ร่างรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2565 ฉายภาพใหญ่ๆ หลายประเด็นที่มีความน่าเป็นห่วง ตั้งแต่การใช้พลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียนที่ลดลงตามลำดับ สวนทางกับเป้าหมายในแผนพลังงานที่ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ส่วนพื้นที่ทิ้งขยะชุมชน แหล่งรับกำจัดกากของเสียอุตสาหกรรม และนิคมอุตสาหกรรม ตรวจพบปริมาณโลหะหนักเป็นพิษและสารอินทรีย์ระเหยง่ายเกินเกณฑ์มาตรฐานน้ำบาดาล พื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยและบริเวณทะเลสาบสงขลาคุณภาพน้ำบาดาลมีความกร่อยเค็มเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมา สถิติการบุกรุก การเกิดไฟป่า คดีสัตว์ป่าเพิ่มขึ้น สัตว์ป่าคุ้มครองถูกคุกคามมากกว่า 21% ส่งผลให้จำนวนชนิดลดลงในระดับน่ากังวล ปัญหาความขัดแย้งกับคนและสัตว์ป่ายังน่ากังวล โดยเฉพาะคนกับช้าง คนกับลิง พบชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน กระทบความหลากหลายทางชีวภาพ
ในขณะที่การกัดเซาะชายฝั่งยังเป็นปัญหา ตอนนี้มีพื้นที่กัดเซาะมากกว่า 822 กิโลเมตร ที่น่าเศร้ารายงานระบุพบการเกยตื้นของสัตว์ทะเลหายากทั้งสิ้น 818 ตัว เป็นเต่าทะเลมากที่สุดเกือบ 500 ตัว รองลงมาโลมาและวาฬ และพะยูน โดยถูกพันรัดจากขยะทะเล ปริมาณขยะทะเลก็เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ พบว่า พื้นที่ป่าชายหาก ป่าพรุ และหญ้าทะเลลดลง
สำหรับมูลฝอยติดเชื้อปี 64 มีมากกว่า 9 หมื่นตัน พุ่งขึ้น 80% ผลพวงจากโควิด ด้านของเสียอันตราย การนำเข้าสารเคมีภาคเกษตรก็เพิ่มขึ้น การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและซากอิเล็กทรอนิกส์ ส่งสัญญาณปัญหาขยะยังไม่คลี่คลาย
แต่สถานการณ์สิ่งแวดล้อมบ้านเราไม่ได้เลวร้ายไปหมด มีหลายประเด็นดีขึ้น ไม่ว่าจะพื้นที่ป่าของไทยมีแนวโน้มคงที่ ป่าชายเลนเพิ่มขึ้น ความสมบูรณ์ของทรัพยากรประมงดีขึ้น แนวปะการังสถานภาพสมบูรณ์ดี ค้นพบสปีชีส์ใหม่ในไทยอย่างต่อเนื่อง ส่วนคุณภาพอากาศ ฝุ่น 2.5 และสถานการณ์หมอกควันในภาคเหนือมีแนวโน้มดีขึ้น คุณภาพน้ำผิวดินและคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่ง ณ จุดตรวจวัดต่างๆ ดีขึ้น พบสัตว์ทะเลหายากและเต่าทะเลวางไข่เพิ่มขึ้น
การจัดทำรายงานที่สำคัญระดับชาติต้องถูกต้อง เหตุนี้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อ “ร่างรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2565” เพื่อรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงร่างรายงานฯ ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีใช้ประกอบการตัดสินใจกำหนดนโยบายและวางแผนการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย นายมนต์สังข์ ภู่ศิริวัฒน์ รองเลขาธิการ สผ. เป็นประธาน
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดนโยบายและแผน การจัดทำรายงานฯ แต่ละปีให้ความสำคัญกับความถูกต้องและชัดเจนของข้อมูลคุณภาพสิ่งแวดล้อมในแต่ละสาขา ปีนี้สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นหลายสาขา เช่น สัดส่วนการเกิดขยะมูลฝอยลดลงจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวชะงักจากสถานการณ์โรคโควิด- 19 แต่จากนี้ไปสถาการณ์เริ่มคลี่คลายและจะกลับมาเป็นปกติ เป็นความท้าทายในการกำหนดนโยบายป้องกันปัญหาเดิมไม่ให้เกิดขึ้นอีก
ร่างรายงานฯ นี้ ผอ.TEI กล่าวด้วยว่า มีการคาดการณ์แนวโน้มในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า จะมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินจากการขยายตัวของพืชเศรษฐกิจและชุมชน ถ้าไม่มีมาตรการจัดการใช้ที่ดินเหมาะสม จะเกิดปัญหาดินเสื่อมโทรม ชะล้างพังทลาย ปุ๋ยเคมีตกค้าง อีกทั้งมีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวเศรษฐกิจและคนเดินทางปกติ มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคพลังงานเพิ่ม
“ ปัญหาขยะยังต้องเร่งจัดการ โดยเฉพาะขยะติดเชื้อ ขยะพลาสติก ส่วนความหลากหลายทางชีวภาพบนบกและในทะเลเริ่มกลับมาถูกคุกคาม นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติจะส่งผลกระทบชัดเจนมากขึ้น เสนอแนะให้ทำระบบจัดการขยะมูลฝอยในแหล่งเที่ยวทะเล กำหนดมาตรการพื้นที่มีความสำคัญหรืออ่อนไหวทางสิ่งแวดล้อม “ ดร.วิจารย์ กล่าว
สำหรับความคิดเห็นต่อร่างรายงานฯ ธันณี ศรีสกุลไชยรัก เจ้าหน้าที่วิชาการโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) กล่าวว่า ร่างรายงานฉบับนี้ เน้นการให้ข้อมูลคุณภาพสิ่งแวดล้อมในแต่ละสาขา ขาดการวิเคราะห์ประเด็นคุณภาพสิ่งแวดล้อมร่วมกันของปี เพื่อเป็นไฮไลท์ดึงออกมาสื่อสารกับทุกหน่วยงาน นำไปสู่การแก้ปัญหาหรือผ่อนคลายวิกฤต อีกทั้งขาดการเชื่อมโยงสถานการณ์โลกที่ส่งผลต่อประเทศไทย ไม่มีการนำเสนอบทบาทของแต่ละหน่วยงานเพื่อแก้ปัญหา กลุ่มเป้าหมายรายงานนี้เหมาะสำหรับผู้บริหารเชิงนโยบายประกอบการตัดสินใจ แต่หากย่อยเป็นรายงานเพื่อกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น ท้องถิ่น สถาบันการศึกษา หรือเยาวชน จะเกิดประโยชน์มากขึ้น รายงานต้องเน้นการป้องกัน ไม่ให้ประเทศวนเวียนกับปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วน
บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การจัดทำรายงานปีนี้ควรเพิ่มข้อมูลสถิติด้านสิ่งแวดล้อของไทย ซึ่งสามารถเปรียบเทียบกับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมเพื่อนบ้านระดับอาเซียนและโลกได้ เพื่อเทียบว่า ไทยทำเพียงพอหรือยัง ทำอะไรได้อีก หรือทำให้ดีขึ้นได้อีกหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนพื้นที่ป่า สัดส่วนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเพิ่มพื้นที่สีเขียวต่อประชากร จะเป็นแรงกระตุ้น แรงกดดันจากสถานการณ์โลก อีกทั้งสามารถสื่อสารกับสังคมให้ตระหนักความเสี่ยง
ส่วนสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมรายสาขา บัณฑูรเห็นว่า เนื้อหายังไม่ครอบคลุม เช่น ด้านที่ดินควรเสริมข้อมูลเรื่องความเหลื่อมล้ำ การกระจายการเข้าถึงที่ดิน ข้อมูลสัดส่วนการถือครองที่ดิน ด้านทรัพยากรน้ำในร่างรายงานขาดการนำเสนอความคืบหน้าในการจัดตั้งคณะกรรมการจัดการลุ่มน้ำ การจัดสรรสิทธิในการใช้น้ำแต่ละลุ่มน้ำ จะเป็นเครื่องมือคลี่คลายแก้ปัญหา ซึ่ง สทนช.กำลังทำอยู่
ด้านพลังงานยังขาดน้ำหนักบทบาทภาคเอกชนที่ขับเคลื่อนเรื่องพลังงานสะอาด อีกทั้งขาดความก้าวหน้าเกี่ยวกับฐานข้อมูลอุตสาหกรรมรายประเภทของชาติ ปัจจุบันข้อมูลต่างคนต่างมี มองคนละมุม ตนเสนอให้นำแผนปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ทั้งระบบยุติธรรมสิ่งแวดล้อมที่ก้าวหน้า มีการจัดทำร่างวิธีพิจารณาคดีเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม การกำหนดพื้นที่รับผิดชอบทางทะเล กรณีเกิดเหตุน้ำมันรั่ว การจัดการน้ำ แต่ละเรื่องมีความคืบหน้าอย่างไรนำมาใส่เพื่อปรับปรุงรายงานให้สมบูรณ์เพิ่มขึ้น
ข้อเสนอแนะต่อการจัดทำรายงานฯ บัณฑูร กล่าวว่า เพิ่มน้ำหนักความสำคัญของภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคมที่ส่งผลต่อสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม การนำเสนอในเชิงภาพรวมของระบบและโครงสร้างการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ไม่ได้แยกรายสาขา เครื่องมือบริหารจัดการ เช่น SEA EIA EHIA เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ เครื่องมือทางภาษีก้าวหน้าไปถึงไหน มีการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน ข้อจำกัด ซึ่งเป็นสาเหตุปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายมากขึ้น
“ ถ้าปรับปรุงรายงานปีนี้ทันอยากให้เพิ่มเติม ส่วนปีหน้าเสนอการจัดทำระบบการราบงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เท่ากันสถานการณ์นำไปใช้ประโยชน์ได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คในการรวบรวม ส่งข้อมูล เป็นระบบที่มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมากขึ้น มีการรายงานเป็นดิจิทัลที่เปิดเผยสู่สาธารณะ “ บัณฑูร กล่าว
มุมมองจากผู้ขับเคลื่อนการบริหารจัดการท้องถิ่น สมชาย จริยเจริญ อดีตนายกเทศบาลเมืองแกลง จ.ระยอง กล่าวว่า รายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมต้องชี้นำสังคม ซูมให้ชัดถึงสิ่งที่ผิดปกติ ทำให้คนตายเร็วขึ้น สร้างความตระหนักให้ประชาชน การจัดการสิ่งแวดล้อมต้องเชื่อมโยงสุขภาพและรายได้ของประชาชน รายงานที่เป็นประโยชน์ต้องกระตุ้นให้ท้องถิ่นอยากนำไปปรับใช้ สะท้อนบทบาทท้องถิ่น อีกทั้งอยากให้เพิ่มน้ำหนักด้านเกษตร เพราะสร้างเศรษฐกิจของประเทศ “ อยากเห็นรายงานที่สามารถชวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแหวกวงล้อมปล่อยปลา ปลูกป่า ปลูกต้นไม้ เก็บขยะ แล้วปักป้ายถ่ายภาพ ปัจจุบัน อปท. ไม่มีแผนจัดการสิ่งแวดล้อมเฉพาะด้าน มีแต่โครงการ ด้วยไม่สามารถสังเคราะห์ภูมินิเวศท้องถิ่น ทั้งที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดในพื้นที่ท้องถิ่น นอกจากนี้ ร่างรายงานขาดการประเมินหน้าที่และศักยภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้แต่ละปีเกิดปัญหาซ้ำซาก ฝุ่นควัน น้ำท่วม รายงานต้องเสนอหนทางเยียวยาเพื่อให้มีพลวัตรในการแก้ไขสิ่งแวดล้อม ปีต่อไปอยากเสนอให้การจัดทำรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมรายภาคเพื่อให้ท้องถิ่นแตะต้องได้ “ สมชาย เสนอทิ้งท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดรายงานคุณภาพสิ่งแวดล้อมปี 67 ยังคงวิกฤต!
ร่างรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2567 สะท้อนให้เห็นสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมสาขาต่างๆ ของประเทศไทยในระหว่าง พ.ศ. 2566 – 2567 ปีล่าสุด หลายสาขามีความน่าวิตก ตั้งแต่การปลูกพืชเศรษฐกิจหลักในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม การตกค้างสารเคมีทางการเกษตรในดิน
Food Waste ปัญหาใหญ่ที่ซ่อนในศูนย์อาหาร
ศูนย์อาหารถือเป็นสวรรค์ของนักกิน เพราะเป็นแหล่งรวมอาหารนานาประเภท บางแห่งมีร้านดัง สะดวกสบายเพราะจัดพื้นที่ให้นั่งรับประทาน พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก มีเมนูอร่อย จานด่วน ราคาสบายกระเป๋า ทำให้เป็นแหล่งรวมร้านอาหารและผู้บริโภคจำนวนมาก
นักวิชาการชี้โครงการ 'ผันน้ำยวม' มูลค่าแสนล้านเสี่ยงผิดกม. สร้างหนี้รัฐมหาศาล ไม่คุ้มค่า
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรมชลประทาน ซึ่งได้มีการรับฟังความคิดเห็นโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม โดยมี ดร.ศิตางศุ์ พิลัยหล้า ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กองทุนภูมิอากาศไทย หนุนลดก๊าซ-ปรับตัวสู้โลกร้อน
เพื่อส่งเสริมความร่วมมือมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 ของประเทศไทย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยกองทุนสิ่งแวดล้อม ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) จัดงานสัมมนาวิชาการกองทุนสิ่งแวดล้อม ประจำปี พ.ศ. 2566
‘กรมโลกร้อน’คอนมานโดสู้’โลกรวน’
ไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศ ที่คาดว่าจะต้องเผชิญความเสี่ยง และได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งอุณหภูมิร้อนขึ้น การเกิดภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำ รวมถึงไฟป่าตามมา หรื
กางแผนผลักดัน OECMs ตามเป้า 30X30 ป้องกันพืช-สัตว์ สูญพันธุ์
เนื่องในวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ ประจำปี 2566 “From Agreement to Action : Build Back Biodiversity “ จัดโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดวงเสวนาหัวข้อ “OECMs โอกาสในการบรรลุเป้าหมาย 30 x 30 ของประเทศไทย”