ตลาดอเมริกา ปิโตรเคมีเวียดนาม LSP เตรียมป้อนนวัตกรรมเม็ดพลาสติกคุณภาพสูงสู่ตลาดโลก ปักหมุดซาอุฯ เชื่อมต่อการค้าทั่วโลก เดินหน้าทรานส์ฟอร์มโครงสร้างธุรกิจ สร้างความคล่องตัว แข็งแกร่ง เติบโตไกล ล่าสุด คว้าที่หนึ่ง ดัชนี ESG ชั้นนำของโลก Morningstar Sustainalytics
'เอสซีจี'ร่วมยินดี'โปรโม–โปรเม' รับรางวัลการทูตสาธารณะ ปี2566
เอสซีจี ร่วมแสดงความยินดีกับ โปรโม-โมรียา และ โปรเม-เอรียา จุฑานุกาล รับรางวัลการทูตสาธารณะ โดยกระทรวงการต่างประเทศร่วมกับมูลนิธิไทย มอบให้ผู้ทำงานสาธารณประโยชน์ สร้างชื่อเสียงให้ไทยในต่างประเทศ และประสบความสำเร็จในกีฬากอล์ฟระดับโลก เป็นบุคคลต้นแบบสร้างแรงบันดาลใจให้น้องๆ รุ่นถัดไป
มัดรวมไฮไลต์ 2 วันสุดท้าย!! ชวนครอบครัวสายรักษ์โลก มาเรียนรู้ ช้อป ชม ชิม ในงาน SX2023 วันที่ 7-8 ต.ค.2566
รวมกิจกรรมไฮไลต์ 2 วันสุดท้าย! มหกรรมความยั่งยืนใหญ่ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน SUSTAINABILITY EXPO 2023S (SX2023) ที่เชิญชวนทุกคนมา ช้อป ชม ชิม เรียนรู้ สนุกทั้งครอบครัว ประเดิมที่การชมมิตินวัตกรรมบาลานซ์ตัวเราและโลกให้สมดุล ผ่านสื่อ Immersive ในรูปแบบเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง สุดตื่นตา