เปิดคุณค่า'ภูกระดึง-ป่าภูเขียว-น้ำหนาว' พิชิตเป้าหมายอุทยานมรดกอาเซียน

ในปี 2565 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เสนอพื้นที่คุ้มครอง 2 แห่งเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน (ASEAN Heritage Park) ได้แก่ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว-อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว  ซึ่งภูกระดึง มีความมหัศจรรย์ทางระบบนิเวศ  เป็นที่เที่ยวยอดฮิต เป็นยอดเขาที่ใครๆ ก็อยากไปพิชิต ส่วนป่าภูเขียวเป็นผืนป่าอีกแห่งที่อุดมสมบูรณ์ เต็มไปสัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์

อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย

ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2565  คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการนำเสนอสองพื้นที่ให้เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน  ขั้นตอนต่อไปสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)  จะจัดส่งเอกสารนำเสนอพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียนให้ศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อส่งเอกสารนำเสนอให้แก่คณะผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบและประเมินพื้นที่  และเสนอคณะทำงานอาเซียนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพพิจารณา ก่อนนำเข้าที่ประชุมเจ้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม และที่ประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การรับรองการขึ้นทะเบียนอุทยานมรดกแห่งอาเซียน

เหตุใดจึงควรได้รับการยกระดับเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บอกความโดดเด่นของภูกระดึงว่า ตั้งอยู่เทือกเขาเพชรบูรณ์ที่อยู่ต่อเนื่องจากเทือกเขาหลวงพระบาง  ปกคลุมด้วยป่าตามธรรมชาติมากกว่าร้อยละ 98  มีระบบนิเวศหลากหลาย ป่าดิบเขา  ป่าดิบแล้ง ป่าสนเขา  ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง

ป่าหลายชนิดทำให้มีความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ  เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชเฉพาะถิ่นและหายากในพื้นที่  44 ชนิด  เช่น หญ้าดอกลำโพง, ผักชีภูกระดึง, กุหลาบขาว, กุหลาบแดง และเปราะภู  เป็นต้น ไม่รวมพรรณไม้ใกล้สูญพันธุ์

ธรรมชาติที่งดงามของอุทยานฯ ภูกระดึง

นอกจากนี้ มีสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง  2 ชนิด คือ  ลิ่นชวาและ เต่าเหลือง ส่วนสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์  5 ชนิด ได้แก่ ค่างแว่นถิ่นเหนือ ,ชะนีมือขาว,หมาใน,ช้าง และเต่าปูลู ภูกระดึงเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของอีสาน ก่อนจะไปบรรจบที่แม่น้ำโขง แม่น้ำสำคัญของคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“ ทางธรณีวิทยาก็พิเศษภูกระดึงมีความงดงามตามสภาพธรรมชาติ เป็นภูเขาหินทรายสูงใหญ่ และมีส่วนยอดตัด หรือภูเขายอดราบคล้ายโต๊ะ เกิดจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก  ลักษณะเป็นที่ราบกว้างใหญ่ที่มีลักษณะโดดเด่นเพียงหนึ่งเดียวในภูมิภาคอาเซียน “  

 ด้านการท่องเที่ยวภูกระดึงมีกิจกรรมหลากหลายทั้งเดินทางระยะใกล้ ระยะไกล 9 กม. ถึงบริเวณหลังแป ซึ่งต้องใช้ความอดทน แล้วยังมีกิจกรรมชมน้ำตก ชมพระอาทิตย์ขึ้น  พระอาทิตย์ตก มีค่ายเยาวชน สร้างสำนึกรักษาทรัพยากรธรรมชาติ

สภาพป่าอุดมสมบูรณ์ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว

ส่วนพื้นที่เป้าหมาย ป่าภูเขียว-น้ำหนาว  จ.เพชรบูรณ์ รมว.ทส. บอกว่า ทั้งสองแห่งตั้งอยู่ใจกลางกลุ่มป่าภูเขียวและน้ำหนาว สภาพป่าอุดมสมบูรณ์ต่อเนื่องเป็นผืนใหญ่ เป็นตัวแทนระดับภูมิภาคด้านความหลากหลายระบบป่าเขตร้อน ประกอบด้วยป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง  ป่าเบญจพรรณ  ป่าเต็งรัง ป่าสนเขา ป่าเขาหินปูน ป่าไผ่ จนถึงทุ่งหญ้า  อย่างทุ่งกระมังที่เที่ยวยอดฮิต   

พื้นที่อนุรักษ์ดังกล่าวยังเป็นแหล่งความหลากหลายทางธรณีวิทยา และลักษณะของถ้ำ เช่น ผาเทวดา  ถ้ำครอบ ถ้ำใหญ่น้ำหนาว รวมถึงถ้ำผาหงส์  ซึ่งตรงจุดชมวิวสามารถชมรอบชนกันของเปลือกโลก และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งหากิน และขยายพันธุ์สัตว์ป่าชนิดต่างๆ พบพันธุ์พืชหายาก เช่น จำปีศรีเมืองไทย, กระโถนพระฤาษี, สนสามพันปี, กฤษณา

เลียงผาสัตว์ป่าหายากพบในป่าภูเขียว

พบสัตว์ป่า เช่น  แมวลายหินอ่อน เลียงผา เนื้อทราย เสือลายเมฆ  มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์อย่างสูง แม้เราไม่ใช่ประเทศที่มีขนาดใหญ่ แต่ไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพราว 10% ของโลก  

 “ ป่าภูเขียว-น้ำหนาว ยังเป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำชีที่ไหลไปบรรจบกับแม่น้ำมูลและไหลลงแม่น้ำโขง ที่อุบลราชธานี อยู่ในลุ่มน้ำโขงตอนล่างครอบคลุมใน 4 ประเทศ  ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เป็นแหล่งน้ำ แหล่งพันธุ์ปลา พันธุ์พืชของอาเซียน  “ นายวราวุธ ย้ำความสมบูรณ์ระบบนิเวศ

ทั้งนี้ หากพื้นที่คุ้มครองทั้ง  2   แห่ง ได้รับขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน รมว.ทส. มองว่า จะช่วยยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการให้สามารถบริหารทางระบบนิเวศได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ   

ถ้ำใหญ่น้ำหนาว แสดงความหลากหลายทางธรณีวิทยา

อย่างไรก็ตาม  แผนการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ทั้ง 2 แห่ง เมื่อยกฐานะเป็นมรดกอาเซียนแล้ว  นายวราวุธ ยืนยันว่า  นอกจากเน้นการอนุรักษ์เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพเอาไว้  ยังส่งเสริมและพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชน แผนจัดการพื้นที่จะไม่ขัดแย้งกับสภาพความเป็นอยู่ ชุมชนโดยรอบยังคงมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับธรรมชาติ  เก็บหาของป่าเพื่อเป็นอาหาร และร่วมจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  

“ แผนจัดการภูกระดึงเรายังคงรักษาความเป็นธรรมชาติและเอกลักษณ์ เอาไว้อยู่ แต่จะมีการควบคุมปริมาณนักท่องเที่ยว ในพื้นที่ในช่วงเปิดการท่องเที่ยว สร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำเสีย ขยะ ระหว่างอุทยานฯ กับผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก  มีแผนงานเฝ้าระวังไฟป่าและหมอกควัน  การทำแนวกันไฟ  การปลูกป่า  เพราะ 3 ปีก่อนเคยเกิดเหตุไฟป่าภูกระดึงส่งผลให้ป่าธรรมชาติเสียหายถึง 3 พันไร่  ส่วนโครงการกระเช้าขึ้นภูกระดึงจะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสม ตลอดจนความต้องการของประชาชนในพื้นที่ มีแผนงานกิจกรรมรองรับหากจะพัฒนากระเช้า  “ รมว.ทส. ให้ความมั่นใจจะยังคงปกป้องคุณค่าภูกระดึง

ป่าภูเขียว ป่าต้นน้ำและแหล่งอาศัยช้างป่า

ผลดีที่จะได้รับจากการขึ้นทะเบียน นายวราวุธ บอกว่า พื้นที่คุ้มครองทั้ง 2 พื้นที่จะได้รับการสนับสนุนในการเสริมสร้างศักยภาพอนุรักษ์และจัดการพื้นที่ ภูกระดึง ป่าภูเขียว และน้ำหนาวจะเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้นในระดับอาเซียน สามารถเสริมสร้างความร่วมมือ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้ในการจัดการพื้นที่คุ้มครองระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน

“ ทั้ง 2 พื้นที่เป็นป่าต้นน้ำที่สำคัญควรค่าการอนุรักษ์อย่างสูง  ต้องสงวนรักษาไว้ให้สมบูรณ์เป็นตัวแทนระบบนิเวศของอาเซียน ป้องกันการบุกรุกทำลายป่า เพื่อให้ผืนป่าใหญ่เป็นพื้นที่กักเก็บคาร์บอน ช่วยลดภาวะโลกร้อน บรรเทาวิกฤตสภาพอากาศแปรปรวน ฝนไม่ตกตามฤดูกาล  ลดน้ำท่วมและภัยพิบัติต่างๆ “ รมว.ทส. กล่าว  อย่างไรก็ตาม กระบวนการผลักดันเพื่อไปสู่อุทยานมรดกแห่งอาเซียน รมว.ชี้ยังมีอีกหลายขั้นตอน และใช้เวลา  แต่ด้วยคุณค่าทั้งหมดมั่นใจจะผ่านเกณฑ์การพิจารณาแน่นอน

ทั้งนี้ ในปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ที่ได้รับการรับรองเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนไปแล้ว 7 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่, อุทยานแห่งชาติตะรุเตา, กลุ่มอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน และอ่าวพังงา,  กลุ่มป่าแก่งกระจาน ประกอบด้วย อุทยานฯ แก่งกระจาน อุทยานฯ กุยบุรี และเขต รักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้าภาชี ,อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง, อุทยานแห่งชาติหมู่ เกาะอ่างทอง และอุทยานแห่งชาติเขาสก

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เตรียมรับมือหมอกควัน-ฝุ่นพิษ 2568

ใกล้จะเข้าสู่ฤดูกาลฝุ่นช่วงเวลาที่ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จะเริ่มสูงขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาประเมินช่วงหลังวันที่ 23 ตุลาคม 2567 ประเทศไทยตอนบนจะเริ่มมีฝนที่ลดลง และจะมีมวลอากาศเย็นแผ่เข้ามาบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

เปิดภูกระดึงนักท่องเที่ยวทะลัก สัมผัสทะเลหมอกช่วงหยุดยาว

นักท่องเที่ยวแห่พิชิตภูกระดึงในช่วงวันหยุดยาว สัมผัสทะเลหมอกและธรรมชาติอันงดงาม ยอดพุ่ง 12 ต.ค.กว่า 2 พันคน  หลังปิดเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ

'วราวุธ' เผยเยียวยา 'รถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้' ไม่ได้หยุดแค่นี้ ติดตามต่อเนื่อง โดยเฉพาะสภาพจิตใจ

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิด