ถอด'นกกรงหัวจุก'จากบัญชีคุ้มครอง ซ้ำเติมชะตาชีวิตใกล้สูญพันธุ์

หลังมีกระแสข่าวรัฐบาลเตรียมปลดนกปรอดหัวโขนหรือ”นกกรุงหัวจุก” สัตว์ป่าคุ้มครองออกจาก พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า หวังส่งเสริมเศรษฐกิจและสันติภาพชายแดนใต้  มีทั้งข้อกังวล เสียงคัดค้านและเห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าวอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจถอดชนิดรายการสัตว์ป่าออกจากกฎหมายคุ้มครอง จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลที่รอบด้านและภัยคุกคามประชากรนกปรอดหัวโขนที่แท้จริง  เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า มีข่าวกวาดล้างการลอบค้านกปรอดหัวโขนเป็นระยะ  นำมาสู่การเปิดเวทีเสวนาออนไลน์”ทางเลือกหรือทางรอด หาทางออกชะตาชีวิตนกปรอดหัวโขน ” จัดโดยสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย  และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เมื่อวันก่อน 

สำหรับสถานการณ์นกปรอดหัวโขนในธรรมชาติของประเทศไทย นพ.รังสฤกฎ์  กาญจนะวณิชย์  ประธานชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนาและรองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร   บอกผ่านเวทีนี้ว่า นกปรอดหัวโขน ทางใต้ เรียก”นกกรงหัวจุก” เพราะแทบไม่พบในธรรมชาติ  ทางภาคเหนือ เรียก “นกปิ๊ดจะลิว” ตามเสียงร้อง เป็นนกในตระกูลนกปรอด  ซึ่งในไทยมี 36 ชนิด ส่วนการกระจายของนกปรอดหัวโขนในพื้นที่อนุรักษ์ ทางใต้หายไปแล้ว พบเหนือ ตะวันตก และอีสาน  มีการศึกษานกปรอดหัวโขนที่เขาใหญ่ นกมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ นกใช้พื้นที่ 60% บริเวณทุ่งหญ้า ถัดมาอยู่ป่าฟื้นตัว ชายป่า ไม่อยู่ป่าดิบ ขณะที่นกปรอดโอ่งเมืองเหนือใช้ป่าดิบ นกปรอดหัวโขนใช้พื้นที่อยู่ระหว่างป่ากับทุ่งโล่ง

“ นกปรอดหัวโขนกินผลไม้ชายป่า เป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดต่อการกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้ป่าในเขตป่าเสื่อมโทรม   หากนกอยู่ในกรงไม่สามารถทำบทบาทนี้ได้ นกชนิดอื่นก็ฟื้นฟูป่าสู้นกชนิดนี้ไม่ได้จากการศึกษา  “

นกปรอดหัวโขน สัตว์ป่าคุ้มครอง สถานภาพใกล้สูญพันธุ์

สาเหตุสำคัญทำให้ประชากรนกปรอดหัวโขนลดลง นพ.รังสฤกษ์ ระบุชัดการค้านก จากความนิยมเลี้ยงนกชนิดนี้ในการประกวด ปัจจุบันสามารถขออนุญาตเพาะพันธุ์  ค้าและครอบครองได้  ซึ่งมักเลือกนกที่ขนาดใหญ่ เสียงร้องเพราะ คัดเลือกสายพันธุ์ตามที่มนุษย์ต้องการ ผิดจากสายพันธุ์ในธรรมชาติ แตกต่างจากการเพาะเลี้ยงเพื่อการอนุรักษ์ ซึ่งต้องการความหลากหลายทางชีวภาพและพันธุกรรม ซึ่งมีความสามารถในการฟื้นตัวประชากรสูง ทนทานโรคมากกว่า

จากการติดตามสถานภาพและแนวโน้มประชากรนกปรอดหัวโขนในธรรมชาติของชมรมฯ เป็นประจำทุกปี โดยได้รับความช่วยเหลือจากอาสาสมัครนักดูนก  พบว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ประชากรลดลงอย่างชัดเจนกว่า 90%  หายากขึ้นเรื่อยๆ  เทียบกับนกปรอดชนิดอื่นๆ เช่น ปรอดหัวสีเขม่า เสียงร้องไม่เพราะเท่า ประชากรคงที่ สะท้อนการถูกเลือกปฏิบัติ นำออกจากป่า ขณะที่นกปรอดหัวโขนในกรงจำนวนเพิ่มขึ้น

“  มีโมเดลหากความต้องการตลาดเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณเพาะเลี้ยงตอบสนองไม่ได้ ประชากรนกในธรรมชาติจะสูญพันธุ์ ถ้าเพาะเลี้ยงมากเกินความต้องการตลาด ประชากรในธรรมชาติจะเพิ่มขึ้น ถ้ามีข้อมูลชี้ชัดแบบนี้ ถึงมาคุยกันว่า ไม่ต้องมีกฎหมายคุ้มครองแล้ว เพราะประชากรนกมีมาก แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น “

นพ.รังสฤกษ์ เน้นย้ำความสามารถเพาะเลี้ยง พอเพียงกับตลาด นกที่ใช้ประกวดต้องมาจากการเพาะเลี้ยงเท่านั้น  ไม่ความจำเป็นปลดนกปรอดหัวโขนออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ขณะที่นกในธรรมชาติต้องการการคุ้มครองทางกฎหมาย  ส่งเสริมให้เพาะเลี้ยงเพิ่มเติม  เวลานี้ย้อนแย้งประชากรนกลดลง กลับจะถอดออก เห็นว่าไม่เหมาะสม

นกปรอดหัวโขน หรือชื่อที่คุ้นเคย”นกกรงหัวจุก”

มาถึงข้อมูลสถิติการลักลอบจับและค้านกปรอดหัวโขนทั้งตลาดกายภาพ จนถึงตลาดค้านกออนไลน์  เมทินีย์ ภัสสราอุดมศักดิ์  นักวิจัยและฝ่ายข้อมูล  TRAFFIC  เครือข่ายเฝ้าระวังการค้าสัตว์ป่าและพืชป่า กล่าวว่า  IUCN RED LIST จัดให้นกปรอดหัวโขนอยู่ในสถานะเสี่ยงต่ำต่อการสูญพันธุ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  และมีข้อมูลจำนวนประชากรลดลงต่อเนื่อง   ซึ่งการค้านกในภูมิภาคนี้มีทั้งค้านกมีชีวิต นำมาเป็นสัตว์เลี้ยงสวยงาม นำมาประกวดในกลุ่มนกร้องเพลง มีเงินรางวัล การซื้อขาย และเพาะพันธุ์ นกชนะประกวดมีเสียงไพเราะ รูปร่างสวยงาม หางยาง ส่วนค้าเนื้อเพื่อเป็นอาหาร  แล้วยังมีล่านกเป็นของสะสม เครื่องประดับตกแต่ง  เครื่องราง“

จากการติดตามการค้านกในรอบ 5 ปี ที่ผ่านมา (ปี 2557-2561) พบว่า มีนกในตลาดการค้ามากกว่า 8.6 หมื่นตัวในภูมิภาค รวมถึงตลาดในไทย ปี 2559  มีนกมากกว่า 1,200 ตัว ถูกซื้อขาย มากกว่า 117 ชนิดพันธุ์ จาก 45 ร้านค้าในตลาดนัดจตุจักร  เป็นนกปรอดหัวโขนกว่า 100 ตัวใน 8 ร้านค้า จากนั้น จนท.กวดขัน ส่งผลให้ไม่มีการขายนกคุ้มครองล่าสุด เม.ย.2564 ลงพื้นที่สำรวจ  จ.สตูลและสงขลา ที่จัดประกวดนก พบว่า มากกว่า 90% ของนกในกรงเป็นนกปรอดหัวโขน รวม 620 ตัว  

สำหรับตลาดออนไลน์ สำรวจ  3 เดือนในช่วงปี 2563 -2564 มีทั้งกลุ่มเปิดและกลุ่มปิด ปี 63 พบนก 52 ตัวจาก 25 ชนิด ปี 64 พบนกกว่า 500 ตัว และพบชนิดพันธุ์เพิ่มขึ้น  ปัจจัยจากโควิดตลาดกายภาพปิดตัว ล็อคดาวน์ ตลาดออนไลน์เติบโต

