เปิดร่าง กม.ปล่อยสารพิษร้ายแรง ลดหายนะอุบัติภัย

นับเป็นความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญเมื่อสามองค์กรเครือข่ายภาคประชาชน ประกอบด้วย มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)  มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw ) และกรีนพีซ ประเทศไทย เข้ายื่นริเริ่มเสนอร่างพระราชบัญญัติการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ พ.ศ…. (PRTR) ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเตรียมดำเนินการรวบรายชื่อ 10,000 รายชื่อในการเสนอร่างกฎหมายภาคประชาชนเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติของรัฐสภา ด้วยหมุดหมายเดียวกันว่า กฎหมายฉบับนี้จะเป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหามลพิษอุตสาหกรรม  ลดความเสี่ยงอุบัติภัยสารเคมีเป็นพิษจากโรงงาน และวางแผนป้องกันผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า ปัญหามลพิษจากอุตสาหกรรมเรื้อรังมานานและส่งผลกระทบรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ถึงเวลาที่จะต้องแก้ปัญหาอย่างจริงจัง แม้ปัจจุบันจะมีกฎหมายสิ่งแวดล้อม ทั้ง พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม  พ.ร.บ.โรงงานฯ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ร.บ.สาธารณสุข  แต่ปัญหามลพิษอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 รุนแรงส่งผลกระทบกับสุขภาพประชาชน  แม่น้ำ 25 สายหลักคุณภาพเสื่อมโทรมเน่าเหม็น มีการลักลอบทิ้งขยะอันตรายจำนวนมาก สะท้อนกฎหมายที่มีไปไม่ถึงการแก้ไขปัญหา เพราะเน้นควบคุมค่ามาตรฐานในการปล่อยของเสีย กฎหมายอากาศสะอาดสหรัฐกำกับสารเคมีอันตรายในอากาศ และส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพคนมี 184 ชนิด ขณะที่บ้านเราไม่มี จำเป็นต้องมีกฎหมาย PRTR ซึ่งจะเป็นพื้นฐานข้อมูลโรงงานที่ใช้สารเคมีเป็นพิษตั้งอยู่ที่ไหน เปิดเผยการปล่อยมลพิษ มีสารอันตรานเจือปนกี่ชนิด ปล่อยกี่ตันต่อปี

 “ กฎหมาย PRTR จะเป็นกฎหมายที่สำคัญฉบับหนึ่งทำให้ประเทศไทยมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ที่จะช่วยหน่วยงานต่างๆ แก้ปัญหามลพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพ  เนื้อหากฎหมายไม่ได้ควบคุมหรือห้ามปล่อยอากาศเสียหรือน้ำเสีย หรือห้ามใช้สารเคมีอันตราย  จะช่วยแก้จุดบอดคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนให้ปลอดภัยมากขึ้นได้ ย้อนไปที่ประชุมสุดยอดสิ่งแวดล้อมโลกปี  2535 ชี้ว่า โลกต้องก้าวไปสู่ทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ลดความเสี่ยงภัยมนุษย์จากสารเคมี ซึ่งที่ประชุมมีมติทั่วโลกต้องมีกฎหมาย PRTR เพื่อลดการปล่อยมลพิษอุตสาหกรรม และผลักดันใช้สารเคมีปลอดภัย จากนั้นสหประชาชาติขอให้ประเทศสมาชิกเกือบ 200 ประเทศ พัฒนา PRTR บังคับใช้ อยากให้ภาคประชาชนออกมาแสดงพลังในการสนับสนุนร่างกฎหมาย PRTR ภาคประชาชนนี้ “ เพ็ญโฉม ย้ำ

ประโยชน์ของกฎหมาย PRTR เพ็ญโฉม บอกว่า กฎหมายนี้ไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อคุ้มครองประชาชน  แต่หัวใจสำคัญฐานข้อมูลตรงนี้หน่วยงานรัฐทุกกระทรวงสามารถนำไปใช้กำหนดแนวทางวางแผนป้องกันบรรทาสาธารณภัยและแก้ไขปัญหามลพิษ   ขณะที่ภาคเอกชนจะใช้ตรวจสอบการรั่วไหลของสารเคมีและการจัดเก็บสารเคมีอย่างไม่ถูกต้อง ช่วยลดต้นทุนการจัดการสารเคมีของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ อีกทั้งป้องกันภัยพิบัติฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานหมิงตี้ถ้าไทยมีกฎหมาย PRTR ก่อนหน้านี้ จะไม่เกิดเหตุระเบิดรุนแรงแน่นอน รวมถึงอุบัติภัยเคมีไฟไหม้ราชบุรี และอีกหลายกรณีจะไม่รุนแรง ส่งผลกระทบวงกว้าง รวมถึงปัญหาสุขภาพอนามัยของคนในจังหวัดระยอง โดยเฉพาะโรคมะเร็ง มาจากต้นเหตุอะไร มูลนิธิฯ เคยสำรวจความคิดเห็นโรงงานอุตสาหกรรม 300 แห่งในระยอง กว่า 80% สนับสนุนให้ไทยมีกฎหมาย PRTR และบังคับใช้ ไม่ใช่ระบบสมัครใจด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นใช้กฎหมาย PRTR ทำให้ท้องฟ้า แม่น้ำสะอาด ทะเลปลอดภัย แต่ประเทศไทยผลักดันเรื่อง PRTR มานาน ยังไม่เกิดผล รัฐบาลไม่เห็นความสำคัญของการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม แต่มีความหวังจากนี้ประเทศไทยจะดีขึ้น

สุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กฎหมาย PRTR มีการแลกเปลี่ยนและรับฟังความเห็นของหน่วยงานรัฐ นักวิชาการที่เกี่ยวข้อง จนเกิดร่างกฎหมาย PRTR ภาคประชาชน  กลไลของกฎหมายนี้มุ่งตรวจสอบมลพิษร้ายแรง อาทิ เป็นสารก่อมะเร็ง สารที่มีพิษเรื้อรัง ตะกั่ว แคดเมียม  รวมถึงตรวจสอบปริมาณการปล่อยผ่านการออกกฎหมายลูก จะมีคณะกรรมการการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ  ออกแบบให้มีสัดส่วนจากผู้ทรงคุณวุฒิจากกระทรวงต่างๆ ผู้แทนกรมส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผ็แทนองค์กรเอกชนด้านคุ้มครองสิ่งแวดล้อม รวมถึงนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ภาคประชาสังคม รวม 12 คน

“ สาระสำคัญกำหนดให้ผู้ผลิต ครอบครองสารมลพิษ จัดทำรายงานข้อมูลและปริมาณการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษต่อกรมควบคุมมลพิษ หากผู้ประกอบการเบี้ยวไม่รายงาน  มีโทษทางปกครอง หน่วยงานรัฐบังคับปรับ ปรับเป็นรายวัน ทวีคูณตามระยะเวลาที่ละเลยไม่รายงาน  หรือหากรายงานข้อมูลเป็นเท็จมีโทษทางอาญาทั้งจำทั้งปรับ “ สุรชัย ย้ำ

ร่าง กม.PRTR ยังกำหนดให้หน่วยงานรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประเมินการปล่อยสารมลพิษ ชนิดซึ่งไม่มีแหล่งกำเนิดแน่นอน ซึ่งไม่ใช่โรงงาน จัดส่งข้อมูลให้กรมควบคุมมลพิษทุกปี ในกฎหมายกำหนดให้กรมฯมีหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลการปล่อยสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมสู่สังคม ให้ประชาชนมีสิทธิรับทราบและเข้าถึงข้อมูลอย่างสะดวก รวดเร็ว โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายผ่านช่องทางต่างๆ อีกทั้งกำหนดให้อปท. มีหน้าที่ออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการออกใบอนุญาต พักใช้หรือเพิกถอนในอนุญาตประกอบกิจการตามกฎหมายว่าด้วยสาธารณสุข

เลขาธิการ EnLaw บอกว่า  กฎหมาย PRTR  คือ การใช้สิทธิ์ประชาธิปไตยทางตรงในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชน  และการเรียนรู้ร่วมกันของประชาชนในการผลักดันให้เกิดกฎหมายที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลมลพิษเพื่อมีส่วนร่วมในการคุ้มครองสิทธิ์ สุขภาพ ของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ได้อย่างแท้จริง”

ด้าน ธารา บัวคำศรี กรีนพีซ ประเทศไทยกล่าวว่า ทั้ง3องค์กรทำงานเก็บข้อมูลมลพิษอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่อง จนมาถึงการผลักด้านร่างกฎหมาย PRTR ตั้งแต่ 30 กว่าปีที่แล้วไทยใช้ทรัพยากรมากเกินกว่าศักยภาพที่พื้นที่ประเทศไทยรองรับได้ สะท้อนความไม่ยั่งยืนของระบบการผลิตและการบริโภคของสังคมไทย ส่งผลให้มลพิษลุกลามมากขึ้น ปริมาณของเสียเพิ่มขึ้น ผู้ใช้หนี้นิเวศคือชุมชนที่ได้รับผลกระทบมลพิษอุตสาหกรรม 

อีกประการสำคัญไทยไม่มีการควบคุมสารเคมีก่อมะเร็งและใช้อย่างต่อเนื่องทั้งเกษตรและอุตสาหกรรม  การนำเข้าสารเคมีสารก่อมะเร็งมากกว่า 10 ล้านตันต่อปี กฎหมาย PRTR ตอบโจทย์ปัญหา

“ ตอนนี้ไทยกำลังกลายเป็นอาณานิคมขยะโลกจากกระบวนการรีไซเคิล มีความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องจากมลพิษกว่า 9%  ซึ่งยังไม่รวมต้นทุนสิ่งแวดล้อม PRTR จะเป็นฐานข้อมูลที่ทำให้มีพลังจัดให้มีการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารจะช่วยลดหายนะภัยจากการรั่วไหลของสารพิษร้ายแรงของโรงงานที่จะเกิดขึ้น “ ธารา กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันกว่า 50 ประเทศทั่วโลกออกกฎหมายและนำเอา PRTR ไปประยุกต์ใช้ ประโยชน์ของ PRTR เป็นที่ยอมรับทั้งจากหน่วยงานรัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชน ในการเป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อมรวมถึงกำหนดแนวทางวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษ   ติดตามตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมาย การวางแผนรองรับเหตุฉุกเฉิน  การลดใช้สารเคมีเป็นพิษในกระบวนการผลิตและการลดการปล่อยมลพิษจากโรงงาน 

หากร่าง กม.ฉบับนี้ได้รับการรับรองจากรัฐสภา ขั้นตอนต่อไปจะมีการรวบรวมรายชื่อผู้ที่ต้องการสนับสนุบร่าง พ.ร.บ.ปล่อยสารพิษฯ ที่จะเป็นทางออกลดความเสี่ยงความรุนแรงอุบัติภัย ลดปัญหาการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อมต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โค้งสุดท้ายสู่สนธิสัญญาพลาสติกโลก เป้าหมายที่ไทยควรกำหนดในเวทีโลก

ก่อนหน้าการเจรจาระหว่างรัฐบาลในการจัดทํามาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านมลพิษจากพลาสติก รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางทะเลที่จะมีการประชุมและเจรจาครั้งสุดท้าย (INC-5) เพื่อให้เกิดสนธิสัญญาพลาสติกโลก หรือ “Global Plastic Treaty” ณ เมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี

'สนธิสัญญาพลาสติกโลก' ไทยลงเหวมลพิษพลาสติก

ระหว่างที่ร่างสนธิสัญญาแก้ปัญหามลพิษจากพลาสติก ซึ่งสมาชิก 175 ประเทศลงนามร่วมกันให้จัดทำมาตรการทางกฎหมายเพื่อเป็นแนวทางการจัดการพลาสติกที่ครอบคลุมและตลอดวงจรชีวิตพลาสติก ลดการผลิตพลาสติก  เลิกผลิต เลิกใช้ ควบคุม พลาสติกบางประเภท และการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR)

ปี 2566 ไทยมีคุณภาพอากาศแย่ติด 1 ใน 5 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รายงานคุณภาพอากาศโลกปี 2566 ของ IQAir ระบุว่าประเทศไทยมีคุณภาพอากาศในระดับที่แย่เป็นอันดับที่ 5 จากทั้งหมด 9 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวัน