'Second Life' ลุยเก็บขยะพลาสติกในทะเลไทย

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ปัจจุบันขยะพลาสติกได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก จากจำนวนขยะพลาสติกกว่า 350 ล้านตันต่อปี พลาสติกที่ได้รับการรีไซเคิลในแต่ละปี มีเพียงบางส่วนเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ โลกจึงเผชิญกับวิกฤตมลพิษพลาสติกในห่วงโซ่อาหาร อันก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ ในช่วงที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคมด้านสิ่งแวดล้อม องค์กรต่าง ๆ จึงตั้งเป้าหมายสู่การใช้พลาสติกใหม่ในธุรกิจเป็นศูนย์ (Plastic Neutrality) เพื่อร่วมแก้ปัญหาระดับโลกที่มีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ องค์กรเพื่อสังคม “Second Life” พร้อมเข้ามาช่วยเหลือธุรกิจและบริษัทต่างๆ ให้จัดการขยะพลาสติกและลดการใช้พลาสติกให้เป็นศูนย์ได้ พร้อมตั้งเป้ารีไซเคิลขยะให้ได้ถึง 50,000 ตันภายในปี 2570

Second Life เป็นกิจการเพื่อสังคมหรือ Social Enterprise ที่ก่อตั้งขึ้นโดย ทริสตอง เลอโคมต์ ผู้ก่อตั้ง Pur Project ร่วมกับมาติลด์และแบร์ทร็อง โตมาส์ สองผู้ก่อตั้งแบรนด์ความงามสัญชาติฝรั่งเศสอย่าง Caudalie  องค์กร Second Life ดำเนินงานด้านการเก็บพลาสติกและรีไซเคิลขยะพลาสติกในทะเล โดยโครงการส่วนใหญ่ดำเนินการอยู่ในทะเลไทย ซึ่งรวมถึง จ. ระนองและ จ. กระบี่ ตลอดจนที่เกาะบาหลีในอินโดนีเซีย  Second Life ช่วยองค์กรบรรจุเป้าหมายการลดขยะพลาสติกเป็นศูนย์ด้วยการเก็บรวบรวมและรีไซเคิลขยะพลาสติกในปริมาณที่เท่ากับจำนวนพลาสติกที่ธุรกิจต้องใช้ ขาย และกำจัด  นอกจากนี้ ธุรกิจต่าง ๆ ยังสามารถซื้อพลาสติกเครดิต ด้วยการเป็นผู้สนับสนุนทุนในการรีไซเคิลขยะพลาสติกที่ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

กวิน (นิก) สุภัทรวณิชย์ ผู้จัดการโปรแกรมของ Second Life กล่าวว่า โปรเจ็กต์เศรษฐกิจหมุนเวียนของเรามีเป้าหมายที่แน่วแน่ชัดเจน คือ เก็บรวบรวม รีไซเคิล และนำขยะพลาสติกที่เกลื่อนโลกกลับมาใช้ใหม่ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ปล่อยมลพิษสู่ทะเลมากสุดแห่งหนึ่งในโลก ชายหาดบางแห่งเต็มไปด้วยขยะมากมาย ทั้งขวดและถุงพลาสติก กล่องนม รองเท้าแตะ แปรงสีฟัน และไฟแช็ค โดยขยะจำนวนมากลอยมาจากทะเล โมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนนี้จะทำการจ้างให้คนหลายร้อยคนไปเก็บขยะและทำการรีไซเคิล ซึ่งสามารถทำเป็นอาชีพหรือสร้างรายได้เสริมให้คนในชุมชน ในตอนนี้เรามีผู้เก็บขยะในโครงการกว่า 150 คน โดยจะนำขยะพลาสติกมูลค่าสูงอย่าง PET ไปรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ส่วนขยะที่ไม่ได้มีมูลค่ามากและรีไซเคิลไม่ได้ จะนำไปย่อยเป็นชิ้นเล็ก ๆ และนำเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel) เพื่อนำไปผลิตไฟฟ้าหรือใช้ในกระบวนการผลิตซีเมนต์

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

จุดเริ่มต้นขององค์กร Second Life เกิดขึ้นเมื่อแบรนด์ความงามฝรั่งเศส Caudalie แสดงความรับผิดชอบต่อพลาสติก 600 ตัน ที่ธุรกิจต้องใช้ในการผลิตสินค้าต่อปี จวบจนปัจจุบัน Second Life ได้เก็บและรีไซเคิลขยะพลาสติกไปแล้วกว่า 2 ล้านกิโลกรัม ในนามของแบรนด์มากมาย อาทิ Caudalie, MARS, Clarins และอื่นๆ เพื่อช่วยแบรนด์เหล่านี้สร้างความยั่งยืนจากการใช้พลาสติกและสนับสนุนโครงการริเริ่มเพื่อสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เช่น โครงการ 100% Plastic Collect ของ Caudalie  เป็นต้น  โดยในปี 2566 องค์กร Second Life มีศักยภาพที่จะเก็บและรีไซเคิลพลาสติกได้ถึง 5,000 – 8,000 ตัน หากได้รับการสนับสนุนจากพาร์ทเนอร์และลูกค้า โดยองค์กรตั้งเป้ารีไซเคิลขยะให้ได้ถึง 50,000 ตันภายในปี 2570

แนวทางในการช่วยแบรนด์บรรลุการใช้พลาสติกเป็นศูนย์ของ Second Life ได้รับความสนใจอย่างมากจากแบรนด์อุปโภคบริโภค เครื่องสำอาง และความงาม ไปจนถึงบริษัทน้ำมันและปิโตรเลียมทั้งในไทยและต่างชาติ ปัจจุบัน พันธมิตรหลักของ Second Life คือ บริษัท มาร์ส เพ็ทแคร์ (ประเทศไทย) จำกัด (MARS) ที่ร่วมกับ Second Life เพื่อเก็บรวบรวมและรีไซเคิลขยะพลาสติกมูลค่าต่ำบนพื้นดิน นอกจากนี้ Second Life ยังได้ร่วมมือกับแอปพลิเคชันของ Swaprecycling.com ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถส่งขยะเหลือทิ้งมูลค่าต่ำ เช่น บรรจุภัณฑ์อาหารที่ทำความสะอาดแล้วและถุงพลาสติก จากทั่วประเทศ เพื่อนำไปรีไซเคิลและรับคะแนนเครดิตได้

DCIM\100GOPRO\GOPR2002.JPG

Second Life พร้อมสนับสนุนบริษัทในการชดเชยการใช้และการผลิตพลาสติกด้วยการให้บริษัทสนับสนุนเงินทุนในซัพพลายเชนของการรีไซเคิลพลาสติกในทะเลผ่านเครือข่ายของ Second Life (ซึ่งเป็นทีมงานในโครงการและชุมชนท้องถิ่น) ในพื้นที่ภาคใต้ของไทย การช่วยเหลือและให้เงินสนับสนุนเหล่านี้จะช่วยขับเคลื่อนการเก็บขยะพลาสติกในทะเลที่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูง ตลอดจนสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการรีไซเคิลพลาสติกให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้บนภาคพื้นดินอีกด้วย

การชดเชยการปล่อยพลาสติกฟุตปริ้นท์ช่วยให้แบรนด์และองค์กรสามารถรับผิดชอบต่อปริมาณพลาสติกที่ผลิตขึ้น  อย่างไรก็ตาม หากแบรนด์ไม่สามารถลดการใช้พลาสติกผ่านการชดเชยปริมาณพลาสติกที่ใช้ได้ ก็สามารถดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนอื่น ๆ พร้อมประชาสัมพันธ์โครงการกับลูกค้าของตนได้ด้วย

โครงการชดเชยการปล่อยพลาสติกฟุตปริ้นท์ในลักษณะนี้อาศัยงบประมาณที่ไม่มากเมื่อเทียบกับการดำเนินงานอื่น ๆ (การเก็บขยะพลาสติก 1 กิโลกรัม จะใช้เงินทุน 20 บาท) โดยสามารถปรับงบประมาณได้ตามฟุตปริ้นท์ที่เกิดขึ้นในแต่ละปีได้

องค์กรจะได้คะแนนเครดิตพลาสติก 1 แต้ม เมื่อมีการเก็บหรือรีไซเคิลพลาสติกครบ 1 ตัน โดย Second Life จะออกหลักฐานภาพถ่าย จากการส่งมอบและผู้เก็บพลาสติกทุกรายก็มีรายชื่ออยู่ในระบบของ Second Life  เครดิตได้รับการรับรองจากผู้ตรวจสอบภายนอก ทั้งปริมาณและกระบวนการดำเนินงานที่เหมาะสม อยู่ภายใต้มาตรฐานการลดขยะพลาสติกของ Verra ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่มีโปรแกรมเครดิตคาร์บอนซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วโลก ตัวอย่างเช่น องค์กรที่มีพลาสติกฟุตปริ้นท์ 600 ตันจะต้องได้รับเครดิต 600 แต้มเพื่อชดเชยการใช้พลาสติกในปีดังกล่าว

ปริมาณพลาสติกและสเกลของการดำเนินงานจะขึ้นอยู่กับพื้นที่ในการดำเนินงาน เช่น บนเกาะลิบง ซึ่งยังไม่มีระบบการจัดการขยะที่ชัดเจน Second Life จึงได้ร่วมมือกับองค์กร อาทิ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เพื่อจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานการจัดการขยะเพื่อรีไซเคิลขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งอย่างกระจัดกระจายอยู่ในชุมชน โดยโปรแกรมดังกล่าวยังได้สร้างรายได้เสริมให้แก่ผู้คนชุมชนอีกด้วย

โครงการชดเชยการใช้ขยะพลาสติก  มีหัวใจสำคัญอยู่ที่การเก็บขยะในพื้นที่ซึ่งมักไม่มีระบบในการจัดการขยะ  Second Life จึงไม่ดำเนินงานในพื้นที่ของเมืองใหญ่หรือร่วมกับโรงแรมห้าดาวซึ่งมีระบบการจัดการขยะที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว แต่จะมุ่งเน้นผืนน้ำทะเลรอบ ๆ เกาะ หรือในชุมชนของเกาะห่างไกลที่เปี่ยมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ยังขาดแคลนระบบการจัดการขยะ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่การทิ้งของเสียสู่ธรรมชาติอาจเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

สนใจติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรีไซเคิลขยะและลดพลาสติกฟุตปริ้นท์ ได้ที่ https://secondlife.earth/

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กลุ่มเยาวชนรักษ์โลก The Youth Fund ผนึก ทช.-เอสซีจี เปิดตัวโครงการใหม่ปกป้องทะเลไทย

กลุ่มเยาวชน The Youth Fund ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) จัดกิจกรรมเปิดตัวโครงการ Marine Saver Mission สานต่อโครงการ Nets up ตอกย้ำความสำคัญของนวัตกรรมและความยั่งยืนในโครงการด้านสิ่งแวดล้อม

'ดร.ธรณ์' เจอด้วยตัวเอง นักท่องเที่ยวเหยียบปะการังที่เกาะกูด แค่ฟอกขาวก็แย่มากแล้ว

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ภาพพร้อมข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กระบุว่า ทราบดีว่าไม่มีใครอยากเหยียบปะการัง แต่คงต้องฝากช่วยดูแลกันให้มาก

เข้าจุดพีค! 'ดร.ธรณ์' หวั่นร้อนจัดแบบนี้อีก7-8 วัน ความตายครั้งใหญ่จะมาเยือนทะเลไทย

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ว่า

ดร.ธรณ์ เปิดภาพปะการังไทยยุคทะเลเดือด บอกทำงานในทะเลเกือบ 40 ปี ไม่เคยเห็น

นี่คือปะการังไทยในยุคทะเลเดือด เป็นปะการังหน้าตาประหลาด ทำงานในทะเลมาเกือบ 40 ปี ผมไม่เคยเห็นแบบนี้มาก่อน จนมาถึงยุคนี้แหละ

UNEP จับมือจุฬาฯ เสนอทางออก ลดมลพิษพลาสติก

ทุกๆ ปี พลาสติกมากกว่า 400 ล้านตันผลิตขึ้นมาใช้บนโลก ครึ่งหนึ่งของพลาสติกออกแบบให้ใช้ครั้งเดียวทิ้ง จากข้อมูลมีเพียง 10 เปอร์เซ็นเท่านั้นถูกนําไปรีไซเคิลจริง