‘อุทยานเบญจสิริ’สวนสาธารณะต้นแบบ Zero Waste

ภาพที่ไม่น่ามองทั้งขยะที่ล้นออกมาจากถัง ขวดน้ำพลาสติกที่ไม่ได้คัดแยก การใช้ถุงพลาสติกอย่างพร่ำเพรื่อ เป็นภาพที่เห็นจนชินตาในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ จากข้อมูลกรุงเทพมหานคร ปี 2564 ขยะที่เกิดขึ้นใน กทม.มีปริมาณ  8,675 ตันต่อวัน​ มีค่าใช้จ่ายในการกำจัด 7,127 ล้านบาท จัดเก็บค่าธรรมเนียมการกำจัดขยะได้เพีย​ง​ 512 ล้าน ขณะที่แนวโน้มปริมาณขยะเพิ่มสูงขึ้น

ปัญหาขยะเกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันที่บริโภคสินค้าแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง รวมถึงขยะพลาสติกจากฟู้ดเดลิเวอรี่ ทั้งช้อน ส้อม ขวดน้ำ ถุง หลอด โฟม การใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เมื่อขยะคือภาระของทุกคน จึงเป็นที่มาของการใช้ชีวิตยุคใหม่แบบ Zero Waste ขยะเหลือศูนย์ คือ การหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่สร้างขยะใหม่ ๆ โดยพยายามไม่ให้มีอะไรหลงเหลือจนเป็นขยะได้ รวมถึงคำนึงถึงการทิ้งขยะอย่างถูกประเภทควบคู่ไปด้วย

ขยะเหลือศูนย์ยึดหลักปฏิบัติง่ายๆ 3R ประกอบด้วย  Reduce ใช้วัสดุที่ก่อให้เกิดขยะให้น้อยลง Reuse การนำกลับมาใช้ใหม่ และ Recycle การหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ ล่าสุด มีการนำแนวทางนี้มาปรับใช้ในอุทยานเบญจสิริ เพื่อส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการคัดแยกขยะในพื้นที่สาธารณะผ่านโครงการBangkok Zero Waste Park  ภายใต้ธีม “The First Bangkok Zero Waste Park : สุขุมวิท คิดก่อนทิ้ง” ซึ่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับบริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด บริษัท แทคท์ โซเชียล คอนซัลติ้ง จำกัด และภาคีเครือข่ายร่วมขับเคลื่อนการจัดการขยะที่แหล่งกำเนิด

“อุทยานเบญจสิริ” เป็นสวนสาธารณะใจกลางเมืองในย่านสุขุมวิทที่คนกรุงรู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะด้วยทำเลที่ตั้งที่อยู่ใกล้ความสะดวกสบายอย่างศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม (The Emporium) และศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ (The EmQuartier) และรถไฟฟ้าสายหลัก ทำให้อุทยานแห่งนี้เป็นพื้นที่สีเขียวที่คนเมืองนิยมมาทำกิจกรรม พักผ่อน คลายความเหนื่อยล้าจากการทำงาน และออกกำลังกายได้อย่างสะดวก มีผู้มาใช้บริการเฉลี่ยกว่า   2,000 คนต่อวัน  แต่ละวันจะมีขยะขวดพลาสติก ขวดแก้ว  กระป๋อง  แก้วพลาสติกและฝา  และขยะเหลือทิ้งที่เกิดขึ้น

นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพฯ ต้องจัดการขยะอย่างยั่งยืน คัดแยกขยะที่ต้นทาง ลดปริมาณขยะที่นำไปกำจัดขั้นสุดท้ายให้เหลือน้อยที่สุด จึงพยายามผลักดันและส่งเสริมบทบาทของทุกภาคส่วนให้ตระหนักรู้ เห็นคุณค่าและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการลดและคัดแยกขยะที่ต้นทาง เพื่อนำขยะกลับมาใช้เป็นทรัพยากรหมุนเวียนให้ได้มากที่สุด​             

“ Bangkok Zero Waste Park  เป็นความพยายามในการลดปริมาณขยะ การคัดแยกขยะ เพื่อใช้ประโยชน์ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน กทม. เลือกอุทยานเบญจสิริเป็นพื้นที่นำร่อง เพราะเป็นสวนสาธารณะที่ผ่านเกณฑ์การประเมินสำนักงานสีเขียว (Green Office) ปี 2563 ในระดับดี เป็นสวนที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง มีผู้มาใช้สวนจำนวนมาก มีผู้ประกอบการห้างร้านที่มีศักยภาพสนับสนุนโครงการอยู่บริเวณโดยรอบ​ ด้วยความร่วมมือทุกภาคส่วนในการจัดการขยะในอุทยานแห่งนี้  เป้าหมายเป็น​ First Bangkok Zero Waste Park สวนสาธารณะต้นแบบ ควบคู่กับการส่งเสริมให้ภาคีพัฒนานวัตกรรมการจัดการขยะให้สามารถนำกลับมาเป็นทรัพยากรเกิดประโยชน์อย่างครบวงจร “ รองปลัด กทม. กล่าว

​ ในแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร 20 ปี พ.ศ. 2556-2575  มุ่งเน้นจัดการขยะที่แหล่งกำเนิด โดยทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมตามแนวคิดของเสียเหลือศูนย์ (Zero Waste Management) สร้างความตระหนักรู้ในการจัดการขยะมูลฝอยที่ต้นทาง ตามหลัก 3R  และทำให้มูลฝอยเหลือน้อยที่สุดและกำจัดที่เหลือ (Residue) ด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิผล

ตอนนี้พื้นที่นำร่องอุทยานเบญจสิริได้ตั้งถังขยะต้นแบบทั้งหมด 8 จุด ได้รับความร่วมมือจาก บริษัท แทคท์ โซเชียล คอนซัลติ้ง จำกัด ออกแบบในรูปแบบใหม่ เพื่อให้ผู้ใช้บริการเกิดการฉุกคิดและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการคัดแยกและทิ้งขยะให้ถูกต้อง โดยการทิ้งขยะผ่านถัง “เท ทิ้ง เท ทิ้ง” ภายใต้แนวคิด “แยกง่าย มีทางไป และได้ผลลัพธ์” พร้อมกับติดตั้งป้ายให้ความรู้การจัดการขยะและป้ายแสดงปริมาณขยะที่คัดแยกได้เพื่อแสดงผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม

ผู้มาใช้สวนยังสามารถเรียนรู้เส้นทางการจัดการขยะภายในสวนสาธารณะจากต้นทางถึงปลายทางได้อย่างชัดเจนเป็นรนูปธรรม โดยสร้างศูนย์เรียนรู้ขึ้นภายในอุทยานเบญจสิริ สาธิตการนำขยะที่คัดแยกแต่ละประเภทไปใช้ประโยชน์ได้จริง เช่น การนำขยะอินทรีย์ไปทำปุ๋ยหมัก นำไปใช้กับแปลงปลูกและแปลงสาธิตภายในสวน เป็นการหมุนเวียนขยะไปใช้ประโยซน์ที่เห็นผลและใช้ได้จริง

พื้นที่ 5 โซน ประกอบด้วยโซนนิทรรศการและกิจกรรม จัดแสดงความเป็นมาของโครงการ วิธีการคัดแยกของขยะแต่ละประเภท รวมถึงแนะนำวิธีการใช้ และการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มไลน์ Line OA : Envi Hero โซน Recycle สำหรับชั่งน้ำหนักและรวบรวมขยะรีไซเคิลเพื่อเตรียมส่งต่อ

โซน Organic สำหรับตั้งเครื่องทำปุ๋ยชีวภาพจากเศษอาหาร เป็นการจัดการขยะอินทรีย์ จัดแสดง วิธีการแปรรูป ขยะอินทรีย์รูปแบบต่างๆ เให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น นำเศษอาหารมาทำปุ๋ยปลูกพืชผักสวนครัวและใส่ต้นไม้ การทำน้ำหมักชีวภาพ รวมถึงการนำใบไม้แห้ง ซึ่งเป็นขยะอินทรีย์ที่มีจำนวนมากในสวนสาธารณะมาใช้ประโยชน์ เป็นต้น

โซน General Waste สำหรับเก็บอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องและเก็บรวบรวมขยะมูลฝอยทั่วไปก่อนส่งไปกำจัด และโซนแปลงปลูกผัก โดยผู้ใช้สวนสาธารณะสามารถร่วมทำกิจกรรม ซึ่งอุทยานเบญจสิริจะจัดกิจกรรมสนับสนุนให้เกิดพฤติกรรมการคัดแยกขยะภายในสวนทุกเดือน เช่น นำขยะเศษอาหารมาแลกต้นไม้หรือปุ๋ยภายในศูนย์การเรียนรู้ เป็นต้น สร้างแรงจูงใจให้คนเมือง โดยเฉพาะชาวสุขุมวิทร่วมแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมภายในพื้นที่สวนสาธารณะตั้งแต่ต้นทางได้อย่างถูกต้อง สำนักสิ่งแวดล้อมจะขยายผลโครงการไปในสวนสาธารณะและพื้นที่อื่นๆ ต่อไป 

เสียงจากภาคเอกชนย่านสุขุมวิท  วรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า เดอะมอลล์ กรุ๊ป เป็นศูนย์การค้าที่สนับสนุนให้อุทยานเบญจสิริเป็นต้นแบบสวนสาธารณะที่บริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืนแห่งแรกในประเทศไทย “The First Bangkok Zero Waste Park” รณรงค์ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการคัดแยกขยะในพื้นที่สาธารณะ 

