ทางออกเมืองในฝุ่น พ้นวิกฤต’หมอกควันภาคเหนือ’

เข้าเดือนมีนาคมจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทย ประชาชนต้องอาศัยอยู่ในเมืองในฝุ่น หลายจังหวัดเกิดไฟป่าลุกลาม สร้างปัญหาหมอกควันอย่างชัดเจน หลายพื้นที่ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 สูงต่อเนื่อง ฝุ่นพิษเป็นปัญหามลพิษทางอากาศที่กระทบทุกปี หลายฝ่ายต่างออกมาเตือนสังคมและผลักดันหาทางออกจากวังวนวิกฤตฝุ่นควันในภาคเหนือ

ฝุ่นควัน PM2.5 ในภาคเหนือมาจากไหน ต้นตอ  รศ.ดร.สมพร จันทระ ประธานคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  กล่าวว่า ทุกวันนี้ประชาชนคุ้นเคยกับคำว่า”จุดความร้อน” หรือ HOT SPOT ซึ่งจุดความร้อนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศไทยเกิดเป็นประจำทุกปีในฤดูแล้งมาจากการเผาในที่โล่ง ทั้งพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่ป่า

 จากข้อมูลจุดความร้อนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปี ม.ค.-เม.ย. 2562 ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤตหมอกควันรุนแรง เดือน ม.ค. มีการเผาที่กัมพูชาและลาวตอนใต้ เดือน มี.ค.-เม.ย. มีการเผาเยอะทางภาคเหนือของไทย พม่า และลาว  เป็นต้นเหตุหลักเกิดมลพิษทางอากาศ ขณะที่ข้อมูลจำนวนจุดความร้อนใน 5 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (กัมพูชา ลาว พม่า ไทย และเวียดนาม ) ในช่วงเวลาเดียวกัน  พบว่า กัมพูชาเผาต้นปี ขณะที่ไทยกับพม่าเผามากช่วงเดือนมี.ค. คิดเป็น Hot Spot ในพม่า 38 %   ไทย 21% ลาว 18% กัมพูชา 17% และเวียดนาม 6%  

ส่วนจุดความร้อนในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ปี 62 พบว่า อันดับ 1 แม่ฮ่องสอน 19% รองลงมาเชียงใหม่ 18% ตามด้วยลำปาง ตาก เชียงราย น่าน แพร่ พะเยา และลำพูน รูปแบบการเผาในที่โล่งแตกต่างกันไปแต่ละพื้นที่ ซึ่งขณะนี้(18 มี.ค.2565 ) พบจุดความร้อนมากในจ.แม่ฮ่องสอน เพราเกิดไฟป่าหลายพื้นที่    

ประเด็นมลพิษข้ามพรมแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน รศ.ดร.สมพรหยิบยกข้อมูลจากงานวิจัยปี 2564  ผศ.ดร.ชาคริต  โชติอมรศักดิ์ ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  เป็นคณะทำงานด้านวิชาการฯ ใช้โมเดลทางคณิตศาสตร์สำรวจการเคลื่อนที่มลพิษทางอากาศจากจุดความร้อนในพื้นที่ประเทศไทย  ช่วงวันที่ 10 ก.พ.- 7 มี.ค.2564  จุดเผาจะปล่อยฝุ่นพิษและมลพิษอากาศสูงในพื้นที่ ซึ่งไม่ส่งผลกระทบเฉพาะพื้นที่ แต่สามารถเคลื่อนที่ไปตามมวลอากาศขึ้นกับปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยา

สอดรับกับงานวิจัยประเมินมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนปี 2562 ซึ่งเทียบในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือกับเพื่อนบ้าน  ดูความเข้มข้นของ PM 2.5 เฉลี่ยรายวัน  ผลการวิเคราะห์มลพิษข้ามพรมแดน  ถ้าใช้จุดความร้อนเฉพาะ 9 จ. ความเข้มข้นของฝุ่นจะลดลง แต่ถ้าเอาฝุ่นภายนอกหรือการเผานอกพื้นที่ร่วมด้วย ในเดือน ม.ค.62 มีมลพิษข้ามแดนที่ส่งผลกระทบกับภาคเหนือ 20% เดือน ก.พ. 9 จังหวัดมีการเผามากขึ้น หากรวมมลพิษข้ามแดน   จังหวัดที่อยู่ด้านในกระทบ 30% ส่วนจังหวัดชายแดนกระทบ 50% เช่น อ.แม่สาย จ.เชียงราย ติดพม่า  ขณะที่เดือน มี.ค. ที่เผชิญปัญหาฝุ่นหนักทุกปี  หากรวมมลพิษเพื่อนบ้าน จังหวัดด้านในกระทบ 50% จังหวัดด้านนอก 80-90% สะท้อนอิทธิพลมลพิษข้ามแดนชัดเจน  

หาทางออกผ่านนวัตกรรมเป็นประเด็น รศ.ดร.สมพร กล่าวว่า ม.เชียงใหม่ ผลักดันนวัตกรรมและโครงการเพื่อการป้องกันผลกระทบและการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศภาคเหนือ มีการติดตั้งระบบติดตามคุณภาพอากาศ/ฝุ่น Pm2.5 แบบเรียลไทม์ ด้วยเครื่องวัดต้นทุนต่ำ หรือเซ็นเซอร์ราคาถูก แต่มีประสิทธิภาพดี  เช่น การตรวจวัดและรายงานค่าฝุ่น  DUSTBOY ซึ่งส่วนใหญ่ติดตั้งที่ รพ.สต. และดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพชาวเหนือ NTAQHI

 นอกจากนี้ ขับเคลื่อนโครงการสร้างขีดความสามารถด้านการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับทุนจากสหรัฐ ปัจจุบันติดตั้งใน 9 จ.ภาคเหนือ จังหวัดละ 2 จุด พื้นที่ในเมืองและนอกเมือง    ปีที่ผ่านมา จ.เชียงใหม่ นำร่องระบบการพยากรณ์คุณภาพอากาศสู่การใช้ประโยชน์  มีการรายงานผลการพยากรณ์คุณภาพอากาศ และแอป Fire-D หรือไฟดี เป็นการพัฒนาระบบสนับสนุนการจัดการเชื้อเพลิงเพื่อสนับสนุนการทำงานของภาครัฐ ใช้ควบคู่การพยากรณ์คุณภาพอากาศ 3 วันล่วงหน้า หากอากาศปิด การระบายอากาศไม่ดี จะไม่อนุญาตให้เผา ซึ่งศูนย์บัญชาการไฟป่าและหมอกควันใช้ประกอบการตัดสินใจจัดการเผา  

หน้ากากป้องกันฝุ่น PM2.5  เป็นอีกนวัตกรรมที่ก้าวหน้า รศ.ดร.สมพร บอกว่า มีการพัฒนาหน้ากากกันฝุ่นและป้องกันโควิดสำหรับประชาชน  จนถึงหน้ากากความดันบวกสำหรับผู้ปฏิบัติงานการดับไฟป่า  กรองPM2.5 ได้ 99%  กรองอนุภาคขนาดเล็ก 0.1 ไมครอนได้ เหมาะกับอาสาดับไฟ ทดลองใช้หลายพื้นที่ ผลตอบรับดี และต้องนำข้อคิดเห็นจากผู้ใช้งานไปพัฒนาต่อ  

 นอกจากนี้ มีนวัตกรรมห้องปลอดฝุ่น ซึ่งจำเป็นมากเมื่อเผชิญค่าฝุ่นสูง มช.ทำห้องนี้ในพื้นที่ มช.  และมีเทคโนโลยีที่สามารถถ่ายทอดต่อให้ภาคประชาชน มีมุ้งปลอดฝุ่น ห้องปลอดฝุ่นเหมาะกับบ้านหลายประเภท ป้องกันฝุ่นข้างนอกใม่ให้เข้าห้อง กรองฝุ่นในห้อง และดันฝุ่นออกไปจากห้อง ตลอดจนจัดหลักสูตรอบรมการจัดการมลพิษทางอากาศภาคเหนือ  มีทั้งออนไซด์และออนไลน์ ลงทะเบียนเรียนฟรี

ในการแก้ปัญหาหมอกควัน ยังผลักดัน  CMU โมเดล เป็นโครงการลดการเผาในที่โล่งอย่างยั่งยืน เพื่อลดฝุ่น PM 2.5  ที่บ้านป่าตึงงาม  อ.เชียงดาว ในอุทยานแห่งชาติศรีลานนาซึ่ง มช.ร่วมขับเคลื่อนกับจังหวัดเชียงใหม่  สภาลมหายใจเชียงใหม่ เพื่อสร้างพื้นที่ต้นแบบ

“ โครงการนี้ตั้งใจลดการเผาในที่โล่งอย่างยั่งยืน  ทำงานร่วมกับชาวบ้านเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ลดเผา ลดปัญหาหมอกควัน  ลดผลกระทบสุขภาพ  จะสร้างต้นแบบ ก่อนขยายผล ประยุกต์ใช้ที่อื่น “

 ประธานคณะทำงานคนเดิมให้ข้อมูลว่า ภายใต้แผนมีการสร้างแหล่งอาหารโปรตีนและสร้างอาชีพเพาะเลี้ยงไก่กระดูกดำ  เลี้ยงชีพ มีลูกไก่รุ่น 2 ออกมาแล้ว เสริมสร้างศักยภาพชุมชนเพื่อการจัดการธุรกิจอย่างมีส่วนร่วมตามภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวปกาเกอะญอ  ทั้งผ้าทอและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ด้านสิ่งแวดล้อมใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์แบบมีส่วนร่วมเพื่อวางแผนใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน และใช้โดรนและภาพตรวจจับความร้อนสำรวจพื้นที่ติดตามจุดความร้อนได้ดีขึ้น รวมถึงผลิตกล้าไม้ท้องถิ่นเพื่อนฟื้นฟูป่าและวนเกษตรลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว จะลดการเผาในพื้นที่ได้  

ส่วนทางออกเพื่ออากาศสะอาดในภาคเหนือที่เหลืออยู่เวลานี้   ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่  กล่าวว่า การเผาไหม้ทุกชนิดก่อฝุ่น ไม่เฉพาะการเผาที่ตรวจจับได้ในพื้นที่เกษตรหรือป่า  จะมีวิธีการอย่างไรที่แสดงให้ชัดเจนว่าฝุ่นควันมาจากแหล่งกำเนิดใด เพราะทั้งปีฝุ่นควัน50% กองอยู่ก้อนแอ่งในเมืองเชียงใหม่ แต่ ม.ค.-เม.ย.มีมลพิษจากเพื่อนบ้านเข้ามา แต่ไม่รู้เลยอะไรเยอะกว่าอะไร ความไม่รู้จะทำให้มาตรการจัดการเชื้อเพลิงเกิดขึ้นนอกเมืองหมดเลย  ภูมิศาสตร์เชียงใหม่เป็นแอ่งกะทะ มีดอยสูง 4 ลูกใหญ่ สูงที่สุดในประเทศ กองอยู่ในที่เดียวกัน ดอยสุเทพ ดอยผ้าห่มปก ดอยเชียงดาว  และดอยม่อนจอง แม้เชียงใหม่จุดความร้อนลดลง แต่ค่าฝุ่นยังเท่าเดิม เพราะมาจากจังหวัดข้างเคียงและเพื่อนบ้าน พลังจากทุกภาคส่วนจึงสำคัญ 

“ ความไม่เป็นธรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เมื่อไหร่ที่ข้อมูลไม่ชัดเจนระหว่างในเมือง นอกเมือง และเพื่อนบ้าน  จำเลยจะเป็นคนชนบทหรือคนบนดอย อยากเห็นปฏิบัติการที่มีความเป็นธรรม ทุกกลุ่มลุกขึ้นมาปฏิบัติการและได้รับความดูแลเท่าเทียมกัน “ ชัชวาลย์ ย้ำประเด่

สถานการณ์และแนวโน้มนั้น ชัชวาลย์บอกขณะนี้มีการเรียกร้องของคนในสังคมให้ใช้พลังงานสะอาด รัฐเริ่มจริงจัง คนสามารถซื้อรถยนต์ไฟฟ้าได้ เพราะรัฐลดหย่อนภาษีนำเข้า  ตลอดจนแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว อุตสาหกรรมสีเขียว จะผลักดันให้อุตสาหกรรมปลอดมลพิษได้อย่างไรควบคู่เศรษฐกิจฐานราก

ปีนี้เขาบอกมีการขยายตัวพืชเชิงเดี่ยวสูงมากในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน  ทั้งอ้อยและข้าวโพด เพราะราคาสูง รวมถึงต้องพูดคุยหาทางออกเรื่องการละเมิดสิทธิชุมชน ความขัดแย้งที่ดิน   แต่ละจังหวัดต้องทำข้อมูล อย่าง จ.เชียงใหม่ มีชุมชนในเขตอนุรักษ์ 400 ชุมชน  ชุมชนในเขตป่าสงวน 1,200 ชุมชน  และชุมชนอยู่นอกป่า 700 ชุมชน  ผู้ว่าฯ บริหารได้แค่ 700 ชุมชน เพราะในป่าเป็นพื้นผิดกฎหมาย งบลงไม่ได้ พื้นที่เหล่านี้ถูกจำกัดการพัฒนา มักเป็นจำเลยฝุ่นควัน วันนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข  

“ เมื่อลงลึกปัญหา พบว่า ระบบบ้านเรารวมศูนย์อำนาจการจัดการ  และขาดการมีส่วนร่วม การกระจายอำนาจเชียงใหม่ กรุงเทพฯ หรือภาคอีสานมีบริบทต่างกัน ฉะนั้น การแก้ไขปัญหาต้องสอดคล้องบริบทแต่ละพื้นที่ ต้องรวมพลังผู้รู้แต่ละจังหวัด แต่ละท้องถิ่นมาช่วยกันดู  “ ชัชวาลย์ย้ำต้องปลดล็อค

การขับเคลื่อนหยุดมลพิษ เขาระบุสิ่งที่สำคัญสุดการเชื่อมโยงพลังทุกฝ่าย ที่ผ่านมา ต่างคนต่างทำ ทุกฝ่ายต้องทำงานร่วมกันโดยมีพื้นที่กลาง พื้นที่สาธารณะ  หรือ”หน้าหมู่” ที่คนเหนือรู้จัก   เพราะปัญหาฝุ่นควันซับซ้อน เชื่อมโยงหลายหน่วยงาน และเป็นปัญหาเลื่อนไหลข้ามพรมแดน สรุปบทเรียนร่วมกัน เสนอหลักคิดการทำงานใหม่  ที่สำคัญมองช้างทั้งตัว และเป็นช้างตัวเดียวกัน ต้องมีเป้าหมายร่วม  มองเห็นดาวดวงเดียวกัน

ชัชวาลย์ระบุจากแก้แบบเฉพาะหน้าเป็นแบบยั่งยืน เปลี่ยนจากการทำงานบนลงล่างเป็นล่างขึ้นบน ให้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ชุมชนเป็นแกนหลัก ท้องถิ่นเป็นแกนประสาน โดยมีวิชาการ ธุรกิจ และรัฐสนับสนุน ถ้าชุมชนไม่ลุกขึ้นมาก็จบ ถ้าชุมชนคิดจะทำลายก็พัง  เปลี่ยนจาก Zero Burning เป็น Fire Management  ผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด  และจัดทำแผนเชิงรุกกับประเทศเพื่อนบ้าน

 “ ถ้าจะแก้ปัญหาให้สำเร็จ เสนอว่าจะให้เกิดอากาศสะอาดจริงๆ นโยบายพลังงานสะอาดต้องเกิด รถไฟฟ้า โรงงานปลอดมลพิษ นโยบายเศรษฐกิจสีเขียว การลดเกษตรเชิงเดี่ยวเพิ่มพื้นที่เกษตรยั่งยืน  นโยบายจัดการที่ดิรนมั่นคง สิทธิการจัดการป่ายั่งยืน นโยบายการกระจายอำนาจที่สอดคล้องพื้นที่ ต้องร่วมกันขับเคลื่อนเพราะเราใช้ลมหายใจเดียวหัน” ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าว

อีกความเคลื่อนไหวเพื่อแก้ฝุ่น วันที่ 22 มีนาคม 2565เวลา 11.00 น.  มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กรีนพีซ ประเทศไทย มูลนิธิบูรณะนิเวศ สภาลมหายใจภาคเหนือ สภาลมหายใจเชียงใหม่ และภาคีเครือข่ายประชาสังคม จะเดินทางไปฟ้องศาลปกครอง เดินหน้าร่วมฟ้องคดีฝุ่น PM2.5  ด้วยเหตุผล เพราะหน่วยงานรัฐยังละเลยและล่าช้าในการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM2.5 ทำให้ประชาชนต้องอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรง และมีอายุขัยที่สั้นลง รัฐต้องหยุดละเมิดสิทธิ และคืนอากาศสะอาดอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานให้กับประชาชน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เตรียมรับมือหมอกควัน-ฝุ่นพิษ 2568

ใกล้จะเข้าสู่ฤดูกาลฝุ่นช่วงเวลาที่ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จะเริ่มสูงขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาประเมินช่วงหลังวันที่ 23 ตุลาคม 2567 ประเทศไทยตอนบนจะเริ่มมีฝนที่ลดลง และจะมีมวลอากาศเย็นแผ่เข้ามาบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

ระดมกำลังคุมสถานการณ์ 'ไฟป่าพรุโต๊ะแดง'

เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยสิรินธรระดมกำลังหน่วยงานพร้อมชาวบ้านอาสาสมัครในพื้นที่ คุมสถานการณ์ไฟป่าพรุโต๊ะแดงได้แล้ว โดยเข้าควบคุมบริเวณหัวไฟได้สำเร็จ

จ.เชียงใหม่ สั่งดูแลจนท.ประสบอุบัติเหตุบาดเจ็บระนาว ระหว่างลาดตระเวนดับไฟป่า

นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องประสานความร่วมมือและดูแลเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุระหว่างปฏิบัติหน้าที่เดินทางเข้าสู่พื้นที่ลาดตระเวนในการดับไฟป่าพื้นที่อำเภอจอมทอง

จุดไฟเผาป่าเทือกเขาภูลังกา ย่อยยับกว่า 400 ไร่ แค่ต้องการน้ำผึ้ง-เห็ด

กรณีเกิดไฟไหม้ป่าในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา เมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่ผ่านมา โดยต้นเพลิงอยู่บริเวณบ้านแพงโคก หมู่ 7 และ บ้านนาเรียง หมู่ 8 ต.นางัว อ.บ้านแพง จ.นครพนม ซึ่งเป็นหมู่บ้านติดเชิงเขาด้านทิศใต้ หรือชาวบ้านเรียกว่าหัวภู

สั่งปิดป่าเชียงดาวตัดตอนลอบเผา

นายนิวัติ บุญมาวงศ์ หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าเชียงดาว เลขาฯศูนย์สั่งการฯ War room แก้ปัญหาไฟป่าพื้นที่บูรณาการฯ ขสป.เชียงดาว รายงานผลการปฏิบัติควบคุมไฟป่าบริเวณพื้นที่ดอยนาง

'ผอ.ทอ.' ตรวจเยี่ยมหน่วยบิน สนับสนุนกำลังพล ยุทโธปกรณ์ ลุยดับไฟป่า-ฝุ่นพิษเชียงใหม่

พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพอากาศ พร้อมด้วย พล.อ.อ.วรกฤต