เวลา 'ที่ต้องรู้' ทางรอด 'สโตรก' ภัยเงียบคร่าชีวิตอันดับ 1

โรคหลอดเลือดสมอง หรือ สโตรก(Stroke) เป็นหนึ่งในภัยด้านสุขภาพเพราะสามารถเกิดขึ้นได้อย่างกะทันหันโดยไม่ทันตั้งตัว โรคนี้เกิดจากการที่สมองขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง ส่งผลให้เซลล์สมองขาดออกซิเจนและตายในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งอาจนำไปสู่ความพิการถาวรหรือเสียชีวิตได้ หลายคนอาจมองว่าโรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคของผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ความจริงแล้วอาจเกิดขึ้นในทุกช่วงวัย  หากมีปัจจัยเสี่ยง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือพฤติกรรมเสี่ยงอย่างการสูบบุหรี่และไม่ออกกำลังกาย ก็ล้วนมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ได้เช่นกัน

สำหรับการรับมือที่สำคัญกับโรคหลอดเลือดสมอง คือ "เวลา"  ภายใน  4-5 ชั่วโมง หลังเกิดอาการ เพราะทุกนาทีที่ผ่านไป เซลล์สมองนับล้านกำลังตายลง หากผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาที่เหมาะสมได้อย่างรวดเร็ว โอกาสรอดชีวิตหรือฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาเป็นปกติก็จะเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้บริษัท เบอริงเกอร์ อินเกลไฮม์ (ไทย) จำกัด ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้ลงนามความร่วมมือในโครงการ Chula Stroke Academy: The Stroke Excellence - สโตรค โรคหลอดเลือดสมอง รู้ เร็ว รอด ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญในการยกระดับคุณภาพการดูแลและรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองผ่านการพัฒนาองค์ความรู้และทักษะของบุคลากรทางการแพทย์ให้ทันสมัยและประชาชนรู้อาการเข้ารักษาได้ทันเวลา

โครงการนี้ได้ผสานการเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เรียกว่า MDCU MedUMORE ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม E-Learning สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ครอบคลุมองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองในทุกมิติ ตั้งแต่การรักษาด้วย การให้ยาละลายลิ่มเลือด (Thrombolytic Management) ที่ต้องทำภายในช่วงเวลาหลังรู้อาการทันที ไปจนถึงการรักษาด้วย การทำหัตถการผ่านสายสวนหลอดเลือดสมอง (Endovascular Thrombectomy) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ซับซ้อนและต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศมีโอกาสพัฒนาความรู้และทักษะในการรักษาโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยยกระดับการรักษาโรคหลอดเลือดสมองในประเทศไทย เพื่อให้คำว่า “รู้เร็ว รอดเร็ว” ไม่ใช่แค่คำขวัญ แต่คือความเป็นจริงที่เกิดขึ้นได้ในทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ

ริคาร์เต้ เซลวานเดส ริเวร่า

ริคาร์เต้ เซลวานเดส ริเวร่า ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เบอริงเกอร์ อินเกลไฮม์ (ไทย) จำกัด กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมอง ถือเป็นภัยด้านสุขภาพใกล้ตัวที่ไม่อาจมองข้ามได้ และเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของคนไทย โดยในปี 2567 พบว่าในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองไปแล้วกว่า 39,000 ราย และมียอดผู้ป่วยสะสมราว 358,000 ราย ด้วยความมุ่งมั่นที่จะช่วยพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ผ่านการส่งต่อองค์ความรู้ด้านการแพทย์ ที่ขับเคลื่อนผ่านการวิจัยและค้นคว้าวิธีการรักษาแบบก้าวหน้า โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดสมอง

 “การร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นกุญแจสำคัญในการร่วมแบ่งปันองค์ความรู้ที่ครบทุกมิติ รวมถึงช่วยยกระดับการดูแลและรักษาโรคฯ ได้อย่างยั่งยืนบน MDCU MedUMORE โดยตั้งเป้าในการที่จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ตลอดระยะเวลา 2 ปีของความร่วมมือเพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนไทย รวมถึงการพัฒนาและการประเมินผลการสร้างความตระหนักในผู้ป่วยเกี่ยวกับสัญญาณ อาการ และปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง และอื่นๆ ต่อไป” ผู้จัดการทั่วไป เบอริงเกอร์ฯ กล่าว

รศ.(พิเศษ) พญ.อรอุมา ชุติเนตร

ศ.พญ. นิจศรี ชาญณรงค์ รองคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แพลตฟอร์ม MDCU MedUMORE ถือเป็นการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบการศึกษาแพทย์สู่มิติใหม่ที่มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์การพัฒนาบัณฑิตแพทย์ยุคใหม่ได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาสำหรับประชาชน ที่สามารถเข้าไปเรียนรู้หรือศึกษาโรคต่างๆ ได้ด้วยตนเอง เพราะภายในแพลตฟอร์มได้มีการสร้างเนื้อหามากกว่า 3,000 เรื่อง วิดีโอมากกว่า 2,000 เรื่อง หรือในรูปแบบ E-book กว่า 10 เล่ม โดยผู้ใช้สามารถเข้าถึงเนื้อหาได้ทุกที่และไม่เฉพาะเพียงแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ผู้ใช้ในต่างประเทศก็สามารถเข้าใช้งานได้ ซึ่งมีผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 17,000 รายชื่อ ดังนั้นการร่วมมือในครั้งนี้จะมีการผลิตเนื้อหาหลักสูตรที่มีประโยชน์เพื่อรู้ เร็ว รอด สำหรับนักศึกษาแพทย์ แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชน  จะช่วยเพิ่มศักยภาพการเรียนการสอนและความรู้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองให้เข้าถึงง่ายมากยิ่งขึ้น ตอบโจทย์และสอดรับกับโลกแห่งการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

ด้านสถานการณ์ของโรคสโตรก รศ.(พิเศษ) พญ.อรอุมา ชุติเนตร หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมอง หรือ สโตรก มีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นมากกว่า 250,000 คนต่อปี เฉลี่ยทุกๆ 2 นาทีจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 1 คน และในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตมากถึง 50,000 คน และจากสถิติพบว่า พิการไม่รุนแรง 30% พิการรุนแรง 30%  เสียชีวิต 30% มีเพียง 10% ที่หายปกติ โดยโรคสโตรก แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ สมองขาดเลือด ทำให้หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (ischemic stroke) และ เลือดออกในสมอง ทำให้หลอดเลือดสมองแตก (hemorrhagic stroke)

รศ.(พิเศษ) พญ.อรอุมา  กล่าวต่อว่า ส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคสโตรกมักมีภาวะของสมองขาดเลือด 80-90% มากกว่าเลือดออกในสมองที่พบประมาณ 10-20% โดยปัจจัยเสี่ยงของโรคสโตรก เช่น ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจบางชนิดที่มีอาการเต้นผิดจังหวะ สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ออกกำลังกายหรือไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย เป็นต้น ส่วนอาการจะมีลักษณะที่เกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน เช่น ปากเบี้ยว แขนขาชาครึ่งซีก  จะมีอาการเตือนล่วงหน้า โดยสิ่งสำคัญคือ การรู้ว่าปัจจัยเสี่ยงและมีการควบคุมให้อยู่ในระดับปกติ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการแบบเฉียบพลัน  

ด้านนพ.วสันต์ อัครธนวัฒน์ แพทย์สาขาประสาทวิทยา ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวเสริมว่า การเข้ารับการรักษาโรคสโตรก หัวใจสำคัญ คือ เวลา เพราะยิ่งได้เข้ารับการรักษาที่รวดเร็ว ก็จะมีโอกาสรอดจากการพิการหรือเสียชีวิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากพอเกิดอาการแบบเฉียบพลัน เนื้อสมองจะเสียหายไปเรื่อยๆ ปัจจุบันการรักษาสมองขาดเลือด ซึ่งเป็นอาการที่พบมากที่สุด โดยการทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองให้เร็วที่สุด ได้แก่ การฉีดยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ ภายใน 4-5 ชั่วโมง  และการใช้อุปกรณ์ดึงลากลิ่มเลือดที่อุดตันในหลอดเลือดสมอง ภายใน 24 ชั่วโมง หัวใจสำคัญของการรักษาคือ "รู้ "เวลาที่เกิดอาการ ซึ่งจะมีทั้งกลุ่มที่รู้เวลาชัดเจน และกลุ่มที่ไม่รู้เวลาชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามจะมีการซักประวัติเพื่อให้ได้เวลาที่แม่นยำที่สุด หรือข้อบ่งชี้อื่นๆ เพื่อประเมินการรักษาด้วยวิธีที่ดีที่สุด

“ทั้งนี้ในการรักษาของรพ.จุฬาฯ ได้มีการยืดระยะเวลาการให้ฉีดยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ เพิ่มขึ้นเป็นภายใน 9 ชั่วโมง โดยการใช้ภาพจากเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT: Computed Tomography) เพื่อตรวจดูความเสียหายของเนื้อสมอง ส่วนการรักษาโดยใช้อุปกรณ์ดึงลากลิ่มเลือดที่อุดตันในหลอดเลือดสมอง จะต้องมีการอุดตันที่หลอดเลือดขนาดใหญ่-ขนาดกลาง อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยทั้ง 2 วิธีดังกล่าว สิ่งสำคัญคือ เวลา ที่ผู้ป่วยจะต้องเข้าสู่การรักษาให้เร็วที่สุด เพื่อหาสาเหตุของอาการและเป็นแนวทางในการดูแลตัวเองที่ดีขึ้นและป้องกันการเกิดซ้ำ” นพ.วสันต์ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ธัญญา-พงษ์พัฒน์' จับมือฝ่าทุกวิกฤต เป็นกำลังใจให้ 'ผู้ป่วยสโตรก' สู้ต่อ

นอกจากบทบาทผู้บริหารมากฝีมือ และพาร์ทของคนทำงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังในวงการบันเทิงแล้ว แดง-ธัญญา วชิรบรรจง ยังมีอีกหนึ่งบทบาทสำคัญคือการดูแลครอบครัวให้ผ่านพ้นวิกฤตเมื่อครั้งสามี อ๊อฟ-พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ล้มป่วยจนปัจจุบันอาการดีขึ้น