อว.ผุด '5หลักสูตรแซนด์บ๊อกซ์ 'สร้าง'New Growth Engine 'ตัวใหม่ของประเทศ

 

คณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง ด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการอุดมศึกษาซึ่งได้รับมอบอำนาจจากสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ได้มีการประชุม ครั้งที่1/2567 โดยมีนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)เป็นประธานการประชุมซึ่งที่ประชุมได้มีวาระสำคัญในการพิจารณาอนุมัติข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์สำหรับการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) หรือหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ เพิ่มเติมอีก 5 หลักสูตร
นางสาวศุภมาส กล่าวว่า หลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ที่เสนอเพื่อขออนุมัติจัดการศึกษาเพิ่มเติมในครั้งนี้ อยู่ในสาขาที่เป็นความต้องการเร่งด่วนของประเทศ อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และ ระบบรางโดยเฉพาะหลักสูตรวิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้เป็นหลักสูตรกลางของประเทศโดยเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา 15 แห่ง เพื่อร่วมกันผลิตบัณฑิตเฉพาะทางสมรรถนะสูงที่ตอบโจทย์ความต้องการและมีจำนวนมากเพียงพอสำหรับดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงนำไปสู่การเป็น New Growth Engine ตัวใหม่ของประเทศ

หลักสูตรนี้มีจุดเด่นอยู่ที่ความร่วมมืออย่างเข้มข้นของสถาบันการศึกษากับบริษัทเอกชนชั้นนำของประเทศ 8 แห่งซึ่งจะเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่การออกแบบสมรรถนะ สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือขั้นสูงรวมถึงการรับนักศึกษาเข้าฝึกและเข้าทำงานหลังจบการศึกษา

นอกจากนี้อีกหนึ่งหลักสูตรที่มีความต้องการขาดแคลนเร่งด่วน คือ หลักสูตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ หรือCybersecurity ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่ทำงานแล้วและต้องการเปลี่ยนสายงานสามารถเข้าศึกษาและได้รับปริญญาใบที่ 2พร้อมทำงานในสายงานดังกล่าวได้อีกด้วย

ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล

ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้จะมีการพิจารณาอนุมัติข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ จำนวน 5 หลักสูตร ประกอบด้วย 1)หลักสูตรสาขาวิชาวิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ 2) โครงการ K-Engineering WiL (Work-integrated Learning) 3)หลักสูตรสาขาวิชาการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ 4)หลักสูตรสาขาวิทยาการขั้นสูงทางชีวการแพทย์และการสร้างสรรค์ธุรกิจสุขภาพ 5)หลักสูตรสาขาวิชาวิศวกรรมระบบราง โดยการประชุมครั้งนี้ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมพิจารณาข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ด้วย และเมื่อมีการอนุมัติหลักสูตรสำนักปลัดกระทรวง อว. จะเร่งดำเนินการติดตามการทำงาน เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เกิดนวัตกรรมการอุดมศึกษาและสามารถตอบความต้องการพัฒนากำลังคนของประเทศได้อย่างทันท่วงที

ดร.สิริพร พิทยโสภณ

ดร.สิริพร พิทยโสภณ นักยุทธศาสตร์ระดับสูง รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)ได้สรุปความก้าวหน้าการดำเนินงานการจัดการศึกษาในหลักสูตรที่ดำเนินการไปแล้วว่า หลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ที่เกิดขึ้นนั้นจะมีทั้งรูปแบบ Bottom-up Approachจากการที่สถาบันอุดมศึกษาจัดทำข้อเสนอการจัดการศึกษาฯ ส่งมาที่กระทรวง อว. และรูปแบบ Top-down Approachที่เกิดจากกระทรวง อว. ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย และภาคเอกชนที่เล็งเห็นโจทย์ความขาดแคลนกำลังคนอย่างเร่งด่วนของประเทศ เช่น กำลังคนด้าน Semiconductor and AdvancedElectronics ทำให้เกิดการผลักดันหลักสูตรเพื่อผลิตกำลังคนตอบความต้องการของประเทศ ที่ผ่านมามีการอนุมัติหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ในรูปแบบ Bottom-up Approach ไปแล้ว 11 ข้อเสนอ  มีเป้าหมายผลิตกำลังคน 19,695 คน ภายใน 10 ปี และได้เปิดการเรียนการสอนแล้วในปีการศึกษา 2566มีนักเรียนเข้าเรียนรวม 530 คน

นอกจากนี้ ยังมีแนวทางขับเคลื่อนหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ Semiconductor  Engineering ในรูปแบบ Top-down Approach ใน 8 สถานประกอบการ 15 สถาบันอุดมศึกษาอีกด้วยและการดำเนินงานในปี 2567 จะมีการพิจารณาอนุมัติหลักสูตรฯ เพิ่มเติมอย่างน้อย 5 ข้อเสนอ

ผศ.ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ นักยุทธศาสตร์ระดับสูง รักษาการแทนรองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวถึงรายละเอียดใน 5ข้อเสนอการจัดการศึกษาฯ ที่ผ่านการอนุมัติ ได้แก่

ผศ.ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์


1. ข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)เป็นหลักสูตรกลางเฉพาะทางด้านเซมิคอนดักเตอร์หลักสูตรแรกของประเทศที่ครอบคลุมการผลิตวิศวกรด้านเซมิคอนดักเตอร์คุณภาพสูงครอบคลุมทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของอุตสาหกรรมใน 3 สาขา ได้แก่ 1. IC Design 2. Semiconductor Fabrication และ 3. Semiconductor Assembly and Testing เพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศรวมถึงเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาอย่างน้อย 15 แห่ง


ประกอบด้วย (1)ส.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (2) ม.ขอนแก่น (3) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (4)ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (5) ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (6) ม.เชียงใหม่ (7) ม.เกษตรศาสตร์ (8)ม.เทคโนโลยีสุรนารี (9) ม.สงขลานครินทร์ (10) ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (11) ม.บูรพา (12)สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (13) ม.เทคโนโลยีมหานคร (14) ม.นเรศวร (15) สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่นเครือข่ายสถานประกอบการอย่างน้อย 8 แห่ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือร่วมกัน ทำให้สามารถผลิตกำลังคนเฉพาะทางสมรรถนะสูงในด้านที่ขาดแคลนให้มีจำนวนที่มากเพียงพอได้ โดย สจล.ที่นำร่องจัดการศึกษาได้วางเป้าหมายผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรี ด้านเซมิคอนดักเตอร์ ครอบคลุมทั้ง 3 สาขาข้างต้นรวม 480 คน

2. ข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์โครงการ K-Engineering WiL (Work-integrated Learning)หรือเรียนรู้จากการฝึกงาน แบบปกติและเร่งรัด สจล. เป็นการผลิตวิศวกร ตามความต้องการแบบเร่งรัด จัดการศึกษาแบบ WiL อย่างเข้มข้นโดยนักศึกษาปริญญาตรีจะเข้าฝึกปฏิบัติงานในสถานประกอบการ 3-4 ภาคการศึกษา และบัณฑิตศึกษา 1-2ภาคการศึกษา มีความร่วมมือกับสถานประกอบการ 20 แห่ง รวมถึงเปิดโอกาสให้นักเรียน ม.ปลาย/ปวช. สามารถเรียนPre-degree และเก็บสะสมหน่วยกิตในระดับปริญญาตรีได้ ตั้งเป้าผลิตวิศวกรที่มีความพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน (Career  Readiness) จำนวน 450 คน ครอบคลุมทั้งในระดับปริญญาตรี โท และเอก

3. ข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ โดยสมาคมสภาคณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาอีก 9 แห่ง เป็นการผลิตบุคลากรระดับปริญญาตรีที่มีทักษะในกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลในสาขาการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์รองรับความต้องการในอุตสาหกรรม4.0 รวมถึงเพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปและนักศึกษาในสาขาที่ใกล้เคียงที่ต้องการเปลี่ยนสายงานมาเพิ่มเติมความรู้และสมรรถนะด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และได้รับปริญญาใบที่ 2 ได้ โดยหลักสูตรนี้ตั้งเป้าผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรีและปริญญาตรีใบที่ 2 จำนวน 150 คน

4. ข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิทยาการขั้นสูงทางชีวการแพทย์และการสร้างสรรค์ธุรกิจสุขภาพ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นการผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงในศาสตร์แห่งอนาคต 5 สาขา ได้แก่ Medical devices, Drug discovery & development, Biologics &Vaccines, Medical robotics และ AI-based medical diagnosis ที่เน้นการพัฒนาทักษะเชิงเทคนิคระดับสูงควบคู่กับมุมมองเชิงประกอบการและการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์และสุขภาพตอบโจทย์อุตสาหกรรม หรือสร้างStartup รองรับการพัฒนาประเทศด้านการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง ตั้งเป้าบัณฑิตระดับปริญญาโท จำนวน 500-1,000 คน

และ 5. ข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต และหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาวิศวกรรมระบบราง (หลักสูตรนานาชาติ) (หลักสูตรภาคปกติและภาคพิเศษ) มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นการผลิตและพัฒนาบุคลากรสมรรถนะสูงให้มีความเชี่ยวชาญองค์รวมของระบบขนส่งทางรางเพื่อรองรับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศด้านงานวิศวกรรมระบบรางตอบโจทย์การขยายตัวของอุตสาหกรรมระบบรางทั้งภายในประเทศและระดับสากล โดยเป็นการจัดการศึกษาแบบ Co-Creation ร่วมกับสถาบันวิจัย ได้แก่ สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) (สทร.)และภาคผู้ใช้บัณฑิตเพื่อแชร์ทรัพยากรและส่งเสริมการต่อยอดให้เกิดผลงานวิจัยหรือนวัตกรรมร่วมกันตั้งเป้าหมายผลิตบัณฑิตระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ด้านวิศวกรรมระบบราง รวม 50-100 คน

“เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ที่จะมีขั้นตอนการติดตามประเมินผลการจัดการศึกษาเพื่อให้มั่นใจได้ว่าบัณฑิตจากหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์จะมีคุณภาพสูงพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานและตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง และเพื่อนำข้อมูลมาพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรต่อไปโดยหลักสูตรที่ผ่านการอนุมัติในครั้งนี้เตรียมจะเปิดการศึกษาในปี 2568″ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวสรุป.

เพิ่มเพื่อน