เป็นการค้นพบครั้งใหญ่ของไทยในปีนี้ ทีมนักพฤกษศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้วงศ์ถั่วของไทยตีพิมพ์ผลการค้นพบ “ม่วงราชสิริน” (Millettia sirindhorniana Mattapha, Thanant., Kaewmuan & Suddee) และ “ซ่อนแก้ว” (Millettia tomentosa Mattapha & Tetsana) ในวารสารนานาชาติ Thai Forest Bulletin (Botany) เล่มที่ 50 พ.ศ. 2565 โดยระบุว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก ซึ่งทั้ง 2 ชนิดอยู่ในสกุลเดียวกัน คือ สกุลกระพี้จั่น (Millettia) จากประเทศไทย
ในประเทศไทยมีการค้นพบสปีชีส์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่หายาก เสี่ยงสูญพันธุ์ ตอกย้ำความสำคัญการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สำหรับ ”ม่วงราชสิริน” ค้นพบครั้งแรกระหว่างการสำรวจความหลากหลายของพรรณพืชบริเวณพื้นที่อุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี นำโดย นายสมราน สุดดี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอนุกรมวิธานพืช นายธีรวัฒน์ ทะนันไธสง และนางสาวอนุสรา แก้วเหมือน นักวิชาการป่าไม้ปฏิบัติการ หน่วยงานกลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ค้นพบ’ม่วงราชสิริน’ สปีชีส์ใหม่
ขณะที่”ซ่อนแก้ว” ค้นพบซ่อนตัวอยู่บริเวณวัดผาซ่อนแก้ว จ.เพชรบูรณ์ และบริเวณน้ำตกขุนกรณ์และอุทยานแห่งชาติขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ทีมผู้วิจัยยืนยันว่า 2 ชนิดเป็นสปีชีส์ใหม่ หลังเปรียบเทียบตรวจสอบชนิดที่มีการรายงานในภูมิภาคเอเชียและตัวอย่างพรรณไม้อ้างอิงทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งยังไม่มีการให้ชื่อพฤกษศาสตร์ นอกจากนี้ ทีมผู้วิจัยยังเก็บตัวอย่างที่สมบูรณ์ ได้ โดยเฉพาะ”ซ่อนแก้ว” ใช้เวลาติดตามวงจรชีวิตของพวกมันเป็นเวลานานถึง 8 ปี
นายธีรวัฒน์ ทะนันไธสง นักพฤกษศาสตร์ป่าไม้ บอกว่า ม่วงราชสิริน พืชชนิดใหม่นี้ถูกค้นพบบริเวณอุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ จ.ราชบุรี ซึ่งได้พบไม้เถาเนื้อแข็งไม่ทราบชนิด มีเฉพาะผลจึงได้ติดตามเก็บตัวอย่างและปีต่อมาได้ตัวอย่างดอก ได้ตรวจสอบตัวอย่าง พบเพิ่มเติมบริเวณอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จากการศึกษาอย่างละเอียดพบว่า เป็นพืชชนิดใหม่ของโลกในสกุลกระพี้จั่น วงศ์ถั่ว (Fabaceae) จึงได้ร่วมเขียนตีพิมพ์ พืชชนิดใหม่นี้มีชื่อไทยซึ่งเป็นนามพระราชทานว่า “ม่วงราชสิริน” เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
บรรยากาศการสำรวจและเก็บตัวอย่างพรรณไม้ในพื้นที่
นายธีรวัฒน์ เล่าว่า ทรงติดตามการดำเนินงานของโครงการอุทยานธรรมชาติวิทยาฯ สวนผึ้ง ต้นปี 2562 และได้มีพระกระแสรับสั่งต่อนายสมราน สุดดี ให้ดำเนินการสำรวจชนิดพรรณไม้ในโครงการเพิ่มเติมอีก 3 ลุ่มน้ำ จากเดิมที่สำรวจไปแล้ว 1 ลุ่มน้ำ นำมาสู่การศึกษาพรรณไม้ที่กระจายในพื้นที่ตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศไทย
ก่อนหน้านี้ มีการสำรวจลุ่มน้ำแรก “ห้วยน้ำใส” หรือเขากระโจม ผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้มหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับกรมอุทยานฯ สำรวจพบพืชชนิดใหม่ของโลกในอุทยานดังกล่าว ภายหลังชื่อว่า “ชมพูราชสิริน” ตามลักษณะสีของดอก
“ การสำรวจยังมีต่อเนื่องปี 64 โฟกัสพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยคอกหมู เช้าวันหนึ่งค้นพบดอกของพืชที่ติดตามมากว่า 1 ปี จึงเก็บตัวอย่างต้นแบบไปตรวจสอบอย่างละเอียด พร้อมทั้งส่งภาพดอกไปให้ ผศ. ดร.สไว มัฐผา ผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เปรียบเทียบตรวจสอบ ผลปรากฎว่า เป็นพืชชนิดใหม่ของโลก ช่วงบ่ายฝนตกหนักช่อดอกร่วงหมด โชคดีได้เก็บตัวอย่างไปแล้ว ไม่อย่างนั้นต้องหาประชากรใหม่ ส่วนนามพระราชทาน “ม่วงราชสิริน” ล้อตามลุ่มน้ำแรกที่พบ”ชมพูราชสิริน” “ นักพฤกศาสตร์เผยถึงความสำเร็จ
