ต้นไม้ที่มีอายุเก่าแก่และมีขนาดใหญ่โต มีบทบาทสำคัญในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยิ่งไม้ใหญ่มากเท่าไหร่ก็ยิ่งสามารถเก็กกับคาร์บอนไว้ได้มากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะต้นไม้ในเมืองที่เขียวขจีทำหน้าลดอุณหภูมิของมหานครให้เย็นลง อย่างไรก็ตาม ไม้ใหญ่ที่ยืนต้นเด่นเป็นสง่า มีกิ่งก้านสาขาแผ่ขยายให้ร่มเงาที่ดูภายนอกแข็งแรงสมบูรณ์ดี แต่สุขภาพของต้นไม้อาจเสื่อมโทรมโดยเรามองไม่เห็น และอาจจะเกิดอุบัติเหตุไม้ล้มทับผู้คนบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้เหมือนที่เคยเกิดเหตุต้นไม้โค่นล้มขึ้นในหลายพื้นที่ เช่น เหตุต้นหางนกยูงฝรั่งโค่นล้มในจุฬาฯ เมื่อ 5 ปีที่แล้ว
ด้วยเหตุนี้ เหล่าวิศวะ จุฬาฯ เกรงว่าจะสูญเสียต้นไม้ใหญ่ได้พัฒนาอุปกรณ์สำหรับสแกนต้นไม้โดยใช้รังสีแกมมา (Gamma Ray) เพื่อสแกนตรวจสุขภาพของต้นไม้และวัดความหนาแน่นของเนื้อไม้ เป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย เริ่มใช้อุปกรณ์สำหรับสแกนต้นไม้โดยใช้รังสีแกมมาตรวจสุขภาพต้นไม้ในโครงการ Chula Big Tree เมื่อไม่นานมานี้ โดยสแกนต้นจามจุรีทรงปลูกอายุกว่า 60 ปี จำนวน 4 ต้น เดิมมี 5 ต้น แต่โค่นล้มไปก่อนที่จะทำการตรวจสอบจากพายุฝน ผลตรวจพบมี 2 ต้นที่มีโพรงขนาดใหญ่ แต่ทางจุฬาฯ ได้ใช้เหล็กค้ำยันต้นจามจุรีทรงปลูกไว้ก่อนหน้านี้ ต้นจามจุรีทรงปลูกใหญ่ที่สุดมีขนาดลำต้น 160 เซนติเมตร
อุปกรณ์สแกนต้นไม้ใช้รังสีแกมมาตรวจสุขภาพต้นไม้โครงการ Chula Big Tree
ทุกวันนี้ภารกิจตรวจสุขภาพต้นไม้ยังเดินหน้า โดยได้สแกนต้นจามจุรีบริเวณด้านข้างอาคารมหาจุฬาลงกรณ์รวมทั้งลานเกียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และคณะอื่นๆ รอบรั้วจามจุรีที่มีไม้ใหญ่มากมาย เพื่อเพิ่มความปลอดภัยแก่นิสิตและบุคลากรชาวจุฬาฯ นอกจากนี้ภาควิชาฯ ยังได้รับการติดต่อจากหน่วยงานต่างๆ ให้ออกไปสแกนต้นไม้ภายนอกมหาวิทยาลัยอีกด้วย
“ รังสีแกมมาสามารถสแกนทะลุลำต้นของต้นไม้ได้เปรียบได้กับการตรวจเอกซเรย์ร่างกายคนในโรงพยาบาล อุปกรณ์นี้จะช่วยตรวจสแกนสุขภาพของต้นไม้ว่าแข็งแรงดี มีโพรงที่เกิดจากการผุของเนื้อไม้หรือจากการกัดกินของปลวกหรือไม่ มีมากน้อยเพียงใด “ รศ.นเรศร์ จันทน์ขาว ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ อธิบาย
สำหรับอุปกรณ์สแกนต้นไม้ด้วยรังสีแกมมาได้รับการออกแบบเป็นพิเศษให้แสดงผลการตรวจที่แม่นยำ รวดเร็ว โดยไม่ต้องทำลายต้นไม้ ประกอบด้วยอุปกรณ์ที่ให้รังสีแกมมา หัววัดรังสีที่มีความไวสูงกว่าหัววัดรังสีธรรมดา อุปกรณ์วัดรังสีซึ่งต่อกับคอมพิวเตอร์ ระบบขับเคลื่อนสายพานที่ควบคุมด้วยรีโมทคอนโทรล ติดตั้งบนรถยกไฮดรอลิก
นอกจากนี้ พื้นที่บริเวณจะทำการสแกนต้นไม้ต้องเป็นพื้นเรียบและมีบริเวณพอสมควรเพื่อให้รถโฟร์คลิฟท์หรือรถไฮดรอลิกสามารถเข้าไปได้สะดวก
ภารกิจตรวจสุขภาพต้นไม้ในรั้วจามจุรี
รศ.นเรศร์ บอกว่า หัววัดรังสีที่ใช้มีความไวในการใช้งานมากกว่าปกติ 3-4 เท่า ทำให้ความเข้มข้นของรังสีต่ำ ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้งาน และตรวจสอบสุขภาพต้นไม้ได้ผลถูกต้องและรวดเร็วในเวลาเพียง 10 นาทีสำหรับการสแกนต้นไม้หนึ่งตำแหน่ง หากต้องการทราบตำแหน่งและขนาดของโพรงที่ละเอียดจะต้องสแกนต้นไม้ในหลายมุม รวมทั้งสแกนซ้ำเพื่อยืนยันผลการตรวจสอบต้นไม้ เมื่อพบว่าลำต้นกลวงจะมีการจัดทำอุปกรณ์ค้ำยันต้นไม้เพิ่มความแข็งแรง หรือฉีดซีเมนต์เข้าไปบริเวณโพรงต้นไม้ ในอนาคตจะพัฒนาเครื่องมือให้ใช้งานได้ง่ายยิ่งขึ้น มีระบบอัตโนมัติที่สามารถมองเห็นเป็นภาพตัดขวางภายในต้นไม้ได้ด้วย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับงบประมาณที่ได้รับ
ด้าน อาจารย์ ดร.มนัสวี เลาะวิธี ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์กล่าวว่า นอกจากตรวจสุขภาพต้นไม้ในโครงการ Chula Big Tree ภาควิชาฯ ได้รับการติดต่อจากหน่วยงานต่างๆ ให้ออกไปสแกนต้นไม้ภายนอกมหาวิทยาลัย ถือเป็นภารกิจการให้บริการวิชาการแก่สังคม
ตรวจวัดความหนาแน่นเนื้อไม้ต้นจามจุรี ซอยสมคิด
ล่าสุด ได้ทำการสแกนต้นจามจุรี 3 ต้น ขนาดลำต้น 80 – 95 ซม.ที่ริมคลองในซอยสมคิด ย่านชิดลม ระหว่างเซ็นทรัล เอ็มบาสซีและเซ็นทรัลชิดลม ซึ่งสำนักงานเขตปทุมวันและผู้ประกอบการมีโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์และมีการสร้างสะพานคนเดินข้ามคลองแสนแสบ เพื่อเป็นแหล่งพักผ่อนแห่งใหม่ของคนกรุง แต่บริเวณดังกล่าวมีไม้ใหญ่และอายุมาก รวมถึงต้นไม้ค้ำยันกับพื้นที่โดยรอบ จึงต้องตรวจสอบสุขภาพและความแข็งแรง ด้วยพื้นที่แคบมีการออกแบบเครื่องสแกนต้นไม้ใหม่ให้มีขนาดเล็กลง เปลี่ยนวัสดุเป็นอลูมิเนียมให้มีน้ำหนักเบา ใช้เวลาในการผลิต 5 วัน
“ ไปทำการสแกน 2 ครั้ง รวม 3 ต้น พบภายในลำต้นกลวงหรือเป็นโพรงขนาดใหญ่ทั้งหมด เมื่อได้ผลตรวจสอบแล้ว ทราบว่าทางโครงการจะมีทีมรุกขกรมาจัดทำอุปกรณ์ค้ำยันหรือฉีดวัสดุเรซิ่นเข้าไปในโพรงเพื่อทดแทนเนื้อไม้ กรณีที่ไม่สามารถค้ำยันได้ จะล้อมไม้ย้ายไปปลูกในพื้นที่อนุรักษ์หลังซอยสมคิด ป้องกันต้นไม้โค่นล้มทับคน เพราะต้นไม้ใหญ่สวยงามเหล่านี้อยู่คู่พื้นที่มานาน “ อาจารย์ ดร.มนัสวี บอก
นอกจากนี้ อาจารย์ระบุภาควิชาฯ ได้รับการติดต่อจากหน่วยงานในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่สนใจอุปกรณ์สแกนต้นไม้ด้วยรังสีแกมมา เนื่องจากในรั้วมหาวิทยาลัยมีไม้ใหญ่จำนวนมาก อุปกรณ์ที่ใช้เป็นการเจาะเข้าไปในเนื้อไม้ ไม่ใช่การตรวจสอบต้นไม้แบบไม่ทำลายด้วยรังสีแกมมา ซึ่ง มช.สนใจอุปกรณ์นี้ช่วยอนุรักษ์ต้นไม้ในเชียงใหม่
แม้ฉีดซีเมนต์ในโพรงไม้แล้ว เมื่อสแกนพบโพรงใหญ่ด้านใน
ในการปฏิบัติงานตรวจสุขภาพต้นไม้ อาจารย์ ดร.มนัสวี อธิบายว่า ถ้าเป็นต้นไม้พื้นที่กรุงเทพฯ สามารถยกอุปกรณ์สแกนต้นไม้ไปได้ ส่วนต้นไม้ในภูมิภาคต่างๆ ก็ไม่ยาก เพราะมี How To อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่ติดต่อต้องมีข้อมูลชนิดและขนาดของต้นไม้ชัดเจน เพื่อสามารถออกแบบเครื่องสแกนต้นไม้ใหม่ในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ต้นไม้แต่ละชนิดมีคุณสมบัติลดทอนรังสีต่างกัน เนื้อไม้เบา เนื้อไม้แน่น รังสีจะทะลุได้มากน้อยต่างกัน ภาควิชาฯ ยินดีนำอุปกรณ์ที่ให้รังสีแกมมาไปทดลองตรวจวัดความหนาแน่นของเนื้อไม้
“ กทม.มีต้นไม้ใหญ่ในเมืองจำนวนมาก ทั้งบริเวณริมถนน พื้นที่สาธารณะ ไม้ใหญ่อายุเก่าแก่ มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และให้ประโยชน์กับผู้คนมากมาย แต่ผ่านกาลเวลาเนื้อไม้แตก ภายในผุพัง แม้มีการอนุรักษ์ทดแทนเนื้อไม้เดิมแต่ก็เสื่อมสภาพทุกปี ไม้ใหญ่ในหลายพื้นที่น่ากังวล เมื่อไม่นานมานี้ เกิดต้นไม้โค่นล้มทับรถยนต์ในเขตสามย่าน ขอเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบสุขภาพต้นไม้ ประชาชนร่วมดูแลต้นไม้ในพื้นที่ตนเอง ไม่อยากให้ตัด ทำลาย หรือล้อมย้าย อยากให้ต้นไม้อยู่ในพื้นที่ ซึ่งเทคโนโลยีนี้ทำให้รู้ว่าต้นไม้เสื่อมสภาพระดับไหน ผลตรวจนำมาฟื้นฟูต้นไม้ ตัดกิ่งก้านลดน้ำหนัก ค้ำยันประคองลำต้น ช่วยให้ต้นไม้รอดตาย และสร้างทัศนียภาพสวยงาม ทั้งยังลดอุบัติเหตุท้องถนนและในชุมชน“ อาจารย์ ดร.มนัสวี กล่าวให้ทุกภาคส่วนลงมืออนุรักษ์ต้นไม้เพื่อให้สิ่งมีชีวิตนี้ได้ทำหน้าที่สำคัญอย่างที่ควรจะเป็นอีกต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'นักวิชาการสิ่งแวดล้อม' ชี้สัญญาณเตือนโลกกำลังจะเปลี่ยนไป จากอุณหภูมิสูงขึ้น หายนะจะตามมา
ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า
โค้งสุดท้ายสู่สนธิสัญญาพลาสติกโลก เป้าหมายที่ไทยควรกำหนดในเวทีโลก
ก่อนหน้าการเจรจาระหว่างรัฐบาลในการจัดทํามาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านมลพิษจากพลาสติก รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางทะเลที่จะมีการประชุมและเจรจาครั้งสุดท้าย (INC-5) เพื่อให้เกิดสนธิสัญญาพลาสติกโลก หรือ “Global Plastic Treaty” ณ เมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี
เตรียมรับมือหมอกควัน-ฝุ่นพิษ 2568
ใกล้จะเข้าสู่ฤดูกาลฝุ่นช่วงเวลาที่ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จะเริ่มสูงขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาประเมินช่วงหลังวันที่ 23 ตุลาคม 2567 ประเทศไทยตอนบนจะเริ่มมีฝนที่ลดลง และจะมีมวลอากาศเย็นแผ่เข้ามาบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย