1 มี.ค.65-นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานแถลงข่าวเปิดตัว “Degree Plus” หัวข้อ เมื่อโลกปรับ…มหาวิทยาบัยไทยต้องขยับอย่างไร ตอนหนึ่งว่า ตนมีความฝันอยากเห็นการศึกษาที่ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง และดักหน้าการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งการจะทำเรื่องดังกล่าวได้ ถือเป็นเรื่องใหม่แต่จุฬาฯ คงใช้ระบบเดิมไม่ได้ ดังนั้น จุฬาฯได้มีการปรับตั้งแต่โครงสร้าง และมีการสร้างความร่วมมือ การทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่ในการพัฒนาการศึกษา สังคมให้ก้าวหน้าและก้าวไกล และในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา เรื่องการเรียนรู้ การใช้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะหลังโควิด ช่วงที่รับตำแหน่งอธิการบดีวาระ 2 ได้นำเสนอนโยบายว่าจะทำให้จุฬาฯ มีการเรียนรู้ที่ใช้ระบบออนไลน์ 100% แต่เมื่อตนรับตำแหน่งในเดือนพฤษภาคมปี 2563 เกิดโควิด-19 ทำให้การเรียนการสอน กลายเป็นออนไลน์ 100% ซึ่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงหากมีการเตรียมพร้อมก็สามารถปรับตัวได้ ฉะนั้น ทุกคนต้องเรียนรู้ตลอดเวลา เพิ่มความรู้ให้ตนเอง
นายบัณฑิต กล่าวต่อว่า โลกทุกวันนี้มีทั้งวิกฤตและโอกาส โดยเฉพาะในเรื่องการเข้าถึงความรู้กลายเป็นโอกาสมากขึ้น โลกยุคคลาสสิก เวลาไปเรียนรู้ ต้องพบครูอาจารย์ในห้องเรียน ครูอาจารย์เป็นผู้นำความรู้จากตำรา ประสบการณ์มาเล่าให้นักเรียนนักศึกษาฟังและมองว่าเป็นการสอน ซึ่งจริงๆ เป็นการสอนเพียงข้างเดียว แต่ตอนนี้ ความรู้มีมากมาย และเข้าถึงได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านคน แพลตฟอร์ม Degree Plus จะทำให้การศึกษาที่มีอยู่มากมาย ความรู้มีอยู่มากมาย จะคัดกรองอย่างไรให้เป็นความรู้ที่ทันสมัยและมีคุณภาพ ซึ่งDegree Plus เป็นเสมือนร้านสะดวกซื้อด้านวิชาการ ด้านความรู้ ผู้คนที่เข้ามาเรียนรู้ในหลักสูตร Degree Plus จะมีการแบ่งเป็นSection ใครอยากรู้อะไร อยากเรียนอะไรก็สามารถเลือกเรียนได้ ที่ผ่านมาศาสตร์เป็นคนกำหนดงาน นั่นคือ จบนิติศาสตร์ต้องไปทำงานเป็นนิติกร จบสถาปัตย์ต้องไปทำงานเป็นสถาปนิก แต่ปัจจุบันงานกำหนดศาสตร์ เช่น หากเราจะเรียนสังคมสูงวัย ต้องเรียนหลายศาสตร์ ซึ่งระบบการศึกษาแบบเดิมไม่ได้ตอบ
“Degree Plus สามารถตอบโจทย์งานกำหนดศาสตร์ เพราะมีชุดองค์ความรู้ รายวิชาที่มีคุณภาพรวมกันเป็นหลักสูตร ตอบสนองสังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตอนนี้สังคมกำลังเข้าสู่ยุคดิจิตอล ทำอย่างไรให้ดิจิตอลแพลตฟอร์มเกิดประโยชน์ ซึ่งDegree Plus จะเป็นสนามเวทีที่เปิดกว้างให้แก่ผู้เรียน และไม่ได้จำกัดเฉพาะนิสิตจุฬาฯ เท่านั้น แต่ทุกคนสามารถเรียนได้ และอาจารย์ที่มาสอนมาจากที่ไหนก็ได้ รวมถึงแพลตฟอร์มนี้จะทำให้ผู้ที่สนใจอยากเรียนรู้ ผู้ที่จะให้ความรู้ และคนที่ต้องการคนที่มีความรู้สามารถเข้ามาดูว่าหลักสูตรไหนตอบโจทย์บ้างก็สามารถเลือกคนมาทำงานได้ อย่างไรก็ตาม การจัดทำ Degree Plus ครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนการเรียนรู้ของการศึกษา”อธิการบดีจุฬาฯ กล่าว
นายบัณฑิต กล่าวด้วยว่า ตอนนี้จุฬาฯ ได้มีการปรับตัว ปรับทั้งหลักสูตร การเรียนการสอน ซึ่งหากเปรียบเทียบกับโลก จุฬาฯปรับตัวช้ามาก และจริงๆ แล้วการปรับหลักสูตร ต้องปรับตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งโดยส่วนตัว ตนต้องการขอให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แลเสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้เด็กไทยทุกคนได้เจอครูในแต่ละวิชาที่เก่งที่สุด เพราะถ้าเด็กได้เจอครูที่เก่ง เขาจะมีความต้องการที่เรียนรู้ และมีแรงบันดาลใจในการทำตามความฝัน อยากเป็นในสิ่งที่ตนเองรัก ขณะเดียวกันหากเจอครูที่ไม่มีความกระตือรือร้น ครูไม่มีไฟสอน เด็กก็ไม่มีไฟเรียน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จุฬาฯ จับมือกรม Climate Change และเครือข่ายพันธมิตรภาคเอกชน เปิดตัวหลักสูตร “TOP Green” หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้าน Sustainability
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หอการค้าไทย และสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ UN Global Compact Network Thailand
จุฬาฯ “เปิดแพลตฟอร์ม ฝ่าพิบัติ: Digital War Room” นวัตกรรมเตือนพื้นที่น้ำท่วมและแนวดินถล่มจากอุทกภัย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงานเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 25 เรื่อง “แพลตฟอร์มจุฬาฯ ฝ่าพิบัติ: Digital War Room” เพื่อนำเสนอนวัตกรรมจากคณาจารย์นักวิจัยจุฬาฯ
จุฬาฯ อันดับ 1 มหาวิทยาลัยไทย Top ของประเทศ 3 ด้าน จากการจัดอันดับโดย THE WUR 2025
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของไทย จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกโดย The Times Higher Education World University Rankings 2025 (THE WUR 2025) จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วโลกที่ได้รับการจัดอันดับกว่า 2,000 แห่ง กว่า 115 ประเทศ