ทีมนักพฤกษศาสตร์ป่าไม้ อช.สำรวจอุทยานธรรมชาติวิทยาฯ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
การสำรวจพรรณไม้ในพื้นที่อุทยานธรรมชาติวิทยาฯ ตามพระราชปณิธานของกรมสมเด็จพระเทพฯ ยังเดินหน้าต่อไป นายธีรวัฒน์ อธิบายอีก 2 ลุ่มน้ำ ประกอบด้วยลุ่มน้ำห้วยผากบริเวณน้ำตกเก้าโจน และลุ่มน้ำตะโกปิดทอง ซึ่งปี 2565 นี้ จะเร่งสำรวจลุ่มน้ำตะโกปิดทอง ซึ่งเป็นพื้นที่ตอนบนของอุทยานธรรมชาติฯ แต่ละพื้นที่มีความพิเศษเฉพาะตัว ต้องเดินสำรวจและศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ทิ้งลุ่มน้ำอื่นๆ จะสำรวจพื้นที่ตกหล่นด้วย ซึ่งผลการสำรวจทุกลุ่มน้ำจะรวบรวมจัดทำหนังสือบัญชีรายพืชพันธุ์ต่อไป ขณะนี้นอกจากสปีชีส์ใหม่ พบพรรณไม้กว่า 700 ชนิดในพื้นที่นี้
“ เป้าหมายทีมทำงานสำรวจความหลากหลายของพันธุ์พืชในระบบนิเวศของพื้นที่ พืชมีชื่อทางพฤกษศาสตร์ นำชนิดที่ค้นพบมาสื่อความหมายให้คุณค่าและสามารถใช้ประโยชน์อย่างไร ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพนี้สามารถนำมาต่อยอดเพื่อวางแผนอนุรักษ์พันธุกรรม หรือนำชนิดพันธุ์ลงมาปลูกด้านล่างเพื่อรักษาพันธุ์พืชไม่ให้เสี่ยงสูญพันธุ์ ตลอดจนต่อยอดส่งเสริมเป็นไม้ประดับเศรษฐกิจ สำหรับ”ม่วงราชสิริน” ในพื้นที่อุทยานธรรมชาติฯ ซึ่งมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติ สามารถใช้สปีชีส์ใหม่ที่ค้นพบเป็นแรงจูงใจในการเรียนรู้พรรณไม้มีคุณค่า สร้างความหวงแหนนำมาสู่ความร่วมมือในการอนุรักษ์ต่อไป “ นายธีรวัฒน์ กล่าว
พรรณไม้ชนิดใหม่โลกขึ้นตามธรรมชาติ มีปัจจัยเสี่ยง นักฤกษศาสตร์กล่าวด้วยว่า สวนผึ้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของราชบุรี มีทั้งกิจกรรมแอดเวนเจอร์ เดินป่า ปีนเขา แคมปิ้ง จนกระทั่งออฟโรด ทรัพยากรในพื้นที่นำมาใช้รองรับกิจกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย อยากให้ท้องถิ่น ผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยวตระหนักถึงการมีอยู่และดำรงอยู่ของพืชหนึ่งเดียวในโลก พืชหายาก เพราะม่วงราชสิรินเป็นพันธุ์ไม้อัตลักษณ์ของภาคตะวันตกเฉียงใต้ ส่วนข้อเสียกลุ่มผู้ไม่หวังดีอาจลักลอบค้าพืชป่า ดอกไม้ป่า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องทำงานเฝ้าระวังป้องกันเข้มข้นขึ้น น่าเป็นห่วงเพราะอุทยานธรรมชาติฯ ไม่ใช่เขตอนุรักษ์ แต่เป็นพื้นที่ราชพัสดุ
’ซ่อนแก้ว’ พืชชนิดใหม่โลก
ส่วน”ซ่อนแก้ว” พืชชนิดใหม่ที่ค้นพบเป็นครั้งแรกในวงการพรรณไม้โลก ผศ. ดร.สไว มัฐผา อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มรภ.อุดรธานี ซึ่งร่วมตีพิมพ์พืชชนิดใหม่โลกทั้งม่วงราชสิรินและซ่อนแก้ว บอกว่า พบพืชชนิดนี้ครั้งแรกเป็นตัวอย่างเพียงแค่ฝัก ต่อมาได้ตามเก็บตัวอย่างดอกเพื่อยืนยันชนิดที่ถูกต้องโดยใช้เวลา 8 ปี ในที่สุดได้ตัวอย่างที่สมบูรณ์ ทั้งใบ ฝัก ดอก ผล และเมล็ด นำมาซึ่งการตรวจสอบ ยืนยันให้ถูกต้อง และตั้งชื่อพฤกษศาสตร์ ชื่อไทย “ซ่อนแก้ว” ตั้งตามชื่อแหล่งเก็บตัวอย่างต้นแบบที่วัดผาซ่อนแก้ว
“ ตามดอกซ่อนแก้วมา 8 ปี บางปีออกดอก บางปีไม่ออก หรือออกดอกแต่ตัวอย่างไม่สมบูรณ์พอ กลับไปดูน้ำตกขุนกรณ์หลายครั้งก็ไม่ได้ดอก มาพบดอกโดยบังเอิญบริเวณวัดผาซ่อนแก้ว ด้วยเป็นพืชสกุลกระพี้จั่นมีความซ้ำซ้อนก้ำกึ่งกับพืชสกุลอื่นๆ จึงมีความยากในการศึกษา ต้องใช้ตัวอย่างที่สมบูรณ์ถึงจะยืนยันสปีชีส์ใหม่ได้ ประเทศไทยนับว่าพืชสกุลกระพี้จั่นมีความหลากหลายชนิดมากที่สุดในโลก ปัจจุบันไทยมี 32 ชนิด และค้นพบจำนวนชนิดใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ “ผศ.ดร.สไว เล่าให้ฟัง
หลังจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้เตรียมศึกษาต่อยอดจัดจำแนกพืชสกุลนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยใช้ข้อมูลทางด้านชีวโมโลกุลระดับดีเอ็นเอ มาจัดทำองค์ความรู้พรรณไม้ด้านวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตาม นักพฤกศาสตร์เคมีสามารถศึกษาต่อยอดจากสิ่งที่ค้นพบ นอกจากนี้สามารถต่อยอดเพื่อการศึกษาและอนุรักษ์ระบบนิเวศทางธรรมชาติผ่านการประสานสวนพฤกศาสตร์ที่กระจายในพื้นที่ต่างๆ นำไปเลี้ยงอย่างถูกต้อง เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ รวมถึงการต่อยอดส่งเสริมให้เป็นไม้ประดับ เพราะพืชกระพี้จั่นปลูกให้ร่มเงาได้ เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
บันทึกลักษณะทางพฤกษศาสตร์
การค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกจำเป็นต้องสร้างนักพฤกษศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้ให้เพิ่มขึ้นในประเทศ ผศ.ดร.สไว บอกว่า ปัจจุบันต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนผู้สมัครเข้าเรียนด้านพฤกษศาสตร์ รวมถึงสถาบันการศึกษาส่วนใหญ่ไม่มีหลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอกด้านนี้ เป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะไทยมีความโดดเด่นด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะเป็นประเทศในเขตร้อนชื้น
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญ กล่าวว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัส “การรักธรรมชาติ คือ การรักชาติรักแผ่นดิน “ ล่าสุด ทรงเสด็จฯ เปิดการประชุมวิชาการพรรณพฤกษชาติประเทศไทย ครั้งที่ 18 ณ สวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ ทรงเน้นการรวบรวมข้อมูลด้านอนุกรมวิธานพืชในการใช้บริหารจัดการทรัพยากรความหลากหลายพืชของประเทศให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศอย่างยั่งยืนและวางแผนอนุรักษ์ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถาบันการศึกษาต่างๆ รวมถึงประชาชนต้องร่วมกันรักษาพันธุกรรมของพืช ตลอดจนไม่ทำลายทรัพยากรให้ลดลง ลดการปลูกพืขเชิงเดี่ยว หยุดลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ที่ส่งผลกระทบต่อการสูญพันธุ์ได้ในอนาคต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'นักวิชาการสิ่งแวดล้อม' ชี้สัญญาณเตือนโลกกำลังจะเปลี่ยนไป จากอุณหภูมิสูงขึ้น หายนะจะตามมา
ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า
โค้งสุดท้ายสู่สนธิสัญญาพลาสติกโลก เป้าหมายที่ไทยควรกำหนดในเวทีโลก
ก่อนหน้าการเจรจาระหว่างรัฐบาลในการจัดทํามาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านมลพิษจากพลาสติก รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางทะเลที่จะมีการประชุมและเจรจาครั้งสุดท้าย (INC-5) เพื่อให้เกิดสนธิสัญญาพลาสติกโลก หรือ “Global Plastic Treaty” ณ เมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี
เตรียมรับมือหมอกควัน-ฝุ่นพิษ 2568
ใกล้จะเข้าสู่ฤดูกาลฝุ่นช่วงเวลาที่ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จะเริ่มสูงขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาประเมินช่วงหลังวันที่ 23 ตุลาคม 2567 ประเทศไทยตอนบนจะเริ่มมีฝนที่ลดลง และจะมีมวลอากาศเย็นแผ่เข้ามาบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย