‘บ้านปากทะเล’ โมเดลคนอยู่ได้ นกอยู่ได้

นาเกลือไม่ใช่แค่แหล่งผลิตเกลือ  แต่เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของนกชายเลนนานาชนิด โดยเฉพาะนาเกลือของ ต.ปากทะเล อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี  ฤดูหนาวของทุกปีระหว่างเดือนพฤศจิกายน –เมษายน จะมีนกอพยพหนีหนาวจำนวนมากมาพักพิงอาศัยหากินอยู่ที่นี่   แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า พื้นที่นาเกลือลดจำนวนลงทุกปี  กลายเป็นโรงงาน หมู่บ้านจัดสรร บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ   แม้กระทั่งรีสอร์ท คาเฟ่ชิคๆ ส่งผลกระทบต่อประชากรนกอพยพ 

พื้นที่ 49 ไร่ที่บ้าน ซึ่งสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยร่วมระดมทุนกว่า 8 ล้านบาท ซื้อที่นาเกลือให้เป็นถิ่นอาศัยของนกชายเลน เมื่อปี 2562  หลังวางแนวเขต ปรับพื้นที่ให้เหมาะสมกับนกชายเลน สร้างเนินดินให้นกเกาะ พักผ่อน    ผันน้ำเพื่อสร้างแหล่งอาหาร รวมถึงสร้างบังไพรสำหรับดูนก  วันนี้กลายเป็นพื้นที่อนุรักษ์บ้านปากทะเล  โมเดลต้นแบบเพื่อปกป้องนกชายเลนและรักษาวิถีเกลือสมุทร จ.เพชรบุรี

นกชายเลนที่เข้ามาใช้พื้นที่บ้านปากทะเลฤดูกาลที่ผ่านมา

นิยม ทองเหมือน ผู้จัดการโครงการบ้านปากทะเล สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า พื้นที่นาเกลือบ้านปากทะเลมีการจัดการสร้างแหล่งอาศัย แหล่งอาหารของนกชายเลน โดยไม่มีการทำลายระบบผันน้ำที่เกษตรกรพื้นที่แห่งนี้ใช้อยู่ เพราะหากปรับพื้นที่ไม่เหมาะสมจะตัดวงจรผลิตเกลือสมุทร ส่งผลกระทบต่อผู้คน วิถีชาวบ้าน เป้าหมายสูงสุดของการอนุรักษ์คนนาเกลือและนกชายเลนอยู่ร่วมกันได้  

นาเกลือมี 3 ประเภท คือ นาตาก นาเชื้อ และนาปลง แต่ละขั้นตอน ทำให้ค่าความเค็มเพิ่มขึ้น จนเป็นเม็ดเกลือ ซึ่งสมาคมฯ ซื้อพื้นที่นาตาก ซึ่งเป็นแหล่งอาหารหลักของนกชายเลน เพราะระดับน้ำและระดับความเค็มไม่สูงมาก นกหากินได้  ซึ่งพื้นที่ 49 ไร่ ชาวบ้าน ยังใช้ทำนาเกลือตามวิถีดั้งเดิม 

“ เพราะถ้าไม่มีคนทำนาเกลือ ก็ไม่มีแหล่งอาหารของนก ประชากรนกจะเบาบางไป  พื้นที่อนุรักษ์บ้านปากทะเลเกิดจากความร่วมมือของสมาคมฯ ชุมชน และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพราะระบบนิเวศนาเกลือสมุทรและกระบวนการผลิตเกลือเป็นตัวเชื่อมร้อย เกิดแหล่งอาหารของนกชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์  การซื้อพื้นที่ตรงนี้เป็นหลักประกันว่า นาเกลือจะไม่ถูกขายหรือเปลี่ยนสภาพเป็นอย่างอื่นจากเศรษฐกิจ สังคม การขยายตัวของเมือง นโยบายพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง ผังเมืองรวม ผังเมืองชายฝั่งที่เปลี่ยนไป  “ นิยม กล่าว

จากการเก็บข้อมูลปี 2564 นกชายเลนที่มาหากินบ้านปากทะเล พบว่า  เป็นนกอพยพ และนกประจำถิ่น  67  ชนิด ส่วนนกอพยพสำคัญที่บินลงมาหากินพื้นที่ตรงนี้ คือ นกชายเลนปากช้อน (Spoon-billed Sandpiper)  หรือที่เรียกกัน” สปูนนี”  นกอพยพทางไกล ระยะทาง 8,000 กิโลเมตร  ซึ่งจัดอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ปัจจุบันทั่วโลกเหลือนกชายเลนปากช้อน 600 กว่าตัว  จากการบันทึกพบนกสปูนนีเฉลี่ย 4-6 ตัวต่อฤดูกาล  และเคยพบสูงสุด 8-10 ตัว 

นกชายเลนปากช้อน  หรือ สปูนนี 

นอกจากนี้ ยังมีนกทะเลขาเขียวลายจุด (Spotted Greenshank ) ประชากรทั่วโลกมี 2,000 ตัว มาอาศัยปากทะเล  230 ตัว ในฤดูกาลที่ผ่านมา  ที่นี่ยังจัดกิจกรรมดูนกอย่างเพลิดเพลิน และส่งรายงานข้อมูลพบนกในพื้นที่เติมเต็มฐานข้อมูลนกอพยพกับทั่วโลกอีกด้วย  ทำให้มีการวางเป้าหมายเป็นแลนด์มาร์คดูนกชายเลนแห่งแรกของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พื้นที่นาเกลือสมุทรปากทะเลประสบปัญหากัดเซาะชายฝั่ง นิยมบอกว่า ที่ดินแปลงนี้ถูกกัดเซาะไปแล้ว 25 ไร่  จึงต้องเร่งป้องกัน  มีการผสานความร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจัดทำแผนป้องกันกัดเซาะและแนวไม้ไผ่กันคลื่น แต่ด้วยคลื่นลมแรงทำให้แนวกันคลื่นเสียหาย อยู่ระหว่างศึกษาวิจัยรูปแบบการปักไม้ไผ่สลับฟันปลาในหาดเลน  โดยใช้แสมทะเลเป็นไม้เบิกนำฟื้นฟูพื้นที่

