‘พื้นที่สีเขียว’กทม.ตามมาตรฐานโลก ทำได้หรือขายฝัน

กรุงเทพมหานครมีพื้นที่สีเขียวต่ำกว่ามาตรฐานโลก เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยังต้องแก้ไข  ขณะที่นโยบายกรุงเทพสีเขียว ปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น  และนโยบาย“กรุงเทพ 15 นาที” สร้างสวนสาธารณะขนาดเล็กทั่วกรุงเทพให้ประชาชนเดินทางถึงภายใน 15 นาที ที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกาศเดินหน้า  ถือเป็นโจทย์ท้าทายว่าจะทำได้จริงหรือแค่ขายฝัน ไม่รวมแผนชาติเพิ่มพื้นที่สีเขียววางเป้าให้คนกรุงมีพื้นที่เขียวตามมาตรฐานสากล   

ข้อมูลสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ระบุอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรในกรุงเทพมหานคร อยู่ที่ 7 ตารางเมตร/คน หากนับรวมประชากรแฝง คาดว่ามีประมาณ 10 ล้านคน อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรอยู่ที่ 3.54 ตารางเมตร/คนเท่านั้น ถือว่าสภาพไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของ WHO

กรุงเทพฯ เมืองใหญ่จะมีพื้นที่สีเขียวมากกว่านี้ได้มั้ย สะท้อนผ่านเวทีเสวนา Urban forest กรุงเทพฯ จะเขียวกว่านี้ได้อีกมั้ย ? เพื่อหาคำตอบในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคม การขยายตัวของเมืองใหญ่ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมืองและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมเมือง จัดโดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เมื่อวันก่อน  

สุรีย์พร เกิดแก่นแก้ว ผู้อำนวยการกลุ่มงานพื้นที่สีเขียวและนันทนาการ กองสิ่งแวดล้อมชุมชนและพื้นที่เฉพาะ สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า  พื้นที่สีเขียวเป็นพื้นที่ธรรมชาติหรือกึ่งธรรมชาติที่มนุษย์สร้างขึ้น แต่ถ้าไม่มีพืชพันธุ์เป็นองค์ประกอบหลัก ก็ไม่นับ อีกทั้งส่งผลประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม ประชาชน และเมืองด้วย พื้นที่สีเขียวต้องมีไม้ยืนต้น จำนวน 16 ต้นต่อไร่  ส่วนพืชพันธุ์ต้องมีชนิดและปริมาณที่เหมาะสม ถึงจะเป็นพื้นที่สีเขียวยั่งยืน

สผ.จัดแบ่งพื้นที่สีเขียวเป็น 6 ประเภท ตามคุณลักษณะและการใช้ประโยชน์ เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการที่เหมาะสม  ประกอบด้วย 1.สวนสาธารณะ สวนสุขภาพ สวนหย่อม ที่คนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ 2.พื้นที่สีเขียวอัตถประโยชน์ เป็นพื้นที่สีเขียวส่วนบุคคล สถาบันการศึกษา หน่วยราชการ ศาสนสถาน 3.พื้นที่สีเขียว ที่อยู่ในรูปสาธารณูปการ เช่น พื้นที่สีเขียวรอบระบบบำบัดน้ำเสีย พื้นที่สีเขียวริมน้ำ ริมถนน ลักษณะแนวยาว 4.พื้นที่สีเขียวเศรษฐกิจชุมชน เช่น พื้นที่เกษตรกรรม 5.พื้นที่สีเขียวธรรมชาติ เช่น ป่า พื้นที่ชุ่มน้ำ และ 6.พื้นที่สีเขียวที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือที่เรียกกันว่า “พื้นที่รกร้าง”

“ พื้นที่รกร้างถือว่ามีความสำคัญ สามารถเปลี่ยนสภาพเป็นพื้นที่สีเขียวประเภท 1 ประเภท 2 หรือประเภทที่ 4 ก็ได้ หากมีการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและยั่งยืนอาจจะเปลี่ยนไปสู่พื้นที่สีเขียวธรรมชาติ ประเภทที่ 5 ก็ได้  “ สุรีย์พร กล่าว

สำหรับแนวทางการจัดการพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืนระยะยาว 20 ปีของ สผ.  จัดทำขึ้นให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการไปสู่เป้าหมาย ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์สากล แผนระยะสั้น ปี 61- 65 วางเป้า 5 ปีแรก มีพื้นที่สีเขียว 5 ตรม.ต่อคน แต่ระยะ 20 ปี จะไปให้ถึง 15 ตร.ม.ต่อคน   การขับเคลื่อนพื้นที่สีเขียวต้องร่วมมือกันเป็นเครือข่าย เช่น we!park , Big Trees ส่วนระยะที่ 2 ของแผนเริ่มปี 2566-2570

แนวทางเพิ่มพื้นที่สีเขียว ผอ.คนเดิม ระบุว่า สผ. ทำงานแบบมีส่วนร่วม ตั้งแต่จัดหา เสาะหาพื้นที่ ออกแบบ บริหารจัดการ ปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่สีเขียว ตลอดจนเผยแพร่พื้นที่สีเขียวต้นแบบ อีกทั้งเชื่อมโยงข้อมูล BIG DATA เพื่อบริหารจัดการเพิ่มพื้นที่สีเขียว  

“ กรุงเทพฯ มีตัวอย่างสำคัญ คือ สวนป่าเบญกิติ ระยะ 2-3 ซึ่งเปลี่ยนที่รกร้างเป็นสวนป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่ใช่สวนสาธารณะ  แต่เป็นพื้นที่สีเขียวรองรับเมือง รองรับประชาชนด้านความมั่นคงทางอาหาร รองรับภัยพิบัติรับน้ำกรณีน้ำท่วม   แล้วยังมีเทศบาลนครพิษณุโลกนำร่องเปลี่ยนพื้นที่รกร้างริมทางเป็นพื้นที่สีเขียวที่มีความมั่นคงทางอาหาร เทศบาลนครหาดใหญ่เปลี่ยนพื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่สีเขียวเกษตรกรรม  ส่วนเทศบาลเมืองพนัสนิคมได้ร่วมออกแบบคลองเป็นพื้นที่สีเขียว ขณะเดียวกันเป็นพื้นที่รับน้ำหลาก นำมาซึ่งระบบนิเวศเมือง “ สุรีย์พร กล่าว   

ในทัศนะ ยศพล บุญสม ผู้บริหารบริษัท ฉมา จำกัด และผู้ร่วมก่อตั้ง we!park กล่าวว่า  กทม.มีประชากร 6 ล้านคน รวมประชากรแฝงแล้วมากกว่า 10 ล้านคน  กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวต่ำกว่ามาตรฐาน อาจจะอยู่ที่ 3 ตร.ม.ต่อคน ด้วยซ้ำ เราพบว่า ปริมาณมากไม่ได้หมายถึงประชาชนมีความสามารถในการเข้าถึง หลายประเทศไม่พูดถึงปริมาณ   2 ปีที่แล้ว สิงค์โปรพูดถึงสวนที่คนเดินถึงภายใน 10 นาทีต้องมี  80% ของเมือง  ที่ผ่านมา ไม่มีการประเมินผลลงทุนพื้นที่สีเขียว ใช้เงินภาษีไปได้อะไร  สุขภาพหรือความหลากหลายทางชีวภาพดีขึ้นมั้ย ขาดตัวชี้วัดบรรเทาโลกร้อน   

นอกจากนี้ ต้องมีมาตรการทางภาษี แรงจูงใจช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว ที่ดินที่ควรจะนำมาพัฒนาพื้นที่สีเขียว มองแค่ในความรับผิดชอบ กทม. อย่างเดียวไม่ทันต่อความท้าทาย  ที่ดินเอกชนทำสวนสาธารณะได้ต้องมีการจัดเก็บภาษีตามโซนของผังเมือง   รวมถึงผลักดันให้ภาคเอกชนร่วมลงทุนทำพื้นที่สีเขียวให้มากกว่านี้  

“ ปัจจุบันมีพื้นที่รกร้างเต็มไปหมด หลังกลับมาเก็บภาษีที่ดินเต็มรูปแบบ เจ้าของที่ดินแห่มาเปลี่ยนพื้นที่รกร้างเป็นสวนเกษตร ปลูกกล้วย  เป็นความย้อนแย้งจากช่องว่างทางกฎหมาย เชิงปฏิบัติผู้ว่าฯ กทม.ประกาศสวน 15 นาที ปลูกต้นไม้ล้านต้น สิ่งที่เกิดขึ้นคนเร่งรัดทำพื้นที่สีเขียว แต่หากรับนโยบาย ทำโดยไม่มีแนวทางชัดเจน มองแต่ตัวเลข จะไม่ยั่งยืน พื้นที่สีเขียวสาธารณะที่คนใช้ประโยชน์ได้ มีมิติระบบนิเวศโดยรวม จัดการภัยพิบัติ ลดอุณหภูมิเมือง  ฉะนั้น การลงทุนพื้นที่สีเขียวหนึ่งแห่งต้องมองรอบด้าน เพื่อให้ทันสถานการณ์ และตอบโจทย์   จำเป็นต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมการพูดคุยของผู้ใช้ประโยชน์ บริบทสังคมในพื้นที่นั้นๆ บริหารจัดการและดูแลรักษาที่ดี “ ยศพล กล่าว

ส่วนการเพิ่มพื้นสีเขียวในกรุงเทพฯ ช่วง 2 ปีมานี้ we! park รณรงค์เปลี่ยนพื้นที่รกร้างขนาดเล็กร่วมกับเครือข่าย โดยได้ทุนสนัลสนุนจาก สสส. เพราะตอบโจทย์การกระจายตัว มีการพัฒนาพื้นที่พร้อมระดมทรัพยากร นอกเหนือเงินทุน ไม่รอทรัพยากรจากภาครัฐอย่างเดียว รวมถึงสร้างกลไกบริหารจัดการพื้นที่ ซึ่งชุมชนได้ประโยชน์จริง ไม่ใช่แค่สวนสาธารณะที่ปิด 4ทุ่ม แต่สามารถออกแบบกิจกรรม เราชวนคิดไปด้วยกันให้เหมาะกับความท้าทายปัจจุบัน แม้จะเป็นพื้นที่สาธาธารณะ แต่ต้องมีระบบเชื่อมโยงและดูแล     

ประเด็นศักยภาพของพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถเขียวได้มากกว่าหรือไม่ น.สพ.ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ ประธานมูลนิธิโลกสีเขียว กล่าวว่า มหานครประชากรระดับ 10 ล้านคน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หากมีแผนจัดการพื้นที่สีเขียวล่วงหน้าจะดี แต่ปัจจุบันเราแก้ปัญหาที่ปลายทาง เพราะกรุงเทพฯ วันนี้ประชากรแออัด ถมคลองสร้างถนน มีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม  มองต้นไม้ว่าให้ประโยชน์หรือโทษ เราเห็นภาพตัดต้นไม้ทิ้ง คนเมืองถูกตัดขาดจากธรรมชาติ เจ้าของพื้นที่สีเขียวจริงๆ มีไม่มาก 

“ ผู้ว่าฯ ชวนปลูกต้นไม้ล้านต้น เป็นเจ้าภาพหากล้าไม้ หาพื้นที่ปลูก แล้วให้คนลงแรง อาจเป็นพิสูจน์ถ้าสำเร็จภายใน 1 ปี พื้นที่สีเขียวจะเพิ่มขึ้น อาจเป็นการจุดกระแสปลูกต้นไม้ นอกจากองค์กรหมู่บ้าน คอนโด อีกระดับสถาบันการศึกษาที่ตั้งกลางกรุงเทพฯ เพิ่มเขียวกว่านี้ หย่อมเขียวที่มากขึ้น ธรรมชาติจะฟื้นกลับมา สัตว์ป่าเมือง ไม่ใช่แค่ตัวเงินตัวทอง  กา  นกพิราบ แต่มีสปีชีส์ยากๆ มาใช้พื้นที่  ตลอดจนสวนสาธารณะต่างๆ เปิดโอกาสให้คนช่วยปลูกต้นไม้ แม้กระทั่งโรงเรียนใน 50 เขตในกทม. เป็นแหล่งแจกกล้าไม้ เพื่อนำไปปลูกในบ้านหรือพื้นที่สาธารณะ สร้างระบบเชิญชวนคนลงแรงปลูกให้เกิดขึ้น จะสร้างสีเขียวมากกว่าล้านต้น มากกว่าสิบล้านต้นก็ทำได้ “ น.สพ.ดร.บริพัตร ย้ำในท้ายทุกคนมีส่วนสร้างสีเขียวทั่วกรุงฯ  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดข้อเสนอแก้ไขปัญหา 'ทับลาน' มูลนิธิสืบฯยัน ไม่ควรเหมารวมทุกกลุ่มเข้าด้วยกัน

เพจ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร โพสต์ข้อความ ระบุว่า เปิดข้อเสนอการแก้ไขปัญหาแนวเขตและที่ดินในพื้นที่ อช.ทับลาน โดยมีการแบ่งรูปแบบพื้นที่ทั้งหมดออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

ต้านสร้างเขื่อน 7 แห่ง ชี้สูญเสียป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ 1.6 หมื่นไร่

นางสาวอรยุพา สังขะมาน เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เปิดข้อมูลสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของโครงการเขื่อนในพื้นที่ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ครอบคลุม 2 จังหวัด

เขื่อนในพื้นที่มรดกโลก'ดงพญาเย็น-เขาใหญ่'

ผืนป่าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก คนส่วนใหญ่จะนึกถึง ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง และ ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ แต่ตอนนี้ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กำลังสุ่มเสี่ยงภัยคุกคาม หนึ่งในนั้น คือ โครงการเขื่อนในพื้นที่มรดกโลก ย้อนไปปี 2564 การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44

ฟื้นฟู’จามจุรี’ไม้ใหญ่สวนป่ากลางกรุง

ปัจจุบันเมืองมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วเพื่อสนองตอบการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้มีความต้องการใช้ที่ดินเพื่อการก่อสร้างมากขึ้น เกิดผลกระทบพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองลดลงและการทรุดโทรมของต้นไม้ ซึ่งการจัดการพื้นที่สีเขียวสำคัญ ล่าสุด สำนักสิ่งแวดล้อม สังกัดกรุงเทพมหานคร