เปิดโลกลวดลายผ้าไทยสุดวิจิตร กับละครดังทางช่อง3 'พรหมลิขิต'

 เรียกได้ว่าเป็นละครไทยที่กำลังมาแรงที่สุดในตอนนี้ สำหรับ "พรหมลิขิต" ทางช่อง3 ที่นอกจากบทละครจะสนุกและสอดแทรกความรู้ด้านประวัติศาสตร์แล้ว สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ "เครื่องแต่งกาย" ซึ่งหลายคนชื่นชมว่างดงามและใส่ใจในรายละเอียดเป็นอย่างมาก

งานนี้ผู้เขียนเลยจะพาไปเปิดโลกของ "ผ้า" ลวดลายต่างๆที่นำมาทำเครื่องแต่งกายของตัวละครในละคร พรหมลิขิต ซึ่งล้วนแต่ออกแบบลายผ้าโดย อ.ธนิต พุ่มไสว (ภูษาผ้าลายอย่าง) และออกแบบชุดโดย กิจจา ลาโพธิ์

โดยทางเพจ "ภูษาผ้าลายอย่าง" ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับลวดลาย และแบบของผ้าที่แต่ละตัวละครได้สวมใส่ในเรื่องไว้หลายลายเลยทีเดียว เริ่มที่ "ขุนหลวงท้ายสระ" (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมินทราชา) ที่รับบทโดย "เกรท-วรินทร ปัญหกาญจน์" นุ่งผ้าเขียนลายทอง "ลายสีทันดร"

"ฉากสำคัญเปิดตัว ขุนหลวงท้ายสระ เป็นการออกว่าราชการหลังขึ้นครองราชย์ โดยฉากนี้ขุนหลวงท้ายสระ นุ่งผ้าเขียนลายทอง "ลายสีทันดร" ซึ่งออกแบบผ้าเขียนลายทอง เป็นรูปราชาแห่งปลา คือ ปลาอานนท์ พญามัจฉาที่มีร่างกายใหญ่โตหนุนอยู่ใต้เขาพระสุเมรุมหาคีรี ออกแบบเป็นลายย่อมุมยี่สิบ แทนเขาพระสุเมรุ ประกอบด้วยราชวัตร เป็นลายเงือก แทนสัตว์ในมหานทีสีทันดร มีสังเวียนเป็นนาค มีหน้ากระดานเป็นรูปกุญชรวารี อัศดรวารี และสัตว์หิมพานต์ที่มีถิ่นอาศัยในมหานทีสีทันดร ประกอบกันเป็นกระบวนลายผ้าอย่างราชสำนักโบราณ นั่นคือ กรวยเชิงสามชั้น, หน้ากระดาน, สังเวียน, ลูกขนาบ, ช่อแทงท้อง และ ท้องผ้า ครบถ้วนอย่างงดงาม เหตุที่ผ้าผืนนี้ต้องเป็นลายปลาด้วยว่า ขุนหลวงท้ายสระโปรดปลาตะเตียนอย่างยิ่ง จนมีการตรากฏหมายว่าด้วยเรื่องการจับปลาตะเพียนไปบริโภค เพื่อรักษาสมดุลในธรรมชาติ หากจับไปบริโภคจะมีการลงโทษถึง 5 ตำลึง ผู้ออกแบบจึงตั้งใจจำลองฉลองพระองค์นี้ให้สง่างาม ด้วยโทนสีจำปา นุ่งผ้าเขียนทองสีน้ำเงิน ประกอบถนิมพิมพาภรณ์ ให้สมกับการว่าราชการต่อเสนามหาอำมาตย์ และขุนนางน้อยใหญ่ทั้งปวง"

"ขุนหลวงท้ายสระ" (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมินทราชา) รับบทโดย "เกรท-วรินทร ปัญหกาญจน์" นุ่งผ้าเขียนลายทอง "ลายสีทันดร"

ส่วนของ "เจ้าฟ้าปรเมศร์" พระราชโอรสของ ขุนหลวงท้ายสระ (พระเจ้าอยู่หัวภูมินทราชา) พระมหากษัตริย์ ราชวงศ์บ้านพลูหลวง แห่งราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ภายหลังพระราชกุมารพระองศ์นี้ถูกสำเร็จโทษจากเจ้าฟ้าพร (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) นุ่งผ้า "ลายปัทมชาติ"

"ฉากนี้ เห็นเพียงชั่วครู่ แต่ใช้เวลาถ่ายทำนานมากๆ ทางด้านการแต่งกาย ออกแบบให้นุ่งผ้าลายปัทมชาติ สวมเสื้อสีเทาอมเขียว ทรงอาภรณ์ อย่างราชกุมารสมัยอยุธยา"

นอกจากนี้ยังมีฉากสำคัญของพระเจ้าท้ายสระ ในละครพรหมลิขิตที่หลายท่านได้ชมกันนั้น จะเห็นสตรีสูงศักดิ์ในฉากนี้ด้วย แม้จะไม่มีบทสนทนาใด แต่ผู้สร้างละครได้ให้ความใส่ใจรายละเอียดขององค์ประกอบทุกส่วนในฉากการว่าราชการของขุนหลวงท้ายสระนี้มาก ซึ่งสตรีสูงศักดิ์ในฉากนี้ คือ "กรมหลวงราชานุรักษ์มีพระนามเดิมว่าเจ้าฟ้าทองสุก" หรือ "เจ้าท้าวทองสุก" พระอัครชายาเดิมในเจ้าฟ้าสุรินทรกุมารตั้งแต่ยังเป็นพระมหาอุปราช เมื่อเจ้าฟ้าสุรินทรกุมารเสวยราชย์ทรงพระนามว่าสมเด็จพระภูมินทราธิราช(ขุนหลวงท้ายสระ) จึงตั้งเจ้าฟ้าทองสุกขึ้นเป็น "กรมหลวงราชานุรักษ์" พระอัครมเหสี ภูษาผ้าลายอย่าง ได้นำผ้าลายอย่าง "ลายอรุโณทัย" นุ่งให้กับนักแสดงผู้แสดงเป็น กรมหลวงราชานุรักษ์ ด้วยเห็นว่า ผ้าลายนี้ใช้สีที่อ่อนหวาน สีชมพูกะปิ ลวดลายงามอ่อนช้อย ทั้งยังมีกระบวนลายครบตามอย่างผ้าราชสำนัก ลวดลายมีความหมายอันดีงาม ซึ่งลายนี้ เป็นแม่ประจำยามราชวัตร ที่เขียนขึ้นใหม่ให้เป็นสื่อแทนความงามและคุณค่าของสตรี นั่นคือ 1. ท้องผ้าออกแบบเป็นรูปสตรี ถือพัดวิชนี โบกปัดให้เย็นใจและยังเป่าปัดความทุกข์โศก ความยากกายร้อนใจทั้งสิ้นทั้งปวงให้มอดดับลง 2. สังเวียนรังสรรค์ให้เป็นรูปสตรีเล่นกระจับปี่ อันเป็นเครื่องดนตรีโบราณชนิดหนึ่ง ไว้ขับกล่อมให้มีแต่ความสุข 3. กรวยเชิงเขียนเป็นรูปสตรีร่ายรำ นัยว่าให้สิ้นทุกข์มีแต่สุขสุขารมณ์ ในทุกเมื่อเชื่อวัน จึงถือได้ว่าผ้าลายนี้ล้วนสื่อให้เห็นว่าสตรีนั้นมีคุณค่า ที่สร้างสรรค์สิ่งดีงามให้เกิดขึ้น มีแต่ความปรีเปรม ดังแสงของพระอาทิตย์ยามสาดส่องในเช้าวันใหม่ที่จะนำพาความสุขมาสู่มวลมนุษย์และสรรพสัตว์ จึงได้ชื่อว่า "ลายอรุโณทัย"

"เจ้าท้าวทองสุก" ภายหลังคือ "กรมหลวงราชานุรักษ์" สวมใส่ผ้าลายอย่าง "ลายอรุโณทัย"

ด้านชุดของ "เจ้าฟ้าพร" (สมเด็จพระเจ้าอยู่ห้วบรมโกศ) ที่รับบทโดยนักแสดงหนุ่ม "เด่นคุณ งามเนตร" กับผ้า "ลายเกาะแก้วสุทธารมย์" ที่ทางภูษาผ้าลายอย่างได้บอกเล่าความเป็นมาในการทำว่า "ก่อนที่จะทราบว่าต้องทำผ้านุ่งให้กับ เจ้าฟ้าพร (สมเด็จพระเจ้าอยู่ห้วบรมโกศ) อ.ธนิต และ คุณกิจจา ได้หารือกันในทีมคอสตูมละครพรหมลิขิตมาก่อนแล้วว่า ต้องทำให้สมพระเกียรติ เหมาะสมกับบุคลลิคตัวละคร จึงนึกถึงบ้านเกิดที่จังหวัดเพชรบุรี มีวัดที่สร้างขึ้นในช่วงรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ นั่นคือ "วัดเกาะ" ตอนสมัยเรียนปริญญาตรี ได้ไปศึกษาจิตรกรรมที่วัดนี้อยู่บ่อยครั้ง จึงได้นำแรงบันดาลใจจากภาพจิตรกรรมมาเขียนลวดลายเป็นผ้าลายอย่าง ลายนี้เขียนต้นแบบขึ้นใหม่ด้วยมือ นำแรงบันดาลใจลวดลาย มาจากภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ วัดเกาะแก้วสุทธาราม จังหวัดเพชรบุรี ที่เขียนโดยครูช่างเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่2 (พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) อายุราว 279 ปี อ.ธนิต ใช้การเขียนโดยใช้พู่กันกับสีฝุ่น บรรจงแต่งแต้มสีสัน ทั้งกระบวนลาย กระบวนสี รูปร่าง รูปทรง นำมาออกแบบใหม่ให้เป็นลายผ้า ทั้งลายกนกที่พริ้วไหวอย่างสมัยอยุธยา ทั้งการใช้สีไม่มากจนเกินไป เน้นเพียง สีแดง ดำ ขาว เขียว ตามอย่างที่ปรากฏบนจิตรกรรม ทั้ง "ทีแปรง" (ลักษณะสีเฉพาะที่เกิดจากการวาดมือเท่านั้น) ที่งดงามดุจเปลวไฟต้องลมหอบหวลสบัดไปตามแรงพายุ เกิดจากการล้วงสีแล้วถมตามช่องของลาย ดังจะเห็นได้ว่า สีที่เราเห็น เช่นสีแดง จะมีสีแดงเข้ม แดงอ่อน มากกว่าหนึ่งพันน้ำหนักสีในหนึ่งช่องลาย อย่างที่ตั้งใจไว้ว่า ให้มองผ้าแล้วให้นึกถึงวัดเกาะทันที

ลวดลายเกาะแก้วสุทธารมย์นี้ จึงนับว่าเป็นผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ ในเชิงการศึกษาค้นคว้า และผลงานด้านศิลปะอันทรงคุณค่า โดยเป็นผลงานวิจัย ระหว่างภูษาผ้าลายอย่าง, มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สถาบันอาศรมศิลป์ ในโครงการกการขับเคลื่อนศิลปะและวัฒนธรรมย่านเมืองเก่าเพชรบุรี จึงเกิดเป็นผ้าผืนงามที่อนุรักษ์ลวดลายในจิตรกรรมไทยและสร้างสรรค์โดยจิตวิญญาณของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ดังนั้นผ้าลายอย่างในละครเรื่องพรหมลิขิต จึงถือเป็นงานลิขสิทธิ์ ของภูษาผ้าลายอย่าง เท่านั้น ทั้งนี้เราต่างมุ่งหวังให้ผ้าลายอย่าง เป็นส่วนหนึ่งที่น่าภาคภูมิใจ ในการเป็น SOFT POWER ให้ทุกท่านสวมใส่ไปเที่ยวตามรอยละครในสถานที่ต่างๆ กระตุ้นเศรษฐกิจของไทยในทุกท้องที่"

"เจ้าฟ้าพร" (สมเด็จพระเจ้าอยู่ห้วบรมโกศ) รับบทโดย "เด่นคุณ งามเนตร" กับผ้า "ลายเกาะแก้วสุทธารมย์"

ชุดของ "กรมพระราชวังบวรสถานมงคล" (พระเจ้าเสือ) รับบทโดย "ก๊อต-จิรายุ ตันตระกูล" คือ "ลายกุดั่นทรงเครื่องใหญ่" ซึ่งทางภูษาผ้าลายอย่างบอกว่าได้แรงบันดาลใจจากต้นเสาศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นลวดลายที่มีอยู่จริงและศาลาการเปรียญหลังนี้พระเจ้าเสือได้ถวายให้แก่สมเด็จพระสังฆราชแตงโม เพื่อนำมาไว้ที่วัดน้อยปักษ์ใต้ (วัดใหญ่สุวรรณาราม) ที่เมืองพริบพลี (จังหวัดเพชรบุรี)

นอกจากนี้ยังมีชุดของนักแสดงนำอย่าง โป๊ป-ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ ที่สวมใส่ผ้า "ลายปานบุหงา", ผ้า "ลายพุดกรอง" ที่นางเอกสาว เบลล่า-ราณี แคมเปน สวมใส่ รวมถึงนักแสดงท่านอื่นๆอีกมากมาย

"เบลล่า" ใส่ผ้า "ลายพุดกรอง"
"โป๊ป ธนวรรธน์" ใส่ผ้า "ลายปานบุหงา"
"พระเจ้าเสือ" รับบทโดย "ก๊อต-จิรายุ ตันตระกูล" สวมใส่ผ้า "ลายกุดั่นทรงเครื่องใหญ่"
"สมเด็จพระเพทราชา" รับบทโดย "บิ๊ก-ศรุต วิจิตรานนท์" สวมใส่ (ลายหิมพานต์ สีเหลืองหรดาน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดพิกัดเที่ยวพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืนในจุฬาฯ

ปีนี้งาน Night Museum at Chula เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดภายใต้แนวคิด “เสน่ห์ Science”  ชูเสน่ห์ของวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในธรรมชาติรอบตัวเรา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันและเป็นแรงขับเคลื่อนทุกย่างก้าวของคนในปัจจุบัน 

'ADDA FEST ON THE BEACH' เทศกาลดนตรีส่งท้ายปีที่จัดเต็มความสนุกล้นหาด!

เรียกได้ว่าเป็นเทศกาลดนตรีที่มอบความสุขท่วมท้นจนล้นหาดชะอำกันเลยทีเดียว กับงาน “ADDA FEST ON THE BEACH” ที่เพิ่งจัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ TRIPLE TREE BEACH RESORT จ.เพชรบุรี

'อังกินันทน์' ชนะขาด! ประกาศผลนับคะแนนเลือกตั้ง 'นายก อบจ.เพชรบุรี'

องค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบุรี รายงานผลการนับคะแนนเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบุรี (อย่างไม่เป็นทางการ) ณ เวลา 23.59 น. โดยนับครบแล้วทั้ง 734 หน่วยเลือกตั้ง

'คาร์มาร์ท' จัดใหญ่สะเทือนจักรวาล! ยกทัพคนดังร่วมฉลองครบรอบ 15 ปี

จัดใหญ่จัดเต็มสะเทือนจักรวาล! บริษัท คาร์มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ KARMART จัดงาน Karmart 15th Anniversary A SYMPHONY OF TIMELESS BEAUTY ที่สุดแห่งความงามที่เหนือกาลเวลา เฉลิมฉลองการครบรอบ 15 ปี ของการเป็นผู้นำแบรนด์ด้านความงามอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์

จุฬาฯ เดินหน้ายุทธศาสตร์ใหม่ สร้าง Siam Square ให้เป็นพื้นที่สำหรับคนไทยทุกคน รวมพลคนพิการโชว์พลังครั้งใหญ่ที่สุด!

อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำทีม PMCU (สำนักทรัพย์สินจุฬาฯ) และ มูลนิธิ Five for All เปิดงาน Siam Square Walking Street For All ครั้งแรก! บนพื้นที่ใจกลางสยามสแควร์ ให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับคนไทยทุกคน ทุกกลุ่ม