ในสินค้าและบริการบางชนิด จะมีตราเล็กๆ ติดอยู่โดยระบุว่าตรานั้นคือ”ฉลากเขียว” ซึ่งก็คือการรับรองว่าสินค้าและบริการนั้นๆ มี”วัฏจักรชีวิต”ตั้งแต่กระบวนได้มาของวัตถุดิบ การใช้งาน การขนส่ง และจัดจำหน่าย การจัดการของเสียหลังการใช้งาน มีกระบวนการที่สามารถลดต้นทุนในการผลิต และการกำจัดของเสียได้อย่างดี ไม่ส่งผลกระทบหรือมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก
ไทยริเริ่มมี”ฉลากเขียว” ซึ่งเป็น “ฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 1” ตามมาตรฐาน ISO 14024 ตั้งแต่ปี 2536 โดยองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย(TEI) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระ เป็นตัวตั้งตัวตี การกำเนิดฉลากเขียว ส่วนการรับรองฉลากเขียวนั้น มีสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม หรือมอก. และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระ เป็นผู้ประเมินและให้การรับรอง
ที่ผ่านมาฉลากเขียวของไทย ได้พัฒนา โดยร่วมมือกับหน่วยงานฉลากสิ่งแวดล้อมของประเทศอื่นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกที่ได้รับรองระบบงาน GENICES ของเครือข่ายฉลากสิ่งแวดล้อมโลก (Global Ecolabelling Network (GEN)) รวมทั้งมีความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ได้แก่ ไต้หวัน เกาหลี นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาชนจีน ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง มาเลเซีย เยอรมนี และอินเดีย เพื่อการรับสมัครขอการรับรองฉลากสิ่งแวดล้อมและการตรวจประเมินสถานประกอบการ (On-Site Assessment) แทนกัน
แต่ถึงแม้จะมีฉลากเขียวเกิดขึ้นมานานเกือบ 30 ปี แต่ต้องยอมรับว่า ยังมีสินค้าและบริการในประเทศที่ได้รับตรารับรองฉลากเขียวยังมีไม่มากนัก เมื่อเทียบสัดส่วนสินค้าและบริการทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศ ดังนั้น การขับเคลื่อนให้สินค้าและบริการให้ได้รับ”ฉลากเขียว”เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องได้รับการผลักดันต่อไป โดยเป้าหมายสำคัญก็คือ การทำให้สินค้าและบริการที่มาตราฉลากเขียว เข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง ในชีวิตประจำวันของผู้คนให้ได้
การขับเคลื่อนล่าสุด มีขึ้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 นี้ กรมควบคุมมลพิษ(คพ.) และมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI ได้ร่วมลงนามบันทึก MOU ในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่มีฉลากเขียวรับรอง ของหน่วยงานภาครัฐ
โดยนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดี คพ. กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของการขับเคลื่อนการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืนที่ คพ. มีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนหันมาให้ความสนใจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภคสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างสังคมการบริโภคอย่างยั่งยืน เพื่อสนับสนุนให้เกิดเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ตามนโยบายการดำเนินงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566 – 2570) ซึ่ง ทส. โดย คพ. ได้เสนอให้กระทรวงการคลัง ออกกฎกระทรวงกำหนดพัสดุ และวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2563 กำหนดให้สินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นอกจาก การขับเคลื่อนให้หน่วยงานภาครัฐมีการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่มีฉลากเขียวแล้ว สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ยังขับเคลื่อนให้กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ซึ่งถือว่าเป็นกลไกสำคัญในกลุ่มผู้ผลิต เพราะนับวันจะมีSMEs รายใหม่เกิดขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสมควรทำให้สินค้าและบริการของผู้ประกอบการรายใหม่ ได้รับรองฉลากเขียวเพิ่มมากในเวลาเดียวกัน ที่ผ่านมามี SMEs ได้รับการรับรองฉลากเขียวจำนวนหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นธุรกิจให้บริการทำความสะอาด รองลงมาเป็น การผลิตหม้อแปลงไฟฟ้า วัสดุก่อผนัง เครื่องดับเพลิงยกหิ้ว นอกจากนั้น เป็นผลิตภัณฑ์สี ผลิตภัณฑ์ซักผ้า และวัสดุตกแต่งพื้นประเภทยาง เป็นต้น ซึ่งยังมีSMEs อีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับฉลากเขียว จึงควรได้รับการผลักดัน ให้ผู้ประกอบการปรับกระบวนการผลิต เพื่อนำไปสู่การได้รับตรารับรองฉลากเขียวต่อไป
