แผน 10 ปี ลดขัดแย้งคน-ช้าง ดึงกลับป่าใหญ่

กลุ่มป่าตะวันออกเป็นพื้นที่ที่มีสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่ารุนแรงอันดับหนึ่งของประเทศ  แนวโน้มช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์เพิ่มขึ้นทุกปี สร้างผลกระทบต่อชาวบ้าน ช้างป่าบุกกินพืชผลทางการเกษตรเสียหาย พังบ้านเรือน ไม่รวมกรณีทำร้ายชาวบ้านและเจ้าหน้าที่จนเสียชีวิต ความสูญเสียไม่เฉพาะคน แต่มีช้างป่าถูกยิงตาย ถูกไฟช็อตตาย ปรากฎเป็นข่าวอยู่เสมอ สัปดาห์ที่แล้วช้างป่าเขาอ่างฤาไนนอนตายกลางถนน พบร่องรอยไฟช็อต เป็นภาพน่าสลดใจ

จากข้อมูลกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ปัจจุบันมีประชากรช้างป่าในประเทศไทยราว 3,168-3,440 ตัว ในพื้นที่อนุรักษ์ทั้งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ จำนวน 69 แห่ง มีพื้นที่ที่เป็นแหล่งอาศัยของช้างป่าราว 52,000 ตร.กม. ประชากรช้างป่าภาพรวมส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นประมาณ 8 % ต่อปี

รั้วกันช้างป้องกันช้างป่าออกนอกกลุ่มป่าตะวันออก

ปัญหาใหญ่ของการอนุรักษ์และการจัดการช้างป่าในปัจจุบัน ได้แก่  การลดลงของทั้งขนาดและคุณภาพของถิ่นอาศัย และปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์กว่า 41 แห่งทั่วประเทศ ประกอบด้วยพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 25 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 16 แห่ง

ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าที่เกิดขึ้นหนัก กรมอุทยานฯ จัดทำแผนการจัดการช้างป่าระดับกลุ่มป่า พ.ศ. 2563-2572 เป็นแผน 10 ปี  ครอบคลุมทุกพื้นที่การกระจายของช้างป่า โดยมีพื้นที่เร่งด่วน 5 กลุ่มป่าที่ต้องดำเนินการ ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันออก  กลุ่มป่าแก่งกระจาน  กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่  กลุ่มป่าตะวันตก และ กลุ่มป่าภูเขียว-น้าหนาว ซึ่งมีประชากรช้างป่าเกิน 400 ตัว ในพื้นที่

“ กลุ่มป่าตะวันออกรอยต่อ 5 จังหวัด มีพื้นที่ 1.3 ล้านไร่ แต่ช้างเพิ่มขึ้นปีละ 8% ทุกปี ขณะที่ศักยภาพของพื้นที่รองรับช้างได้ 323 ตัว เท่านั้น ปี 64 สำรวจพบ 470 ตัว คาดว่าจะขึ้นถึง 500 ตัวแล้ว เกินศักยภาพพื้นที่ป่าธรรมชาติ ทำให้พบช้างป่าออกนอกพื้นที่เพิ่มมากขึ้น 10 – 20% จากปี 62  2,311 ครั้ง ปี 63 2,512 ครั้ง  ปีนี้มากกว่า  3,024 ครั้ง  และแนวโน้มช้างป่าจะออกมารบกวนประชาชนถี่ขึ้น “ ดร.ศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาการจัดการพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

จนท.ติดตั้งกล้องอัตโนมัติแจ้งเตือนเหตุล่วงหน้าที่เขตอนุรักษ์ป่าเขาอ่างฤาไน

ปัญหาหลักๆ ดร.ศุภกิจ ระบุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ภายในป่า ทั้งแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร และการเพิ่มขึ้นของประชากรช้างมากขึ้น 8.2% ต่อปี และการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ป่าโดยรอบพื้นที่อนุรักษ์เป็นไร่ข้าวโพด  ทุเรียน เงาะ ลำไย  พืชพลังงานสูงเหล่านี้เป็นเหตุให้ช้างป่าบุก สถิติความเสียหายแม้จะลดลงเหลือ 200-300 ครั้ง แต่ยังยอมรับไม่ได้ เพราะมีคนเจ็บและตายบ่อย ซึ่งไม่ควรเกิด

