1 ปี 'หมิงตี้' ปมสารเคมีตกค้าง-ฝ่าฝืน กม.!!

นับเป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันสำหรับกรณีไฟไหม้โรงงานหมิงตี้เคมิคอล ซอยกิ่งแก้ว 21 ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทราปราการ  ช่วงเช้ามืดวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ทำให้มีคนตายและบาดเจ็บจำนวนมาก  แรงระเบิดภายในโรงงานส่งผลให้บ้านเรือนได้รับความเสียหายวงกว้าง ถือเป็นเหตุการณ์อุบัติภัยสารเคมีครั้งประวัติศาสตร์ของบ้านเรา 

ถึงตอนนี้ผ่านมา 1 ปีเต็ม ในวันที่โรงงานผลิตและแปรรูปพลาสติกยังถูกปิด ชาวบ้านกลับมาอยู่อาศัยได้เหมือนเคย แต่หลายคนยังไม่ลืมเลือนความน่าสะพรึงกลัวของเหตุการณ์ครั้งนั้น จนถึงปัจจุบันยังคงเหลือสารเคมีตกค้างในพื้นที่ คดีความยังไม่จบ มีการเรียกร้องความรับผิดชอบและเงินเยียวยาจากผู้เกี่ยวข้องตามความจริง และการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม  ซึ่งโจทย์ในกรณีนี้ก็คือ บริษัท หมิงตี้ พร้อมเกิดคำถามถึงประสิทธิภาพในการจัดการป้องกันมลพิษอุตสาหกรรม เกรงว่าจะเกิดซ้ำอีก อย่างที่ไทยต้องเผชิญมาเป็นระยะ

เพราะหากย้อนสถิติอุบัติภัยจากสารเคมีรั่วไหล เหตุระเบิด เพลิงไหม้จากสารเคมีที่เป็นวัตถุอันตราย ซึ่งเก็บรวบรวมโดยกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ตั้งแต่ปี 2560-2565  เกิดเหตุมากถึง 203 ครั้ง  ส่วนใหญ่เป็นเพลิงไหม้โรงงานอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปพลาสติก  โกดังเก็บสารเคมี โรงงานรีไซเคิล ร้านรับซื้อของเก่าไม่ต่ำกว่า 100 ครั้ง

บทเรียนหมิงตี้ต้องจดจำและปิดจุดอ่อนในการจัดการมลพิษอุตสาหกรรม  เหตุนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.)  ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ (ศวอ.) มูลนิธิบูรณะนิเวศ และสมาคมนักผังเมืองไทย เปิดเวทีเสวนา “ครบรอบ 1 ปี หมิงตี้เคมิคอล : หลังเพลิงสงบ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน” แลกเปลี่ยนความคิดเห็นหาทางป้องกันวิกฤตสารเคมีรั่วไหล

ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่าสืบเนื่องจาก กสม. ได้ลงพื้นที่กรณีโรงงานหมิงตี้ฯ ระเบิดและเพลิงไหม้ ซึ่งสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน นำมาสู่การตรวจสอบกรณีดังกล่าว ผ่านมาหนึ่งปี ข้อมูล ณ วันที่ 6 มิ.ย.65 ยังคงเหลือสารเคมีตกค้างอยู่ในพื้นที่ใต้ซากอาคาร และถังเก็บสารเคมีบางส่วน ยังอยู่ระหว่างการจัดทำแผนการรื้อถอน เคลื่อนย้าย เพื่อป้องกันเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลระหว่างดำเนินการ และการจัดหาบริษัทมากำจัดสารเคมี ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับสิทธิชุมชน ได้รับรองสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ดี และการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งภาคเอกชนต้องทำตามแนวทางธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

“ จากการตรวจสอบกระบวนการขออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน พบว่า หมิงตี้ฯ ได้ขยายโรงงานครั้งที่ 1 ปี 2544 ครั้งที่ 2 ปี 2562 โดยไม่ได้ตรวจสอบข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเคร่งครัด  เพิ่มกำลังแรงม้าเครื่องจักร  เพิ่มกำลังผลิตรวมเป็น 36,000 ตันต่อปี เพิ่มขึ้นจากครั้งแรกถึง 15 เท่า  เพิ่มวัตถุดิบ ขยายพื้นที่สร้างอาคารจัดเก็บสารเคมีอันตรายและติดไฟ เพิ่มอันตรายจากการทำโรงงาน เมื่อเกิดเหตุระเบิดจึงสร้างความเสียหายและกระทบสุขภาพเป็นวงกว้าง กสม.เห็นว่า กรณีนี้ฝ่าฝืนกฎหมายผังเมืองที่มีเจตนารมณ์คุ้มครองสุขลักษณะ ความปลอดภัยของประชาชน  เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งกรมโยธาและกรมโรงงานต้องตรวจสอบ  “ ศยามล กล่าว