“ 5 ชนิดพันธุ์ยอดนิยมในปี 63 คือ นกกางเขนดง นกกลางหัวหงอก นกปรอดเหลืองหัวจุก นกขมิ้นท้ายทอยดำ และนกปรอดหัวโขน  ส่วนปี 64 พบนกกางเขนดงถูกซื้อขายเยอะมาก รองลงมา นกปรอดหัวโขน เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง นอกจากนี้ พบการดักนก ต่อนก จับนกในธรรมชาติเกิดขึ้นต่อเนื่อง  มีการขายอุปกรณ์และแชร์วิธีจับนกผ่านคลิปและภาพในกลุ่มผู้ค้า “

เรื่องการทำฟาร์มนก พบว่า ผู้ค้าที่ได้รับอนุญาตทำฟาร์มถูกกฎหมายมีเพียง 5% เท่านั้น ส่วน Hot Spot ผู้ค้านกมากที่สุดภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออกตามลำดับ

ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา มีนกปรอดหัวโขนถูกตรวจยึดและจับกุมมากกว่า 5,000 ตัว จาก 100 กว่าคดี การลักลอบแต่ละครั้งจำนวนมาก เส้นทางลักลอบนกในไทย พบทั้งด่านธรรมชาติ ด่านพรมแดน ใช้รถไฟ รถประจำทาง และรถกระบะขนส่ง ไทยเป็นทั้งแหล่งจับนกและกระจายนกเข้าตลาด  เป็นผู้บริโภคทั้งเลี้ยงและผู้ค้าออนไลน์

 “ เดือน ต.ค.ปี 64 จับยึดนกปรอดหัวโขน 1,700 ตัวจากลาวเข้าพรมแดนไทย ผู้ต้องหาหลบหนีได้ ถือเป็นสถิติยึดนกมากสุดในไทย    ซึ่งเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย สิงค์โปร เวียดนาม กัมพูชา ลาว มีปัญหาลอบค้านกต่อเนื่อง แล้วยังมีคดีนกปรอดหัวโขน 400 ตัว ถูกจับยึดในภาคเหนือเตรียมส่งกรุงเทพฯ  คดีในภาคใต้บรรจุนกใส่ตะกร้าเตรียมส่งขึ้นรถไฟไปภาคอื่น การจะคงสถานะหรือถอดจากการคุ้มครอง ต้องสำรวจประชากรในพื้นที่ของไทย ติดตามสถานการณ์การค้า ลดการจับในธรรมชาติ รวมถึงมีกฎหมายที่เข้มแข็ง   “ เมทินีย์ ย้ำวิกฤตนกปรอดหัวโขนถูกคุกคามจากการค้าเสี่ยงสูญพันธุ์     

ทางออกในทัศนะ ดร.เพชร มโนปวิตร รักษาการนายกสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การปลดสัตว์ชนิดใดออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง หมายความว่า มีข้อมูลประชากรในธรรมชาติไม่น่าเป็นห่วงแล้ว  แต่ข้อมูลสถานภาพของนกปรอดหัวโขนในไทยปัจจุบันของ สผ.ระบุเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ตลอดเวลาที่กฎหมายคุ้มครองมีการล่าและจับออกจากธรรมชาติ แม้เพาะเลี้ยงได้ก็ตาม ทุกจังหวัดมีกลุ่มเพาะพันธุ์นกปรอดหัวโขน คาดว่าประชากรเพาะเลี้ยงในกรงมีกว่าล้านตัว แต่ไม่ช่วยให้ประชากรในธรรมชาติดีขึ้นเลยตลอด 15 ปีที่ผ่านมา  

“ นกปรอดหัวโขนที่หมดไปจากภาคใต้ ปัจจัยการล่า จับในธรรมชาติ ประชากรไม่ฟื้น ภาคเหนือก็ลดลงต่อเนื่อง ชี้ระบบเพาะเลี้ยงมีปัญหา มีข้อมูลหนุนคนเลี้ยงนิยมซื้อนกในธรรมชาติ เพราะราคาถูกกว่า แม้ผิดกฎหมาย และมีความเชื่อการนำนกในธรรมชาติมาผสม จะร้องดีกว่า สู้ดีกว่า  สมาคมฯ มองการมีอยู่ของนกคือความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม เราไม่ขัดกับกลุ่มผู้เลี้ยงนก เพราะถ้าการเพาะเลี้ยงช่วยให้การลอบจับตามธรรมชาติลดลง ประชากรจะดีขึ้น พ.ร.บ. คุ้มครองสัตว์ป่าก็ไม่จำเป็น  “ ดร.เพชรย้ำการปลดจากบัญชีซ้ำเติมชะตากรรมนกปรอดหัวโขน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เต่ายักษ์' ร้องไห้น้ำตานอง! โดนคนใจร้ายฟันกระดองยับ

ศูนย์วิทยุ หน่วยกู้ภัยมูลนิธิสว่างโรจนธรรมสถานสัตหีบ ได้รับแจ้งขอความช่วยเหลือจาก น.ส.คนึงนิด จันดาก อายุ 46 ปี พักบ้านเลขที่ 48/96 ม.4 ต.สัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ว่าได้พบเต่าขนาดใหญ่

รองประธานสภาฯ รับ 1.4 แสนชื่อ ปลดล็อก 'นกกรงหัวจุก' พ้นสัตว์ป่าคุ้มครอง หนุนสร้างอาชีพ

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 พร้อมด้วย สส.ภาคใต้ จากหลายพรรคการเมือง อาทิ พล.ต.ต.สุรินทร ปาลาเร่ สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์, นายศาสตรา ศรีปาน สส.สงขลา

เปิดตัว 2 'ชาละวันน้อย' สมาชิกใหม่สวนสัตว์สงขลา

สวนสัตว์สงขลาเปิดตัวสมาชิกใหม่ 'ชาละวันน้อย' ลูกจระเข้น้ำจืด 2 ตัว สัตว์ป่าคุ้มครองใกล้สูญพันธุ์ นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ทุกวันหยุดนักขัตฤกษ์และวันเสาร์-อาทิตย์

สวนสัตว์โคราช เปิดตัวสมาชิกใหม่ 'ลูกหมีหมา' สัตว์ป่าคุ้มครองใกล้สูญพันธุ์

นายธนชน เคนสิงห์ ผู้อำนวยการสวนสัตว์นครราชสีมา เปิดเผยว่า สวนสัตว์นครราชสีมา ได้สมาชิกใหม่ "ลูกหมีหมา" เกิดเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยเจ้าตัวน้อยนี้ยังไม่ทราบเพศ ซึ่งเกิดจากแม่ยิ่งลักษณ์ อายุ 10

'กระต่าย-ครูไพบูลย์' ยังไร้การเคลื่อนไหว หลังโชว์กินผัดเผ็ดแลน

งานเข้าเต็มๆ สำหรับนักร้องลูกทุ่ง กระต่าย พรรณนิภา และสามี ครูไพบูลย์ แสงเดือน ครูเพลงชื่อดัง หลังได้ทำคลิปการทำผัดเผ็ดแลนและกินโชว์ผ่านทางเพจเฟซบุ๊กกระต่าย พรรณิภา Fanpage ซึ่งงานนี้ก็มีคนเข้ามาคอมเมนต์มากมาย โดยเฉพาะการเข้ามาทักทวง เนื่องจากแลนเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

ตื่นตา! 'ฝูงกระทิง' ป่าห้วยขาแข้ง ทำกิจกรรมบางส่วนในรอบวัน (มีคลิป)

เพจเฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยแพร่คลิปพร้อมข้อความว่า ชมฝูงกระทิงที่ห้วยขาแข้งและกิจกรรมบางส่วนในรอบวัน กระทิงเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องเช่นเดียวกับวัวแดงและควายป่า อาหารหลักของกระทิง ได้แก่ หญ้าและใบไม้ทุกชนิดที่กินได้