กรุงเทพมหานครเป็นเมืองแห่งคลอง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า คุณภาพน้ำคลองในพื้นที่ กทม.ส่วนใหญ่เสื่อมโทรม และแนวโน้มสกปรกเพิ่มขึ้น การพัฒนาคุณภาพแหล่งน้ำปรับโฉมคลองให้กลับมาใสสะอาดยังเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ หนึ่งในโครงการที่น่าจับตา ซึ่งกรุงเทพมหานครวางเป้าหมายจะให้แล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2565
โครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี เป็นโครงการที่กล่าวถึง ถือเป็นต้นแบบการพลิกฟื้นระบบนิเวศคลองแห่งแรกของบ้านเรา มีการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรีและพัฒนาพื้นที่โดยรอบเป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่ใจกลางเมือง มีสภาพแวดล้อมที่ดี สะอาด สวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย และปลอดภัย เพื่อสร้างสุขภาพให้คนเมือง ตามนโยบาย Green Bangkok 2030 โดยมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้อย่างน้อย 10 ตารางเมตร/คน ภายในปี 2573 ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีพื้นที่สีเขียว 7 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์พื้นที่สาธารณะสีเขียวที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ที่ 9 ตารางเมตรต่อคน
การเดินหน้าพัฒนาคลองระบายน้ำให้เป็นสวนสาธารณะคลองกลางย่านธุรกิจเปิดตัวเมื่อเดือน พ.ย. ปี 2563 จากการขับเคลื่อนมาถึงเดือนตุลาคม 2564 ล่าสุด พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง พ่อเมืองกรุงเทพ ตรวจความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี (ช่วงที่ 2) จากถนนสาทร ถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 โดยมี คณะผู้บริหารกทม. สำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักงานเขตในพื้นที่ ร่วมลงพื้นที่
โครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี ครอบคลุมพื้นที่ 3 เขต ประกอบด้วย เขตบางรัก เขตสาทร และเขตยานาวา พื้นที่เริ่มต้นจากถนนสุรวงศ์ ถนนสีลม ถนนสาทร ถนนจันทน์ ถนนรัชดาภิเษก ถนนพระราม ต่อเนื่องจนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 4.5 กิโลเมตร เมื่อรวม 2 ฝั่ง จะมีระยะทางทั้งสิ้น 9 กิโลเมตร กล่าวได้ว่าเป็นสวนสาธารณะยาวที่สุดในประเทศ ที่มีระบบบำบัดน้ำเสียใต้ดินแยกจากน้ำในคลอง
แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 5 ช่วง ประกอบด้วย 1.ช่วงถนนสุรวงศ์ถึงถนนสาทร ระยะทาง 800 เมตร วงเงิน 80 ล้านบาท 2.ช่วงถนนสาทรถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 ระยะทาง 200 เมตร วงเงิน 80 ล้านบาท 3.ช่วงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 ถึงถนนจันทน์ ระยะทาง 1.6 กิโลเมตร วงเงิน 370 ล้านบาท 4.ช่วงถนนจันทน์ถึงถนนรัชดาภิเษก ระยะทาง 1 กิโลเมตร วงเงิน 250 ล้านบาท และ 5.ช่วงถนนรัชดาภิเษกถึงถนนพระราม 3 ระยะทาง 900 เมตร วงเงิน 200 ล้านบาท รวมค่าก่อสร้าง 980 ล้านบาท
เริ่มก่อสร้างช่วงที่ 2 คาดว่าเฟสแรกจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในวันที่ 25 ธ.ค. 2564 เป็นจุดเช็คอินใหม่คนกรุงและนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ทางเดินเลียบคลองทั้งสองด้านจะดีไซน์เป็นสวนสาธารณะ มีทางเดิน จุดนั่งพักผ่อน ทางวิ่งออกกำลังกาย ทางจักรยาน เครื่องออกกำลังกายที่เหมาะสม เพิ่มความร่มรื่นด้วยการปลูกต้นไม้ รวมถึงปลูกต้นนนทรีเสริมเพื่อเป็นเอกลักษณ์และสมชื่อคลอง ตกแต่งด้วยไม้ดอกไม้ประดับให้สวยงาม แถมให้ประโยชน์ทำหน้าที่ฟอกอากาศ ลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก และลดอุณหภูมิของเมืองให้เย็นลง