จากการติดตามความก้าวหน้าการจัดการและแก้ไขปัญหาช้างป่ารบกวนประชาชนในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด  ณ เขตรักษาพันธุ์ฯ เขาอ่างฤาไน  จ.ฉะเชิงเทรา  เขตรักษาพันธุ์ฯ เขาสอยดาว จ.จันทบุรี และอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง จ.ระยอง  ภายใต้ “กิจกรรมการแก้ไขปัญหาช้างป่าและสัตว์ป่าที่สร้างผลกระทบต่อราษฎรนอกพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่า” ซึ่งบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานเกี่ยวข้องหลายมิติ

ดร.ศุภกิจ กล่าวว่า ต้องแก้ที่ต้นเหตุด้วยการพัฒนาพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งทำงานร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมปศุสัตว์ เร่งฟื้นฟูป่า พัฒนาแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร ทั้งพืชอาหารช้าง ทุ่งหญ้าอาหารช้าง และโป่ง ให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อดึงช้างป่ากลับสู่ผืนป่าใหญ่ รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐและภาคประชาชน เช่น ปรับปรุงและฟื้นฟูทุ่งหญ้า เนื้อที่ 4,476 ไร่ ในเขตป่าเขาอ่างฤาไน  จัดทำแหล่งน้ำขนาดเล็กและฟื้นฟูบ่อน้ำขนาด 3,000-10,000 ลูกบาศก์เมตร 44 บ่อ  จัดทำแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 7 แห่ง เป้าหมายแล้วเสร็จ ปี 65 พัฒนาแหล่งน้ำบาดาลในเขตเขาอ่างฤาไน 22 จุด  สร้างฝายชะลอน้ำแบบผสมผสานเพิ่มความสมบูรณ์ระบบนิเวศ  87 ฝาย

นอกจากนี้ มีการพัฒนาพื้นที่แนวกันชนที่ปัจจุบันช้างป่าใช้เป็นที่อยู่อาศัยทั้งอยู่ประจำและออกมาหากินเป็นครั้งคราวในช่วงฤดูแล้ง ได้ประสานงานกับกรมป่าไม้และกรมน้ำพัฒนาแหล่งน้ำ แหล่งอาหารสำหรับช้างป่าตามเส้นทางการเคลื่อนตัวของช้าง สร้างจุดพักช้างในป่าชุมชนดึงดูดให้ช้างกลับคืนสู่ป่าใหญ่ การพัฒนาแนวกันชนยังมีรูปแบบรั้วกึ่งถาวรมีความแข็งแรงคงทน จากเดิมจัดทำรั้วไฟฟ้า

รวมทั้งพัฒนาระบบติดตามและเฝ้าระวังช้างป่า เช่น  จัดตั้งป่าชุมชนบ้านหนองเรือ อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว เนื้อที่ 388 ไร่  ตั้งป่าชุมชนบ้านเนินน้อย จ.ฉะเชิงเทรา 36 ไร่ นำร่องส่งเสริมป่าชุมชน จัดทำแปลงปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่างใน จ.ชลบุรี ระยอง จันทบุรี จังหวัดละ 1 หมู่บ้าน เนื้อที่รวม 524 ไร่ สร้างฝายชะลอน้ำและดักตะกอน 8 แห่ง และการจัดทำแปลงพืชอาหารสัตว์ป่าอีก100 ไร่   

จัดทำทุ่งหญ้าเป็นอาหารช้างป่าในอุทยานฯ เขาชะเมา-เขาวง 

ส่วนการพัฒนาพื้นที่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า ผู้อำนวยการคนเดิมให้ข้อมูลว่า ได้ร่วมกับหน่วยงานปกครอง ส่วนท้องถิ่น กรมการพัฒนาชุมชน และภาคเอกชนในการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจให้แก่ชุมชนเรื่อง พฤติกรรมของช้างป่า และการปฏิบัติต่อช้าง การอยู่ร่วมกันกับช้างป่า รวมทั้งสร้างเครือข่ายชุมชนอนุรักษ์ช้างป่า พัฒนาแหล่งน้ำชุมชนแยกจากแหล่งน้ำช้างป่า ส่วนการปรับเปลี่ยนวิถีการเกษตรในทางปฏิบัติยังทำได้ยาก เพราะชาวบ้านยังไม่เห็นผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่าการปลูกพืชแบบเดิม อย่างไรก็ตาม มีการชดเชยเยียวยาที่เหมาะสมกรณีความเสียหายจากช้างป่าบุกทำลาย  

แผนจัดการช้างป่ายังมุ่งเน้นสร้างกลุ่มอาสาสมัครเฝ้าระวัง ป้องกัน และแจ้งเตือนภัยจากช้างป่า ดร.ศุภกิจ กล่าวว่า  ปัจจุบันจัดตั้งเครือข่ายอาสาสมัครเฝ้าระวังช้างป่า 49 เครือข่าย รอบพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด มีเป้าขยายเป็น 90 เครือข่ายต่อไป  รวมถึงตั้งศูนย์เฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Elephant smart early warning system) ณ เขตรักษาพันธุ์ฯ เขาอ่างฤาไน ในป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ติดตั้งกล้องถ่ายภาพอัตโนมัติแบบเรียลไทม์จำนวน 127 จุดเสี่ยง เพื่อกระจายข้อมูลไปยังเครือข่ายเจ้าหน้าที่ และชุมชนต่างๆ โดยรอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ รวมถึงติดอุปกรณ์ปลอกคอกับช้างที่มีพฤติกรรมออกนอกป่า 27 ตัวในกลุ่มป่าตะวันออก ส่งข้อมูลผ่านแอปพลิเคชั่นแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า

“ แผนจัดการช้างป่าระดับกลุ่มป่าต้องสร้างพื้นที่ต้นแบบที่มีกลไกบริหารจัดการช้างอย่างเป็นระบบ จากนั้นขยายผลสู่ป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศ ภายในปี 72  ตั้งเป้าคนกับช้างอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล  ไม่ใช้วิธีการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง ไม่มีการสูญเสียชีวิตทั้งคนและช้างป่า จะสำเร็จตามแผนได้หากบูรณาการทำงานร่วมกันจริงจัง ภาคประชาชนเปิดใจ เข้าใจ และยอมรับปัญหาของการอนุรักษ์ “ ดร.ศุภกิจ สรุปในท้าย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดยุทธศาสตร์'กุยบุรี' ลดขัดแย้งคน-ช้าง

เนื่องในวันช้างไทย ซึ่งตรงกับวันที่ 13 มีนาคมของทุกปี มีการรณรงค์สื่อสารให้คนไทยตระหนักถึงสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงของช้างไทยจากปัญหาผืนป่าที่ถูกทำลายและลดลง ทั้งด้วยปัจจัยทางธรรมชาติและกิจกรรมจากน้ำมือมนุษย์รบกวนถิ่นที่อยู่อาศัยของช้างสัตว์ประจำชาติ

'พัชรวาท' สั่งตั้งศูนย์บัญชาการระดับพื้นที่ แก้ปัญหาช้างป่าบุกพื้นที่ทำกิน

“เกณิกา“เผย ”พล.ต.อ. พัชรวาท ”สั่งตั้งศูนย์บัญชาการระดับพื้นที่ แก้ปัญหาช้างป่าบุกพื้นที่ทำกินแบบยั่งยืน เหยียบย่ำพืชผลเกษตรเสียหาย พร้อมจัด จนท.เฝ้าระวัง

สลด! หนุ่มชะตาขาด เข้าป่าหาเห็ดโคน เจอช้างกระทืบดับร่างแหลก

หน่วยพิทักษ์ป่า หม่องกระแทะ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ได้รับแจ้งจาก นายศรีกาญ จันสะอาด ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 5 บ้านหม่องกระแทะ ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ว่า นายสมศักดิ์ บัวลอย อายุ 56 ปี บ้านเลขที่ 88/325 หมู่ที่ 5 ต.ท่าระหัด อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี

พบช้างป่าตายในสวน จ.ตราด คาดถูกไฟดูด หลังชาวบ้านขึงสายไฟป้องกัน

นายสุเมธ ตะเพียนทอง รักษาการนายอำเภอบ่อไร่ จ.ตราด ได้รับแจ้งจากนายเกษม มั่นคง นายอบต.ช้างทูนว่า มีชาวสวนแจ้งว่ามีช้างนอนตายภายในสวนของนางแฉล้ม ทัศนา หมู่ 4 ต.หนองมาตร ซอยมณีมา ต.ช้างทูน อ.บ่อไร่ จ.ตราด ที่เป็นรอยต่อติดกับหมู่ 4 ต.หนองบอน เมื่อรับแจ้งแล้วนายสุเมธ ตะเพียนทอง

ยังจำกันได้ไหม กรมอุทยานฯ อัปเดต 'น้องขวัญ' ลูกเสือโคร่งของกลาง ตัวโตแล้ว

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยแพร่ภาพเสือโคร่ง อัปเดตการดูแลเสือโคร่ง "ขวัญ ขิง ข้าว โขง" ล่าสุดตัวโตแล้ว ...(ชมคลิปในคอมเมนต์) ยังจำกันได้ไหมเอ๋ย “ลูกเสือโคร่งของกลาง”