ปัญหาหลักที่ทำให้ ผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ฉลากเขียวมากเท่าที่ควร นั้นก็คือ การไม่สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลและสามารถผลิตสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพ ที่สามารถจัดการด้านสิ่งแวดล้อมได้ อีกทั้ง การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังทำให้ผู้ประกอบการต้องประสบปัญหาการดำเนินงาน ด้วยเหตุนี้ ตั้งแต่ปี2565 ทางโครงการฉลากเขียวจึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นสมาชิกของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้รับส่วนลดค่าธรรมเนียมการดำเนินการขอฉลากเขียว เพื่อเป็นการส่งเสริมผลักดันให้ผู้ประกอบการ ผลิตสินค้าอย่างมีมาตรฐาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งอีกด้านหนึ่งถือว่าเป็นการสร้างโอกาสทางการค้าแก่ผู้ประกอบการ SMEs ได้เข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นายวิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการTEI กล่าวว่า ปัจจุบันมีสินค้าและบริการที่ได้รับการรับรองฉลากเขียวแล้วมากกว่า 800 รุ่น และบริษัทที่ผลิตสินค้าฉลากเขียว จำนวน 105 บริษัท คิดเป็นร้อยละ 35 ของรายการในบัญชีสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือตะกร้าเขียว อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มการผลิตสินค้าที่ได้ฉลากเขียวเพิ่มขึ้น นอกจากผู้ประกอบการขนาดใหญ่แล้ว วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ให้ความสนใจผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย ซึ่งในปี 64 ที่ผ่านมา มีการเติบโตของlสินค้าฉลากเขียวมากขึ้น ผู้ประกอบการ SMEs ลงนามบันทึก MOU กับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อส่งเสริมการผลิตผลิตภัณฑ์ฉลากเขียว ปัจจุบันมีผู้ประกอบการ SMEs 10 บริษัท นำร่องขับเคลื่อนจริงจัง
ผอ.TEI กล่าวต่อว่า ประเด็นสำคัญจะส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ที่เหลืออย่างไร ต้องเร่งสนับสนุนให้ภาคเอกชนสนใจเป็นส่วนหนึ่งขับเคลื่อน เพราะการผลิตสินค้าและบริการที่ได้รับการรับรองฉลากเขียวจะเป็นโอกาสในการแข่งขันด้านการค้าขายกับต่างประเทศ ซึ่งทั่วโลกเน้นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทุกวันนี้หลายประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมทั้งไทย มีนโยบายจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในภาครัฐแล้ว มุ่งให้เกิดผลดีต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศ และขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าที่มีนโยบายนี้ มีการผนวกเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไปเป็นหลักเกณฑ์ในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและเลือกใช้บริการร่วมกับหลักเกณฑ์อื่นๆ ของหน่วยงานภาครัฐ
“ การบริโภคสินค้าและบริการในภาครัฐมีขนาดใหญ่พอที่จะกระตุ้นให้เกิดการปรับฐานการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ มีตัวอย่าง เช่น เยอรมนี มีการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของภาครัฐอย่างเป็นระบบ หนุนให้เกิดการจัดซื้อสินค้าหรือการจัดจ้างบริการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยเมื่อเทียบกับสินค้าและบริการทั่วไปที่ทำหน้าที่อย่างเดียวกัน ขณะที่สหภาพยุโรป หรือ อียู มีการปฏิรูประบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการค้ายุคใหม่มุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ มีการปรับปรุงและประกาศใช้ระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ ทำให้เกิดความชัดเจนและลดความซับซ้อนของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เพิ่มความยืดหยุ่นให้กับหน่วยงานภาครัฐได้มาก ญี่ปุ่นและไต้หวันมีจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวที่ประสบความสำเร็จ โดยที่สินค้าและบริการมีความพร้อมและหลากหลายมาก “ นายวิจารย์ ยกตัวอย่าง
ส่วนไทยที่ขยับนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวแล้ว นายวิจารย์เน้นย้ำว่า เพื่อประโยชน์ที่ภาครัฐและประเทศได้รับ ทั้งด้านการประหยัดพลังงาน การใช้วัตถุดิบที่ใช้ซ้ำหรือผ่านแปรรูปกลับมาใช้ใหม่ การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า การก่อมลพิษและขยะในระดับต่ำ ต้นทุนในการจัดการขยะ น้ำเสียของภาครัฐลดลง รวมถึงการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ไทยประกาศเป้าหมายลดโลกร้อนไว้
ผอ.TEI กล่าวต่อว่า ขณะนี้ TEI ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขับเคลื่อนให้เกิดฉลากสินค้าและบริการใหม่ เรียกว่า “ฉลากผลิตภัณฑ์หมุนเวียน” เพื่อส่งเสริมการผลิตสินค้าที่มีองค์ประกอบของวัสดุที่ใช้หมุนเวียนและสามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติอย่างปลอดภัยในการผลิตสินค้า ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจเพื่อความยั่งยืนและช่วยบรรเทาผลกระทบสิ่งแวดล้อม จะนำร่องส่งเสริมกับผู้ประกอบการ SMEs คาดว่าจะเปิดตัวฉลากใหม่อย่างเป็นทางการภายในเดือนมีนาคมนี้
นอกจากนี้ TEI ได้หารือกับการไฟฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ. ) เพื่อผลักดันฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ผนวกเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไปในหลักเกณฑ์ เช่น ใช้พลาสติกที่ได้จากวัตถุดิบหมุนเวียนหรือย่อยสลายได้สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลากเบอร์ 5 ทั้งตู้เย็น พัดลม เครื่องปรับอากาศ เครื่องทำน้ำอุ่น หม้อหุงข้าว ฯลฯ อนาคตฉลากเบอร์ 5 ที่รวมเรื่องสิ่งแวดล้อมจะชอรับรองฉลากเขียวต่อไป หากหลายฝ่ายผนึกกำลังกับตลาดฉลากเขียวจะเติบโตและเป็นที่ยอมรับของภาคเอกชน และผู้บริโภคเพิ่มขึ้นแน่นอน ทั้งหมดนี้เป็นกลไกช่วยดูแลธรรมชาติและใส่ใจสิ่งแวดล้อม
” ปัจจุบันคนไทยมีความตื่นตัวในเรื่องสิ่งแวดล้อม รับรู้ความรุนแรงของปัญหาและผลกระทบที่ตามมามากยิ่งขึ้น ประชาชนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญในการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม จึงเป็นโอกาสทางการตลาดสำหรับธุรกิจที่ต้องการตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค ส่วนความร่วมมือระหว่าง TEI กับคพ. นับเป็นการแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นร่วมกันในการบูรณาการงานด้านการส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนของประเทศ ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของประชาคมโลก และเป้าหมายการพัฒนาของประเทศ”นายวิจารย์กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ดั๊บเบิ้ล เอ ได้รับรองฉลากเขียวต่อเนื่อง ส่งเสริมการผลิตและบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ดั๊บเบิ้ล เอ ได้รับการรับรองฉลากเขียว สำหรับผลิตภัณฑ์กระดาษพิมพ์และเขียน (TGL-8/1-15) ปี 2566-2567 ที่ส่งเสริมการผลิตและบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตลอดวัฎชีวิตของผลิตภัณฑ์
เมืองรับมือโลกเดือดไหวหรือไม่ เช็กความพร้อมชุมชน
งานวิจัยชี้ชัดประเทศไทยเป็นประเทศที่เสี่ยงลำดับต้นๆ ของโลกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฤดูร้อนที่ผ่านมาหลายภาคของไทยเผชิญสภาพอากาศที่ร้อนจัดจนแทบอยู่ไม่ไหว หลายพื้นทื่เจอกับภาวะร้อนและแล้งยาวมาแล้ว เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน เจอฝนถล่มหนักระยะสั้นๆ ทำให้เกิดน้ำท่วม ดินถล่ม
ฉลากเขียว..ยกระดับสินค้า "สร้างความตระหนักรู้" ชีวิตปลอดภัยมีทางเลือก
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI), สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.),
สสส. – สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย - สสว. สานพลังภาคีเครือข่าย เปิดตัวฉลากผลิตภัณฑ์ชุมชนใหม่ล่าสุด เพื่อการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค
เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2566 ณ รร.มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กรมการพัฒนาชุมชน (พช.)
สิ่งแวดล้อมศึกษา’วิถีใหม่’ หนุนเป้าหมายลดโลกร้อน
การเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงภัยพิบัติภายใต้บริบทใหม่ จำเป็นต้องเปิดรับชุดความรู้และประสบการณ์ที่หลากหลาย ภาคการศึกษาเป็นหัวใจสำคัญ การเร่งพัฒนาครูและบุคลากรด้านการศึกษาให้ตระหนักรู้ต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาอย่างเป็นระบบตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน
ปฏิรูประบบจัดการขยะ กทม. ท้าทายความเป็น' Great Governor'
แต่ขยะที่แม้จะอยู่ในถัง หรือนำไปที่ ที่ทิ้งขยะแล้ว ยังมีเบื้องหลังที่จะทำให้เมืองหลวงและประเทศไทย ดูเป็นประเทศที่พัฒนาน่าชื่นชมได้ยิ่งขึ้นอีก ก็คือ "การจัดการแยกขยะ "ขยะที่แยกได้ มีข้อดีคือ การลดปริมาณขยะ นำกลับไปใช้ใหม่ หรือที่เรียกว่ารีไซเคิล และนำมาใช้ซ้ำ ฯลฯลดงลประมาณ ในการบริหารจัดการขยะ ที่ทั้งกระบวนการจัดการต้องใช้งบฯแตะ เกือบหมื่นล้าน ในแต่ละปี(เฉพาะกทม.)