 อีกความกังวลปีที่ผ่านมาราคาเกลือสมุทรตกต่ำเหลือเกวียนละ 800 บาท จากเดิมราคา 1,500 -1,600 บาท เป็นวิกฤตสินค้าภาคเกษตรเกลือสมุทร บวกกับสภาวะโลกร้อนที่ทำให้ฤดูกาลผิดเพี้ยน  น้ำทะเลหนุนสูง  จะส่งผลให้ไม่มีคนทำนาเกลือสมุทรแบบดั้งเดิม อนาคตที่ ดินจะเปลี่ยนมือ ถิ่นอาศัยของนกชายเลนจะลดลง    

ป้ายสื่อสารพื้นที่เป็นแหล่งอาศัยนกชายเลนอพยพ

“ บ้านปากทะเลเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่อยู่นอกเขตอนุรักษ์แรกๆ ของไทย โดยคนเป็นหัวใจหลักในกระบวนการทำงาน สัตว์  ป่า เป็นเครื่องมือทำงานอนุรักษ์ ถ้ามุ่งปกป้องนกเป็นตัวตั้งจะไม่ยั่งยืน การบริหารจัดการพื้นที่สู่อนาคตต้องทำเรื่องเศรษฐกิจชุมชน  แม้อาชีพนาเกลือจะเหลือน้อย แต่เป็นวิถีที่มีคุณูปการมหาศาล  ต้องต่อยอดเพิ่มมูลค่าเกลือสมุทร  จังหวัดต้องสร้างตลาดให้เกษตรกรนำผลผลิตสู่ผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ท้องถิ่นควรขยายผลออกเทศบัญญัติดูแลสิ่งแวดล้อมและจัดสรรงบประมาณส่งเสริมให้ชุมชนที่รักษาธรรมชาติ อย่างที่บ้านปากทะเลเกิดชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติบ้านปากทะเล เมื่อปี 2564 จากความรักและหวงแหนธรรมชาติในบ้านเกิด “ นิยม เสนอทางรอด

สำหรับโมเดลบ้านปากทะเล ผจก.โครงการฯ บอกจะพัฒนาสู่แหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศชายฝั่ง นาเกลือสมุทร และนกชายเลน รวมถึงวางเป้าหมายเป็นแลนด์มาร์คดูนกชายเลนแห่งแรกของประเทศไทย  ซึ่งเพชรบุรีถือเมืองของนก ถ้าจะดูนกชนิดต่างๆ ยังมีผืนป่าแก่งกระจานเป็นแหล่งดูนกชั้นนำ เราเตรียมจะผลักดันโมเดลนี้ให้เกิดในภาคเหนือ อีสาน และใต้ต่อไป  ขณะนี้สมาคมฯ ยังเปิดรับบริจาคสำหรับผู้ที่ต้องการสนับสนุนโครงการเพื่อนำไปเป็นทุนบริหารจัดการพื้นที่

นกชายเลนพึ่งพาระบบนิเวศนาเกลือสมุทร

ด้าน ขวัญข้าว สิงหเสนี ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย กล่าวว่า พื้นที่อนุรักษ์บ้านปากทะเลเป็นการอนุรักษ์อย่างมีส่วนร่วมและเกิดจากความเข้าใจของคนในชุมชน นกอยู่ได้ คนอยู่ได้ นำมาสู่ขยายผลเพิ่มศักยภาพชุมชนในมิติต่างๆ ทั้งเรื่องเกลือสมุทร การส่งเสริมให้ชาวบ้านเป็นไกด์พาดูนกในพื้นที่  เพราะปากทะเลเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงง่ายที่สุดในการดูนก สามารถพบเจอนกหลายชนิดและนกหายาก หากส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์จะเกิดประโยชน์ต่อชุมชน อีกทั้งเป็นพื้นที่ต้นแบบสื่อสารการทำงานอนุรักษ์จากระบบนิเวศที่เกื้อหนุนกันให้กับคนรุ่นใหม่อย่างเป็นรูปธรรม   

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นักวิชาการสิ่งแวดล้อม' ชี้สัญญาณเตือนโลกกำลังจะเปลี่ยนไป จากอุณหภูมิสูงขึ้น หายนะจะตามมา

ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า

โค้งสุดท้ายสู่สนธิสัญญาพลาสติกโลก เป้าหมายที่ไทยควรกำหนดในเวทีโลก

ก่อนหน้าการเจรจาระหว่างรัฐบาลในการจัดทํามาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านมลพิษจากพลาสติก รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางทะเลที่จะมีการประชุมและเจรจาครั้งสุดท้าย (INC-5) เพื่อให้เกิดสนธิสัญญาพลาสติกโลก หรือ “Global Plastic Treaty” ณ เมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี

เตรียมรับมือหมอกควัน-ฝุ่นพิษ 2568

ใกล้จะเข้าสู่ฤดูกาลฝุ่นช่วงเวลาที่ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จะเริ่มสูงขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาประเมินช่วงหลังวันที่ 23 ตุลาคม 2567 ประเทศไทยตอนบนจะเริ่มมีฝนที่ลดลง และจะมีมวลอากาศเย็นแผ่เข้ามาบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย