จากกรณีแฮชแท็ก #แบนสุพรรณหงส์ ดังกระฉ่อนในโลกออนไลน์ กรณีที่เวทีการประกาศรางวัลสุพรรณหงส์ ได้ตั้งกฎกติกาใหม่ ฉายผ่านสตรีมมิ่งอย่างเดียวไม่ได้ ต้องฉายในโรงภาพยนตร์ครบทั้ง 5 ภูมิภาค ต้องมียอดผู้ชมไม่ต่ำกว่า 5 หมื่น จนเป็นเหตุให้ผกก.ชื่อดัง รวมทั้งนักแสดง ประกาศถอนตัว โดยมองว่ากติกาดังกล่าวทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม
รายการโหนกระแส ออกอากาศวันที่ 31 มี.ค. 2566 ดำเนินรายการโดย “หนุ่ม-กรรชัย กำเนิดพลอย” ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 ได้เปิดใจสัมภาษณ์ นุชี่-อนุชา บุญยวรรธนะ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย, กอล์ฟ-ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับภาพยนตร์, คุณชายอดัม-หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล ผู้กำกับภาพยนตร์ รวมทั้ง พรชัย ว่องศรีอุดมพร เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ พูดคุยกันถึงประเด็นนี้
คุณนุชี่ เรื่องราวเกิดอะไรขึ้น?
นุชี่ : พอดีช่วงนี้ก็จะมีการเช็กกันว่าภาพยนตร์แต่ละเรื่องมีคุณสมบัติมากพอที่จะเข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์หรือเปล่า ทีนี้ก็มีทีมงานภาพยนตร์เรื่องเวลา Anatomy of Time เป็นภาพยนตร์ที่กำกับโดยคุณจักรวาล นิลธํารงค์และเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลจากต่างประเทศ เป็นภาพยนตร์อิสระ ฉายที่เวนิส เป็นเทศกาลใหญ่มาก แล้วได้รับรางวัลที่โตเกียวด้วย และได้มาฉายที่ประเทศไทย ทีมงานเขาก็ร้องออกมาว่า เขาได้รับแจ้งว่าภาพยนตร์เขาไม่เข้าเกณฑ์การเข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์ เนื่องจากว่าไม่ได้ฉายครบทั้ง 5 ภูมิภาค คือฉายกรุงเทพฯ ไปแล้ว ครบ 7 วันแล้ว แต่ไม่ได้ฉายที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ ภาคตะวันออก
กฎสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ จำเป็นต้องฉาย 5 ภาค?
นุซี่ : ก่อนหน้านี้ไม่มีกฎนี้เข้ามา แต่ว่าเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ปี 2562 มีความคิดจะใช้กฎนี้เข้ามา แต่ทางสมาคมผู้กำกับและบรรดาคนในวงการคัดค้าน มองว่าไม่แฟร์ เพราะหนึ่งมันเท่ากับกีดกันหนังอิสระออกจากการได้เข้าชิง ต้องเข้าใจนิดนึงประเทศไทยคนจะมองว่าคุณทำหนังดีสิจะได้ฉาย มันไม่เป็นความจริง เพราะตัวนุชี่เอง ทำหนังมะลิลาก็ได้รางวัลจากปูซาน จากหลายประเทศเหมือนกัน แต่พอจะนำหนังตัวเองมาฉายที่ไทย ให้ครบทั่วทุกภูมิภาคเป็นไปไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับว่าผู้จัดจำหน่ายในแต่ละภูมิภาคเขาจะซื้อหนังเราหรือเปล่า ถ้าเขามองว่าหนังเราดูแล้วไม่น่าทำเงิน หรือไม่น่ามีคนดูมากพอ อย่างมะนิลา มีเวียร์ ศุกลวัฒน์ เล่นเป็นพระเอก นุชี่ยังไม่สามารถฉายได้ทั้ง 5 ภูมิภาค มันก็สะท้อนได้ว่าการที่หนังอิสระจะเข้าไปฉายมันยากมาก การที่รางวัลสุพรรณหงส์จะมีกฎเกณฑ์ว่าต้องฉายให้ครบจึงเป็นไปไม่ได้ ทำให้หนังอิสระถูกตัดออกไปอย่างสิ้นเชิง
หนังชิงสุพรรณหงส์ คนดูต้องมากกว่า 5 หมื่นคน?
นุซี่ : เขาใช้คำว่าและหรือก็ได้ ซึ่งคำนวณเป็นค่าตั๋วต้องมีรายได้ประมาณ 10 ล้านขึ้นไป หนังอิสระไทยโดยมากอยู่ที่ล้านสองล้านไม่เกิน ถามว่าทำไมหนังอิสระที่เล็กๆ คนดูไม่ได้เยอะ เมื่อมีประเด็นว่าเขาแจ้งมาว่าถูกตัดสิทธ์ไปแล้ว ทำไมถึงเป็นเดือดเป็นแค้น ผกก.ทำไมถึงออกมาโปรเทค เขามองว่าหนังอิสระมีความสำคัญ อาจไม่ได้คนดูเยอะ แต่หนังอิสระทำให้มีนักทำหนังรุ่นใหม่ๆ เติบโตขึ้นมา เป็นเวทีสร้างคนทำงานรุ่นใหม่ๆ ขึ้นมา เป็นเวทีเหมือนทดลองและวิจัยแนวทางและการนำเสนออะไรใหม่ๆ ถ้าไม่มีเวทีให้หนังไทยมากพอ หนังไทยมันก็ตกต่ำแบบนี้แหละค่ะ วนอย่างที่คนดูมองว่าทำไมทำแต่เรื่องเดิมๆ ทำแนวเดิมๆ ซ้ำๆ ทำไมสู้ประเทศนั้นประเทศนี้ไม่ได้ ดูหนังอิสระต้องทำหน้าที่ค้นหาแนวทางใหม่ๆ ประเด็นใหม่ๆ คนสร้างใหม่ๆ เข้ามาในอุตสาหกรรม พอผกก.รู้ข่าวนี้เขาก็รู้สึกว่าเขายอมไม่ได้ เพราะแค่นี้หนังไทยก็ตกต่ำมากพออยู่แล้ว ถ้ากีดกันหนังอิสระไม่ให้เข้ามาเวทีรางวัล มันเป็นเรื่องใหญ่ ทำให้ทุกคนติดแฮชแท็กแบนรางวัลนี้
คุณกอล์ฟคิดว่ายังไง?
กอล์ฟ : ส่วนตัวกอล์ฟเอง ต้องบอกว่าเกิดจากการทำหนังอิสระเหมือนกัน และต้องขอบคุณรางวัลสุพรรณหงส์เหมือนกัน เพราะกอล์ฟเป็นคนที่ได้รางวัลสุพรรณหงส์ จากหนังเล็กๆ ที่เข้าฉายโรงเดียว อย่างหนังเรื่องปั้มน้ำมัน เข้าฉายโรงเล็กๆ ไม่กี่โรง แต่สามารถยืนอายุการฉายได้นาน แล้วได้รางวัลสุพรรณหงส์ ทำให้หนังเล็กๆ ที่พอประกาศชื่ผู้เข้าชิงปุ๊บ คนดูอาจจะบลอกว่าหนังอะไรไม่รู้จัก ปีนั้นก็มีอีกหลายเรื่องอย่างดาวคะนอง ฉะนั้นทำให้คนเริ่มหันมามองว่าหนังที่คนไม่รู้จักนี่แหละ ถูกโปรโมตให้คุณค่าโดยสุพรรณหงส์ ทำให้เราเกิดขึ้นมาได้ ทำให้คนดูรู้จักหนังเล็กๆ ปั้มน้ำมันหรือดาวคะนอง ซึ่งคนดูวงกว้างไม่รูจัก สุพรรณหงส์ทำให้เกิดประโยชน์กับหนังอิสระเหล่านี้ ตอนเราได้เข้าชิงเราก็ดีใจแล้ว หนังเล็กๆ ของเราทำให้คนมองเห็น แล้วถามว่าหน้าที่สุพรรณหงส์คืออะไรหน้าที่รางวัลสุพรรณหงส์คือให้เกียรติ ให้คุณค่ากับคนทำงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ไม่ว่าหนังคุณจะใหญ่มาก หรือใหญ่น้อยแค่ไหน จะหนังเล็กแค่ไหน คุณค่าภาพยนตร์นั้นไม่ได้วัดที่จำนวนคนดู หรือจำนวนทุนสร้าง กอล์ฟมองว่าตรงนี้อยากให้ความศักดิ์สิทธิ์ ความมีคุณค่าของรางวัลสุพรรณหงส์ยังอยู่
คุณชายอดัม?
คุณชายอดัม : สิ่งหนึ่งที่พูดคุยกันเป็นอย่างมาก เสียงสะท้อนจากในวงการ คือสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ เป็นองค์กรปกครองอุตสาหกรรมรวม และมี 16 สมาคมอยู่ในนั้น ดังนั้นภาพรวมที่เกิดขึ้นนั้น กิจกรรมที่เกิดขึ้นของสมาพันธ์ฯ อาจสะท้อนภาพของคนในอุตสาหกรรม การเกิดการเรียกร้องตรงนี้ไม่ได้เกิดจากคนตัวเล็กอย่างเดียว หากติดตามในอินเตอร์เน็ตจะเห็นว่ามีตั้งแต่นักแสดง ผู้กำกับหนัง ค่ายหนัง ยันไปถึงโรงภาพยนตร์ที่ออกมา ผมคิดว่าเป็นการดีหรือเปล่าที่อาจต้องกลับมาที่โต๊ะเพื่อมองหาวิธีการที่เหมาะสม อย่าลืมว่ารางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ มีคำสร้อยอยู่คำนึงที่เราจะได้ยินแน่นอนคือคำว่าแห่งชาติ รางวัลอื่นๆ ทั้งหมด สมาคมผู้กำกับ , คมชัดลึก อะไรต่างๆ เป็นรางวัลที่ถูกตั้งเฉพาะทางมีความเฉพาะกิจ แต่รางวัลสุพรรณหงส์ มีจุดนึงที่สำคัญ คือเกิดจากองค์กรที่ปกครองดูแลอุตสาหกรรมเราโดยรวม เราก็ต้องมองภาพรวม ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง อาจต้องกว้างขึ้น กว่าที่จะบอกว่าเราพยายามมีเกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่งสำหรับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก่อน เข้าใจว่าเป็นการผลักดันให้มันดีขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อย่าลืมพันธกิจโดยรวมของสมาพันธ์ฯ ที่ต้องซัปพอร์ตและดูแลทุกๆ คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ด้วย
พี่มองยังไง ในฐานะที่พี่เองก็เป็นเลขาธิการ สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ?
พรชัย : ต้องแจ้งตรงนี้ว่าเกณฑ์ตัดสินยังไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ว่าจะใช้หลักเกณฑ์ไหนสำหรับปีนี้ ปี 65 ในการจัดสุพรรณหงส์ครั้งที่ 31 แต่มีการพูดคุยกันจริง ซึ่งการประชุมเราถูกกำหนดไว้แล้วว่าจะประชุมวันนี้เพื่อหารือ ไม่ใช่มีเรื่องแล้วถึงมาคุย มันเป็นการกำหนดรับรองการประชุมของครั้งที่แล้ว เอาเรื่องนี้มาหารือกันจริง เพื่อแก้ไขปัญหาในแง่ภาพยนตร์ที่เป็นที่รู้จักน้อย พอภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รางวัลแล้ว มันมีคำถามกลับมาว่าหนังอะไร ทำไมไม่เคยรู้จัก เป็นคำถามจากคนดู กรรมการส่วนใหญ่ที่เราคัดมารู้จักกันอยู่แล้ว ก็มีจากสปอนเซอร์บ้างที่ถามว่าหนังอะไร ก็เลยเป็นคำถามว่าถ้าจะเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นเรื่อยๆ รางวัลเราจะน้อยลงมั้ย เพราะสุพรรณหงส์เราวางไว้เป็นรางวัลมหาชน เพราะมีแห่งชาติ ไม่ใช่แค่คนในวงการมอบกันเองแล้วสนุกกันเอง รู้จักกันเองอยู่ในนี้ เราต้องการให้เป็นที่ยอมรับ เป็นที่ประจักษ์ของคนทั้งประเทศ เพราะวงการจะอยู่ได้ ก็คือได้รับการสนับสนุนจากคนดูซะเป็นส่วนใหญ่ หรือมหาชนเขาสนับสนุนเรา อุตสาหกรรมเราก็อยู่ได้ คนดูหนังเราเยอะขึ้น ไม่ว่าหนังประเภทไหนก็แล้วแต่ อย่างประเทศไทยเองวันนี้ก็เป็นปัญหาอย่างหนังประเภทนี้ฉายเข้าโรงหลักไม่ได้ มันก็เป็นการตั้งคำถาม สมาพันธ์ฯ เราก็พยายามเข้ามามีส่วนช่วยยังไงบ้าง ต่างประเทศเองเขามีชัดเจนว่าหนังที่เป็นอาร์ตเฮ้าส์ ก็จะเข้าอาร์ตเฮ้าส์ แต่ก่อนมีโรงหนังที่ฉายหนังอาร์ตเป็นหลัก มีลิโด้ที่จะฉายหนังอาร์ตเป็นหลักเหมือนกัน หนังกระแสหลักก็ฉายด้วย แต่ภูมิภาคเองด้วยความเจริญและเทคโนโลยีที่สูงขึ้น การฉายที่ง่ายขึ้น มันก็เริ่มมีคาเฟ่ที่เป็นโรงหนังเล็กๆ ไปฉายตามต่างจังหวัด ผมมองว่าเป็นวิวัฒนาการเผยแพร่ภาพยนตร์ ซึ่งหลักเกณฑ์พวกนี้ก็จะมีการพูดคุยกีน เช่นถ้าเราไปฉายคาเฟ่แบบนี้ ก็จะมีคนที่มีรสนิยมแบบนี้เข้ามาดูและเข้าหลักเกณฑ์ในการเผยแพร่แต่ก็เป็นขั้นตอนที่เราต้องพูดคุยกันต่อไป
เท่าที่ฟังมาจากผกก.ที่ไม่ได้มาด้วย รวมถึงนักแสดงที่มีโอกาสพูดคุย หลายคนมองว่าตัวสมาพันธ์ฯ ในฐานะเป็นเจ้าของสุพรรณหงส์ เขามองว่าสุพรรณหงส์อาจเป็นกำลังทำให้หนังเล็กๆ เป็นที่รู้จักมากขึ้น ถ้าสามารถดึงเข้าไปอยู่ในเวทีที่ใหญ่ได้ แต่เวทีใหญ่กลับมองว่านี่เป็นหนังเฮ้าส์ ไม่มีการไปฉาย ต้องไปถามสปอนเซอร์?
พรชัย : จริงๆ ไม่ใช่อย่างนั้นอย่างเดียวทั้งหมด พอหนังที่เข้าชิงไม่ได้เป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ ต้องแก้ปัญหาว่าจะทำยังไงให้คนรู้จัก เราไม่ได้ปิดกั้นนะ ต้องแยกประเด็นก่อน ถ้าหนังประเภทนี้เป็นที่ยอมรับด้วยวิธีการ จะมีขั้นตอนการตัดสินอีก
เรื่องเวลาโดนตัดไปแล้วใช่มั้ย?
พรชัย : ยังครับ ทีมงานส่วนที่ดูแลตรงนี้เขาแจ้งไป ผมก็ขอยอมรับผิดเอง ในฐานะที่เป็นส่วนดูแลตรงนี้ ตรงนี้เป็นเอกสารภายในที่ยังไม่ได้สรุป ไม่ได้มีการรับรองการประชุมจากที่ประชุม มันก็ยังไม่ใช่เอกสารที่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถามว่ามีการหารือกันมั้ย มีจริง แต่ถ้าเป็นปัญหาขึ้นมา เราก็มาพูดคุย หลักเกณฑ์นี้ถ้าใช้ไม่ได้ ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปแล้วเราก็ต้องเปลี่ยน วันนี้เรามีคำถามสตรีมมิ่งเข้ามาอีก ว่าถ้าหนังเข้าสตรีมมิ่งอย่างเดียวไม่เข้าโรงล่ะ จะเข้าชิงได้มั้ย หรือหนังเข้าฉายเฉพาะยูทูปอย่างเดียวล่ะได้มั้ย
คิดว่าควรต้องเข้ามั้ย?
คุณชายอดัม : ผมถามพี่หว่องเอง เมื่อตอนฮ่องกงฟิล์มผมก็ถามว่าปีนี้เกณฑ์การตัดสินเป็นอะไร ต่อหน้าหลายค่ายหนังก็อยู่กัน สตรีมมิ่งที่พี่หว่องตอบ บอกว่าดูปีหน้าว่าเกณฑ์จะเป็นยังไง ส่วนเกณฑ์การตัดสินปีนี้เรียบร้อยแล้ว จะเป็นแบบนี้ เมื่อกี้ได้ฟังพี่หว่อง แต่สงสัยในฐานะสมาพันธ์ฯ แทนที่เราจะใช้เกณฑ์เพื่อผลักดันภาพยนตร์ ทำไมเราไม่ทำโครงการแยกออกมาต่างหาก เพื่อผลักดันให้ภาพยนตร์เข้าสู่สายตาประชาชน แล้วใช้เกณฑ์ตัดสินของสุพรรณหงส์เป็นแบบปกติ แบบนั้นก็เป็นโครงการแยกไปได้นี่ครับ ไม่ใช่เพราะแบบนี้เท่านั้นถึงเป็นแบบนี้ เป็นข้อจำกัดไปเลย มันก็ทำโครงการแยกย่อย ทำร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ทำร่วมกับหน่วยงานสมาคมทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องมารวมว่าถ้าไม่มีโครงการต้องผลักดันแบบนั้นก็ไม่ต้องตัดสิน มันไม่จำเป็นนี่ครับ
พรชัย : ผมมองว่าเราตั้งรางวัลขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์อะไรก่อน วันนี้รางวัลนี้เพื่อสนับสนุนคนทำงานเป็นกำลังใจ ว่าใครทำดี เอารางวัลนี้ไป แต่แยกย่อยออกมาอีกว่า แล้วคนที่จะเข้ามามีส่วนร่วมกับรางวัลนี้คือใครบ้าง วันนี้เราพูดไปถึงคอนเทนต์ที่มันถูกเผยแพร่ว่าคอนเทนต์ประเภทที่หนึ่งเผยแพร่ที่นี่อย่างเดียว ประเภทที่สองเผยแพร่ที่นี่อย่างเดียว มันเข้าหลักเกณฑ์กันหมดมั้ยถ้าเราให้หลักเกณฑ์ด้วยความยุติธรรม แฟร์เพลย์หมด เพราะเป็นคอนเทนต์เดียวกันหมด เราเรียกว่าภาพยนตร์ ถ้าเราตีความภาพยนตร์เหมือนกันก็เข้าภาพยนตร์หมด หลักเกณฑ์มีก่อนหน้านี้ที่คุยกันในสมาพันธ์ฯ ว่านิยามคำว่าภาพยนตร์ไทยที่จะเข้าหลักเกณฑ์ ถ้ามีทุนต่างชาติเข้ามา จะถือว่าเป็นหนังไทยมั้ย
เป็นมั้ย?
นุชี่ : ส่วนตัวนุชี่มองว่าต้องพยายามพิจารณาให้เป็นภาพยนตร์ไทยมากที่สุด อาจมีเกณฑ์เรื่องภาษา ทุนสร้าง ทีมงานเรื่องราวดารา แต่การที่เป็นภาพยนตร์ไทย มันย่อมดีกว่าเป็นภาพยนตร์จากที่อื่นใช่มั้ย
กอล์ฟ : อย่าเพิ่งนอกประเด็น ที่พี่หว่องบอกว่าวันนี้จะมีประชุม เกณฑ์นี้ยังถูกใช้อยู่มั้ยคะ เพราะตอนนี้เลยประเด็นไปแล้ว
พรชัย : ผมตอบไม่ได้ เพราะไม่ใช่คนตัดสินทั้งหมด มีสิทธิ์หรือไม่มีสิทธิ์ใช้ก็ได้ เพราะกรรมการวันนี้ 15 ท่าน ถ้า 15 ท่านไม่เห็นด้วยก็ยกเลิกไป ผมว่าไม่ใช่ประเด็นใหญ่เท่าไหร่
กอล์ฟ : ใหญ่นะคะ เมื่อวานที่มีผกก.ออกมาแบนสุพรรณหงส์กัน นี่คือประเด็นใหญ่นะคะ
พรชัย : ความเข้าใจอย่างนึงในการสื่อสาร มีทั้งบวกและลบ เร็วมาก และดีมาก ดังนั้นวันนี้คงไม่ได้มานั่งคุยกันแบบนี้ ถ้าเป็นสมัยก่อน แล้วมีข้อความที่ทั้งถูกทั้งผิดอยู่ในนั้น วันนี้เรามาเคลียร์กันตรงนี้ และทำให้อุตสาหกรรมมันไปข้างหน้าได้ นั่นคือวัตถุประสงค์สำคัญ
กอล์ฟ : ก่อนมีกติกาแบบนี้ มันมีปัญหาอะไรมากมาย ทำไมถึงมีกติกานี้ขึ้นมา เพราะว่าก่อนที่จะมีกติกานี้ กอล์ฟก็อยู่ในกระบวนการ เคยถูกเสนอชื่อ เข้าชิง เคยได้รางวัล มีหนังถูกเสนอชื่อมากมายที่ถูกโปรโมตโดยสุพรรณหงส์ ก็อยากรู้ว่าปัญหาที่คิดไอเดียนี้ขึ้นมา มันมีปัญหาอะไร
พรชัย : มันมีหนังมากมายที่ไม่ถูกเลือก และไม่ถูกมองด้วย เป็นตัวเล็กๆ อยู่ในสังคม แต่เขาก็ยังทำหนังอยู่ หนังเขามีการตอบรับดี เราก็คิดว่าเราจะช่วยอุตสาหกรรมตรงนี้ยังไงบ้าง เราจะเผยแพร่ยังไงให้มากขึ้น นี่คือการคิดแก้ปัญหา ผมคิดว่าทุกคนไม่ได้มีชื่อเสียงแบบนุชี่ หรือพี่กอล์ฟ
กอล์ฟ : แต่กอล์ฟมีชื่อเสียงขึ้นมาจากหนังอิสระแบบนี้นะพี่
พรชัย : หมายถึงก่อนหน้ามีชื่ออยู่แล้ว เคยทำหนังโฆษณา มีชื่อพอสมควรถึงมาทำหนังแบบนี้ ก็มีคนสนับสนุนพอสมควรที่จะให้ทุนโน่นนี่ แต่มีคนอีกจำพวก มีแค่สมองกับสองแรงที่ทำหนังขึ้นมา แต่ไม่มีโอกาสเผยแพร่ด้วยซ้ำไป ผมเลยมีโครงการว่าถ้าเราตั้งเกณฑ์เพื่อให้มีหนทางในการแก้ปัญหา คือตั้งโครงการหนังเลือกทางซึ่งจะคุยกับสมาคม เป็นโครงการสนับสนุนหนังที่ไม่มีโอกาสในการเผยแพร่ ให้มีการเผยแพร่ในวงกว้าง ที่ผ่านมามี 3 โครงการที่ทำไปแล้ว
กอล์ฟ : คำถามหนูมีปัญหาอะไรถึงมีเกณฑ์นี้ขึ้นมาก่อน
พรชัย : ปัญหาคือพอหนังไม่รู้จัก เราทำยังไงให้หนังเป็นที่รู้จัก เราก็เลยคิดสร้างหลักเกณฑ์ขึ้นมาให้มีการเผยแพร่มากขึ้นไปก็เป็นการดีกับอุตสาหกรรม ถ้าหนังถูกฉายจำกัดเฉพาะกรุงเทพฯ แล้วได้รางวัล หรือฉายเฉพาะอีสานอย่างเดียวแล้วได้รางวัล มันก็ไม่มากพอ
คุณชายอดัม : แต่คมชัดลึกเขาก็ประสบความสำเร็จ ทั้งที่เขาให้รางวัลหนังไม่ได้เลือก งานพวกนี้ก็ได้อยู่นะ
พรชัย : คมชัดลึกอย่าลืมว่าเขาเป็นสื่อ เขามีสื่อในมือ แต่สมาพันธ์ฯ ไม่มีสื่อไม่มือ เราพร้อมเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว ไม่ได้คิดว่าจะยึดถือแบบนี้ไปตลอด วันนี้คิดกฎเกณฑ์พวกนี้ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา แต่ถ้ากฎเกณฑ์เกิดสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาเราก็เปลี่ยนได้ เราไม่ได้ดื้อดึงอย่างนั้น
ถ้าเกิดสุพรรณหงส์เพิ่มรางวัลภาพยนตร์อินดี้ยอดเยี่ยมได้มั้ย?
พรชัย : คิดว่าไม่เหมาะ
คุณชายอดัม : ภาพยนตร์ก็ต้องเป็นภาพยนตร์
นุชี่ : ดูออสก้าร์ล่าสุดหนังที่ได้ก็เป็นหนังอิสระ มันเป็นหนังมีค่ายเล็กๆ
หนังไทยมีค่ายเยอะแยะมากมาย สหมงคล พระนครฯ ไฟว์สตาร์ จีดีเอช มีคนทำหนังทุนน้อย ค่ายเล็ก คนเหล่านี้ขาดโอกาสในการโชว์ผลงานของเขา?
คุณชายอดัม : คนอาจคิดว่าคำว่าหนังอิสระอาจหมายถึงอาร์ตเฮ้าส์ภาพยนตร์ เป็นศิลปะชั้นสูง ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ แต่เป็นตลาดเฉพาะ เช่นภาพยนตร์อีสาน ภาพยนตร์ภาคใต้ ภาพยนตร์สนุกๆ วัยรุ่นก็มีเหมือนกัน แต่เขาอาจเจาะเฉพาะกลุ่มมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่กลุ่มเล็กนะ แต่ไม่ได้ผ่านเกณฑ์นะ เพราะเฉพาะกลุ่มของเขา
มีโอกาสยกเลิกกฎเกณฑ์นี้ได้มั้ย?
พรชัย : มันมีโอกาสอยู่แล้ว เพราะวันนี้ที่เรามาพูดคุยกัน เพื่อหาทางออก ไม่ได้มาเพื่อสร้างความขัดแย้งเพิ่ม วันนี้เราเข้าที่ประชุมเลยว่าหลักเกณฑ์นี้ทำให้เกิดปัญหานี้นะ ถ้าที่ประชุมโอเคทุกอย่างก็จบ ก็ตัดทิ้งไป ก็กลับมาเปิดโอกาสให้หนัง มันก็จะมีคำถามใหม่ๆ เข้ามา
หนังเข้ายูทูป เน็ตฟริกซ์ ถือเป็นภาพยนตร์ไทยได้มั้ย เข้าประกวดได้มั้ย?
นุชี่ : ถ้าตามหลักเกณฑ์ของออสก้าร์ ต้องมีการเข้าโรงก่อน แต่ก็แล้วแต่รางวัล
คุณชายอดัม : ขึ้นอยู่กับเรากำหนดลิมิตแค่ไหน อย่างเช่นเราจะรู้ว่าเป็นสตรีมมิ่งที่เป็นการอัปโหลดเอง ก็จะไม่ค่อยนับ แต่ถ้าเป็นแพลตฟอร์มกระจายภาพยนตร์ อย่างเน็ตฟริกซ์ ทรูไอดี ก็จะนับ ก็มีแบบนี้เหมือนกัน ต้องตกลงกันให้ชัด แต่ตอนนี้ยังไปไม่ถึงขั้นตอนนั้น เอาแค่ว่าที่ฉายโรงนี่แหละ เอาให้รอดก่อน ณ เวลานี้
นุซี่ : อยากให้มั่นใจมากเลยว่าจะไม่กลับไปวนเรื่องนี้อีก เพราะก่อนหน้านี้ 3 ปีที่แล้วก็มีไฝว้แล้ว ถอยไปแล้ว และก็กลับมาอีก
พรชัย : เวลามองปัญหา อย่ามองปัญหาเดียว ต้องมองให้กว้าง ตอนนี้เทคโนโลยีมาแล้ว ยูทูปมาหลายปีแล้ว สตรีมมิ่งเข้ามาหลายปีแล้ว ถ้าเราบอกว่าหยุดปัญหานี้ก่อน เราก็จะทิ้งคนประเภทนี้ไว้ข้างหลังเหมือนกัน
คุณชายอดัม : เราทิ้งใครอยู่เหรอครับ
พรชัย : ผมมองว่าเราแก้ปัญหาได้พร้อมๆ กัน ถ้าเราช่วยคนได้ครั้งเดียว ก็เอาประเด็นตรงนี้มาคุยกัน อย่าช่วยเฉพาะคนกลุ่มเดียว สามารถแก้กฎครั้งเดียว แก้ได้ทุกคนและช่วยได้ทั้งหมด ผมว่าดีกว่า
ถ้ากรรมการวันนี้บอกว่าไม่ จะเอาแบบนี้ ยังไงเวลาไม่ผ่านเกณฑ์แน่ ผกก..เขาไม่เอาเลย เขาถอย จะเกิดผลกระทบมั้ย?
พรชัย : ก็มีแน่นอน อาจไม่มีคนมารับรางวัล ถ้าแรงที่สุดเลย
พี่อาจต้องแจกรางวัลที่อยากให้เขาหรือเปล่า?
พรชัย : อุตสาหกรรมก็มีอยู่แค่นี้ ไม่ได้ใหญ่โตเยอะแยะขนาดนั้น ประเด็นวันนี้คงไม่ลุกลาม เราคุยกันด้วยเหตุผล ทุกคนมีความหวังดี อยากให้อุตสาหกรรมเดินไปข้างหน้า อยากให้หนังไทยเป็นที่รักของทุกคน ในมุมสมาชิกมีความสามัคคีกัน เราหาทางออกด้วยกันด้วยสติปัญญาที่เรามี เราสร้างคอนเทนต์ที่ดีได้ เราก็สร้างสังคมที่ดีได้เหมือนกัน วันนี้เราเอาคอนเทนต์เป็นต้นแบบในการสร้างสังคมไทยให้ดีขึ้นยังไง ผมว่าเป็นปณิธานของเราทุกคน ในวงการอุตสาหกรรม
ระหว่างพักเบรก มีสายนึงต่อสายมาหาผมทันที คือท่านมุ้ย ท่านก็โทรมาหาผม พูดถึงเรื่องนี้เหมือนกัน ท่านก็บอกว่าทำไมไปมองว่าหนังเล็กแล้วไม่ให้โอกาสเขา ผมก็บอกว่ากำลังพูดคุยกันอยู่ ท่านก็บอกว่าทีหนังสุริโยไท ผมเอาเข้าประกวด สมาพันธ์ฯ ยังไม่ให้ผมเอาเข้าประกวดเลย ผมก็ถามว่าเพราะอะไร ท่านบอกว่าทางสมาพันธ์ฯ บอกว่าเดี๋ยวจะกลายเป็นไปรังแกหนังคนอื่นเขา ก็เรียกว่าหนังเล็กก็ควรได้เข้าไป?
คุณชายอดัม : ผมคิดว่าหนังทุกเรื่องควรมีสิทธิ์ สิทธิในการเข้าไปอยู่ในเวทีการประกาศภาพยนตร์แห่งชาติ คนถามในเน็ตเยอะว่ามันสำคัญจริงหรือกับรางวัลหนึ่งรางวัล มันไม่ได้สำคัญ แต่มันคือสิทธิที่พึงมีของการเป็นสมาชิกในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ผ่านการดูแลของสมาพันธ์สมาคมฯ
จำเป็นมั้ยต้องมีรางวัล?
นุซี่ : รางวัลก็มีหน้าที่ของมัน ชี้ให้คนดูรู้ว่าหนังเรื่องนี้คุณควรไปดูนะ นักแสดงคนนี้เก่งนะ และควรชี้ว่าหนังแปลกใหม่ ดียังไง จะได้พัฒนาวงการไป
คุณชายอดัม : มุมมองแข่งขันเราไม่ได้ต้องดีกว่าพี่กอล์ฟ หรือพี่นุชี่ ไม่มีใครคิดแบบนั้น แต่ที่สำคัญคือมันทำให้เกิดเวที ทำให้เกิดการมองเห็น เป็นขวัญและกำลังใจคนในอุตสาหกรรมนี้ทำงานหนักมาก ไม่มีการซัปพอร์ต ไม่มีคนดูแล น้อยมากจริงๆ สิ่งนี้ทำให้เห็นว่าเขาอดนอน เขาเอาเป็นเอาตายเพื่อสร้างสิ่งดีๆ ในอุตสาหกรรมที่ทุกคนมองว่าเต้นกินรำกิน เราเป็นอุตสาหกรรมรองบ่อนมาก การสนับสนุนน้อยมาก แม้มีภาพในสื่อเยอะ แต่จริงๆ ข้างหลังมันเหนื่อยกันจริงๆ ของแบบนี้ถ้าเรารู้สึกว่าคนใดคนหนึ่งไม่ควรได้รับการซัปพอร์ตกำลังใจ ซัปพอร์ตพื้นที่ในการมองเห็นแบบนี้ ผมก็รู้สึกว่ามันก็ไม่ควรใช้คำว่าภาพยนตร์แห่งชาติ
คุณชายอดัมสื่อว่าถ้าเป็นรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติต้องเท่าเทียม ไม่ว่าจะรายเล็ก รายใหญ่หรือรายย่อย จริงหรือเปล่าเขาบอกว่าผู้ประกอบการรายย่อยเอาหนังไปฉายในโรง หรือรายใหญ่ ต้องถูกคิด 50-50 ?
นุชี่ : บางทีก็ 60-40 โรงหนัง 60 ผู้สร้าง 40 ถ้า 50 ก็บุญแล้วค่ะสำหรับเรา
ต่อสายหา ท่านมุ้ย ท่านมองเรื่องนี้ยังไง?
ท่านมุ้ย : บูชิต คุณใช้กฎเกณฑ์นั้นไม่ได้ หนังก็คือหนัง การสร้างหนังคุณต้องเป็นอิสระในการสร้าง จะบอกว่าทองพูนฯ หรือนเรศวร สุริโยไทแตกต่างกันตรงไหน มันคือภาพยนตร์ไทยเหมือนกัน
คิดว่าเรื่องนี้น่าจะลงเอยยังไง?
ท่านมุ้ย : ล้มสมาพันธ์ สร้างขึ้นมาใหม่ ล้มมันเลย ไล่มันออกไป นี่พูดในฐานะศิลปินแห่งชาตินะครับ
มีอย่างอื่นเข้ามาแก้ไขได้มั้ย?
ท่านมุ้ย : มันจะดียังไง ผมยังไม่เข้าใจเลย เขาไม่ยอมคุณอยู่แล้ว เขามีกฎเกณฑ์ของเขาโอเคอยู่แล้ว เรื่องเณรกอดแม่ผมก็ไม่อยากคุยด้วยแล้ว หนังฝรั่งคุณไม่เซ็นเซอร์ แล้วจะจ้องมาเซ็นเซอร์หนังไทย หนังคุณกอล์ฟโดนมากี่หนแล้วล่ะ
แสดงว่าหนังไทยถึงวันนี้จะถอนตัวออกจากภาพยนตร์ไทยไปแล้ว ยังจับตาดูหนังไทย?
ท่านมุ้ย : ผมเป็นคนดูหนัง ดูละคร ตลอด ไม่เคยหยุดเลย
ภาพยนตร์เรื่องหุ่นพยนต์ที่กองเซ็นเซอร์โดยกระทรวงวัฒนธรรม บอกว่าเณรกอดแม่ไม่ได้ มันผิด พระมีคิ้วไม่ได้ ตัดไม่ให้ออก?
ท่านมุ้ย : บูชิต! มันไม่ได้อยู่ในความเป็นจริง คนดูแต่ข่าวคุณออกทุกวัน คนมีเรื่องกับพระทั้งนั้น มากกว่าเรื่องอื่นนะ มีพระกินเหล้า ยาเสพติด
ฉันบวบด้วย?
ท่านมุ้ย : ใช่ จะเอายังไงกับมัน นี่คือความเป็นจริง แต่คุณไม่สามารถสร้างเป็นหนังได้ พูดได้คำเดียวว่าบูชิต
บูชิตคือกระแดะใช่มั้ย มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในสังคม แต่พอสร้างเป็นหนังบอกไม่ได้ มันกระแดะใช่มั้ย?
ท่านมุ้ย : (หัวเราะ) ถูกต้องครับ
เอาเรื่องหนังที่ถูกกองเซ็นเซอร์?
กอล์ฟ : จริงๆ ไม่มีกองเซ็นเซอร์นะ
คุณชายอดัม : อันนั้นอยู่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งยุบไปแล้ว มาเป็นกระทรวงวัฒนธรรม หน้าที่เขาคือจัดเรตติ้ง การจัดเรตติ้งมันมีวิธีการที่สามารถบอกได้ว่าคุณห้ามฉายถ้าไม่ทำเช่นนี้ ซึ่งกฎหมายของมันกว้างเกินไป กฎหมายที่บอกว่าขัดต่อศีลธรรมอันดี พอเป็นแบบนี้มาตรฐานมันเลยสวิง
เห็นด้วยมั้ย?
นุชี่ : จริงๆ ภาพยนตร์เป็นสื่อเดียวที่ถูกเซ็นเซอร์โดยภาครัฐ เพราะอื่นๆ โทรทัศน์หรือสตรีมมิ่ง เขาให้คนในอุตสาหกรรมจัดเรตกันเอง ภาพยนตร์ยังถูกควบคุมโดยภาครัฐอยู่
คุณชายอดัม : สมัยยุคสงครามเย็น สมัยก่อนหลายครั้งภาพยนตร์มีการพูดถึงการเมืองฝั่งคอมมิวนิสต์ ซึ่งรัฐก็กลัว พอกลัวปุ๊บสิ่งที่เกิดขึ้นคือกรอบความคิดนั้นที่ว่าภาพยนตร์ทำลายความมั่นคงต่อชาติก็ต่อเนื่องมา 40-50 ปี จนเขาตายแล้วเกิดใหม่ กรอบความคิดของภาพยนตร์ก็ยังถูกครอบอยู่ ทั้งที่มีสื่อใหม่ๆ มากมายมหาศาล มีติ๊กต๊อกแล้ว
กอล์ฟ : (หัวเราะ) เราเป็นคนเคยโดนมาก่อน เรารู้สึกว่าก็มีคำถามเยอะ เราต่อสู้ให้มีพรบ.ภาพยนตร์ เราอยากให้มีฟรีด้อมศิลปิน คนทำงาน ผู้กำกับ ควรมีเสรีภาพในการทำงานในความคิดของเราผ่านสื่อภาพยนตร์ พอเราถูกแบน ห้ามฉาย ด้วยว่าเราผิดศีลธรรมอันดี ใครถือกรอบศีลธรรมอันดีตรงนั้นอยู่ คนที่ดูหนัง คนเป็นคณะกรรมการเรตติ้งไม่กี่คน สามารถคิดแทนคนดูทั้งประเทศว่าเขาดูแล้วคิดเองไม่เป็นอย่างนั้นหรือ เราก็มองว่าคุณรู้ดีมาจากไหน คิด่วาคนไทยจะโง่ถึงขั้นดูภาพบนจอแล้วไม่รู้หรือว่ามันคืออะไร กรณีล่าสุดหุ่นพยนต์ เราเห็นได้ชัดว่าการใช้ดุลยพินิจกรรมการไม่กี่คน แล้วมาคิดแทนคนดูทั้งประเทศว่าภาพที่เห็นคนดูเขาไม่สามารถรู้ได้เองหรอกว่ามันคือภาพยนต์ที่ถูกสร้างขึ้นมาและสะท้อนภาพสังคม อย่างที่ท่านมุ้ยบอก ข่าวมันยิ่งกว่าหนังอีก แล้วกอล์ฟดูหนังหุ่นพยนต์แล้วรอบสื่อมวลชน เราเห็นว่าการที่เราดูหนังดูเป็นฉากไม่ได้ เราต้องดูองค์ประกอบทั้งหมดว่าเราเห็นเจตนาแบบไหน เจตนาหุ่นพยนต์เขาต้องการบอกว่าเหลือบริ้นที่เกาะกินศาสนา เขามีความเชื่อแบบนี้ที่จะนำเสนอผ่านหนังเรื่องนี้ เขาจะบอกว่ามันมีอยู่จริงๆ นะ อย่างฉากเณรกอดแม่ นั่นคือแม่ การไปกอดแม่เพื่อปกป้องแม่ มันนอนเซ้นส์มากเลย คิดเหรอว่าคนดูจะดูไม่ออก ดูถูกสมองคนดูมากค่ะ คณะกรรมการที่ออกมาแบนไม่ให้ฉากเหล่านี้ผ่าน แล้วการเป็นกรรมการไม่ควรมีสิทธิ์ออกมาบอกนะว่าควรตัดฉากนี้ๆ
คุณชายอดัม : มันไม่ควรมีกฎหมายซ้ำซ้อนตรงนี้ เหมือนพรบ.ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ เขียนมาซ้ำซ้อนดูแลมากกว่าเดิม เราเป็นกบฏกันเหรอ ถึงต้องมีกฎหมายสามสี่ตัวซ้อนกัน ถ้าพี่หนุ่มเสนอข่าวอยู่ดีๆ แล้วมีบก. กบว. บอกว่าข่าวนี้ห้ามออกจะทำยังไง
ตอนนี้ก็โดนอยู่ครับ ลำบากใจไปหมด ทุกวันนี้โจรฆ่าเด็ก โจรกำลังหนี เปิดหน้าโจร บอกว่าเปิดหน้าไม่ได้ ผมก็โดนไม่ใช่ไม่โดน?
คุณชายอดัม : ปัญหาของเราคือเราโดนแบบนี้ แต่เราจินตนาการเพื่อเล่านำเสนอ การดูถูกความรู้คนไทยในการเสพสื่อ มันพัฒนาไปไกลแล้ว เราดูถูกพวกเรากันเองมากเลยนะ ดูถูกคนดู มันไม่ได้
สมาพันธ์ภาพยนตร์ฯ เข้าไปช่วยเหลือมั้ย?
พรชัย : หุ่นพยนต์เขามีการประชุมคณะกรรมการด่วนหาทางออก มีการพูดคุยและมีการยกหูหากระทรวงวัฒนธรรมที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องการเซ็นเซอร์ ขอความชัดเจนว่าทำอย่างนั้นเพื่ออะไร ก็มีการแก้ไขและเอาไปเซ็นเซอร์อีกรอบ แต่กฎกติกาต้องผ่านไป 2 อาทิตย์ถึงยื่นเรื่องใหม่ให้เขาได้ มีการแก้ไขทางเทคนิคจนได้เซ็นเซอร์เป็นหนังใหม่ชื่อว่าปลุกพยนต์ เป็นสองเรื่อง ได้คนละเรต
คุณชายอดัม : ซีนที่ห้ามฉายยังอยู่มั้ย
พรชัย : มีการเอากลับมาบ้าง บางส่วนก็หายไป แต่กฎหมายไม่ทันยุคทันสมัย เรื่องคนไม่ทันยุค กฎหมายอยู่ที่เราจะหยิบขึ้นมาหรือเปล่า มันอยู่ที่วิจารณญาณ ฉะนั้นกรรมการแต่ละชุดที่ตัดสินออกมาก็เป็นความหลากหลาย ขั้นตอนในการเลือกคณะกรรมการ ต้องเอาคนที่อยู่ในวงการสื่อหรือภาพยนตร์เข้าไปมากขึ้นถ้าเรายังมีพรบ.นี้อยู่
นุชี่ : เรื่องการเซ็นเซอร์เราไม่โอเคเลย เราถือว่าทำให้ภาพยนตร์เกิดการตกต่ำ คนจะไม่กล้าสร้างหนังแปลกใหม่ออกมา จะกล้าสร้างได้ยังไง ไม่รู้ว่าสร้างมาแล้วเซ็นเซอร์ผ่านหรือเปล่า สร้างแล้วเผื่อไม่ได้ฉาย
เวลาทำหนังตามข้อเท็จจริงก็โดนแบบนี้?
นุชี่ : นายทุนไม่กล้าลงทุน ผู้สร้างไม่กล้าสร้าง มีปัญหาอีกร้อยแปดพันประการที่ไม่ได้แก้ไข นี่คือการกดทับวงการภาพยนตร์ไม่ให้พัฒนา อยากให้คนดูเข้าใจตรงนี้ เราเห็นอยู่กับตา ฉันอยากทำแบบต่างประเทศ แต่ทำไม่ได้ด้วยอะไร ไม่ใช่เราไม่สู้ เราพยายามสู้ แต่ต้องใช้เวลา การเซ็นเซอร์เราไปพูดคุยกับทุกพรรคการเมือง
คุณชายอดัม : ตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งที่แล้วแล้วครับ ทุกคนก็ยกมือ ยกเว้นพรรคเดียวที่ไม่ยกเลิกเรื่องการแบนเรื่องการแบน
นุชี่ : ไม่มีนักการเมืองคนไทยที่จะมีความกล้าพอที่จะยกเลิกตรงนี้ได้จริง นักการเมืองไม่กล้า
เป็นคำพูดหาเสียง?
คุณชายอดัม : พูดหาเสียง มันผ่านมาสมัยนึงแล้ว
นุชี่ : มันค่อนข้างสิ้นหวัง เพราะเรื่องเซ็นเซอร์เป็นเรื่องที่คนดูต่อต้านด้วยว่าควรยกเลิก ฝ่ายการเมือง ภาครัฐยังไม่ทำเลย แล้วนับประสาอะไรกับปัญหามากมาย
คุณชายอดัม : ถ้ารัฐสนับสนุนเรื่องเงินทุนและอื่นๆ เราคงไม่ต้องมาพูดกันตรงนี้ด้วย
พรชัย : เดี๋ยวนี้มีหลายมาตรฐานมากในการเผยแพร่คอนเทนต์ ถ้าหนังผมไดเรกต์ทูยูทูปเลย ไม่มีใครเซ็นเซอร์ ก็จะเข้ามาตรฐานเซ็นเซอร์ยูทูป เขามีมาตรฐานคัดกรองไป อย่างเน็ตฟริกซ์ดูดบุหรี่ก็ไม่เซ็นเซอร์ก็ได้ แต่พอมาอยู่ในหนังต้องเซ็นเซอร์โดยภาครัฐ พอฉายจอเดียวกัน ถ้าอยู่ฟรีทีวีของไทย ไม่ได้ แต่พออยู่ในแพลตฟอร์มอื่นของไทยได้ งงมั้ย
นุชี่ : มันเป็นเรื่องนอนเซ้นส์ ที่ภาครัฐพยายามควบคุมคอนเทนต์ ควบคุมเซ็นเซอร์ มันไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร ภาครัฐมีพรบ.มาเพื่อควบคุมสื่อภาพยนตร์ตลอด ทางคนในวงการต้องการให้ร่างพรบ.มาเพื่อสนับสนุนสื่อภาพยนตร์ แทนการกำกับดูแลควรสนับสนุนมากกว่า
กอล์ฟ : ใช่ ควรสนับสนุน ไม่ใช้จำกัดสิทธิและเสรีภาพ
นุชี่ : อย่างเป็นนายกสมาพันธ์ภาพยนตร์ฯ ดิฉันปฏิเสธเลยไม่ขอรับเงินจากภาครัฐ พอรับแล้วก็เซ็นเซอร์ไม่ให้ผกก.ขึ้นเวทีแล้ววิจารณ์การเมือง ห้ามพูดวิจารณัสังคม ห้ามเต้นยกขา นั่นนี่
หมายความว่าไง?
คุณชายอดัม : ในงานประกาศรางวัล ท่าเต้นห้ามยกขา
นุชี่ : เวลาภาครัฐให้เงินเรามาจะมาพร้อมการควบคุม มันก็ไม่เกิดประโยชน์
คุณชายอดัม : ย้ายไปกระทรวงพาณิชย์กันดีมั้ย
นุชี่ : กระทรวงไหนไม่กล้าค่ะ แต่ปีนี้ดิฉันไม่ขอรับ เพราะเราไปเซ็นเซอร์กันเองไม่ได้ เรายอมไปหาเงินจากเอกชนมาจัดการเอง อย่างรางวัลต้องดูหัวใจรางวัลด้วย อย่างเป็นงานเชิดชูศิลปะ ให้เสรีภาพ ให้พื้นที่เขาพูดออกมา รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ เราคิดว่าหัวใจของเขาคืออะไรก้ต้องดูด้วย มันคือหัวใจของการมอบรางวัลก็ต้องเชิดชูศิลปะ หรือให้กำลังใจคนทำงาน เรื่องเปลือกเรื่องความหรูหรา สำหรับดิฉันถ้าเงินไม่พอจัด ก็ไปจัดร้านเหล้า ร้านลาบ จัดออนไลน์ ให้หัวใจรางวัลนั้นยังคงอยู่ ก็อาจต้องตั้งคำถามคนอาจหวังดีให้รางวัลมันป๊อบปูลาร์ แต่หัวใจการมอบรางวัลคืออะไรก็ต้องกลับมาคิด
กรณีลดรอบหนังอย่างขุนพันธ์ ทำไมอยู่ดีๆ ลดรอบลง แล้วไปเพิ่มรอบให้อีกเรื่องนึง?
คุณชายอดัม : ทิดน้อยไม่ได้ผิดครับ คนทำหนังไม่ได้มีเจตนาอยู่แล้ว คนไปว่าทิดน้อยเยอะ อยากพูดแทนว่าอย่าไปว่าทิดน้อย การจัดโปรแกรมมิ่งไม่ได้เกี่ยวกับตัวภาพยนตร์ อาจเป็นผู้ลงทุนอะไรก็ตามแต่ เห็นมีการไปว่าถึงผกก. ทีมงาน นักแสดง ก็อย่าไปว่าถึงจุดนั้นเลย ตรงนี้เป้นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นของการจัดโปรแกรมมิ่งของโรง ไม่ใช่ค่ายหนังด้วยซ้ำ ซึงพูดไม่ได้มาก เป็นเรื่องภายใน เป็นมารยาท เราไม่ได้สาวไส้ให้กากิน แต่ส่วนสำคัญคิดว่าอนาคตควรมีกลไกบางอย่างที่ช่วยให้ภาพยนตร์ไทยทุกเรื่อง ไม่ว่าเจ้าใหญ่เจ้าเล็กได้มีที่ทางในโรงภาพยนตร์ อย่างตอนนี้เป็นระบบน้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า เราพึ่งพาอาศัยกัน และยอมรับในระดับหนึ่งว่าถ้าภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ทำเงิน ก็ต้องถูกถอดออกไปในอาทิตย์นึง เรารู้อยู่แล้วว่าเป็นหนึ่งสัปดาห์ที่ประเมินอยู่แล้ว ถ้าทิศทางไม่ดีเขาก็ถอดออก
มุมผู้ประกอบการ พัง?
นุชี่ : หนังถ้าพูดทำเงินไม่ทำเงิน จะพูดเรื่องหนังเป็นสินค้าอย่างเดียว แต่หนังมีความเป็นศิลปะและเป็นสินค้าทางวัฒนธรรม เราว่าโรงหนังอาจมีหน้าที่กับผู้ประกอบการ เจ้าของหนังจะจัดวางหนังอย่างไรให้น่าดูและมีความหลากหลาย ไม่ใช่ว่าเอาแต่หนังทำเงิน หนังดีๆ แปลกๆ ไม่ต้องเอาไปฉาย เพราะไม่ทำเงินอาทิตย์แรกก็ตัดรอบไปให้หมดเลย มันก็จะไม่มีคนกล้าทำหนังใหม่ๆ เพราะไม่มีพื้นที่ให้ฉาย คนลงทุนก็ไม่กล้าลง มันก็เป็นแบบนี้แหละค่ะ มันก็ล่มจมล่มสลาย
พรชัย : เราเองมีการพูดคุยเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้น เราเรียกค่ายหนัง โรงหนังมาคุยกันจะร่วมกันแก้ยังไง เพราะตอนนี้หนังสิบเรื่อง รอดเรื่องเดียว มันคือวิกฤต
มีคนบอกว่าคนไทยไม่ดูหนังไทยนานแล้ว?
พรชัย : เป็น 10 ต่อ 9 ที่คนไม่รู้ตัวเลขพวกนี้ บางคนอาจรู้แต่รู้ไม่หมด วันนี้โครงสร้างรายได้เปลี่ยนไป ช่วยเทคโนโลยีเข้ามา สิ่งที่หายไปทั้งก้อนคือวิดีโอ เคยสร้างหนัง 10 ล้านได้ 10 ล้าน ลงทุนเท่านี้เพื่อเข้าโรงฉาย มีเงินจากสายหนังต่างจังหวัดอีกก้อนเข้ามา
ทางแก้มีมั้ย?
กอล์ฟ : มีค่ะ ทางแก้นี้ต้องแก้ในระยะยาว ต้องแก้ตั้งแต่ระบบการศึกษา มายด์เซ็ตคนทำงาน โรงหนังต้องให้พื้นที่คนทำหนัง หน่วยงานรัฐบาลต้องมีกองทุนภาพยนตร์ สนับสนุนรากฐานตั้งแต่วิธีคิด ตั้งแต่คนทำยันคนดู การที่เราปูเสพงานศิลปะ ต้องสร้างตั้งแต่ราก ต้องมีตั้งแต่หน่วยงานรัฐบาลที่รับผิดชอบ กระทรวงศึกษาธิการ ให้คนทำและคนดูเติบโตไปพร้อมๆ กัน
พรชัย : ค่อนข้างเห็นด้วย ส่วนสมาพันธ์เอง เราพยายามทำเรื่องกฎหมาย หากองทุน อาจมีข่าวดีเรื่องกองทุนเร็วๆ นี้ ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นวันนี้ อาจเป็นเรื่องความเข้าใจที่ไม่ตรงกันบางอย่าง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รวมตัวพ่อตัวแม่สุดฮอต! 10 ฉายาดาราประจำปี 2567
เป็นธรรมเนียมปฏิบัติทุกๆปี สมาคมนักข่าวบันเทิง จะมีการตั้งฉายาให้กับศิลปินดาราและบุคคลในวงการบันเทิง ซึ่งในปี 2567 นี้ นำโดย ปราโมทย์ สารรัตน์ นายกสมาคมนักข่าวบันเทิง ได้ร่วมกับสื่อมวลชนสายบันเทิงหลายสำนักและสื่อหลายแขนง ส่งฉายามาร่วมคัดเลือก ในปีนี้มีการโหวตตั้งฉายาดาราประจำปี 2567 โดยสำนักข่าว INN เอื้อเฟื้อสถานที่
'ฟิล์ม รัฐภูมิ' พกมั่นใจเต็มร้อย ควง 'ทนายประมาณ' รับข้อหากองปราบ
'ฟิล์ม รัฐภูมิ' ควง 'ทนายประมาณ' โผล่กองปราบ รับทราบข้อหาพยายามกรรโชกทรัพย์-หมิ่น คลิปเสียงเรียกรับเงินบอสพอล 20 ล้าน
สมการรอคอยของแฟนๆวาย กับงานประกาศรางวัลสุดยิ่งใหญ่
สมการรอคอย สำหรับงานประกาศรางวัล “Y Entertain Awards 2024 presented by JisuLife ซึ่งจัดโดยบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท โซนิกซ์ ยูธ จำกัด โดย ก้อง-ปิยะ เศวตพิกุล ณ True ICON Hall ICONSIAM
'หนุ่ม กรรชัย' ให้ปากคำตำรวจสอบสวนกลาง เอาผิดคนอ้างชื่อตบทรัพย์ดิไอคอน
ศูนย์รับแจ้งความกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง "หนุ่ม" กรรชัย กำเนิดพลอย พิธีกรชื่อดัง เดินทางเข้าพบ พงส.กก.1 บก.ป.
'บิ๊กเต่า' ชี้อีกไม่กี่วันรู้ใครเป็นโจร เตรียมเรียก 'กรรชัย' ให้ปากคำหลังแฉคลิปเสียงตบทรัพย์
พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบช.ก. กล่าวถึงกรณีคลิปเสียง นักร้องเรียน ก. กับ ศิลปินนักร้องชื่อดัง ฟิล์ม รัฐภูมิ ที่มีการพูดคุยกันในเชิงเรียกรับเงินจากผู้ต้องหาเครือข่ายดิไอคอน เพื่อพาออกรายการข่าวดัง ว่า
โฆษก พปชร. แจง 'ฟิล์ม รัฐภูมิ' ไม่ได้ร่วมงานพรรคนานแล้ว
พล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย โฆษกพรรค พปชร. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายรัฐภูมิ โตคงทรัพย์ หรือ ฟิล์ม อดีตทีมโฆษกพรรค พปชร. ที่ล่าสุดมีความเกี่ยวข้องคดีรีดทรัพย์ 20 ล้าน จากบอสบริษัทดิ ไอคอน กรุ๊ป