'COP26' โอกาสเหลือน้อย กู้วิกฤตสภาพอากาศ

ภาพ : Getty Image

การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร  ที่เพิ่งผ่านพ้นไป มีการรวมตัวของผู้นำโลกกว่า 120 ประเทศ เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศครั้งสำคัญเพื่อหาแผนลดก๊าซเรือนกระจกให้มากขึ้น  หลังมีความตกลงปารีส (Paris Agreement) ปี 2558 ที่เป้าหมายลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั่วโลกเพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกสูงไม่ต่ำกว่า 1.5 องศา 

ขณะที่โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) ได้เผยแพร่รายงานการแพร่กระจายก๊าซเรือนกระจก (Emissions Gap Report) ประจำปี ออกมาก่อนประชุม COP26 จะเปิดฉากขึ้น  ระบุว่า พันธสัญญาการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบัน ทำให้โลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2.7 องศาเซลเซียสในศตวรรษนี้ 

ก่อนหน้านี้ องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ออกรายงานเมื่อ เดือน ส.ค. ระบุว่า ภาวะโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอาจทะลุ 1.5 องศาเซลเซียสในอีก 20 ปีข้างหน้า เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเกิดสภาพอากาศแปรปรวนทั่วโลก ตั้งแต่การการเกิดไฟป่าไปจนถึงน้ำท่วมรุนแรงในหลายประเทศ  แสดงให้เห็นถึงความน่ากลัวที่จะเกิดขึ้น หากผู้นำโลกไม่ยอมร่วมมือกันแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ซึ่งเวทีCOP26 อาจจะเป็นโอกาสสุดท้าย

 เดิมประชุม COP 26 ต้องจัดปี 63 แต่เลื่อนมาปีนี้ เนื่องจากสถานการณ์โควิด การประชุมมี 4 เป้าหมายหลัก ได้แก่ การผลักดันให้แต่ละประเทศส่งเป้าหมายใหม่เป็นพันธะสัญญาลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่าง สหราชอาณาจักร เสนอแผนลดก๊าซ  68% ภายในปี 2573 และเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ขณะที่เยอรมนีตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2588   อินเดียตั้งเป้าลดปล่อยกระจกเป็นศูนย์ในปี 2613   

ขณะที่ไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุม COP26 ประกาศเจตนารมณ์ไทยพร้อมยกระดับการแก้ปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2593  และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี 2608  

ผู้นำไทยยังเรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมกันดูแลรักษาโลกระบุว่า  “ เราทุกคนไม่มีแผนสองในเรื่องการรักษา เยียวยาสภาพภูมิอากาศ เพราะเราจะไม่มีโลกที่สอง ซึ่งเป็นบ้านของพวกเราเหมือนโลกนี้อีกแล้ว ”

ในเวทีที่ผ่านมาเร่งรัดให้มีการปรับตัวอย่างเร่งด่วนเพื่อปกป้องชุมชน ธรรมชาติและที่อยู่อาศัย ,การขับเคลื่อนการเงินเพื่อบรรลุเป้าหมายการมีส่วนร่วมลดก๊าซที่ประเทศกำหนด และการทำงานแบบร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อให้เป้าหมายร่วมกันในการลดโลกร้อนสำเร็จ

อีกทั้ง COP 26 เกิดพันธะสัญญาใหม่ลดการตัดไม้ทำลายป่าให้น้อยที่สุด นอกจากนี้ มีมากกว่า 100 ประเทศจะลดการปล่อยก๊าซมีเทนลง 30%  และอีก 40 ประเทศลงนามจะใช้พลังงานถ่านหินลดลง ส่วน 450 องค์กรให้คำมั่นสัญญา จะลงทุน 130 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

ผลการเจราจาต่อรองจาก COP 26 มีการคาดหวังว่า จะเป็นหมุดหมายสำคัญกู้วิกฤตโลก แต่ความมุ่งมั่นแต่ละประเทศเพียงพอหรือไม่ที่จะไปสู่เส้นชัย  การประชุม COP 26 บรรลุข้อตกลงที่เป็นความหวังของมนุษยชาติได้จริงหรือไม่ ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง  

ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 20 ของโลก แต่ความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศติดท็อปเท็น ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า  ประเทศไทยมีความเปราะบางและได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศแล้ว โดยเฉพาะภาวะแห้งแล้งที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2563 ตอนนี้เราต้องมีความพยายามมากขึ้นที่จะเน้นความสามารถด้านการฟื้นตัวจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง โดยการนำเรื่องสภาวะความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศใส่ไว้ในวาระการพัฒนาประเทศ และทำงานทั้งในระดับประเทศและมีความร่วมมือกับนานาประเทศและองค์กรต่างๆ พยายามสูงสุดในการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกตามความตกลงปารีสมาโดยตลอด โดยปี 2562 ไทยประสบความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกได้ 17% สูงกว่าที่ตั้งไว้และก่อนเวลาที่กำหนด

“  ไทยมีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 14% ภายในปี 2573  เป็นประเทศแรกๆ ที่จัดส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ ให้สำนักเลขาธิการ UNFCCC และมีความพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2608 “

แนวทางการขับเคลื่อนหลักผ่านการกำหนดนโยบายและกฎหมาย  ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสร้างภาคีเครือข่ายในทุกระดับ  การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ การสนับสนุนการเข้าถึงงบประมาณและกองทุนระหว่างประเทศ รวมถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุน   โดยเฉพาะในภาคขนส่งและภาคพลังงาน จะต้องมีมาตรการเปลี่ยนแปลงสู่พลังงานสะอาด น และสร้างพื้นที่สีเขียวและพื้นที่ธรรมชาติมากขึ้น

รองปลัด ทส. บอกว่า การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องได้รับการมีส่วนร่วมจากทุกระดับ ชัดเจนว่า รัฐบาลไม่สามารถขับเคลื่อนประเทศสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ ภาคประชาชนต้องร่วมมือลักษณะ PPP ในเครือข่ายการดำเนินการสภาวะภูมิอากาศ มีความร่วมมือทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ต้องมีความรู้ความเข้าใจในการดำเนินงาน นอกจากนี้ ต้องสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ รวมทั้งการลดปล่อยคาร์บอน และส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสำคัญมาก ต้องมีการวิจัยและพัฒนาของตัวเอง มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี

ดร.ปิ่นสักก์ยืนยันไทยมีความพยายามแข็งขันในการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ มีการใช้แผนการเงินสำหรับสภาพภูมิอากาศ  เพื่อหาทุนช่วยเหลือการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ ธนาคารแห่งประเทศไทยและสถาบันการเงินต่างๆ ได้พูดคุยเพื่อให้ทุนโครงการจัดการสภาพภูมิอากาศ มีการสร้างระบบนิเวศสำหรับสถาบันทางการเงินเพื่อควบคุมความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการตัดสินใจดำเนินนโยบายต่างๆ มีผลลัพธ์ที่เราต้องบรรลุเป้าหมายให้ได้เมื่อสิ้นสุดเวที COP26 ทั้งการใช้ที่ดิน การปลูกป่า รวมถึงการควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่า Cop 26 ผลจะออกมาเป็นอย่างไร ก็ต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นต่อไป

ขณะที่ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้เขียนรายงานร่วม IPCC  กล่าวในเวทีเสวนาประจำเดือนโดยสำนักข่าว Bangkok Tribune และองค์กรพันธมิตรว่า ทุก 5 ปี จะมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ผ่านรายงาน IPCC ฉบับหลักออกมา ระหว่างทางมีรายงานพิเศษอีกมากมาย ซึ่ง 4 รายงานหลักสำหรับการประชุม Cop26 เป็นข้อมูลสำคัญ เสนอ 4 ทางเลือกลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อสู่เป้าหมาย 1.5 องศา ทุกทางเลือกลดก๊าซเป็นศูนย์ในปี 2623 แต่ต่างกันในรายละเอียด

อย่างทางเลือกที่ 1 ลดการใช้พลังงานถึง 32% ขณะที่ทางเลือก 4 ลดถึง 44% ทุกทางเลือกลดการใช้ถ่านหินโดยเฉลี่ย 80% แล้วไปเสริมสร้างพลังงานหมุนเวียน 60-70% และหนีไม่ได้เลยจะมีการใช้พลังงานนิวเคลียร์กว่า 500 % แสดงว่า โลกจากนี้ไปจะเป็นโลกยุคนิวเคลียร์ก็เป็นไปได้ อีกประเด็นสำคัญของรายงานใช้ผู้เชี่ยวชาญและนักวิทยาศาสตร์กว่า 500 คน โดยได้รับการอนุมัติจาก 199 สมาชิก และถือเป็นสิ่งที่ต้องนำไปใช้  

“ ความร้อน ฝน น้ำท่วม น้ำแล้ง ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น คลื่นความร้อนเพิ่มขึ้น ทั่วโลกได้รับผลกระทบ ฉะนั้น ต้องหยุดยั้งเพื่อปกป้องโลก  ซึ่งมี 3 คำสำคัญ คือ แพร่หลาย รวดเร็ว และกระชับ ที่ผู้นำโลกนำมาคุยกัน หลังจากรายงานออกมา เลขาธิการสหประชาชาติบอกนี่คือ Code Red for humanity ผู้นำทั่วโลกต้องดำเนินการและจริงจังกับการต่อรอง เพราะมีสัญญาณอันตราย “

  สำหรับประเทศไทย รศ.ดร.เสรี บอกจากการทำโมเดลไทยเผชิญทุกอย่างทั้งแล้งรุนแรง น้ำท่วม ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาฝนจะตกมากขึ้น 20-50%  ซึ่งปี 2554  ประเทศไทยเจอน้ำท่วมใหญ่  ปี 2564 ก็เจอน้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่ หรือแม้กระทั่งล่าสุดน้ำท่วมชุมชมริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ถามว่ากรุงเทพฯ และปริมณฑลจะใช้ชีวิตอย่างไร นี่คือ รหัสแดงของไทย

นักวิชาการคนเดิมย้ำเราต้องการความหวังมากใน COP26 แต่ความหวังเหล่านี้มีความท้าทายเหลือเกิน ทั้งลดปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ได้ 45% ในปี 2573 เพื่อจำกัดไม่ให้อุณหภูมิโลกเกิน 1.5 องศา  ขณะที่ประเทศจีนบอกว่าจากนี้ไปอีก 10 ปี จะใช้ถ่านหินให้มากที่สุด ทั้งที่ประเทศจีนจะมีส่วนสำคัญอันดับแรกในการลดโลกร้อน จึงถูกสังคมตั้งคำถามว่า จะบรรลุเป้าหมายได้อย่างไร ล่าสุด ทาง NDP มีรายงานคาดการณ์  8 ปีข้างหน้าจะมีการปล่อยก๊าซเพิ่มขึ้นอีก 7.5%  ทางเดินมันยากมาก  

“ จากรายงาน UNEP 2021 ระบุว่า การจะบรรลุ 1.5 องศาหรือ 2 องศา ข้อเท็จจริงเรามีปริมาณคาร์บอนที่สามารถปล่อยได้หรืองบประมาณคาร์บอน (carbon budget) 400  ถึง  1,100 GtCo2e เท่านั้น  ขณะที่กว่า 150 ปีที่ผ่านมา เราปล่อยคาร์บอนไปแล้วเกือบ 2,400 GtCO2e  ถ้าหารอัตราการปล่อยคาร์บอนเฉลี่ยที่ 45 GtCO2e ต่อปี เรามีเวลาเหลือแค่ 9 ปีเท่านั้น ที่จะต้องทำให้ได้ หลายประเทศจะต้องเพิ่มความทะเยอทะยานในการลดก๊าซเรือนกระจกให้มากขึ้นกว่าปัจจุบัน  ถ้าระยะสั้นทำไม่ได้ เราต้องเตรียมรับสถานการณ์  “ รศ.ดร.เสรี ย้ำเวลาไม่มีมากนัก  

จากการเข้าร่วมประชุมออนไลน์ COP26 รศ.ดร.เสรี บอกว่า มีข้อตกลงดีๆ เกิดขึ้น ยกตัวอย่างนายกฯ สหราชอาณาจักรให้ความสำคัญเรื่องพลังงานสีเขียว จะใช้รถไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี 2030 และมีข่าวดีภายในปีเดียวกันทุกประเทศต้องไม่มีการตัดไม้ทำลายป่า รวมถึงทุกประเทศที่มีอุตสาหกรรมเหล็กต้องใช้เทคโนโลยีลดคาร์บอนภายในปี 2030 รวมถึงยกเลิกถ่านหิน แต่ไม่ได้บอกไทม์ไลน์ ขณะที่มีกลไกระบบการเงิน ตอนนี้เราไม่ต้องการรับฟังสิ่งที่ผู้นำทั้งหลายพูด แต่ต้องการการลงมือทำทันที  ซึ่งต้องติดตามการสรุปผลการประชุมอย่างใกล้ชิดต่อไป   

สาโรช ศรีใส ผู้บริหารโครงการ(ด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ฝ่ายความร่วมมือ คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า ยุโรป 27 ประเทศสมาชิกเอาจริงเรื่องลดปล่อยก๊าซ  แผนอียูก่อนเวทีปารีสจะลด 40%  แต่หลังความมข้อตกลงปารีสจะลด 55 %  ภายในปี 2573 และอีก 20 ปี ข้างหน้าหวังว่า อียูจะเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งจุดประสงค์หลักไม่ใช่มิติทางสิ่งแวดล้อม แต่ทุกภาคส่วนเข้าร่วมอย่างสมดุล จะไปสู่เป้าหมายได้เศรษฐกิจต้องไปคู่กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งอียูออกแผนล่าสุดเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา  Fit for 55 package     เกี่ยวข้องกับภาคไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง รวมถึงการใช้ประโยชน์ที่ดิน และภาคป่าไม้ รวมถึงธุรกิจเหล็กและซีเมนต์ รวมแล้วมี 13 มาตรการลดก๊าซ

 “ ในส่วนทิศทางอียูใน COP26 ส่งสารอยากให้ทั่วโลกตั้งเป้าลดก๊าซเพิ่มขึ้น เพื่อแก้ปัญหาได้รวดเร็วขึ้น  และร่วมกับประเทศพัฒนาเพิ่มการสนับสนุนเงินทุนให้ประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อน และจะมีแรงจูงใจในการลดและไปซื้อขายกับชาติอื่นได้ ไม่เพียงความร่วมมือจาก COP 26 อียูมีแผน Euro Green Deal ที่จะแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศใน 8 ภาคส่วนอย่างยั่งยืน รวมถึงพูดคุยกับประเทศไทยผ่านทางนายวราวุธ ศิลปะอาชา รมว.ทส.ซึ่งจะทำงานร่วมกันต่อเพื่อเข้าถึงเป้าหมาย  “  ผู้แทน EU  กล่าว

เวที COP26 ยังมีกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมหลายกลุ่มเรียกร้องแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศบนพื้นฐานความเป็นธรรม  ดร.กฤษฎา บุญชัย ผู้ประสานงาน Thai Climate Justice for all กล่าวว่า พื้นฐานนี้ไม่ได้เริ่มต้นจากลดหรือปล่อยก๊าซเท่าไหร่ แต่เริ่มจากผลกระทบจากคนตัวเล็กตัวน้อย คนชายขอบ ชาวเล เกษตรกรรายย่อย ที่เผชิญปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในประเทศกำลังพัฒนาจริงๆ แล้วไม่มีเอกภาพ แม้แต่กลุ่ม G77

 ไทยได้รับผลกระทบรุนแรงอันดับ8 ของโลก จนถึงประเทศเก่าทั้งหลายที่เสี่ยงภัยยิ่งกว่าใคร ไปถึงประเทศใหญ่ๆ จีนและอินเดียที่พึ่งพาถ่านหินจำนวนมาก  อยากให้กลับไปสู่หลักสำคัญของข้อตกลงปารีส คือ ความรับผิดชอบบนความแตกต่าง  เพราะมีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น ประเทศกำลังพัฒนาเรียกร้องให้ใส่ใจผลกระทบมากขึ้น ซึ่งเมื่อเทียบกับเรื่องการจัดการการปล่อยยังคุยกันน้อยมาก ยังไม่พูดถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมถึงความยืดหยุ่นในการปรับตัว เพราะหลายประเทศยากจนต้องอาศัยคาร์บอน บางประเทศมองตัวเลือกอีกที่ไม่ใช่คาร์บอน

นอกจากนี้ นักเคลื่อนไหวด้านโลกร้อนชี้ระบบทุนนิยมทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม ประเทศชายขอบต้องผลิตสินค้าป้อนสู่ระบบการผลิตใหญ่ของโลกก่อนกระจายเป็นระบบโลก ไม่ว่าไร่ข้าวโพดภาคเหนือของไทย สวนยางในภาคอีสาน ไปจนถึงแปลงข้าวโพดบราซิล ถูกผลักภาระให้ผลิต ใช้ทรัพยากรในประเทศ แต่ความมั่งคั่งไปสู่ระบบทุนนิยม   ซึ่งควรนำมาพิจารณาความรับผิดชอบ จีนปล่อยก๊าซสูงอันดับ 1แต่ถ้านับต่อหัวแพ้สหรัฐและยุโรป คนเมืองกับคนชนบทปล่อยไม่เท่ากัน มีการเรียกร้องประเด็นความเป็นธรรมต่อหัว

“ ประเทศเกาะ ประเทศเขตร้อนชื้นอย่างไทยเผชิญความผันผวน โลกรวนมากกว่า ในทางภูมิศาสตร์นี่คือ ผลกระทบที่ต่างกัน ไม่นับเรื่องเทคโนโลยี ทุน อำนาจความรู้ อำนาจการเจรจาต่อรองในเวทีโลก ที่ไม่เป็นธรรม แต่ประเทศกำลังพัฒนาเรียกร้องมาตรการไม่ผูกมัด ต้องการความยืดหยุ่น และสนับสนุนด้านเทคโนโลยีในการปรับตัว ทุนเหล่านี้ไม่ค่อยเข้าถึงประชาชน เกิดความเหลื่อมล้ำ  กลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีข้อเรียกร้องให้ลดก๊าซเรือนกระจกอย่างรวดเร็ว อีกคำถามใหญ่ประเทศพัฒนาแล้ว กำลังพัฒนา จะหลุดพ้นจากประเทศฟอสซิลได้จริงมั้ย และโครงการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต้องไม่ใช่การฟอกเขียว เปิดช่องให้ไม่ลดปล่อยก๊าซ แต่กลับไปหาซื้อจากระบบคาร์บอนเครดิต ทำให้เป้าหมายบิดเบือนไป  “ ดร.กฤษฎาย้ำ  และฝากในท้ายว่า โลกมีประชุมโลกร้อนนับแต่ลิโอเดอร์จาเนโรตั้งแต่ปี 2535 เกียวโตโปรโตคอล มาสู่ข้อตกลงปารีส จนมาถึงกลาสโกว์ปีนี้รวม 30 ปีมาแล้ว แต่โลกยังร้อน สะท้อนว่าการจัดการปัญหาสภาพภูมิอากาศล่าช้าเกินไป แต่ยังไม่สิ้นหวัง หากผู้นำทั่วโลกลงมือแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ

ภาพ:Getty Image

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตั้งแล้ว 'กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม' สู้ปัญหาโลกร้อน

รัฐบาลลุยนโยบายลดโลกร้อน ทส.ปรับโครงสร้างหน่วยงานตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมขับเคลื่อนภารกิจ

นายกฯ พร้อมคณะตรวจโควิดผลลบทุกคน ขอบคุณทุกภาคส่วนร่วมมือเปิดประเทศ

นายกฯ พร้อมคณะถึงไทย แพทย์รุดตรวจโควิดผลลบทุกคน ขอบคุณทุกภาคส่วนร่วมมือเปิดประเทศ บอกอยู่เมืองนอกติดตามสถานการณ์ตลอด ยังไม่พบเหตุร้ายแรง ไม่พลาดโอกาสชวนผู้นำตปท.ร่วมมือด้านท่องเที่ยว