2ก.พ.65-ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) – ศธ. จัดงานเสวนา “วัคซีนเด็ก เติมภูมิคุ้มกัน มั่นใจเปิดเรียน On Siteพร้อมใช้แผนเผชิญเหตุทุกสถานการณ์ ” ภายใต้ความร่วมของ 3 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.) โดยนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวตอนหนึ่งว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปีกว่าที่ผ่านมา คนทั้งโลกเผชิญกับการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งตอนแรกของการระบาดทุกคนมีความกังวล เพราะต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต แต่วันนี้ทุกคนเริ่มเข้าใจและรู้ว่าต้องใช้ชีวิตอย่างไรกับโควิด-19 สำหรับ หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการศึกษาทั้งหมดมีความเป็นห่วงนักเรียนนักศึกษา โดยมีการดำเนินการเพื่อให้เด็กๆ ไม่ขาดกระบวนการเรียนรู้ ทั้งการอนุมัติให้มีการฉีดวัคซีนครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน โดยเฉพาะอายุ 12-18 ปี และ 5-11 ปี เพื่อให้สถานศึกษาเป็นสถานที่ปลอดภัยแก่เด็กๆ โดยในกลุ่มครูนั้นได้มีการฉีดวัคซีนเข็มแรกไปกว่าร้อยละ 90 และเข็ม 2 กว่าร้อยละ 80-90 เช่นเดียวกับนักเรียนในกลุ่มอายุ 12-18 ปี ที่ได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกและเข็ม 2 ไปแล้วกว่าร้อยละ 80 และขณะนี้กำลังรณรงค์ให้เด็กอายุ 5-11 ปีได้เข้ารับวัคซีนเช่นเดียวกัน
“ศธ.ได้มีความร่วมมือกับหลายๆ หน่วยงาน โดยเฉพาะ สธ. ทั้งการฉีดวัคซีนให้แก่ครู บุคลากรทางการสึกษา นักเรียน ร่วมถึงมาตรการป้องกันต่างๆ 6-6-7 และการจัดทำแผนเผชิญเหตุ โรงเรียนจะเปิดเรียน On site ได้ต้องผ่านการมาตรการและควบคุมของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แม้จะมีโควิด-19 แต่การเรียนรู้ของเด็กต้องไม่หยุดนิ่ง ขอให้ทุกคนตระหนักแต่อย่าตระหนก ปฎิบัติมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด และการเปิดเรียน On site ของแต่ละโรงเรียน ขอให้เชื่อมั่น เพราะทุกโรงเรียนได้ดำเนินการตามมาตรการของสธ.อย่างเคร่งครัด”รมว.ศธ.กล่าว
ด้านนายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) กล่าวว่า การเปิดเรียนเป็นจุดสำคัญของการเรียนรู้ ทั้งด้านองค์ความรู้ การพัฒนาทางร่างกายและจิตใจ ซึ่ง ศธ.อาจไม่ใช่เพียงหน่วยงานเดียวที่จัดการศึกษา แต่เป็นกระทรวงที่รับผิดชอบโรงเรียน และนักเรียนมากที่สุด โดยมีโรงเรียนในสังกัด สพฐ.มากกว่า 34,000 โรง ทั้งนี้ จากการสำรวจภายใน 2 วันที่ผ่านมา โดยมีโรงเรียนใน 40 จังหวัดเข้าร่วมนั้น พบว่า ขณะนี้มีโรงเรียนเปิดการเรียนการสอนแบบออนไซต์ ประมาณร้อยละ 79.32 โดยในจำนวนดังกล่าว มีประมาณ 2 จังหวัดที่มีการเปิดเรียนแบบ On site เพียงร้อยละ 20 กว่า คือ จังหวัดภูเก็ต ร้อยละ 21.66 และระยองร้อยละ 29.27 ส่วนอีก 37 จังหวัดที่เหลือนั้น ขณะนี้ยังไม่มีการส่งข้อมูล หรือบางจังหวัดยังไม่สามารถเปิดเรียนแบบ On site ได้ ซึ่งหลังจากนี้ จะมีการสำรวจอย่างต่อเนื่อง และหากโรงเรียนหรือพื้นที่ใด ไม่สามารถเปิดเรียนแบบ On site ได้ หรือมีปัญหาอย่างไร ทาง ศธ.จะเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือ ทั้งนี้ในส่วนของข้อมูลการสำรวจจำนวนนักเรียนที่ประสงค์ฉีดวัคซีนช่วงอายุ 5-11 ปี มีจำนวนนักเรียนทั้งประเทศ 5,381,431 คน มีการสำรวจแล้วณ ปัจจุบัน จำนวน 4,185,000 คน จาก 61 จังหวัด หรือร้อยละ 80 มีประสงค์ 2,570,000 คน เฉลี่ยร้อยละ 61.4 ซึ่งข้อมูลนี้ยังไม่ครบถ้วน เพราะศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.) อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล และปัจจุบันหลายจังหวัดได้มีการเริ่มฉีดวัคซีนไปแล้ว
ด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวว่า สพฐ.ได้มีความพยายามจัดการเรียนการสอนในรูปแบบที่หลากหลายทั้ง 5 รูปแบบ แต่อย่างไรก็ตาม วิธีการที่จะทำให้เกิดคุณภาพการเรียนรู้ที่ดีที่สุดแก่เด็ก คือ การจัดเรียน On site เพื่อสร้างองค์ความรู้และทักษะให้แก่นักเรียนสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งจากการสำรวจโรงเรียนในสังกัดสพฐ.ทั่วประเทศ พบว่าขณะนี้โรงเรียนในทุกจังหวัดมีการเปิดเรียน On site แล้ว แต่มีบางจังหวัดอาจมีโรงเรียนเปิดเรียน On site เพียง 10 โรงเรียน ดังนั้น ตนจึงต้องการที่จะสื่อสารกับทางโรงเรียน ผู้ปกครอง ให้ร่วมกันเปิดเรียน On siteให้เกิดความปลอดภัย ไม่มีความติดเชื้อ หรือหากมีการติดเชื้อจะมีแผนการเผชิญเหตุที่สามารถป้องกันได้
“ผมอยากรณรงค์ให้พ่อแม่ผู้ปกครอง นักเรียนมาฉีดวัคซีนให้ได้ครบทั้งเข็มที่ 1และฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 อยากให้มีแผนเผชิญเหตุหากมีการติดเชื้อ และอยากให้ทุกโรงเรียนดำเนินการตามมาตรการ 6-6-7 อย่างเคร่งครัด และโรงเรียนต้องประเมินตนเองให้ผ่านเกณฑ์ทั้ง 44 ข้อ และเสนอความเห็นมายังคกก.โรคติดต่อจังหวัดเพื่อพิจารณาการเปิดเรียน On site ”เลขาฯ กพฐ. กล่าว
ด้านนพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่าสำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ขณะนี้ พบว่ามีการติดเชื้อในกลุ่มของเด็กจำนวนมากขึ้น โดยเด็กในกลุ่มอายุ 0-19 ปี จะติดเชื้อประมาณร้อยละ 20 กว่า แบ่งเป็นอายุ 13-19 ปี จะมีผู้ติดเชื้อ ประมาณร้อยละ 10 กว่า อายุ 7-12 ปี ติดเชื้อประมาณร้อยละ 8-9 โดยเมื่อพิจารณาการแพร่ระบาดระหว่างวันที่ 1 มกราคม -1 กุมภาพันธ์ 2565 พบผู้ติดเชื้อในเด็กอายุ 0-19 ปี จำนวน 39,342 ราย ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนความรุนแรง อัตราการเสียชีวิต พบว่าค่อนข้างลดลง อย่างไรก็ตาม ตนขอให้มีการดำเนินการตามมาตรการ 6-6-7 สำหรับทุกคนในสถานศึกษา รวมทั้งต้องมีแนวทางการเฝ้าระวัง และแผนเผชิญเหตุด้วย
ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เราคงเห็นตรงกันว่าการเปิดโรงเรียนเป็นสิ่งสำคัญ แต่ปัญหาใหญ่อยู่ที่ความกังวลที่ 2 ส่วน คือ จากผู้ปกครอง และผู้บริหารระดับจังหวัด ที่กังวลว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งวันนี้กับเมื่อ 2 ปีที่แล้ว แตกต่างกันอย่างมาก วันนี้อัตราการเสียชีวิตทั่วโลกอยู่ที่ 1.5 สำหรับประเด็นเรื่องวัคซีนของกลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปี วัคซีนที่นำมาฉีดจะคำนึงถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย ซึ่งวัคซีน Pfizer ที่นำเข้ามา ฉีดน้อยกว่าผู้ใหญ่ถึง 1 ใน 3 ทั้งนี้ สำหรับวัคซีนเชื้อตายประเทศที่ฉีดเยอะ คือ จีน ดังนั้นเราจะมีการนำข้อมูลเข้าพิจารณาในคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และเมื่อมีการรับรองก็จะมีการอนุญาติให้เด็กรับวัคซีนเชื้อตายได้ ทั้งนี้ในส่วนของเทคนิคการจัดบริการวัคซีนโควิดในเด็กประถมวัย 5-11 ปี ตนมองว่าควรที่จะจัดสถานที่ บรรยากาศ ให้มีสีสันสดใส ขั้นตอนกระชับ และจะต้องเตรียมครู เจ้าหน้าที่ ช่วยดูแลเด็กในกรณีที่เด็กกลัว ร้องไห้ หรือดิ้น เพื่อเป็นการลดความกังวลของเด็กและให้เกิดความร่วมมือจากเด็กๆ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เราได้ดำเนินการสั่งซื้อวัคซีน Pfizer จำนวน 10 ล้านโดส และมีวัคซีน Sinovac อีกประมาณ 4 ล้านโดส และเมื่อมีการส่งวัคซีน Pfizer เข้ามา ซึ่งจะมีการส่งทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 3-5 แสนโดส ก็สามารถจัดส่งให้ ศธ.ไปดำเนินการฉีดให้กับเด็กกลุ่มนี้ได้ทันที โดยขณะนี้มีการจัดส่งเข้ามาแล้ว และอยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพ และเราก็จะประสานกับ ศธ.ว่าจะให้จัดส่งไปที่จังหวัดไหนจำนวนเท่าไรต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไทยติดโควิดใหม่รอบสัปดาห์ 549 ราย ดับเพิ่ม 1 คน
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2567
กระทรวงศึกษาธิการ เร่งผลักดันการเรียนรู้แบบ Active Learning
กระทรวงศึกษาธิการ สั่ง สพฐ. เร่งผลักดันการเรียนรู้แบบ Active Learning ให้ครอบคลุมทุกภาค ทุกโรงเรียน หวัง ส่งเสริมให้นักเรียนตั้งคำถามและหาคำตอบเอง แทนการท่องจำแบบเดิม
ไทยติดโควิดรอบสัปดาห์ 353 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 6 - 12 ตุลาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่
ไทยติดโควิดใหม่รอบสัปดาห์ 281 ราย ดับเพิ่ม 4 คน
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 5 ตุลาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่