ผลักดัน’ประมงพื้นบ้าน’ พัฒนาอาชีพ ฟื้นทรัพยากร

แม้ชาวประมงพื้นบ้าน รวมถึงเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงและผู้แปรรูปสัตว์น้ำรายย่อยจะเป็นขนาดเล็ก มีมูลค่าคิดรวมเพียง 10% ของมูลค่าในอุตสาหกรรมประมงทั้งหมด   แต่มีส่วนช่วยสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจชุมชนและสร้างความมั่นคงด้านอาหารแก่ประเทศและโลก

อย่างไรก็ตาม ประมงพื้นบ้านเผชิญปัญหาต้นทุนการจับปลาจากการออกเรือในแต่ละวัน ค่าน้ำมันสูงขึ้น ขาดแคลนคนรุ่นใหม่สืบทอดอาชีพประมงพื้นบ้าน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งยังมีการเดินหน้าโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ตลอดสองชายฝั่งของไทยเกิดขึ้นและกำลังคุกคามสิ่งแวดล้อมและสิทธิของชุมชนริมชายฝั่งที่อาศัยท้องทะเลเป็นแหล่งอาหาร แหล่งรายได้หลักของครอบครัว 

กรมประมงจัดงานเฉลิมฉลองปีสากลแห่งการทำประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำพื้นบ้าน ปี พ.ศ. 2565 (International Year of Artisanal Fisheries and Aquaculture : IYAFA 2022) ผ่านระบบ Hybrid Meeting เพื่อหนุนการทำประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำพื้นบ้าน ซึ่งมีบทบาทสำคัญขับเคลื่อนไทยสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมเปิดวงสนทนาเพื่อร่วมกันพัฒนาระบบการทำประมงพื้นบ้านท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงและยกระดับมาตรฐานต่างๆ ให้ดีขึ้น

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านและผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำรายย่อยของไทยมีจำนวนกว่า 600,000 ราย สามารถผลิตสินค้าสัตว์น้ำเพื่อการบริโภคได้มากกว่า 1 ล้านตันต่อปี นโยบายภาครัฐปัจจุบันมีคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด ผลักดันให้มีการรวมกลุ่มประมงชุมชนท้องถิ่น เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรในพื้นที่ให้มีใช้อย่างยั่งยืน สงวนพื้นที่ให้สัตว์น้ำวัยอ่อนสืบพันธุ์ พัฒนาอาชีพ พัฒนารายได้ โดยกรมเป็นพี่เลี้ยง แต่ละจังหวัดมีแนวทางจัดสรรพื้นที่และปกป้องทรัพยากร เช่น เขตทะเลชายฝั่งสำหรับประมงพื้นบ้าน  จากนั้นเป็นคณะกรรมการประมงระดับชาติ ประเทศไทยมีโครงสร้างรองรับ ชายและหญิงทำประมงได้อย่างเท่าเทียม มีวิถีชีวิตผัวจับ เมียขาย ทำมาหากินด้วยกัน  โจทย์ท้าทายทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว จำเป็นต้องฟังความคิดเห็นและข้อมูลรอบด้าน โดยเฉพาะชาวประมงพื้นบ้าน เพื่อเดินไปด้วยกัน

“ ทะเลมีกิจกรรมใช้ประโยชน์หลากหลาย น้ำมัน ก๊าซ ประมง รวมถึงการท่องเที่ยว อาชีพประมงเผชิญความท้าทายการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม  ทรัพยากรที่หายไปผลจากสภาพอากาศผิดเพี้ยน นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่ไม่เรียนและทำอาชีพเกษตรกรรม ขาดผู้สืบทอด การใช้แรงงานต่างด้าวทดแทนขาดความตระหนักดูแลทรัพยากร ทิศทางในอนาคต ทำอาชีพที่ไม่ทำลาย ใช้เครื่องมือที่เหมาะสม พัฒนาสินค้าแปรรูปให้ราคาดีขึ้น ระดับชาติมีนโยบาย BCG แนวทางการพัฒนาที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ  ใช้อย่างยั่งยืนและฉลาด   รวมทั้งนโยบาย Go Green เชื่อว่าจะลดช่องว่างได้ “ นายเฉลิมชัย กล่าว

มุมมองประมงพื้นบ้านในระดับสากล .ดร.รัตนา ชื่นภักดี ผู้อำนวยการเครือข่ายวิจัย Too Big To Ignore Global กล่าวว่า ปัญหาการทำประมงไม่ได้แก้ที่ภาคประมงอย่างเดียว ต้องพัฒนาในหลายมิติ โดยคำนึงถึง 7 เสาหลัก ประกอบด้วยความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม การสร้างสภาพแวดล้อมให้ประมงพื้นบ้านมีส่วนร่วมในการจัดการและออกแบบกฎระเบียบในการประมง สนับสนุนอาหารจากประมงขนาดเล็กนอกจากทำให้สิ่งแวดล้อมดี ยังให้คุณค่าทางโภชนาการ และเตรียมพร้อมชาวประมงรับมือการเปลี่ยนแปลง ผ่านการสร้างศักยภาพในหลายด้าน ทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านการตลาด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทยต้องมีโครงการสร้างเอื้ออำนวยต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ ในไทยต้องสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ปรับปรุงโครงสร้าง และคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ประเทศไทยมีโอกาสสร้างโมเดลทำประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน  เพราะมีศักยภาพและความพร้อม  

การสร้างนวัตกรรมยกระดับอาชีพประมงพื้นบ้านให้ไปไกลกว่าเดิม ศ.ดร.ทวนทอง จุฑาเกตุ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มองประเด็นนี้ว่า ทั่วโลกรวมถึงไทยได้รับผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การประเมิน IPCC ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบอุณหภูมิสูง ระดับน้ำทะเลสูง ฝนตกน้อยลง และเกิดน้ำท่วมน้ำแล้ง ซึ่งเชื่อมโยงกับแม่น้ำและทะเล ส่งผลต่อพฤติกรรมสัตว์น้ำ  การบรรเทาปัญหาประมงพื้นบ้านที่วิถีชีวิตออกทะเลทำประมง ใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำ งานวิจัยควรศึกษาแหล่งน้ำที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำทำการประมง เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร  สัตว์น้ำเป้าหมายการประมงตอบสนองต่อโลกร้อนอย่างไร กระบวนการทางชีววิทยา ความสามารถในการผลิตสัตว์น้ำรุ่นใหม่ทดแทนที่ตายไป สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดมีความทนทานต่อสภาพอากาศต่างกัน มีผลต่อการเข้าถึงทรัพยากร ประมงพื้นบ้านต้องจับปลาห่างฝั่งมากขึ้น จำเป็นต้องมีความรู้และเตรียมพร้อมรับมือ

“ การนำนวัตกรรมเข้ามามีส่วนช่วยเพาะเลี้ยง ทั้งกระบวนการศึกษารูปแบบเพาะเลี้ยงที่ผสมผสาน การทยอยปล่อยทยอยจับ นวัตกรรมสำคัญระบบการเลี้ยงและการให้อากาศเพื่อเหมาะสมและลดต้นทุนให้ผู้เพาะเลี้ยงรายย่อยเข้าถึง การพัฒนาระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อเตรียมพร้อม อยากเน้นย้ำข้อมูลที่ถูกต้องจะสร้างองค์ความรู้ในการจัดการ “ ศ.ดร.ทวนทอง กล่าว

ด้าน ดำรงค์ แดงโชติ สมาคมประมงพื้นบ้านประจวบคีรีขันธ์กล่าวว่า วันนี้ประมงไทยพบการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรชัดเจน สัตว์น้ำบางชนิดย้ายถิ่นฐาน สื่อผลกระทบระบบนิเวศในทะเล นอกจากนี้ ต้องเผชิญมลภาวะปนเปื้อนในทะเล ส่งผลกระทบกับชาวประมง ค่าครองชีพสูง น้ำมันแพง ทำให้ชาวประมงต้องทำประมงมากขึ้น เพื่อให้อยู่รอด ทุกวันนี้ชาวประมงปรับตัว สินค้าที่จับได้ในปริมาณจำกัด นำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า และใช้ช่องทางออนไลน์ขายสินค้าประมงมากขึ้น รวมถึงขับเคลื่อนการอนุรักษ์พื้นที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน เช่น ทำธนาคารปลา ธนาคารปูม้า แบ่งเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำ ฯลฯ 

“ ฝากภาครัฐ ประมงพื้นบ้านตัวเล็กอยู่แล้ว อย่ามองไกล ชาวประมงเป็นผู้ประกอบการ ไม่ใช่ผู้ทำลาย  หลายครั้งประมงอึดอัดกับมาตรการที่ไม่ตรงกับวิถีชีวิตของชาวประมง  อนาคตอยากให้ประมงมีส่วนร่วมกำหนดวิถีชีวิตตัวเอง ถ้าเขาจับหมด เท่ากับทำลายอาชีพตัวเอง “ดำรง บอก

            การปรับตัวของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำภายในสถานการณ์สังคมปัจจุบัน ประวัติ พิริยศาสน์ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ปี 65 สาขาอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กล่าวว่าการเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์และรายย่อยขยายตัวอย่างมาก จากปัญหาขาดแคลนแรงงานและภาษีที่ดิน ผลผลิตปลาที่เพิ่มขึ้น ไทยมีตลาดปลาหรือแพปลาขนาดใหญ่หลักร้อยตันต่อวัน เกิดการแข่งขันทางการค้าและพัฒนาการขนส่งดีขึ้น เพื่อให้สินค้าสดใหม่ถึงมือผู้บริโภคหรือผู้ประกอบการ หากต้องการต้นทุนการเลี้ยงต่ำ ต้องใช้เวลาเลี้ยงนานขึ้น  ให้ปลาใช้อาหารธรรมชาติมากขึ้น เพราะราคาอาหารสัตว์น้ำขยับขึ้นต่อเนื่อง เกษตรกรบางส่วนต้องแบ่งพื้นที่เพื่อผลิตอาหารปลาเอง  อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันหน้าร้านอยู่บนโซเชียลมีเดีย ทำให้ผลิตภัณฑ์ของผู้เพาะเลี้ยงสัตว์เป็นที่รู้จัก

               ขณะที่ อ้อมบุญ  ทิพย์สุนา สมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า แม่น้ำโขงมีปลาน้ำจืดมากกว่า 1,300 ชนิด ปัจจุบันเหลือ 300 ชนิด จากภัยคุกคามทั้งสภาพภูมิอากาศโลก เขื่อนจีน 11 เขื่อนบนน้ำโขง เป็นเรื่องท้าทายจะรักษาเมนูอาหารและฟื้นฟูให้คืนความสมบูรณ์อย่างไร ปลาน้ำโขงเป็นปลาอพยพสู่แม่น้ำสาขา โขง ชี มูล และลุ่มน้ำสงคราม เขื่อนแต่ละประเทศเก็บกักน้ำ เกิดความต่างของระดับน้ำ สภาพนิเวศเปลี่ยนแปลง รวมถึงปัญหามลพิษจากโรงงาน ขยะ เห็นด้วยกับการจัดทำระบบข้อมูลบ้านปลา ระบบนิเวศลุ่มน้ำโขงมีพื้นที่หาปลารวม พื้นที่หาปลาเฉพาะบุคคล การจัดการทรัพยากรต้องประสานหน่วยงานและชุมชน กรณีปลายี่สกไทยในเขตลุ่มน้ำโขงลดลง พ่อแม่พันธุ์ลดปริมาณลง พบการผสมเลือดชิด จะสร้างการจัดการร่วมกันอย่างไร เพื่อสร้างความมั่นคงอาหาร   การสร้างความร่วมมือให้ประมงพื้นบ้านและภาคส่วนต่างๆ มีความเป็นไปได้ต้องเริ่มต้น

หากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการทำประมงในประเทศไทยทุกภาคส่วนหันมาช่วยกันเร่งพัฒนาลดช่องว่างต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว รวมถึงมีการควบคุมและตรวจสอบที่รัดกุม ระบบนิเวศทางทะเล ประมงพื้นบ้านที่ยั่งยืนก็น่าจะเกิดขึ้นได้ไม่ยากในบ้านเรา

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประมงพื้นบ้านสงขลา อาศัยช่วงคลื่นลมไม่รุนแรง ออกจับปูม้ากำลังชุกชุม ขายได้ราคาดี

ที่ชายหาดบ้านบ่ออิฐ ต.เกาะแต้ว อ.เมือง จ.สงขลา ชาวประมงพื้นบ้านในชุมชนบ้านบ่ออิฐนำเรือหลายลำออกไปทำการประมงอวนปูกลางทะเล เนื่องจากในช่วงนี้คลื่นลมไม่รุนแรงสามารถนำเรือออกไปทำการประมงได้

เกาะลิบงอ่วมหนักรอบ 30 ปี! คลื่นซัดเรือประมงล่ม 7 ลำ รีสอร์ทพัง ชาวบ้านเผยปีนี้ฝนมาเร็ว

ในพื้นที่เกาะลิบง หมู่ 5 บ้านหลังเขา ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง เกิดเหตุมีเรือประมงพื้นบ้านล่มจำนวน 7 ลำ หลังเกิดฝนตกและลมพายุในทะเลฝั่งอันดามัน โดยนายอ่าสาน ค

จ่อฟ้องศาลปกครอง ฟันกรมประมง-บิ๊กเอกชน ทำปลาหมอคางดำระบาดหนัก

ายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฎเป็นการทั่วไปว่ากรมประมง โดยคณะกรรมการ IBC อนุญาตให้บิ๊กเอกชนเพียงรายเดียวนำเข้าปลาหมอคางดำ