ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาค่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในบรรยากาศเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพประชาชน ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ถือเป็นปัญหาซ้ำซากทุกปี โดยเฉพาะ กทม.ติดอันดับโลก เมืองอ่วมมลพิษอากาศ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าความรู้และวิจัยเป็นตัวช่วยสู้มลพิษฝุ่น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ผนึกภาคีเครือข่ายนำวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เป็นเครื่องมือแก้ปัญหา PM 2.5 โดยอยู่ในแผนงานวิจัยในยุทธศาสตร์ที่ 2 การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดย ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. ประกาศ ววน. พุ่งเป้านำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ไว้ชัดเจนในงาน ววน.รวมพลังฝ่าวิกฤตฝุ่นพิษ เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา
ทิศทางแก้ปัญหาฝุ่นอย่างยั่งยืนได้นำเสนออย่างน่าสนใจผ่านการนำงานวิจัยมาใช้ประโยชน์เต็มศักยภาพเพื่อลดฝุ่นปกคลุมเมือง โดย รศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง (CIO) สกสว. วิเคราะห์ 4 ฉากทัศน์การจัดการฝุ่นและมลพิษทางอากาศด้วยการใช้ AI ประมวลผลจากงานวิจัยไทยเกือบ 2 หมื่นชิ้น โดยใช้สถานการณ์ปัจจุบัน ยกกรุงเทพฯ เป็นตัวอย่างแสดงประสิทธิภาพของ 4 มาตรการแก้ PM2.5 ได้แก่ ปกป้องตนเอง เมืองแห่งรถไฟฟ้า อุตสาหกรรมสะอาดขึ้น และใช้กลไกตลาดเสริมอำนาจผู้บริโภค
รศ.ดร.ธนพล กล่าวว่า ในปี 2565 จากการรวบรวมข้อมูลจาก DustBoy เครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก พบว่า จำนวนวันที่ PM 2.5 เกินมาตรฐาน WHO ในหลายเขตของ กทม. สูงกว่า 40–70 วันต่อปี เขตที่เลวร้ายที่สุด คือ เขตดินแดง เกินค่ามาตรฐานเกือบ 250 วัน ค่าฝุ่นสูง ส่งผลให้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรกว่า 4,486 คนต่อปีใน กทม. ความเสียหายต่อเศรษฐกิจ คิดเป็น 4.51 แสนล้านบาทต่อปีในปี 2562
ตัวอย่าง 4 มาตรการหยุดฝุ่น ผู้เชี่ยวชาญระบุหากสามารถทำได้อย่างสมบูรณ์ภายใน 15 ปี เชื่อว่าจะลดวันที่ฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน WHO ใน กทม.ลงได้ 84% ทำให้จำนวนวันที่ฝุ่นเกินค่ามาตรฐานในทุกเขตลดลงเหลือ 2 ถึง 7 วันต่อปี หลายเขตไม่เกินค่ามาตรฐานเลย มีเพียงเขตเดียว คือ ดินแดง ที่อาจจะเกินค่ามาตรฐาน 60 วัน แม้ทำตามมาตรการ อีกทั้งยังลดโอกาสเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ 3,748 คนต่อปีในกทม. และลดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ กทม. ได้ 3.77 แสนล้านต่อปี
“ หลายคนอาจจะบอกใช้เวลา 15 ปี นานจัง แต่ความจริงแล้วไม่นาน แม้แต่ประเทศสหรัฐซึ่งเป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหามลพิษอากาศและการแก้ปัญหาฝุ่น มีกฎหมาย Clean air act เป็นต้นแบบในหลายๆ ประเทศก็ใช้เวลากว่า 10-15 ปี ในการแก้ไขปัญหา โดยเริ่มต้นในปี 2543 พบว่าค่า PM 2.5 ในอากาศสูง หลังจากนั้นก็ลดลงเรื่อยๆ เช่นเดียวกับมลพิษทางอากาศอื่นๆ แม้ว่า GDP จะโตขึ้น การผลิตไม่ลด แต่ว่ามลพิษทางอากาศลดลง เพราะมีหลากหลายมาตรการลดการปลดปล่อยฝุ่น PM2.5 ทั้งที่ปลดปล่อยโดยตรงและปลดปล่อยมลพิษอากาศอื่นๆ ที่ก่อตัวเป็น PM 2.5 ในอากาศ “ รศ.ดร.ธนพล กล่าว
เจาะลึกรายมาตรการ มาตรการที่ 1 เร่งด่วน ปกป้องตนเอง ประชาชนต้องลดการสัมผัส PM 2.5 ในบรรยากาศ โดยการตรวจเช็กค่าฝุ่น โดย อว. มีเครือข่ายเซ็นเซอร์กระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 1,300 จุด สามารถดูในเว็บไซต์ https://pm2.5air.opengovernment.go.th เป็นระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูล PM 2.5 พัฒนาโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และGISTDA อีกทั้งมี คนกทม. ใช้ประโยชน์จาก DUSTBOY 1.5 แสนคนต่อปี ต้องกระตุ้นให้หันมาใช้มากขึ้น เพื่อป้องกันสุขภาพ จะลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ 86 คนต่อปี นอกจากนี้ อว.จะพัฒนาแอปฯ เตือนภัยฝุ่นออกมาช่วงเดือน ก.พ. – มี.ค. นี้
มาตรการที่ 2 เมืองแห่งรถไฟฟ้า การเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้รถยนต์ EV เพื่อลดการปลดปล่อยฝุ่นจากการจราจร สำหรับกรุงเทพมหานครเป็นตัวอย่าง เพราะ 59% ของฝุ่น PM2.5 ใน กทม. มาจากการขนส่งและการจราจร ตามแผนคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติจะเปลี่ยนไปใช้รถ EV 37 % ของรถทั้งหมดในปัจจุบัน ภายใน 14 ปีข้างหน้า หรือ พ.ศ. 2578 จะลดการปลดปล่อยฝุ่น ใน กทม. ได้ 22% ซึ่งจากแบบจำลองจะลดวันที่ฝุ่นPM2.5 เกินค่ามาตรฐานลงได้ 52% รวมจำนวนวันที่ฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน WHO ในทุกเขตประมาณ 538 วัน ลดโอกาสเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ 2,350 คนต่อปีใน กทม. ลดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ กทม. ได้ 2.36 แสนล้านต่อปี ซึ่งงานวิจัย ววน. มีความพร้อมในระดับต้นแบบอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะรถไฟฟ้ารางเบา รถไฟฟ้าระหว่างเมือง รถบรรทุกไฟฟ้า รถจักรยานไฟฟ้า
มาตรการที่ 3 อุตสาหกรรมสะอาดขึ้น 20% ของฝุ่น PM 2.5 ใน กทม. มาจากโรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า ซึ่งจริงๆ แล้วการปลดปล่อยปลายปล่องนั้น มีเทคโนโลยีลดปล่อยได้กว่า 90% ของเทคโนโลยีที่ไทยใช้อยู่ในปัจุบัน ในสหรัฐ พื้นที่ที่มีค่าคุณภาพอากาศไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน จะมีติดตั้งระบบบำบัดมลพิษปลายปล่องที่เข้มงวด เป็นพิเศษ หากไทยนำแนวคิดนี้มาใช้จะสามารถปรับระบบบำบัดมลพิษอากาศจากโรงงานและโรงไฟฟ้าให้ลดการปลดปล่อยลงได้ 75% จะลดการปลดปล่อยฝุ่นพิษได้อีก 15% ของทั้งหมดที่ปล่อยใน กทม. จะลดวันที่ฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน WHO ใน กทม. ลงได้ 17% รวมจำนวนวันที่ฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน WHO ในทุกเขต 944 วัน ลดโอกาสตายก่อนวันอันควรได้ 733 คนต่อปี เป็นเทคโนโลยีที่มีความพร้อมใช้ในต่างประเทศ แค่ต้องนำมาใช้จริงและงานวิจัยในระบบ ววน. ต้องพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ขึ้นมา
สำหรับอุตสาหกรรมสะอาดต้องมองให้ครบทั้งห่วงโซ่อุปทานการผลิต มีหลายงานวิจัยนวัตกรรมของเอกชน เช่น เครื่องจักรขนาดเล็กช่วยตัดใบอ้อยเพื่อลดเผาที่ใช้ใน จ.สิงห์บุรี นวัตกรรมการจัดการเผาเศษวัสดุจากการเกษตรกรรมหรือ FireD (ไฟดี) แอปพลิเคชั่นจองเผาในวันที่สภาพอากาศเหมาะสม ไม่ส่งผลให้ค่าฝุ่นพุ่ง
“ มาตรการนี้ในไทยยังไม่เริ่ม เพราะปลายปล่องทุกโรงงานยังไม่ได้คำนึงถึงพื้นที่ที่คุณภาพอากาศไม่ผ่านค่ามาตรฐาน ซึ่งการปลดปล่อย PM2.5 ต้องปลดปล่อยมากกว่าปกติมาก มาตรการนี้ยังไม่ได้ใช้ เราอนุญาตให้โรงงานผลิต แต่ไม่ได้รวมความสามารถในการรองรับการระบายฝุ่นจากหลายโรงงานอุตสาหกรรม มาตรการนี้ต้องเกิด เพราะเทคโนโลยีมีพร้อม แต่หากไม่มีกฎหมายบังคับหรือกลไกผู้บริโภคผลักดันคงไม่เกิด “ รศ.ดร.ธนพล กล่าว
มาตรการที่ 4 ใช้กลไกตลาดเสริมอำนาจผู้บริโภค ผู้เชี่ยวชาญย้ำสำคัญมาก ผู้ผลิตจะเปลี่ยนการผลิตด้วยเทคโนโลยีสะอาดขึ้น ลดปล่อยฝุ่น คำตอบต้องให้ผู้บริโภคบอกความต้องการใช้สินค้าที่ปลดปล้อย PM2.5 น้อย ปัจจุบันผู้บริโภคไม่สามารถแยกออก สินค้าประเภทเดียวกัน ยี่ห้อใดปลดปล่อยPM2.5 น้อยกว่ากัน ตลอดจนกระบวนการผลิต ลองนึกถึงฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน ปัจจุบันผู้ผลิตทั้งหมดพัฒนาสู่ฉลากเบอร์ 5 หากมีฉลากการปลดปล่อย PM2.5 ผู้บริโภคจะพิจารณาเลือกใช้สินค้าที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตน้อยที่สุด ส่งผลให้ผู้ผลิตปรับเปลี่ยนสู่การผลิตที่สะอาด ซึ่งมีเทคโนโลยีทางเลือกอยู่แล้ว จีนมีการประเมินสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว ในไทยมีวิจัยนำร่องที่ดีของ ม.มหิดล ประเมินการปลดปล่อย PM2.5 จากการจราจรประเภทต่างๆ เทคนิคนี้นำไปใช้กับผลิตภัณฑ์ได้ เพื่อให้ผู้บริโภคเลือกสินค้าสะอาด ทั้ง 4 มาตรการต้องเตรียมการโดยทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม
“ ปัญหาฝุ่นมีมานานแล้ว แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะเรายังไม่ได้จัดการฝุ่นที่แหล่งกำเนิดและใช้เครื่องมือที่ถูกต้องเหมาะกับบริบทแต่ละพื้นที่ชัดเจน วันนี้เราขยับแล้ว แต่ปัญหาใหญ่ต้องใช้เวลา และมีแผนจัดการอย่างเป็นระบบบ อว.เสนอทางเลือกในการจัดการที่ดีกว่าสหรัฐทำเมื่อ 15 ปีที่แล้ว เพราะผลวิจัย นวัตกรรมพัฒนาขึ้น เพียงนำเทคโนโลยีที่ดีขึ้นเข้ามารวมกับงานประจำของภาครัฐ และภาคเอกชนที่มีพันธกิจแก้ปัญหา “ รศ.ดร.ธนพล กล่าว
ด้าน ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม และผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ฝุ่นพิษ PM2.5 เกิดซ้ำซาก เพราะเป็นปัญหาใหญ่มีความซับซ้อน ต้องใช้เวลา เพราะมาจาก 3 แหล่งกำเนิดใหญ่ เฉพาะการเดินทางขนส่ง แค่ในกรุงเทพฯ รถยนต์หลายล้านคัน รถยนต์เก่าที่ปล่อยควันดำ ยังไม่รวมภาคเกษตร และอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในไทยแนวโน้มดีขึ้นจากจำนวนวันที่ฝุ่นเกินค่ามาตรฐานและจุดความร้อนลดลง รวมถึงมีผู้จดทะเบียนใช้รถยนต์อีวีเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว ปัจจุบันทุกภาคส่วนเข้ามาแก้ปัญหามากขึ้น ปีที่แล้วฝนเยอะช่วยให้ปัญหาฝุ่นไม่หนัก แต่ปีนี้จะพิสูจน์งานใดที่ยังทำได้ไม่ดี งานใดที่มองข้ามไป เป็นจุดอ่อน ต้องยกระดับการแก้ไขปัญหา
ในงาน ดร.บัณฑูร นำเสนอความร่วมมือนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ระหว่าง ก.พ.ร.กับ สกสว. แก้ปัญหาฝุ่นควันนำร่อง จ.ลำปางและสิงห์บุรี ส่งผลให้ HotSpot ลดลงร้อยละ 20 เทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปีก่อนหน้า โดยลำปางเกิดจุดความร้อนลดลงจากปี 2564 ร้อยละ 61 และพื้นที่เกิดไฟไหม้ลดลง ร้อยละ 88 ขณะที่สิงห์บุรีปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบในฤดูกาลผลิตลดลงจากปี2564 ร้อยละ 13 สถิติการลอบเผาตอซังข้าวเศษวัสดุเกษตรลดลงร้อยละ 29
สำหรับแนวทางแก้ฝุ่น จ.ลำปาง คัดงานวิจัยเน้นการสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์เปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนลดเผาในพื้นที่ป่า เช่น แพลตฟอร์มสร้างรายได้ป้อนกลับให้กับชุมชนที่ดูแลรักษาป่าผ่านกลไกตอบแทนคุณนิเวศ รวมถึงขยายผลงานวิจัยบริหารจัดการป่าชุมชน เปลี่ยนจากเกษตรเชิงเดี่ยวเป็นเกษตรปราณีต สร้างรายได้และลดผลกระทบในป่า ฯลฯ ขณะที่ จ.สิงห์บุรี คัดงานวิจัยการใช้ประโยชน์และสร้างรายได้จากเศษวัสดุเกษตรต้นเหตุการเผา เช่น แพลตฟอร์มให้เกษตรลงทะเบียนในระบบติดตามลดเผาเพื่อรับประโยชน์จากการจัดการชีวมวล เครื่องจักรขนาดเล็กช่วยตัดสางใบอ้อยลดการเผา แปรรูปเศษชีวมวลเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง และระบบโลจิสติกส์เพื่อจัดการการซื้อขายเศษวัสดุเกษตรเพื่อใช้เป็นชีวมวล ฯลฯ
ก้าวต่อไป รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า จะร่วมมือกับหน่วยงานในระบบ ววน. ก.พ.ร. และ คพ. ดำเนินการต่อเนื่องใน 2 จังหวัด และขยายผลใน จ.เชียงใหม่ ซึ่งต้องการใช้ผลงานวิจัยขับเคลื่อนการดำเนินงานในระดับจังหวัด และเตรียมขยายผลในภาคอีสาน คือ จ.ขอนแก่น ซึ่งมีแนวโน้มค่าฝุ่นสูงขึ้นจากอุตสาหกรรมน้ำตาลที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ สกสว. เสนอแผนการขับเคลื่อนการนำผลงานและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในปีงบฯ 2567 ด้วย