ที่สุดของปาฏิหาริย์! 'ดร.ธรณ์' เฉลย ทำไม ลูกพะยูน เกาะหลัง เต่าตนุ ที่อ่าวดงตาล

31 ม.ค.2566- ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ว่า อ.บอยโชว์ภาพลูกพะยูนกับเต่าตนุที่อ่าวดงตาล ลูกพะยูนว่ายเกาะอยู่บนหลังน่ารักมาก

ธรรมชาติของลูกพะยูน เมื่ออยู่กับแม่ จะลอยตัวเหนือแม่เพราะภัยอันตรายจะมาจากด้านล่าง เช่น ฉลามจู่โจม ศัตรูทางธรรมชาติจากด้านบนไม่มี เพราะไม่มีนกกินพะยูน

การอยู่ด้านบนยังมีแม่คอยหนุนเวลาโผล่หายใจ เป็นพฤติกรรมของลูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในทะเลทั้งหลาย ตั้งแต่เริ่มเกิด

เมื่อเกิดพลัดหลงกับแม่ด้วยสาเหตุต่างๆ ลูกพะยูนจะหาสัตว์ใหญ่ที่ยอมรับตัวเองให้เข้าไปอยู่ด้วย

ปรกติยากมากครับ พะยูนตัวอื่นก็คงไม่เอาด้วย อีกทั้งภาพนี้มาจากอ่าวดงตาล สัตหีบ แม้มีรายงานเรื่องพะยูนเป็นระยะ แต่ไม่ได้มีมากขนาดนั้น

สัตว์ใหญ่ที่โผล่ขึ้นมาหายใจเป็นระยะ คงมีแต่เต่าตัวใหญ่ที่มีอยู่พอสมควร เนื่องจากพื้นที่สัตหีบมีเกาะคราม เกาะแห่งเต่าอันดับหนึ่งของไทย

ลูกพะยูนสับสนในชีวิต กลัวไปหมดทุกอย่าง เมื่อว่ายไปเจอเต่าตนุ จึงขออยู่ด้วย

แม่หนูหายไปไหนก็ไม่รู้ ขอหนูอยู่ด้วยคนได้ไหม ?

ลูกพะยูนคงร้องขอเต่าด้วยเสียงสะอื้น

เต่าใหญ่คงไม่ว่าอะไร อยากอยู่ก็อยู่ไปนะหนูเอ๊ย

จึงกลายเป็นภาพที่เด็ดขาดมาก การพึ่งพาของ 2 ชีวิต

เต่าตนุกินอาหารหลายอย่าง รวมถึงหญ้าทะเล จึงเป็นเรื่องปรกติที่เราพบเต่าอยู่ในแหล่งหญ้า

ในการสำรวจทางอากาศแทบทุกครั้ง เราพบเต่ามากกว่าพะยูน

ลูกพะยูนจึงคอยพึ่งพิงเต่า อาศัยอยู่ในแหล่งหญ้าทะเลที่เป็นอาหารร่วมกัน

ปัญหาสำคัญคือเธอหย่านมหรือยัง กินแต่หญ้าอย่างเดียวจะรอดไหม จะเรียนรู้พฤติกรรมเพื่อดำรงชีวิตจากใคร
โลกนี้โหดร้าย แต่โลกนี้มีปาฏิหาริย์

แค่ลูกพะยูนมาอยู่เต่าได้ แค่นี้ก็เป็นที่สุดของปาฏิหาริย์ ผมยังไม่เคยเห็นที่ไหน

ในทะเลมีความตาย ในทะเลมีน้ำใจ

อวยพรให้ลูกพะยูนอยู่รอดต่อไปให้นานที่สุด รอดจนเติบใหญ่ กลายเป็นเมาคลีแห่งท้องทะเล

เป็นเครื่องเตือนใจเราว่า เมื่อไม่ยอมแพ้ ชีวิตย่อมมีหนทาง

แม่หาย กำพร้า หลงทางกลางทะเล ยังสู้ต่อไป

ความหวังแม้ริบหรี่ยิ่งกว่า 1 ในล้าน ก็ยังคงว่ายน้ำ

ไม่มีคำว่ายอมแพ้อยู่ในความคิดลูกพะยูน จวบจนเจอน้ำใจกลางทะเลอันเวิ้งว้าง

เป็นภาพเด็ดสุดในรอบหลายปีของทะเลไทยเลยครับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ดร.ธรณ์' เตือน โครงการสะพานไปเกาะสมุย กระทบหญ้าทะเล-แนวปะการัง

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat” ระบุว่า

'ดร.ธรณ์' รับกำจัด 'ปลาหมอคางดำ' ไม่หมด ต้องพยายามลดความเสียหายให้มากที่สุด

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า

'ดร.ธรณ์' หวั่น ผลกระทบ 'ปลาหมอคางดำ' ไม่เกิดเฉพาะพื้นที่ แต่จะส่งผลถึงทะเลข้างนอก

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า ในกรณีที่ปลาหมอคางดำลงทะเล ระบบนิเวศที่จะได้รับผลกระทบคือหาดทราย หาดเลน ป่าชายเลน และแหล่งหญ้าทะเล

ดร.ธรณ์ ห่วงสถานการณ์เกาะร้องไห้ ลามขยายวงหลายจังหวัด ‘อ่าวไทย-อันดามัน’

เกาะร้องไห้แบบนี้ไม่ได้มีแห่งเดียว แต่มีเพียบเลย  ภาคตะวันออก เรื่อยไปถึงชุมพร สุราษฎร์ ยาวไปถึงสงขลา เกาะที่อยู่ใกล้ฝั่งเกือบทั้งหมดกำลังร้องไห้ ข้ามไปอันดามัน ตรัง กระบี่ สตูล หลายเกาะชายฝั่งเจอฟอกขาวรุนแรง