7 ก.พ.65 -โรงพยาบาลศิริราช ร่วมกับ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก แถลงข่าวเปิดให้บริการ “ศูนย์ความเป็นเลิศการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมศิริราช(Si-ELITE)” ด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดโดยศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางกระดูกและข้อแห่งแรกในประเทศไทย ยกระดับการรักษาผู้ป่วยโรคข้อเข่าและสะโพก เพื่อให้ประชาชนทุกสิทธิ์สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามมาตรฐานสากล
ศ. ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า จากนโยบายในการผลักดันศิริราชก้าวสู่ World Changer นำร่องต้นแบบโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการเริ่มใช้หุ่นยนต์มาช่วยแพทย์ผ่าตัดรักษาผู้ป่วยตั้งแต่ 2550 จนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ใหญ่ การผ่าตัดเนื้องอกหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร เนื้องอกตับอ่อนไส้เลื่อนช่องกระบังลม จนถึงการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการประสานความร่วมมือของ 3 โรงพยาบาล ในการขับเคลื่อนการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม ที่ให้บริการผู้ป่วยทุกระดับได้เข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข
รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า ศูนย์ Si-ELITE เป็น 1 ในศูนย์ ความเป็นเลิศทางการแพทย์ศิริราช (SiCOE) ซึ่งจะทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ครอบคลุมทั้งงานบริการ การศึกษา การวิจัย โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการผ่าตัด นั่นก็คือ การผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด Robotic Surgery มาใช้กับผู้ป่วยทุกระดับภายใต้การควบคุมของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากความร่วมมือของทั้ง 3 โรงพยาบาลที่มีเป้าหมายคือ การผ่าตัดรักษาข้อเทียมผลการรักษาจะต้องหายเจ็บเร็ว ฟื้นตัวเร็ว และใช้งานได้นาน ดังนั้นในการลงทุนเทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดจะทำให้คนไข้จาก 3 โรงพยาบาลเข้าถึงทั้งหมด หรือสามารถส่งตัวผู้ป่วยจากโรงพยาบาลต้นสังกัด มาผ่าตัดที่รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ได้ในวันเวลาราชการปกติ ทำให้ผู้ป่วยที่มีสิทธิ์การรักษาของแต่ละโรงพยาบาล และเสียค่าใช้จ่ายตามสิทธิ์การรักษาได้ตามปกติ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
“นอกจากจะเพิ่มศักยภาพการให้บริการผู้ป่วยให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการรักษาขั้นสูงสุดแล้ว ยังช่วยลดปัญหาการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าหรือข้อสะโพกเทียมได้ทั้ง 3 โรงพยาบาล ลดระยะเวลาการรอคอย (waiting list) ที่ยาวนาน 1-2 ปี จากข้อจำกัดของจำนวนห้องผ่าตัดมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วย ดังนั้นศูนย์ Si-ELITE นี้จึงเป็นการขยายจำนวนการผ่าตัดให้ผู้ป่วยได้อย่างน้อยปีละ 300 – 400 ราย/ปี เป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการวินิจฉัยและการรักษาอย่างเท่าเทียมกัน” ผอ.รพ.ศิริราช กล่าว
ด้าน ศ. นพ.กีรติ เจริญชลวานิช หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมศิริราช(Si-ELITE) กล่าวว่า ข้อเสื่อม เกิดจากการใช้งานของร่างกาย และการเสื่อมสภาพตามกาลเวลา หรือเมื่อในช่วงอายุ 30 ปีขึ้นไป โดยโรคข้อเสื่อมมีได้หลายระยะ ซึ่งในประเทศไทยมีผู้ป่วยข้อเสื่อมระยะสุดท้ายประมาณ 6-7 ล้านคน ส่วนระยะเริ่มต้นมีประมาณ 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรประเทศไทย เนื่องจากคนไทยมีอายุที่ยืนยาวมากขึ้น และผู้สูงอายุส่วนใหญ่ต้องการรักษาข้อเสื่อม เพื่อให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ดังนั้นการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมจึงได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ก็เป็นเทคโนโลยีพัฒนาอย่างก้าวหน้าจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกในเซาท์ อีสเอเชียที่มีการนำหุ่นยนต์มาใช้ช่วยผ่าตัดข้อเทียม
หัวหน้าศูนย์ Si-ELITE กล่าวอีกว่า สำหรับการทำงานหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดจะอยู่ภายใต้การควบคุมของศัลยแพทย์ เริ่มตั้งแต่การวางแผนผ่าตัดล่วงหน้า ส่งผลให้ผู้ป่วยมีการฟื้นตัวเร็ว สามารถยืน เดินได้ภายใน 1-2 วัน แม่นยำ รวดเร็ว และช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด ในการผ่าตัดจะมีการแสดงตัวเลขให้เห็นบนจอคอมพิวเตอร์แบบ Real Time คอยเตือน และล็อกการเคลื่อนที่ของอุปกรณ์ผ่าตัดไม่ให้ออกนอกตำแหน่งที่วางแผนไว้ ดังนั้นเมื่อหุ่นยนต์พบการผ่าตัดที่ผิดจากการวางแผนก็จะหยุดการผ่าตัดทันที ทำให้ผู้ป่วยปลอดภัย แต่ทั้งนี้แพทย์ก็จะต้องเรียนรู้การบังคับใช้หุ่นยนต์ให้เชี่ยวชาญ เพื่อให้การผ่าตัดมีประสิทธิภาพ ในอนาคตคาดว่าจะขยายไปยังโรงพยาบาลในต่างจังหวัดเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงในการรักษามากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยข้อเข่าและข้อสะโพกที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ความเป็นเลิศการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมศิริราช โทร. 0 2419 7964 (เฉพาะวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 12.00 น.)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เฟสติวัลใหญ่ในศิริราช ชูเสน่ห์บางกอกน้อย
“ชุมชนบางกอกน้อย” มีประวัติศาสตร์ยาวนานและเต็มไปด้วยเสน่ห์ของวิถีชีวิตริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา อดีตย่านนี้เป็นศูนย์กลางการค้าขายและการคมนาคมที่สำคัญ ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อย ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ชุมชนเติบโตขึ้นจากการเป็นท่าเรือในการรับส่งสิน
OR สนับสนุนพื้นที่ พีทีที สเตชั่น ใน จ.นครศรีธรรมราช เป็นจุดจอดรถโมบายสโตรคยูนิต ของ รพ.ศิริราช
OR สนับสนุนพื้นที่สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น สาขาห้างหุ้นส่วนจำกัด กษิดิศออยล์ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นจุดจอดรถโมบายสโตรคยูนิต ในโครงการ “Mobile Stroke Unit - Stroke One Stop (MSU-SOS)”
'ศิริราช' แจ้งเตียงผู้ป่วยวิกฤติโควิดเต็มทุกห้อง!
เฟซบุ๊กเพจ “Siriraj Piyamaharajkarun Hospital” ของโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 26 พ.ค.66 แจ้งให้ทราบว่า “ขณะนี้เตียงผู้ป่วยวิกฤติ (ICU) และเตียงผู้ป่วยใน (IPD) สำหรับดูแลผู้ป่วย
ครม.อนุมัติ 3.8 พันล้าน สร้างอาคาร รพ.ศิริราช และสถานีรถไฟฟ้า เข้าถึงการรักษาได้รวดเร็ว
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติการดำเนินโครงการอาคารรักษาพยาบาลและสถานีศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล งบประมาณรวมทั้งสิ้น 3,851.27 ล้านบาท