คลองช่องนนทรีจะเป็นคลองที่มีชีวิต มีอัตลักษณ์พิเศษ ไม่เหมือนใคร จะมีลานกิจกรรม ใช้เป็นที่พักผ่อนของคนเมือง พร้อมทั้งเนรมิตน้ำตก ซึ่งเป็นน้ำในคลองที่บำบัดแล้ว แยกจากน้ำทิ้ง ที่อยู่ด้านล่างในท่อระบายน้ำใต้คลอง
กทม.ยังมีแผนปรับปรุงคลองสาทรเชื่อมต่อกับคลองช่องนนทรี ทำระบบไหลเวียนของน้ำผ่านสวนลุมพินีและสวนเบญจกิติ คลองไผ่สิงโต เขตคลองเตย ไหลผ่านคลองพระโขนงคลองที่ขุดสมัยช่วงรัตนโกสินทร์ออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา คาดว่าจะช่วยฟื้นฟูน้ำเน่าเสียในเขตยานนาวา สาทร ปทุมวัน คลองเตย พระโขนง พร้อมทั้งจะปรับปรุงภูมิทัศน์สองฝั่งคลองเป็นจุดท่องเที่ยว
“ กรุงเทพเป็นเมืองแห่งคลอง ในสมัยก่อนใช้สัญจรและระบายน้ำ ชีวิตคนอยู่กับคลอง ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมและค้าขาย เมื่อความเจริญของเมืองเข้ามา คลองจึงเป็นแค่ที่ระบายน้ำ กทม. ได้พัฒนาคลองให้ได้ใช้ประโยชน์มากกว่าที่ระบายน้ำเพียงอย่างเดียว โดยทำให้เป็นสวนสาธารณะ เพิ่มพื้นที่สีเขียว ให้เป็นเป็นที่พักผ่อนของคนเมือง เป็นพื้นที่ทำกิจกรรม ออกกำลังกาย ใช้คลองเชื่อมคน ให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน “ พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว
ผู้ว่าฯ กทม.บอกว่า คลองช่องนนทรีนี้จะเป็นสวนสาธารณะคลองแห่งแรกของไทยที่เมื่อสร้างเสร็จแล้ว จะมีระยะทาง9 กม. แบ่งการก่อสร้างเป็น 5 ช่วง จะสร้างเสร็จทั้งหมดในเดือนส.ค. ปีหน้า สวนสาธารณะที่อยู่ในเมือง จะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ผู้คนในเมืองได้มีพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกัน และได้กลับมาใช้ชีวิตกับคลองได้อีก
บัญชีคลองในกรุงเทพฯ มีมากกว่า 300 แห่ง แต่กทม. เลือกนำร่อง”คลองช่องนนทรี” ทั้งที่คลองแคบ ผู้ว่าฯ กทม. บอกว่า คลองช่องนนทรีเป็นคลองที่มีศักยภาพในการพัฒนา เพราะอยู่ในพื้นที่เขตเมืองที่มีประชาชนสามารถเข้าถึงจำนวนมาก มีเส้นทางคมนาคมสะดวก มีถนนตัดผ่านหลายสาย มีเส้นทางรถไฟฟ้าผ่าน รวมทั้งภาคเอกชนในพื้นที่ยังพร้อมให้ความร่วมมือร่วมพัฒนาและปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี
“ กทม.มีแนวคิดที่จะปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี รวมถึงพัฒนาพื้นที่โดยรอบเป็นสวนสาธารณะ โดยสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ให้เป็นต้นแบบการจัดการเพื่อนำไปสู่การพัฒนาคลองต่างๆ ของกรุงเทพฯอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพช่วยลดมลพิษทางน้ำ “ พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว
ก่อนหน้านี้ เจ้าเมืองกรุงเทพเคยพูดถึงโครงการดังกล่าวเป็นมิติใหม่ที่ กทม.พัฒนาคลองในรูปแบบของสวนเลียบคลอง ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ภายใต้คอนเซ็ปต์ 4 ประการ 1.เขียว หมายถึงพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่จะพัฒนาขึ้นตลอดแนวคลองช่องนนทรี 2.คลอง แสดงถึงความผูกพันระหว่างกรุงเทพฯ กับคูคลองที่มีมาแต่อดีต วิถีดั้งเดิมพึ่งพาสายน้ำเพื่อการคมนาคมและการค้าขาย 3.คน สื่อถึงผู้คนในพื้นที่ 3 เขต ที่แนวคลองพาดผ่าน และสุดท้าย 4.ความรู้ เพราะมุ่งพัฒนาให้เกิดพื้นที่กิจกรรมและส่งเสริมการเรียนรู้ และเป็นเส้นทางเชื่อมการสัญจรด้วยการเดินเท้ารับวิถีชีวิตคนยุคใหม่ เป็นเมืองที่คนเดินได้ ลดการใช้รถยนต์สร้างฝุ่นพิษ
ขณะที่โลกออนไลน์มีการวิพากษ์วิจารณ์ภาพการปรับปรุง “สวนสาธาระคลองช่องนนทรี” โดยนำภาพก่อนและระหว่างการปรับปรุงมาเทียบ เกิดคำถามถึงต้นไม้ริมสองฝั่งคลองที่เคยมีหายไปนั้น
พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพฯ ยืนยันต้นไม่ได้หายไป แต่ในช่วงการพัฒนามีการก่อสร้างตามแนวคลองช่องนนทรี อาจต้องมีการนำต้นไม้ที่อยู่ริมคลองออกเพื่อความปลอดภัยของต้นไม้ ตามที่ได้ติดประกาศตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อไม่ให้ต้นไม้ได้รับผลกระทบ ซึ่ง กทม. ได้ล้อมต้นไม้เหล่านี้ นำไปบำรุงรักษาเป็นอย่างดีที่สำนักงานเขตสาทรและสำนักงานเขตคลองสามวา โดยเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการย้ายต้นไม้
หนึ่งในวัตถุประสงค์พัฒนาคลองช่องนนทรีเป็นโครงการที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวใน กทม. ต้นไม้ทั้งหมดที่ขุดล้อมออกไปจะนำกลับมาปลูกไว้เหมือนเดิม และจะปลูกเพิ่มอีกกว่า 5,000 ต้น เพื่อให้สวนสาธารณะแห่งนี้ มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นให้คน กทม.ได้ใช้ประโยชน์ได้สูงสุด
“ การปรับปรุงภูมิทัศน์ทุกๆ ที่ใน กทม. เราคำนึงถึงความสำคัญของพื้นที่สีเขียวเป็นลำดับแรก เน้นอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ให้คงเดิม โดยได้ออกแบบวางแผนการปรับปรุงให้สอดรับกับต้นไม้เดิมให้มากที่สุด “ พงศกร บอก
หากการพัฒนาสวนสาธารณะคลองช่องนนทรีสำเร็จเป็นรูปธรรม คืนระบบนิเวศคลองกลับมาใสสะอาด จะเป็นแบบอย่างให้คลองใหญ่และคลองย่อยใน กทม. ที่พาดผ่านกลางเมืองและย่านสำคัญ ซึ่งการฟื้นฟูคุณภาพน้ำ ปรับปรุงภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อม ต้องใช้ความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อพัฒนา คลองให้สวยงาม น่าอยู่อาศัย น้ำไหลสะดวก ไม่มีขยะ ลบภาพเก่าคนต้องทนทุกข์ เจอน้ำเน่าเสีย หันหลังให้คลอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เช็กเลย! ค่าฝุ่น PM2.5 รายพื้นที่ทั่วไทย
ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ประจำวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ณ 07:00 น. สรุปดังนี้
คน กทม. เกินครึ่งไม่เห็นด้วยมาตรการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด
นย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจ ของประชาชน เรื่อง “สองมาตรการใหม่ คน กทม. จะเอาไง” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 27-29 พฤศจิกายน 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กระจายระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความคิดเห็นของคนกรุงเทพมหานคร หากมีการใช้มาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการเก็บขยะและค่าธรรมเนียมรถติด
เช็กเลย! ค่าฝุ่น PM2.5 ทั่วประเทศ 'เหนือ-กทม.' ยังอ่วม
ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศประจำวันที่ 6 ธันวาคม 2567 ณ 07:00 น. สรุปดังนี้
67 พื้นที่ กทม. พบค่าฝุ่นสูงกระทบสุขภาพ
ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร