ถอดโมเดล 10 จังหวัด สู้ภัยโลกร้อน

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สร้างผลกระทบในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทยแตกต่างกัน ส่งผลให้แต่ละจังหวัดมีการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อสู้ภัยโลกร้อนและบรรเทาความเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติจากสภาพอากาศที่แปรปรวนเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมี 10 จังหวัดนำร่องในการบูรณาการเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสู่การจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดภายใต้โครงการดำเนินงานด้านนโยบาย แผนงานความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (TGCP-Policy) ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร, ตาก, ยโสธร,มหาสารคาม, ชลบุรี, จันทบุรี, กาญจนบุรี สุพรรณบุรี, ชุมพร และระนอง โดยมีสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน ( GIZ) เป็นหน่วยดำเนินงานหลักโครงการ TGCP-Policy ซึ่งจัดพิธีมอบโล่เกียรติคุณจังหวัดนำร่องในงาน Glocal Climate Change, Act Locally, Change Globally เมื่อวันก่อนที่สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ กรุงเทพฯ

พิรุณ สัยยะสิทธิพานิช เลขาธิการสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า โครงการTGCP-Policy มีระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2561-2565) วงเงิน 650 ล้านบาท มีการสนับสนุนจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ปี 2593 และเป้าหมายปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2608 รวมถึงยกระดับเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกเป็น 30-40% ภายในปี 2570 พร้อมเสนอแนะเป้าหมายลดก๊าซในภาคส่วนหลัก ทั้งอุตสาหกรรม ของเสีย เกษตรกรรม ป่าไม้ อีกทั้งสนับสนุนพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฉบับแรกของไทย เพื่อยกระดับการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ  รวมถึงขับเคลื่อนประเด็นโลกร้อนไปสู่การปฏิบัติระดับพื้นที่ผ่านการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดอย่างบูรณาการและมีส่วนร่วม ต่อเนื่องจากโครงการ TGCP-Policy ทส.ยังได้รับการสนับสนุนจากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ทำโครงการ Climate,Coastal and Marine Biodiversity ระยะเวลา5 ปี (พ.ศ.2565-2570) วงเงิน 360 ล้านบาท ขยายขอบแขตทำงานเชื่อมโยงกับความหลากหลายชีวภาพทางทะเลและชายฝั่งอีกด้วย เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายของไทย

จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า 10 จังหวัดนำร่องที่บูรณาการประเด็นโลกร้อนมาจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด จะมีการดำเนินงานที่ประสบผลสำเร็จรูปแบบต่างกันตามบริบทพื้นที่ ตนได้ให้นโยบาย สผ. ถอดบทเรียนและวิเคราะห์กุญแจสู่ความสำเร็จของแต่ละจังหวัด เพื่อใช้เป็นโมเดลนำมาขยายผลสู่จังหวัดอื่นๆ ปูพรมไปทั่วประเทศเพื่อพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อยากให้แผนแม่บทอยู่จังหวัด แม้ผู้ว่าฯ เปลี่ยน แต่แผนไม่เปลี่ยน เพื่อแก้ปัญหาไปพร้อมกัน ขณะที่ภาพใหญ่ของประเทศไทยเน้นกักเก็บคาร์บอนผ่านการปลูกป่า และดูดคาร์บอนกลับไปเก็บที่เดิม อีกทั้งแสวงหาความร่วมมือทางเทคโนโลยีและด้านการเงิน

“ รัฐบาลเดินหน้าแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะที่ภาคเอกชนตื่นตัวมากประกาศเป้าหมายลดก๊าซซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย อย่างไรก็ตาม การมีส่วนร่วมของประชาชนสำคัญที่สุด ไม่ต้องเสียเวลาอธิบายปัญหาโลกร้อน แต่ต้องร่วมไม้ร่วมมือกัน ตลอดจนความร่วมมือในระดับพื้นที่ภายใต้โครงการ TGCP-Policy เป็นตัวอย่างผลการพัฒนานโยบายปกป้องสภาพภูมิอากาศของไทย ซึ่ง ทส.จะรายงานความคืบหน้าในเวทีประชุมCOP 27 ที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ด้วย “ ปลัด ทส. กล่าว

 10 จังหวัดเป็นต้นแบบที่ดีในการตั้งรับและปรับตัวสู้โลกร้อน ชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เผยว่า ยโสธรเป็น 1 ใน 10 จังหวัดตามโครงการ”จังหวัดก้าวไกล สู้ภัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “ โดยแผนพัฒนาจังหวัดบูรณาการเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ  เน้นในด้านจัดการน้ำอย่างเป็นระบบบ  โดยเฉพาะพัฒนาแหล่งน้ำ จังหวัดของเรามีพื้นที่เกษตรอินทรีย์กว่า 4 แสนไร่ ทำให้คนสุขภาพดี สิ่งแวดล้อมดี และมีเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนตามนโยบายรัฐบาล รวมถึงเน้นจัดการมูลฝอยชุมชน ลดปริมาณขยะด้วยการคัดแยกขยะ สิ่งเหล่านี้สนับสนุนการรับมือกับภาวะโลกร้อน ซึ่งจะดำเนินงานอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง

 ส่วน เกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าฯ มหาสารคาม กล่าวว่า จังหวัดมหาสารคามมีพื้นที่ 3.3 ล้านไร่ นำจำนวนนี้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม 2.8 ล้านไร่ สภาพภูมิประเทศไม่มีภูเขา เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ป่าน้อยที่สุด ราว 3% ของพื้นที่จังหวัด ไม่มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ ขณะที่ความต้องการน้ำในภาคเกษตรปริมาณมาก โดยเฉพาะการทำนา นำมาสู่การบริหารจัดการน้ำ รวมถึงโครงการปลูกต้นไม้คนละต้น ปี 65 จังหวัดมหาสารคามปลูกต้นไม้ไปแล้ว 1.7 แสนต้น  ปีนี้เชิญชวนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อปท. 6 หมื่นคน ปลูกเพิ่มเพื่อต่อยอดโครงการ  จะช่วยป้องกันน้ำท่วม น้ำแล้ง

 “มหาสารคาม มหานครปลอดการเผา ปี 65 ทำโครงการเก็บเกี่ยวตอซังเพื่อทำฟาร์มอัดก้อนได้ 1.2 ล้านก้อน นำไปขายผู้ประกอบอาชีพปศุสัตว์ นอกจากสร้างรายได้ ยังลดปริมาณตอซัง เกษตรกรปรับมาไถกลบแทนการเผาส่งผลให้ดินสมบูรณ์ ผลผลิตข้าวดีขึ้น ปีที่แล้วมหาสารคามสามารถลดจุดความร้อนจากค่าเฉลี่ย 3 ปี ได้มากกว่าร้อยละ 65 ความสำเร็จนี้เกิดจากความร่วมมือทุกภาคส่วน ซึ่งมีส่วนสนับสนุนเป้าลดก๊าซของประเทศ “ พ่อเมืองมหาสารคามกล่าว

 จ.สุพรรณบุรี เดินหน้าสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ชูชีพ พงษ์ไชย รองผู้ว่าฯ สุพรรณบุรี กล่าวว่าสุพรรณบุรีฯ เป็นเมืองที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวน เผชิญภาวะน้ำท่วมซ้ำซาก จากท่วม 3 เดือนยาวเป็นครึ่งปี โดยเฉพาะพื้นที่บางปลาม้า ถือเป็นพื้นที่รับน้ำ ไม่สามารถระบายน้ำลงอ่าวไทยได้ทันท่วงที และอีกหลายพื้นที่เผชิญกับความไม่มั่นคงด้านอาหาร จังหวัดจึงเห็นสมควรขับเคลื่อนประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้บรรจุในแผนพัฒนาจังหวัด โดยกำหนด 4 ด้าน ได้แก่ ด้านจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ,จัดการน้ำ,ความมั่นคงทางอาหาร และการท่องเที่ยว มีการวางแผนรับมือผลกระทบภายใต้บริบทของพื้นที่ มีการฟื้นฟูป่าที่เหลือร้อยละ 11 หรือราว 3.9 แสนไร่ ให้คงอยู่ เพิ่มพื้นที่สีเขียวในชุมชน ตลอดจนบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพแก้น้ำท่วม

“ สุพรรณบุรีขับเคลื่อนการเกษตรอย่างยั่งยืน ลดใช้สารเคมี รวมถึงสนับสนุนท่องเที่ยวเชิงเกษตร สนับสนุนอปท. บูรณาการการทำงานร่วมกับชุมชนสู่การลดพลังงาน ลดโลกร้อน โดยกำหนดให้เป็นตัวชี้วัดของ อปท. ทั้งยังขอความร่วมมือภาคอุตสาหกรรมลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ใช้พลังงานทดแทน มีแผนผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะหนุนคัดแยกขยะมูลฝอยมาต่อยอดเศรษฐกิจหมุนเวียน  มุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน “ ชูชีพ กล่าว

 ต้นแบบทางภาคตะวันออก ยกให้จันทบุรี สุรพันธ์ ศิลปสุวรรณ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดจันทบุรี บอกว่า จากวิสัยทัศน์จังหวัดเป็นเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน เกษตรปลอดภัย จึงตั้งใจขับเคลื่อนประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้สอดคล้องแผนพัฒนาจังหวัด จีดีพีของจังหวัดเพิ่มขึ้นทุกปี   เกินครึ่งมาจากภาคเกษตร ผลผลิตหลัก คือ ทุเรียนมังคุด เงาะ ซึ่งการทำเกษตรต้องการน้ำ โลกร้อน ทำให้ฝนไม่ตกตามฤดูกาล วิถีชีวิตคนจันทบุรีกระทบ สิ่งแวดล้อมก็เสียหาย กลไกที่ทำขึ้นตามแผน มีเป้าหมายปี 2570 เกษตรกรร้อยละ 60 รับรู้ตระหนักการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึง แปลงเกษตรหรือฟาร์มร้อยละ 80 ต้องผ่านมาตรฐาน GPA ระยะยาวจะขยายพื้นที่เกษตรนอกเขตขลประทานให้ได้รับน้ำมากกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2580 ตลอดจนจะสนับสนุนโครงการต่างๆ เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกต่อไป

ทั้งนี้ สผ.และ GIZ เตรียมจะขยายผล 10 จังหวัดนำร่อง และสนับสนุนองค์ความรู้ เทคนิควิชาการให้กับจังหวัดต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายประเทศและร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่โลกใบนี้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เฉลิมพระเกียรติ ‘ในหลวง‘ ทส.-มท. ลุยแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ภัยแล้ง

‘เกณิกา’ เผย ‘ทส.-มท.’ จับมือเดินหน้าสานต่อ โครงการแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 72 แห่งเฉลิมพระเกียรติ ในหลวง ครบ 6 รอบ 72 พรรษา

ทส.รวมพลังเครือข่ายขับเคลื่อนป่าชุมชนเพื่อชีวิต ด้าน ดร.กอบศักดิ์ ชี้ชุมชนคือคำตอบในการรักษาดูแลป่า

กาฬสินธุ์/ วันที่ 24 พฤษภาคม 2567 ณ โรงแรมริมปาว ตำบลกาฬสินธุ์ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

'ดร.ธรณ์' เฉลย ฝนตกลงมาแล้ว จะช่วย 'ปะการังฟอกขาว' ได้แค่ไหน

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า

ทส. ส่งมอบความสุขวันสงกรานต์ 13-15 เม.ย. ยกเว้นค่าบริการท่องเที่ยวป่านันทนาการ 3 แห่ง

พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายขับเคลื่อนด้านการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศในรูปแบบป่านันทนาการ

'โฆษก ทส.' ซัดกลับก้าวไกล ซักฟอกด้อยค่า 'พัชรวาท' ยันลุยแก้ฝุ่นเต็มที่

'โฆษก ทส.' ป้อง 'พัชรวาท' ลุยแก้ฝุ่นพิษเต็มที่ ซัดกลับ 'ก้าวไกล' อภิปรายใส่ร้าย จ้องโจมตีด้อยค่า ไม่ทำการเมืองสร้างสรรค์