จัดตั้งจุดบริการคัดแยกประเภทขยะ 4 ขั้นตอน ได้แก่ เทน้ำ ถังสำหรับเทน้ำและของเหลว เพื่อลดการปนเปื้อน เพิ่มโอกาสในการนำมาใช้ใหม่, ทิ้งวัสดุรีไซเคิล แก้วพลาสติก ขวดพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋องอลูมิเนียม, เทเศษอาหาร เปลือกผลไม้ต่างๆ นำไปหมักปุ๋ยชีวภาพ, ทิ้งขยะอื่นๆ ถังสำหรับขยะทั่วไป อาทิ กล่องข้าว กล่องนม แก้วกระดาษ ช้อน ส้อม ตะเกียบ ไม้เสียบลูกชิ้น เพื่อส่งต่อสู่กระบวนการบริหารจัดการขยะอย่างถูกต้อง เช่น ส่งขยะสู่ศูนย์รีไซเคิลแปรรูปหรือส่งต่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า และ กำจัดด้วยระบบของ กทม. เพื่อคัดแยกขยะไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด  

โปรเจกต์นี้เป็นการเปลี่ยนพื้นที่สวนสาธารณะเป็นพื้นที่จัดการขยะตั้งแต่แหล่งกำเนิด โดยยังคงลักษณะสวนร่มรื่น ภูมิทัศน์สวยงาม และกิจกรรมของผู้คนไว้ แถมยังเตรียมต่อยอดขยายผลไปในพื้นที่สาธารณะอื่นของมหานครด้วย เดินเที่ยวอุทยานเบญจสิริคราวนี้มีอะไรให้ศึกษาและเก็บเกี่ยวความรู้ทุกตารางนิ้ว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลัดเลาะชมประติมากรรม'มังกร' ย่านพร้อมพงษ์

‘พร้อมพงษ์’ อีกหนึ่งย่านใจกลางเมืองที่เต็มไปด้วยความคึกคักและสีสันความมีชีวิตชีวาของหลากหลายแกลเลอรี  คาเฟ่ที่มีดีไซน์  รวมถึงมีโลเคชันเก๋ๆ  ให้เลือกไปเช็กอินมากมาย กลายเป็นคอมมูนิตี้ที่รวบรวมทั้งพื้นที่สำหรับสายอาร์ต เติมเต็มไลฟ์สไตล์และโมเมนต์ดี ๆ

'อภิสิทธิ์' เชื่อประชาชนรู้นโยบายเร้าใจหลายครั้งทำประเทศเจ๊ง

“อภิสิทธิ์”ปราศรัย“ปชป.”คิดถึงผู้สูงอายุก่อนเพื่อน “รัฐบาลชวน”เป็นผู้ริเริ่ม เชื่อปชช.รู้นโยบายเร้าใจหลายครั้งทำประเทศเจ๊ง บางคนจบที่คุกเพราะเชื่อนาย

ขอนแก่น..ต้นแบบแก้ไขขยะมูลฝอย ขับเคลื่อนไทยสู่สังคม Zero Waste

แรงบันดาลใจให้ชุมชนไร้ขยะ เป็นคุณสมบัติสำคัญที่ผู้นำชุมชนต้องสร้างพลังให้ชุมชนแข็งแรง พร้อมที่จะสร้างคนรุ่นใหม่ หาญกล้ากระจายอำนาจสร้างความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี

ปฏิรูประบบจัดการขยะ กทม. ท้าทายความเป็น' Great Governor'

แต่ขยะที่แม้จะอยู่ในถัง หรือนำไปที่ ที่ทิ้งขยะแล้ว ยังมีเบื้องหลังที่จะทำให้เมืองหลวงและประเทศไทย ดูเป็นประเทศที่พัฒนาน่าชื่นชมได้ยิ่งขึ้นอีก ก็คือ "การจัดการแยกขยะ "ขยะที่แยกได้ มีข้อดีคือ การลดปริมาณขยะ นำกลับไปใช้ใหม่ หรือที่เรียกว่ารีไซเคิล และนำมาใช้ซ้ำ ฯลฯลดงลประมาณ ในการบริหารจัดการขยะ ที่ทั้งกระบวนการจัดการต้องใช้งบฯแตะ เกือบหมื่นล้าน ในแต่ละปี(เฉพาะกทม.)

กทม.เปิด 15 พื้นที่ทั่วกรุงให้ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.หาเสียง

กทม.เปิด 15 พื้นที่ให้ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.หาเสียง บอกต้องยื่นเรื่องขออนุมัติจากปลัด กทม.ก่อน 3 วันและต้องมีมาตรการป้องกันโควิด รวมทั้งต้องจัดหาอุปกรณ์-เวทีเอง