คุมมลพิษพื้นที่อุตสาหกรรม ’สงขลา-ราชบุรี’

ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาแนวโน้มจำนวนข้อร้องเรียนจากมลพิษสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากโรงงานอุตสาหกรรมไม่ลดลง  สร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชนรอบโรงงานและความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม พื้นที่ ต.พะดง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และเมืองบ้านโป่ง จ.ราชบุรี เป็นตัวอย่างชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษโรงงาน จำเป็นต้องวางแผนควบคุมมลพิษและหาแนวทางรับมือลดกระทบไม่ให้รุนแรงขึ้น  

จากสถานการณ์ดังกล่าวนำมาสู่ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 16 (สงขลา) ,สำนักสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 8 (ราชบุรี),สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี,สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา,เทศบาลเมืองบ้านโป่ง,เทศบาลตำบลพะตง,เทศบาลตำบลเบิกไพร และเทศบาลตำบลกรับใหญ่ ภายใต้ โครงการท้องถิ่นนำร่องลดมลพิษและสร้างสุขภาวะที่ดีในพื้นที่อุตสาหกรรม เพื่อแก้ปัญหาเชิงรุกในการลดมลพิษด้วยเศรษฐกิจสีเขียว และสร้างพื้นที่ต้นแบบจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีในพื้นที่อุตสาหกรรม จ.สงขลาและ จ.ราชบุรี

ดร.จุฑาทิพย์ มณีพงษ์ ผู้อำนวยการโครงการ กล่าวว่า ทุกวันนี้มีข้อร้องเรียนผลกระทบทางสุขภาพและสุขภาพจากโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น จำนวนโรงงานที่ได้รับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมสีเขียวเพิ่มขึ้นช้า อีกทั้งเมืองที่ได้รับจัดลำดับเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่เชื่อมโยงกับชุมชนมีจำนวนน้อย  นำมาสู่การขับเคลื่อนโครงการ โดยคัดเลือก จ.สงขลาและ จ.ราชบุรี เป็นพื้นที่เป้าหมาย ระยะเวลาดำเนินโครงการ 18 เดือน กิจกรรมเน้นเพิ่มศักยภาพ อปท. ตั้งคลีนิกลดมลพิษ  สร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและชุมชน วางแผน ป้องกัน เฝ้าระวัง จัดทำข้อมูลฐานมลพิษระดับตำบล  ฝึกอบรม เฝ้าระวังเตือนภัยลดมลพิษ รวมถึงสนับสนุนผู้ประกอบการเข้ารับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมสีเขียว และใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนลดมลพิษ ส่งเสริมธุรกิจชุมชน นำขยะจากโรงงานกลับมาใช้ประโยชน์ พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนสร้างรายได้

“ สงขลาเผชิญมลพิษอากาศรุนแรง จากการศึกษาโรงงานอุตสาหกรรม 17 แห่งในพื้นที่ กระบวนการผลิตส่งผลให้มีขี้เถ้าหรือฝุ่นละอองมากถึง 200 ตันต่อวัน นอกจากสร้างมลภาวะอากาศชาวบ้านพบความเสี่ยงทางสุขภาพแล้ว ภาคอุตสาหกรรมมีต้นทุนในการขนส่งขี้เถ้าไปกำจัดนอกพื้นที่ อีกทั้งเสียค่ากำจัดขยะอุตสาหกรรม เป็นความท้าทายในการลดมลพิษและท้องถิ่นจะร่วมสร้างโมเดลธุรกิจขยะอุตสาหกรรมแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างไร นอกจากนี้ มีการติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ รวมถึงโรงเรียน ลดผลกระทบเยาวชนกลุ่มเสี่ยง ส่วนราชบุรีเน้นควบคุมมลพิษทางน้ำจากโรงงานน้ำตาล  ตรวจสอบคุณภาพน้ำ พื้นที่ 3 เทศบาลของราชบุรีเป้าหมายช่วยจัดการคุณภาพน้ำแม่น้ำแม่กลอง  ส่วนวัตถุดิบที่โรงงานน้ำตาลไม่ใช้แล้วนไปใช้เป็นวัตถุดิบทดแทน ลดฝุ่นแบบยั่งยืน “ ดร.จุฑาทิพย์ กล่าว

สำหรับโครงการท้องถิ่นนำร่องฯ ดร.จุฑาทิพย์ ระบุคาดหวังให้ อปท. ชุมชน ภาคอุตสาหกรรม มีความสามารถบริหารจัดการเชิงรุกจัดการสิ่งแวดล้อม ไม่รอให้เกิดปัญหามลพิษแล้วถึงมาแก้ไข  มีการพยากรณ์ วางแผนป้องกัน เตรียมพร้อมรับมือ  ลดความเสี่ยง  เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีในพื้นที่อุตสาหกรรม โครงการได้ทุน สสส. ที่เน้นมองการจัดการในระยะยาว เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของไทย

ด้าน สันติ จันทโณ รองนายกเทศมนตรีตำบลพะตง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กล่าวว่า ตำบลพะตงมีโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ 17 โรง เป็นโรงงานผลิตยางพารา โรงงานผลิตน้ำยางข้น ยางสกิม  โรงงานถุงมือยาง ยางยืด และกาว พบปัญหาการปล่อยน้ำเสียลงคลองอู่ตะเภา  จนทำให้ปลาและสัตว์น้ำต่างๆ ตายเป็นจำนวนมากซึ่งคลองอู่ตะเภาถือเป็นสายเลือดหลักของสงขลาและไหลลงลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาครอบคลุมพื้นที่จ.พัทลุง,นครศรีธรรมราช,ตรังและสตูล

เดิมใช้วิธีการจับปรับดำเนินคดีฟ้องร้องศาล กลุ่มผู้เลี้ยงปลาเรียกร้องค่าเสียหาย แต่ก็แก้ปัญหาน้ำเสียไม่สำเร็จ จึงใช้วิธีหันหน้าเข้าหากันคุยกับภาคอุตสาหกรรมและชวนชาวบ้านป้องกัน เฝ้าระวัง  จัดตั้งเครือข่ายริมคลองอู่ตะเภา จัดทำฐานข้อมูลมลพิษทางน้ำและเก็บตัวอย่างน้ำ เพื่อเตือนภัย ลดมลพิษ ผลดำเนินงาน ส่งผลให้คุณภาพน้ำดีขึ้น

“ นอกจากปัญหามลพิษทางน้ำ ปัจจุบันพบปัญหาคุณภาพอากาศ ทั้งกลิ่น ควัน ฝุ่นละอองจากโรงงาน ซึ่งเครือข่ายอุตสาหกรรมให้ความร่วมมือแก้ปัญหาในพื้นที่ ล่าสุด เทศบาลจัดทำMOU ร่วมกับโรงงานอุตสาหกรรม  ลดค่ามาตรฐานให้ต่ำกว่าเกณฑ์และขอความร่วมมือวันที่สภาพอากาศปิดให้ลดกำลังการผลิต เพื่อลดมลภาวะจากโรงงานอุตสาหกรรมให้น้อยลง ที่กังวลยังมีโรงงานผลิตกาว ซึ่งใช้สารเคมีอันตราย ทั้งฟอร์มาลีน ยูเรีย แม้อยู่คนละเขตแต่มลพิษข้ามมาถึงกันได้ ต้องวางแผน ป้องกัน เฝ้าระวัง ใช้เทคโนโลยีจัดการมลพิษ ทุกวันนี้ยังมีปัญหามลพิษต้องแก้ต่อไป  การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม โรงเรียนอยู่ได้ ชุมชนอยู่ได้   “ สันติ กล่าว

อีกท้องถิ่นนำร่องพื้นที่ จ.ราชบุรี สุวิทย์ ขำยา  รองนายกเทศมนตรีตำบลเบิกไพร อ.บ้านโป่ง  กล่าวว่า ผ่านมาประชาชนรอบโรงงานน้ำตาลได้รับความเดือดร้อนจากฝุ่นละอองและกลิ่นเหม็นจากโรงงานน้ำตาลเป็นจำนวนมาก มีการลงชื่อร้องเรียน อุตสาหกรรมจังหวัดสั่งการแก้ไข นอกจากนี้ มีมลพิษทางเสียงเกินมาตรฐาน อย่างไรก็ตาม ท้องถิ่นขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการจัดการมลพิษ ต้องการให้อุตสาหกรรมจังหวัดและทรัพยากรจังหวัดเร่งฝึกอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจ รวมถึงแนะนำเทศบาลเพื่อแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศและเสียงจากการผลิต เห็นว่า การสร้างมลภาวะที่ดีในพื้นที่อุตสาหกรรมต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จึงร่วมโครงการท้องถิ่นนำร่องลดมลพิษฯ พร้อมจัดทำมาตรการต่างๆ รวมถึงแผนบูรณาการอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ สอดรับกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดเป็นพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ของ จ.ราชบุรี ประกอบด้วยเทศบาลเมืองบ้านโป่ง เทศบาลเมืองท่าผา เทศบาลตำบลเบิกไพร และตำบลปากแรด พัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมให้สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน

ด้าน เบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาสุขภาพและมลพิษทางสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดความเสี่ยงทางสุขภาพในชีวิตทุกช่วงวัย เช่น ปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) การกินอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์-ยาสูบ และการมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ หากทุกคนไม่ตระหนักถึงภัยร้ายที่ทำลายสุขภาพนี้ จะทำคนไทยป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ที่พบอัตราผู้ป่วยและเสียชีวิต เฉลี่ยชั่วโมงละ 37 คน และเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี หากไม่มีแผนรับมือและป้องกันแก้ไขในระยะยาว จะสร้างภาระค่าใช้จ่ายมหาศาลให้ระบบการสาธารณสุขของไทย พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ พร้อมงานเสวนา “ท้องถิ่นนำร่องลดมลพิษและสร้างสุขภาวะที่ดีในพื้นที่อุตสาหกรรม” มีเป้าหมายเพื่อเป็นโครงการท้องถิ่นนำร่อง ลดมลพิษและสร้างสุขภาวะที่ดีในพื้นที่อุตสาหกรรม สร้างพื้นที่ต้นแบบในการบริหารจัดการสังคมสิ่งแวดล้อมที่ดีในพื้นที่อุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา และจังหวัดราชบุรี

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐมนตรี “ศุภมาส” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวสู่ประเทศไทยยั่งยืน เพิ่มรายได้ชุมชน อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า อว. มีนโยบายนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชน

'คำป่าหลายโมเดล' ตีแผ่ 'นโยบายฟอกเขียว' ขยายวงกว้างแย่งยึดที่ดินทำกินชาวบ้าน

ยกขบวนชี้หลุมพรางใหญ่ BCG นโยบายฟอกเขียว – คาร์บอนเครดิต นำไปสู่ปัญหาการแย่งยึดที่ดินในวงกว้าง ผลักประชาชนให้ตกสู่ภาวะความยากจนเรื้อรัง หนุนรัฐบาลให้อำนาจประชาชนในการจัดการทรัพยากร