ประเด็นการช่วยเหลือและเยียวยาจากเหตุการณ์หมิงตี้ฯ  ศยามล กล่าวว่า ขณะเกิดเหตุ ปภ.จัดทำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คพ.ทำแผนปฏิบัติบัติการฉุกเฉินจากสารเคมีและวัตถุอันตราย เพื่อสนับสนน แต่ตรวจสอบพบว่า มีการจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่เก็บสารเคมี และฐานข้อมูลตาม พรบ.วัตถุอันตราย  แต่อปท. และสาธารณชนไม่รับทราบ  ทำให้การทำงานบรรเทาสาธารณภัยขาดข้อมูล ประเมินความเสี่ยง ส่งผลระงับเหตุล่าช้า

การตรวจสอบผลกระทบที่เกิดขึ้น วันที่ 6 ก.ค. 64 คพ.พบฟอร์มัลดีไฮด์สูงกว่าค่าปลอดภัยในพื้นที่โรงงาน  วันที่ 7-8 ก.ค.64 พบสไตรีนโมโนเมอร์เกินค่าความปลอดภัย มีการรวบรวมพยานหลักฐานและประเมินค่าใช้จ่ายในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม ส่วนหน่วยงานสาธาณสุขเฝ้าระวังและคัดกรองสุขภาพประชาชน เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ติดตามสุขภาพในระยะ 1 เดือน  6 เดือน และ 1 ปี หลังเกิดเหตุ

“ แม้โรงงานหมิงตี้ฯ จะได้ใช้ประโยชน์ที่ดินก่อนจะมีกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมือง  แต่ข้อเท็จจริงผังเมืองและการควบคุมอาคารในพื้นที่ยังไม่ได้พิจารณามาตรการป้องกันผลกระทบจากโรงงานเท่าที่ควร  ในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ มีโรงงานที่เสี่ยงอันตรายจากการประกอบกิจการโรงงานหรือครอบครองวัตถุอันตรายถึง 203 แห่ง หน่วยงานระดับภูมิภาคและท้องถิ่นขาดข้อมูลเหล่านี้ ไม่มีเครื่องมือ อุปกรณ์ และคนในการตรวจสอบมลพิษฉุกเฉินจากอุบัติภัยสารเคมี  นอกจากนี้ จังหวัดสมุทรปราการเป็นเขตควบคุมมลพิษตั้งแต่ปี 2537  แต่แผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม ไม่ครอบคลุมกำจัดมลพิษสารเคมีหรือวัตถุอันตราย “ ศยามล กล่าว

เวทีนี้ กสม.เสนอมาตรการที่เหมาะสมป้องกันละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้จังหวัดสมุทรปราการ ติดตามผลการชดเชยและเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายให้ครบถ้วนครอบคลุม ทั้งความเสียหายต่อชีวิตและร่างกาย ทรัพย์สิน สุขภาพอนามัย ให้กรมโรงงานตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเรียกค่าใช้จ่ายที่รัฐเข้าช่วยเหลือ เคลื่อนย้าย บำบัด หรือขจัดความเสียหายที่เกิดจากวัตถุอันตรายตามกฎหมายสัตถุอันตราย  ให้ คพ. เรียกค่าเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม รวมทั้งติดตามตรวจสอบสารเคมีตกค้างในพื้นที่โรงงานและพื้นที่ใกล้เคียงจนกว่าจะแล้วเสร็จต่อไป

ส่วนข้อเสนอในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้คณะกรรมการผังเมืองจังหวัดสมุทรปราการ และ อบจ.สมุทรปราการ ทบทวนผังเมืองรวมจังหวัดสมุทรปราการ หากพบว่าโรงงานใดใช้ประโยชน์ที่ดินผิดประเภทอาจกระทบต่อสุขลักษณะประชาชน สวัสดิภาพสังคม ให้พิจารณาระงับการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือกำหนดมาตรการการใช้ประโยชน์ที่ดินเข้มงวด

รวมถึงให้ตรวจสอบโรงงานทั่วประเทศที่ได้ขยายโรงงานในที่ดิน ซึ่งใช้ประโยชน์ก่อนมีการบังคับใช้กม.ผังเมืองรวม เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงเกิดอุบัติภัย หากเสี่ยงน้อยให้กำหนดมาตรการความปลอดภัยหรือแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เหมาะสม หากมีการใช้ที่ดินผิดไปจากกม.ผังเมือง  ให้นำมาตรการตาม กม.ผังเมืองมาปรับใช้ตามหลักเกณฑ์ รวมถึงปรับปรุงระเบียบกฎหมายการขยายโรงงาน  รวมทั้งให้มีการจัดตั้งกองทุนโดยให้ผู้ประกอบการนำส่งเงินในสัดส่วนที่เหมาะสม อีกทั้งเสนอให้ปรับปรุงแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในแต่ละท้องที่ เพิ่มมาตรการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากการประกอบกิจการ ส่วนกระทรวงทรัพย์ผลักดันให้มีกฎหมายเปิดเผยข้อมูลการปลดปล่อยสารเคมี

ครบ 1 ปี หมิงตี้ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า บทเรียนจากหมิงตี้โมเดลต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย แต่ผ่านมา 1 ปี เรายังไม่เห็นการจัดทำผังเมืองและบังคับใช้กฎหมายผังเมืองที่คุ้มครองสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ยังไม่เห็นมาตรการรับมือภัยพิบัติจากอุตสาหกรรมสารเคมี  เราไม่เห็นการติดตามเฝ้าระวังด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพิษภัยแฝงเร้นและภัยเรื้อรัง กรณีหมิงตี้พบฟอร์มัลดีไฮด์ฟุ้งกระจาย ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง

“ การชดเชยเยียวยาผู้เสียหาย ประเทศไทยควรมีกฎหมายชัดเจน ถ้าต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อไป   รวมถึงออกกฎหมาย PRTR ว่าด้วยการรายงานและเปิดเผยข้อมูลปล่อยมลพิษและการเคลื่อนย้ายสารอันตราย เพราะจากการสำรวจประเภทโรงงานที่ใช้สารเคมีใกล้เคียงกับโรงงานหมิงตี้กระจายตัวใน กทม. มากถึง 969 โรง นครปฐมมี 389 โรง นนทบุรี 104 โรง ปทุมธานี 268 โรง สมุทรสาคร 1,000 กว่าโรง เรามีระเบิดเวลาใกล้ตัวตลอดเวลา  “เพ็ญโฉมย้ำต้องเร่งป้องกัน

ด้าน ธีรพร วิริวุฒิกร นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ คพ. เสนอแนะผ่านเวทีนี้ว่า การป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติภัยสารเคมีซ้ำอีก ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ผู้ประกอบการโรงงานกำหนดวิธีปฏิบัติงานสำหรับกิจกรรมและพื้นที่ใช้สารเคมี แจ้งรายชื่อสารเคมี ปริมาณ แผนผังแสดงจุดเก็บ ครอบครอง และผลิต แจ้งรายชื่อสารเคมี ปริมาณและแผนผังจุดเก็บ  หน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลให้ตรวจสอบโรงงานสม่ำเสมอ  บังคับใช้กฎหมายเข้มงวด สร้างความตระหนักรู้ชุมชนรอบโรงงานเรื่องอันตรายจากสารเคมีในโรงงาน หน่วยงานสนับสนุนจัดทำแผนปฏิบัติการตอบโต้ฉุกเฉินมลพิษสารเคมี ที่สำคัญประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบโรงงานร่วมกับหน่วยงานรัฐ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชวนนักดื่ม “ตรวจตับ-เลิกจับขวด” ฟื้นฟูสุขภาพคืนความสุขครอบครัว

"งดเหล้าเข้าพรรษา" ในระยะเวลา 3 เดือน ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งในเทศกาลสำคัญ ที่มุ่งเน้นให้ชาวพุทธงดดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เพียงเป็นการรักษาประเพณีและศีลธรรมเท่านั้น

“สุรศักดิ์” รมช.ศธ. เดินหน้าขับเคลื่อนรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย ชูโมเดล “ศูนย์เรียนรู้รถรับส่งนักเรียนปลอดภัย จ.อยุธยา” ของสสส.

วันที่ 18 พ.ย. 2567 ที่ โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดศูนย์การเรียนรู้การจัดการรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัย โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ภายในงานเวทีสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาศูนย์เรียนรู้รถรับส่งนั

'สนธิญา' ยื่น 'กสม.' สอบ 'ทักษิณ' ละเมิดสิทธิ์ หานักร้องเป็นหมา

ที่สำนักงาน​คณะกรรมการ​สิทธิมนุษยชน​แห่ง​ชาติ​ (กสม.)​ นายสนธิญา สวัสดี เดินทางยื่นหนังสือ พร้อมหลักฐานภาพข่าวการหาเสียงนายก องค์การ

สสส.สานพลังภาคี ขจัดความเหลื่อล้ำกิจกรรมทางกาย ดึงคนไทยสู่เวอร์ชั่นใหม่

กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม

สสส.-สคล. ผนึกภาครัฐ เอกชน จัดแข่งฟุตซอลเยาวชนไม่เกิน 15 ปี ชิงถ้วยกรมสมเด็จพระเทพฯ

สสส. โดยสมาคมเครือข่ายงดเหล้าและปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ (สคล.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายและภาคเอกชน รวม 7 องค์กร ลงนามความร่วมมือ พร้อมจัดแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ

"สิทธิในอาหารเพื่อชีวิตที่ดี" ความตระหนักรู้เสริมสุขภาวะ

เด็กทั่วโลกเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านอาหาร เพราะการบริโภคไม่สมดุล ส่งผลต่อสุขภาวะอ้วนผอม ชาวโลกเผชิญความอดอยากเกือบ 300 ล้านคน